top of page
Writer's picturecoffeetravelermag

• Aquiares • ต้นแบบแปลงปลูกกาแฟไร้คาร์บอน (Net Zero) ผ่านแนวคิดวนเกษตร

งานวิจัยมากมายในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณคาร์บอนที่ถูกปล่อยสู่อากาศกับกระบวนการผลิตกาแฟ แทบทุกงานวิจัยต่างสรุปตรงกันว่า มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกๆ โพรเซส ตั้งแต่การปลูก การคั่ว การขนส่ง ไปจนถึงขั้นตอนการชง ซึ่งในบรรดากระบวนการทั้งหมดนี้ คาร์บอนไดออกไซด์กว่าครึ่งหนึ่ง จะถูกปล่อยออกมาระหว่างการเพาะปลูกและการแปรรูปในไร่


การบริโภคกาแฟที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี นั่นหมายถึงการเพิ่มกำลังการผลิต

ให้ได้เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งแน่นอนว่าปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) ที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศก็สูงขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน


การบริโภคกาแฟที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี นั่นหมายถึงการเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งแน่นอนว่าปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) ที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศก็สูงขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน อุตสาหกรรมกาแฟจึงตกเป็นจำเลยของสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในฐานะที่เป็นตัวการหนึ่งที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์โลกร้อน อันเป็นประเด็นที่ทั่วโลกกำลังวิตกกังวลมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา


การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทั่วโลก ที่มีสาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ของโลกเท่านั้น แต่ยังย้อนกลับมาทำร้ายอุตสาหกรรมการผลิตกาแฟเอง ด้วยสภาพอากาศที่แปรปรวน ปริมาณฝนที่มากหรือน้อยเกินไป และอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้พื้นที่เดิมไม่สามารถปลูกกาแฟได้อีกต่อไป เกษตรกรจำต้องเสาะแสวงหาพื้นที่ปลูกใหม่ด้วยการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่า เมื่อป่าไม้ถูกทำลาย ก็ไม่มีอะไรมาคอยดูดซับก๊าซเรือนกระจก วนเวียนมาซ้ำเติมปัญหาเดิมให้เลวร้ายลงไปอีก การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนจึงควรเริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนรูปแบบการปลูกกาแฟที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าการปลูกแบบเชิงเดี่ยวที่นิยมกันทั่วโลก


 

Aquiares ต้นแบบไร่กาแฟ “วนเกษตร”

Aquiares หนึ่งในผู้ผลิตกาแฟที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในประเทศคอสตาริกา ตั้งอยู่บนเนินเขาที่อุดมสมบูรณ์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภูเขาไฟ Turrialba ไร่แห่งนี้ผลิตกาแฟอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่าศตวรรษ โดยได้พัฒนากระบวนการผลิตกาแฟอาราบิกาคุณภาพสูงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนความเป็นอยู่ของชุมชนท้องถิ่นที่มีประชากรกว่า 1,800 คน ให้มีงานทำและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น


พื้นที่ทั้งหมด 80% ใช้เป็นไร่ปลูกกาแฟ ส่วนอีก 20% จะถูกสงวนไว้ให้เป็นพื้นที่ป่า

และระบบนิเวศน์แบบดั้งเดิมไว้ให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า



ไร่กาแฟ Aquiares ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1890 โดยนักธุรกิจชาวอังกฤษ เป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกที่ผลิตและส่งออกกาแฟคอสตาริกา ต่อมาในปี 1971 ถูกซื้อโดยคนท้องถิ่นสามตระกูลที่ร่วมหุ้นกันสืบทอดธุรกิจกาแฟ โดยเป็นผู้ปลูกกาแฟรายแรกที่นำรูปแบบการเกษตรแบบยั่งยืนมาใช้ในอุตสาหกรรม ปัจจุบัน Aquiares เป็นไร่กาแฟที่ใหญ่ที่สุดในคอสตาริกา มีพื้นที่กว่า 9 ตารางกิโลเมตร ซึ่งพื้นที่ทั้งหมด 80% ใช้เป็นไร่ปลูกกาแฟ ส่วนอีก 20% จะถูกสงวนไว้ให้เป็นพื้นที่ป่าและระบบนิเวศน์แบบดั้งเดิมไว้ให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า


ในปี ค.ศ. 2000 Aquiares ได้ริเริ่มโครงการปลูกป่าไม้ให้ร่มเงามากขึ้น ส่งผลให้มีไม้ยืนต้นอาทิ poró, laurel, cedar และอื่นๆ รวมกว่า 50,000 ต้น ป่าไม้เหล่านี้นอกจากจะเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำและกักเก็บธาตุอาหารในดินแล้ว ยังทำหน้าที่เสมือนเมืองระบบนิเวศน์ที่ซับซ้อน กลายเป็นที่อาศัยของสิ่งมีชีวิตต่างๆ เช่น อาร์มาดิลโล กระรอก โคโยตี้ ตัวสลอธ แมวป่ารวมถึงนกที่หายากซึ่งมีการสำรวจพบจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ



 

เมื่อป่าอุดม ผลผลิตก็สมบูรณ์

ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์งอกงามเติบโตควบคู่ไปกับต้นกาแฟแบบ “วนเกษตร” ในไร่ Aquiares ไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อสัตว์ป่าเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นตาข่ายยักษ์ที่ช่วยกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ให้หลุดลอยออกไปสู่ชั้นบรรยากาศ การตรวจสอบของทีมบริหารพบว่า ตลอดกระบวนการผลิตกาแฟ ไร่แห่งนี้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นจำนวนเกือบ 1,042 ตันสู่ชั้นบรรยากาศทุกปี ซึ่งใกล้เคียงกับปริมาณที่ปล่อยโดยรถโดยสาร 222 คันในสหรัฐอเมริกาในหนึ่งปี แต่ด้วยจำนวนของป่าไม้ที่เจริญงอกงาม แม้จะแค่ 20% ของพื้นที่ 9 ตารางกิโลเมตร กลับมีกำลังการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมกันสูงถึง 3,790 ตัน นั่นหมายความว่ากระบวนการผลิตกาแฟของไร่ Aquiares ไม่ได้แค่เป็นกระบวนการผลิตที่มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) เป็นศูนย์ (Carbon Neutral) เท่านั้น แต่ยังเป็นการผลิตกาแฟในแบบคาร์บอนเชิงลบ (Carbon negative) อีกด้วย



นอกจากการดูแลสภาพแวดล้อมภายในไร่ กระบวนการอื่นๆ ตลอดห่วงโซ่การผลิตกาแฟทั้งหมด ก็ได้รับการจัดการดูแลโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เริ่มตั้งแต่การปรับปรุงสายพันธุ์กาแฟที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศได้ดี มีความต้านทานโรคและศัตรูพืช เพื่อลดการพึ่งพาปุ๋ยและยาฆ่าแมลง ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพสม่ำเสมอ การปลูกกาแฟภายใต้ร่มเงาของไม้ใหญ่ที่เรียกกว่าวนเกษตร นอกจากจะช่วยให้ต้นกาแฟเติบโตได้ดีแล้ว ยังทำให้พื้นดินเย็นลง เมื่อดินเย็นกาแฟก็จะสุกช้าลง มีผลดีคือช่วยให้น้ำตาลจากเมือกถูกดูดซึมเข้าสู่เมล็ดได้เต็มที่ ได้ผลผลิตรสชาติดีมีคุณภาพหรือแม้แต่กระบวนการเก็บเกี่ยว ไร่ Aquiares ก็ลงทุนจ้างนักเก็บเกี่ยวที่มีทักษะพิเศษด้วยค่าตอบแทนสูงกว่าตำแหน่งอื่น เพื่อให้มั่นใจว่ามือที่แม่นยำของคนงานเหล่านี้จะเก็บเอาเฉพาะผลเชอรีที่สุกเต็มที่เท่านั้น


ไร่กาแฟ Aquiares ไม่เพียงแต่คำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเพียงเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพของคนงานทุกคน โดยการจัดสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย มีการจัดเตรียมที่พักอาศัยให้กับคนงานจากเมืองที่ห่างไกล ดูแลสุขภาพคนงานโดยมีแพทย์มาตรวจรักษาและให้คำแนะนำด้านโภชนาการถึงสองครั้งต่อสัปดาห์ หรือแม้แต่จัดคอร์สกายภาพบำบัดและกิจกรรมออกกำลังกายก่อนทำงานเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง คนงานทุกคนจะได้รับค่าแรงที่เป็นธรรม ปรับเพิ่มมากขึ้นตามประสบการณ์ทำงาน Aquiares รายงานว่า 96% ของคนงานเหล่านี้มีบ้านเป็นของตัวเอง

จากความสำเร็จในการดูแลสิ่งแวดล้อมและสวัสดิภาพแรงงาน ทำให้ในปี 2003 Aquiares ได้รับใบรับรองเกษตรยั่งยืน Rainforest Alliance Certification ต่อมาในปี 2012 Aquiares ได้กลายเป็นฟาร์มแห่งแรกในคอสตาริกาที่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของ Rainforest Alliance Climate Module ซึ่งมีมาตรการด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการใช้พลังงานที่เข้มงวด มีการติดตามอย่างรอบคอบตลอดฤดูเก็บเกี่ยว แสดงให้เห็นว่ากระบวนการผลิตทั้งหมดของไร่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


Aquiares เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกไร่กาแฟที่ดำเนินธุรกิจ

โดยคำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม




Aquiares เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกไร่กาแฟที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม แม้ประเทศคอสตาริกาจะเป็นผู้ส่งออกกาแฟอันดับที่ 15 ของโลก หรือแค่หนึ่งเปอร์เซ็นต์ของตลาด แต่ความมุ่งมั่นของผู้ผลิตเล็กๆ รายนี้ ก็เป็นตัวอย่างให้แล้วว่าอุตสาหกรรมกาแฟโลกจะไม่ใช่จำเลยของปัญหาโลกร้อนอีกต่อไป ถ้าผู้ผลิตหันมาใช้รูปแบบการผลิตกาแฟแบบวนเกษตรมากขึ้น


 

ภาพประกอบมาจากเว็บไซต์ของ https://aquiares.com/

109 views0 comments

Recent Posts

See All

Comments


bottom of page