top of page

มอดเจาะผลกาแฟ วิกฤติที่มาพร้อมโอกาส




ในช่วงปีที่ผ่านมาถือได้ว่าเป็นขาลงของวงการกาแฟไทยอย่างแท้จริง นอกเหนือจากการประสบกับปัญหาราคากาแฟตกต่ำซึ่งได้รับผลกระทบมาจากราคากลางของตลาดกาแฟโลกแล้ว เกษตรกรยังต้องเผชิญกับปัญหาที่มาจากศัตรูหมายเลขหนึ่งคือ มอดเจาะผลกาแฟซึ่งสร้างความเสียหายให้กับบรรดาเกษตรกรในหลายพื้นที่เพาะปลูกกาแฟทางภาคเหนือของบ้านเรา ส่งผลกระทบต่ออัตราการผลิตกาแฟต่ำลงถึง 50 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จึงเป็นคำถามสำคัญว่า เกิดอะไรกับภาคการผลิตกาแฟในประเทศไทยกันแน่


มอดมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า (Hypothenemushampei) เป็นแมลงปีกแข็งขนาดเล็กโดยมีขนาดประมาณ 1.5 - 2 มิลลิเมตร ด้วยเหตุผลทางชีววิทยาที่มอดสามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วในสภาพอากาศที่มีความชื้นเหมาะสม จึงส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกอย่างรวดเร็วและยากจะควบคุม ตัวมอดเองสามารถเจาะเข้าไปทำลายเมล็ดกาแฟได้ตั้งแต่ผลอ่อน สามารถสร้างความเสียหายให้กับเมล็ดไปจนถึงทำให้เกิดโรคพืชแทรกซ้อนจากรูที่มอดเจาะเข้าไป เมล็ดกาแฟก็จะได้รับความเสียหาย ไม่มีคุณภาพ และส่งผลให้ผลเชอร์รีกาแฟร่วงหล่นก่อนกำหนดอีกด้วย


เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2562 ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรพื้นที่สูงเชียงรายสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1 โดยมีสถาบันวิจัยพืชสวนกรมวิชากาเกษตรเป็นแม่งาน ร่วมกับสมาคมกาแฟและชาไทยซึ่งมี อ.ธรีวัฒน์ วงศ์วรทัต ดำรงตำแหน่งประธานสมาคม เป็นผู้ผลักดันให้เกิดการเสวนาในหัวข้อเรื่อง “การผลิตกาแฟอราบิก้าคุณภาพ” ได้รับเกียรติจาก คุณจำรอง ดาวเรือง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเป็นประธานในการเปิดงาน โดยวัตถุประสงค์หลักของการเสวนาครั้งนี้คือ การวิเคราะห์ทิศทางของกาแฟไทยในตลาดสากล การปรับกลยุทธ์ทางการผลิตเพื่อการแข่งขันในตลาดโลก และที่ขาดไม่ได้คือการให้ความรู้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในพื้นที่ถึงการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของตัวมอด รวมไปถึงการถ่ายทอดวิธีปฏิบัติ และนวัตกรรมต่างๆ ที่สามารถช่วยเหลือและลดความเสียหายที่เกิดจากมอดเจาะผลกาแฟได้ เช่น การวางกับดักร่วมกับสารล่อมอด หรือการควบคุมมอดกาแฟด้วยเชื้อ บิวเวอเรีย เป็นต้น


อ. ฉัตรนภา ข่มอาวุธ นักวิชาการศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ผู้บรรยายในหัวข้อการผลิตกาแฟอราบิก้าคุณภาพ ได้ให้ความเห็นว่า เรื่องของมอดเจาะผลกาแฟนั้น ส่งสัญญาณเตือนเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่มาเป็นเวลา 6 - 7 ปีแล้ว แต่ไม่เคยมีครั้งไหนที่เกษตรกรได้รับผลกระทบมากขนาดนี้มาก่อน ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า การทำงานระหว่างเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่เชื่อมโยงกันเท่าที่ควร ประกอบกับ อ.ธรีวัฒน์ วงศ์วรทัต กล่าวว่า ในส่วนของภาคเกษตรกรเองก็กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีผลมาจากการปรับโครงสร้างสังคม และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ทำให้คนในวัยแรงงานมีปริมาณลดลง ไม่สามารถจะดูแลพื้นที่เพาะปลูกได้อย่างทั่วถึง จึงเปิดโอกาสที่ทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงต่อการถูกรบกวนด้วยเชื้อโรค และแมลงต่างๆ อยู่เสมอ รวมไปถึงเกษตรกรยังขาดความรู้ความเข้าใจ และละเลยการปฏิบัติที่ถูกต้องหลังฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การแก้ปัญหาเรื่องมอดเจาะผลกาแฟ ไม่ได้ผลเท่าที่ควร






ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าผลกระทบจากมอดเจาะผลเมล็ดกาแฟนั้น เป็นเสมือนการหยดน้ำหมึกลงบนผ้าขาวที่กำลังจะขยายวงออกไปเรื่อยๆ ในปัจจุบันถึงแม้พื้นที่การผลิตกาแฟของเราจะเพิ่มขึ้น แต่ผลผลิตกลับลดลง ราคาผลผลิตตกต่ำ การนำเข้ากาแฟมีปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า เรากำลังมีปัญหาในภาคของการผลิตทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ


ที่น่าเป็นห่วงอีกเรื่องหนึ่งสำหรับวงการกาแฟบ้านเรา คือการถูกคุกคามจากกาแฟต่างประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่ารวมไปถึงแหล่งปลูกที่ไม่สามารถตรวจสอบที่มาและคุณภาพได้ จึงมีความเสี่ยงที่จะมาพร้อมกับโรคพืชและแมลงต่างถิ่นที่อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และภาคการผลิตกาแฟของเกษตรกรในบ้านเรา ปัญหาทั้งหมดนี้ต่างมีความเชื่อมโยงกันจนไม่อาจจะมองข้ามได้ว่า มอดเจาะผลกาแฟเป็นเพียงปัญหาเฉพาะกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตได้อีกต่อไป


การจะก้าวขึ้นแข่งขันในตลาดที่สูงกว่าจำเป็นจะต้องมีพื้นฐานที่มั่นคง มอดเจาะผลกาแฟไม่ใช่ปัญหาเล็กๆ ที่ใครๆ ก็มองข้ามอีกแล้วเพราะแมลงตัวเล็กๆ ตัวนี้กำลังเจาะทำลายรากฐานการผลิตและความน่าเชื่อถือที่เราได้สร้างมา หากเรามองในแง่ดีอย่างน้อยปัญหาก็สามารถพาให้เรากลับมาทบทวนและแก้ไขข้อบกพร่อง เพื่อพัฒนาคุณภาพของเมล็ดกาแฟไทยสู่การแข่งขันที่ยั่งยืนในอนาคต ไม่แน่ว่าวิกฤติของมอดเจาะผลกาแฟครั้งนี้ อาจเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ในการยกระดับกาแฟไทยไปสู่กาแฟคุณภาพระดับโลกในอนาคตก็ได้

1,680 views0 comments

Comments


bottom of page