เป็นเรื่องธรรมดาที่องค์กรธุรกิจแต่ละองค์กรหรือแต่ละแบรนด์ต้องมีกลยุทธ์และมีการวางแผนธุรกิจ เพื่อการดำเนินงานในอนาคต บ้างก็มุ่งเน้นผลกำไรเป็นหลัก บ้างก็มุ่งครองใจผู้บริโภค หรือบางเจ้าก็เน้นการตอบแทนสังคมและชุมชน เป็นการทำธุรกิจเชิง Social Economy ซึ่งแผนการธุรกิจของแต่ละแบรนด์นี้ ก็ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าหมายของแต่ละองค์กรแตกต่างกันไป ทางด้านอุตสาหกรรมกาแฟก็เช่นเดียวกัน ปัจจุบันมูลค่าธุรกิจร้านกาแฟในไทยพุ่งขึ้นสูงถึง 17,000 ล้านบาท เติบโตปีละ 15 - 20% และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้แบรนด์กาแฟแต่ละแบรนด์ต้องงัดเอากลยุทธ์แผนธุรกิจต่างๆ ออกมามากมาย เพื่อที่จะมีส่วนแบ่งในตลาดและครองใจผู้บริโภค แบรนด์กาแฟยักษ์ใหญ่ทั้ง Starbucks Café Amazon กาแฟดอยช้าง และกาแฟมวลชน ก็เช่นเดียวกัน ทิศทางธุรกิจของทั้งสี่แบรนด์ใหญ่นี้ จะเป็นอย่างไรนั้น เรามีคำตอบให้
Starbucks
กลุ่มประเทศอาเซียนมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2561 อยู่ที่ 5.1% (ข้อมูลจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย) โดยประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูงประมาณ 5 - 7% คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชา และ เมียนมาร์ ส่วนประเทศที่มีอัตราการเติบโตต่ำประมาณ 1 - 3% ก็คือ บรูไน สิงคโปร์ และประเทศไทย การเติบโตทางเศรษฐกิจในอาเซียนนี้ เป็นโอกาสดีต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมกาแฟ และแบรนด์กาแฟยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Starbucks ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการลงทุนในพื้นที่อาเซียนเช่นกัน ทั้งยังเป็นการลงทุนเพื่อการผลิตและพัฒนากาแฟอย่างยั่งยืนอีกด้วย (การปลูกแบบออร์แกนิค ไม่ตัดไม้ทำลายป่า อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการไม่ทำลาย ผืนดินหรือแหล่งน้ำ)
ปัจจุบันองค์กรที่ให้การสนับสนุนการผลิตและพัฒนากาแฟอย่างยั่งยืนในระดับสากล ก็ได้แก่ USDA Organic, JAS, Rainforest Alliance Certified, UTZ Certified, FAIRTRADE เป็นต้น ซึ่ง Starbucks ร่วมมือกับ C.I. (Conservation International : เอ็นจีโอนานาชาติ) และ SCS Global Service (องค์กรเพื่อการพัฒนามาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของอาหาร) ในการค้นหาแหล่งเพาะปลูกเพื่อให้ได้กาแฟตามมาตรฐาน C.A.F.E (the Coffee and Farmer Equity Practices) และจัดตั้งศูนย์สนับสนุนเกษตรกรขึ้น เพื่อสร้างชุมชนกาแฟ ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร จัดตั้งกองทุนเกษตรกรทั่วโลก และเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนด้วยเช่นกัน
"Starbucks ได้ยึดหลักสำคัญ 4 ประการในการลงทุนเพื่อการผลิตและพัฒนากาแฟอย่างยั่งยืน อันได้แก่ คุณภาพกาแฟ ความรับผิดชอบและความโปร่งใสในการทำธุรกิจ การมีความรับผิดชอบต่อสังคม และการเป็นผู้นำทางด้านสิ่งแวดล้อม"
Starbucks ได้ยึดหลักสำคัญ 4 ประการในการลงทุนเพื่อการผลิตและพัฒนากาแฟอย่างยั่งยืน อันได้แก่ คุณภาพกาแฟ ความรับผิดชอบและความโปร่งใสในการทำธุรกิจ การมีความรับผิดชอบต่อสังคม และ การเป็นผู้นำทางด้านสิ่งแวดล้อม การจัดตั้งศูนย์สนับสนุนเกษตรกรนี้ยังมีเป้าหมายอื่นๆ ด้วย เช่น ช่วยเหลือเกษตรกรในการพัฒนาคุณภาพการปลูกกาแฟ ช่วยเหลือในเรื่องของกำไรและรายได้ และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในเรื่องของคุณภาพกาแฟ เป็นต้น
โครงการสนับสนุนเกษตรกรนี้ มีอยู่ใน 9 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ แม็กซิโก กัวเตมาลา คอสตาริกา โคลัมเบีย รวันดา แทนซาเนีย เอธิโอเปีย และในเอเชีย 2 ประเทศคือ จีน และ อินโดนีเซีย นอกจาก จะช่วยเหลือ แนะนำ ให้ความรู้กับเกษตรกรในเรื่องการปลูกกาแฟแล้ว ยังช่วยเหลือทางด้านสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม โดยการจัดตั้งโรงเก็บน้ำภายในหมู่บ้านและในโรงเรียน และมีแผนการปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและเพิ่มร่มเงาให้กับกาแฟ โดยปี 2018 มีการปลูกต้นไม้จำนวน 350,000 ต้นในประเทศอินโดนีเซีย และเป้าหมายในปี 2025 คือ Starbucks จะมอบต้นกาแฟจำนวน 100 ล้านต้นให้กับเกษตรกรในประเทศปลูกกาแฟต่างๆ
โอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมกาแฟไทย (investment opportunities in Thai Coffee industry)
Starbucks มองว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการขนส่งในภูมิภาคการผลิตกาแฟ และมีการขยายตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียน อีกทั้งกาแฟไทยยังมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และกระบวนการผลิตของไทยนั้นมีมาตรฐานการผลิตอยู่ในระดับสากล
"ปี 2018 มีการปลูกต้นไม้จำนวน 350,000 ต้นในประเทศอินโดนีเซีย และเป้าหมายในปี 2025 คือ Starbucks จะมอบต้นกาแฟจำนวน 100 ล้านต้น ให้กับเกษตรกรในประเทศปลูกกาแฟต่างๆ"
Starbuck ได้กล่าวถึงการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันด้านกาแฟของประเทศกลุ่มอาเซียนว่าจะต้องมีความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน ทั้งภาคการผลิต ที่ต้องให้ความสำคัญตั้งแค่เมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพ รักษามาตรฐานการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง และมีกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงต้องมีการสร้าง branding ให้เป็นที่รู้จักและจดจำ และต้องมีการแลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะ ระหว่างกันและกัน เพื่อพัฒนาคุณภาพการผลิตกาแฟในอาเซียนให้ก้าวไกลมากยิ่งขึ้น
ภาพจากเพจ Café Amazon
Café Amazon
ด้าน Café Amazon ร้านกาแฟแฟรนไชส์ยักษ์ใหญ่ในไทย จากเดิมที่ต้องการเป็นร้านกาแฟสำหรับให้เหล่านักเดินทางแวะพักผ่อนนั่งผ่อนคลายท่ามกลางบรรยากาศสีเขียวชอุ่มในสถานีบริการน้ำมัน สู่การเป็นกาแฟแฟรนไชส์ที่มีมากกว่า 2,600 สาขาทั้งในและต่างประเทศ โดยมีสาขาในประเทศไทยจำนวน 2,450 สาขา และในเอเชีย ได้แก่ ประเทศพม่า 4 สาขา ประเทศลาว 54 สาขา ญี่ปุ่น 2 สาขา ฟิลิปปินส์ 11 สาขา กัมพูชา 110 สาขา และประเทศโอมานอีก 2 สาขา
Café Amazon ยังคงยึดมาตรฐานในการทำธุรกิจกาแฟคือ คัดเมล็ดกาแฟคุณภาพเยี่ยมจากเกษตรกรไทย ผู้ปลูกกาแฟ เลือกเมล็ดกาแฟและคั่วเมล็ดกาแฟตามมาตรฐาน มีการฝึกอบรมและตรวจสอบคุณภาพ ทั้งสาขาในหัวเมืองใหญ่และในท้องถิ่น เพื่อคงมาตรฐานของกาแฟอเมซอน และมุ่งหวังบริหารการจัดการร้านกาแฟแต่ละสาขาอย่างมีคุณภาพ โดยภายในร้าน Café Amazon ในแต่ละสาขา สามารถซื้อผลิตภัณฑ์จากกลุ่ม SME รายย่อยเข้ามาขายในร้านได้ และมีข้อกำหนดที่เหมาะสมสำหรับมาตรฐานในร้าน. ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้กับ SME ท้องถิ่น เพื่อสร้างงาน สร้างคน สร้างอาชีพอย่างต่อเนื่องนั่นเอง
"Café Amazon for chance ที่สนับสนุนผู้ด้อยโอกาส โดยเปิดร้านกาแฟที่มีพนักงานหรือบาริสต้าเป็นผู้พิการทางการได้ยินเป็นพนักงานในร้าน ซึ่งได้ดำเนินการที่สาขามหิดล ศาลายา เป็นสาขาแรก"
นอกจากนี้ Café Amazon ได้ทำงานร่วมกับ บริษัทสานพลัง องค์กรวิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งเป็นบริษัท ที่ไม่แสวงผลกำไร และนำรายได้ไปช่วยเหลือพัฒนาชุมชน หรือผู้ด้อยโอกาสต่างๆ โดยบริษัทสานพลังจะมุ่งเน้นสนับสนุน ส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกกาแฟและดูแลกาแฟในระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และรับซื้อเมล็ดกาแฟส่งต่อยัง Café Amazon ในราคาที่เหมาะสม และมีโครงการที่เรียกว่า Café Amazon for chance ที่สนับสนุนผู้ด้อยโอกาส โดยเปิดร้านกาแฟที่มีพนักงานหรือบาริสต้าเป็นผู้พิการทางการได้ยินเป็นพนักงานในร้าน ซึ่งได้ดำเนินการที่สาขามหิดล ศาลายา เป็นสาขาแรก และสาขาอื่นๆ อีก 3 สาขา และอยู่กำลังเริ่มทดลองผู้ด้อยโอกาสทางด้านออทิสติกร่วมด้วย หากมีการจัดการที่เป็นระบบแล้ว ก็จะเปิดสาขาที่สนับสนุนผู้ด้อยโอกาสเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต
ภาพจากเพจ Café Amazon
ด้านสิ่งแวดล้อม Café Amazon มีโครงการเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน โดยเริ่มจากการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์แก้วเครื่องดื่มประเภทร้อน เป็น bio-degradable cups ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ซึ่งเป็นแก้วที่ย่อยสลายตามธรรมชาติได้ภายใน 180 วัน และมีการพัฒนาแก้ว bio cup แบบเย็นเพื่อการลดจำนวนขยะพลาสติกด้วยเช่นกัน และให้ส่วนลดแก้วละ 5 บาทสำหรับลูกค้าที่นำแก้วมาเอง
ซึ่งสามารถลดจำนวนแก้วพลาสติกใช้แล้วได้ถึง 3.2 ตันต่อเดือน (สถิติเมื่อปี พ.ศ. 2561) ทั้งเปลี่ยนหลอดเป็นหลอดไบโอพลาสติกที่ย่อยสลายได้ โดยจะเริ่มใช้ทุกสาขาทั่วประเทศภายในเดือน พฤษภาคม – มิถุนายน พ.ศ.2562 และมีแผนจะลดใช้ปริมาณพลาสติกให้เหลือ 1 ใน 4 ทั้งยังมีโครงการร่วมกับ PTTGC และ IRPC ในการตกแต่งร้านและใช้เฟอร์นิเจอร์ตามแบบ Green Concept เพื่อเป็นการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กับการทำธุรกิจ
Comments