วันเวลาหมุนผ่านไปอย่างรวดเร็ว ฝนพรำที่มาเยือนบ่อยครั้งในช่วงนี้ คือสัญญาณบอกให้รู้ว่าล่วงเข้ากลางปีแล้ว อีกไม่กี่เดือนฤดูแห่งการเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟก็จะมาถึง หนึ่งในปัญหาที่เกษตรกรและผู้ประกอบการหรือผู้ประกอบธุรกิจไร่กาแฟและโรงเก็บกาแฟหลายแห่งอาจต้องประสบอยู่บ่อยครั้ง ย่อมไม่พ้นภัยจาก “แมลงศัตรูกาแฟ” ที่สร้างความเสียหายให้ผลผลิตจำนวนมาก เช่น ปัญหาจากมอดเจาะผลกาแฟที่มักเกิดขึ้น
ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลกาแฟ แมลงศัตรูชนิดนี้จะทำลายกาแฟกะลา หรือเมล็ดกาแฟแห้งจนเป็นรู แต่ใช่จะมีเพียงมอดเจาะผลกาแฟเท่านั้น เพราะผลกระทบจากแมลงศัตรูกาแฟที่มีอยู่หลากหลายชนิด ก็ยังคงเป็นปัญหาที่เกษตรกรและผู้เพาะปลูกกาแฟต้องประสบพบเจออยู่บ่อยครั้ง ดังข้อมูลที่ ผศ. ดร.เยาวลักษณ์ จันทร์บาง ภาควิชากีฏวิทยาและโรคพืช คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำเสนอในเวทีสัมมนา “Hillkoff Learning Space” ไปเมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการรักษาคุณภาพกาแฟและการกำจัดแมลงศัตรู โดยระบุถึงแมลงศัตรูกาแฟในไทยพบทั้งสิ้น 14 ชนิด จำแนกได้เป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ
กลุ่มแมลงศัตรูที่กัดกินภายในเมล็ดได้แก่ ด้วงเมล็ดกาแฟ ด้วงงวงข้าวโพด มอดหัวป้อม ในจำนวนนี้ ด้วงเมล็ดกาแฟไม่เพียงทำลายเมล็ดกาแฟหลังการเก็บเกี่ยวเท่านั้น แต่ยังทำลายผลผลิตอื่นๆ ที่อยู่ในโรงเก็บด้วย เช่น กระเทียม
กลุ่มแมลงศัตรูที่กินนอกเมล็ด ได้แก่ ผีเสื้อข้าวโพด ผีเสื้อข้าวสาร มอดหนวดยาว มอดยาสูบ เหาหนังสือ ด้วงขาแดง มอดฟันเลื่อย มอดสมุนไพร ด้วงอกคอด มอดแป้ง
แมลงศัตรูกาแฟในไทยพบทั้งสิ้น 14 ชนิด จำแนกได้เป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือกลุ่มแมลงศัตรูที่กัดกินภายในเมล็ด และกลุ่มแมลงศัตรูที่กินนอกเมล็ด
นอกจากด้วงเมล็ดกาแฟที่ทำลายผลผลิตอื่นๆ แล้ว ในจำนวนแมลงศัตรูทั้ง 14 ชนิด มอดเจาะผลกาแฟที่กล่าวถึงในข้างต้น ยังถือเป็นอีกชนิดที่ส่งผลกระทบมาก เนื่องจาก หากติดมากับกาแฟกะลาในกระสอบจะส่งผลเป็นวงกว้างต่อกาแฟในโรงเก็บด้วย เนื่องจากวงจรชีวิตของมอดเจาะผลกาแฟนั้น จะวางไข่และแพร่พันธุ์อยู่ภายในผลกาแฟ กัดกินอยู่ภายในอย่างต่อเนื่อง กระทั่งผลกาแฟเริ่มสุกเป็นสีแดง ดังนั้น หากมอดเจาะผลกาแฟติดไปกับผลกาแฟที่ถูกเก็บเกี่ยว เมื่อเกษตรกรนำผลผลิตไปเก็บรักษาในโรงเก็บหลังจากผ่านกระบวนการตากแห้งแล้ว มอดเจาะผลกาแฟที่ติดอยู่ภายในก็จะตามไปทำลายกาแฟในโรงเก็บด้วย
“แมลงศัตรูกาแฟ” ป้องกันได้ หมั่นตรวจตรา ใส่ใจ ดูแลความสะอาด
ความสะอาด การควบคุมความชื้น การรักษาสภาพของโรงเก็บกาแฟให้ถูกสุขลักษณะนับเป็นสิ่งสำคัญที่เปรียบเสมือนปราการด่านหน้าช่วยป้องกันเมล็ดกาแฟให้รอดพ้นจากแมลงศัตรูกาแฟได้ในระดับหนึ่ง รวมถึงหมั่นตรวจสอบตรวจตรากาแฟในพื้นที่ปลูกอยู่เสมอ
เนื่องจากวงจรชีวิตของมอดเจาะผลกาแฟ ที่วางไข่และขยายพันธุ์อยู่ภายในเมล็ดกาแฟและเสี่ยงต่อการถูกเก็บเกี่ยวไปในโรงเก็บ กระทั่งผลผลิตทั้งหมดได้รับความเสียหาย เกษตรกรและผู้ประกอบธุรกิจไร่กาแฟหรือผู้ทำการเก็บเกี่ยวจึงควรใส่ใจในทุกกระบวนการขั้นตอนนี้ด้วย อาทิ ไม่ตากผลกาแฟสุกบนพื้นดิน สังเกตหรือระวังผลกาแฟที่สุกและถูกปล่อยให้แห้งคาต้น หมั่นตรวจดูนับแต่ก่อนการเก็บเกี่ยว กระทั่งเมื่อถึงช่วงเก็บเกี่ยวก็ต้องระมัดระวังเรื่องความสะอาด เมล็ดที่เก็บไว้ในโรงเก็บรวมถึงสภาพของโรงเก็บต้องสะอาด ถูกสุขลักษณะ หมั่นควบคุมความชื้นในอยู่ในระดับที่เหมาะสม
ในแอฟริกาซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งปลูกกาแฟที่สำคัญของโลก เคยมีการศึกษาวิจัยถึงการกำจัดแมลงศัตรูกาแฟโดยใช้ตัวห้ำ ที่กินมอดเจาะผลกาแฟ มาเป็นหนึ่งในวิธีกำจัดมอด
โรงเก็บกาแฟต้องไม่มีพื้นที่น้ำท่วมถึง มีระบบถ่ายเทอากาศที่ดี ไม่เก็บผลผลิตไว้ปนเปื้อนกับสิ่งที่ไม่ถูกสุขลักษณะ อาทิ บรรจุภัณฑ์ต้องสะอาด และไม่นำอาหารหรือผลผลิตประเภทอื่น ๆ ที่มีกลิ่น หรือมีความอับชื้นมาวางใกล้ๆ หมั่นทำความสะอาดโรงเก็บและทำความสะอาดเมล็ดกาแฟ รวมถึงดูแลรักษาความสะอาดเครื่องจักร บรรจุภัณฑ์ที่ใช้เก็บผลผลิต ติดไฟส่องสว่างเพื่อลดปัญหาแมลง, การจัดการต้นไม้รอบ ๆ บริเวณอาคาร นอกจากนี้ควรตรวจสอบโรงงานพื้นที่ใกล้เคียงด้วยว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ จัดการสถานที่ที่แมลงอาจหลบซ่อนอยู่ รวมถึงอุปกรณ์ เครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ ในโรงเก็บกาแฟก็ต้องไม่เอื้อต่อการเป็นที่หลบซ่อนของแมลง หมั่นตรวจตราขยะ สิ่งปฏิกูล เศษอาหาร ฝุ่นละออง การปนเปื้อนจากผลผลิตในแหล่งอื่น ๆ ที่ไม่มีการตรวจตราก่อนนำมาเก็บรวมกัน เหล่านี้ ล้วนเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการแพร่ขยายของแมลงศัตรู
ขณะที่ในต่างประเทศ เช่น ในแอฟริกาซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งปลูกกาแฟที่สำคัญของโลก เคยมีการศึกษาวิจัยถึงการกำจัดแมลงศัตรูกาแฟโดยใช้ตัวห้ำ (ตัวห้ำคือแมลงที่กินแมลงตัวอื่นเป็นอาหาร) อย่างเช่น แตนเบียน “Prorops Nasuta” ที่กินมอดเจาะผลกาแฟ มาเป็นหนึ่งในวิธีกำจัดมอด หรือใช้เชื้อราบางชนิดที่ทำให้มอดเป็นโรค ขณะที่ในไทย ยังไม่มีการศึกษาวิจัยมากนักในเรื่องการใช้ตัวห้ำเพื่อป้องกันแมลงศัตรูกาแฟชนิดต่างๆ ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในวิธีที่น่าสนใจในการใช้ธรรมชาติจัดการกับธรรมชาติตามแนวทางชีววิถีโดยไม่พึ่งพาสารเคมี
แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ไม่อาจปฏิเสธว่ามีส่วนอย่างยิ่งในการช่วยป้องกันและยับยั้งภัยจากแมลงศัตรูกาแฟ ไม่ให้ทำลายหรือสร้างความเสียหายแก่ผลผลิตจนเกินเยียวยา ก็คือหลักการที่ไม่ยากจนเกินไป สิ่งนั้นก็คือ “ความใส่ใจ” นั่นเอง
….
ข้อมูลอ้างอิง:
รายงานเรื่องสำรวจแมลงศัตรูกาแฟอาราบิก้าและแมลงศัตรูธรรมชาติในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย โดย ปิยะวรรณ สุทธิประพันธ์ และ เยาวลักษณ์ จันทร์บาง
บทความ “มอดเจาะผลกาแฟ แมลงศัตรูในแปลงปลูกที่ส่งผลเสียระหว่างรักษา” ของ ดร.เยาวลักษณ์ จันทร์บาง ภาควิชากีฏวิทยาและโรคพืช คณะเกษตรศาสตร์ และสถาบันวิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Comentários