กาแฟถือได้ว่าเป็นพืชที่ sensitive อีกชนิดหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการปลูก ขั้นตอนการผลิตและการเก็บรักษา ล้วนมีความสัมพันธ์กับคุณภาพของกาแฟทั้งสิ้น ในพาร์ทของ Coffee Processing นั้น ในส่วนของการตากก็มีผลต่อคุณภาพของกาแฟสารเช่นกัน โดยเฉพาะลานตาก ซึ่งในอดีตที่องค์ความรู้ในเรื่องของการทำลานตากยังไม่ได้เข้าถึงเกษตรกรในบ้านเรามากนัก การตากของเกษตรกรสมัยก่อนก็จะมีทั้งแบบตากบนลานดิน, ลานปูน และลานไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุที่เกษตรกรสามารถหาได้ง่าย การตากกาแฟบนลานดินไม่เป็นที่นิยมแล้วในปัจจุบัน เนื่องจากกาแฟจะดูดกลิ่นของดิน ทำให้กาแฟมีกลิ่นและรสชาติที่ไม่พึงประสงค์ รวมถึงความชื้นจากดินสามารถมาถึงกาแฟได้ง่าย ลานปูนและลานไม้ไผ่สามารถจัดการความชื้นได้ดีกว่าลานดิน แต่การตากกาแฟบนลานปูนก็ทำให้กาแฟมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้เช่นกัน และความร้อนของปูนทำให้เกษตรกรต้องคอยกลับเมล็ดกาแฟ เพื่อให้เมล็ดกาแฟแห้งสม่ำเสมอกัน เมื่อทั้งสองแบบทำให้เมล็ดกาแฟดูดกลิ่นอันไม่พึงประสงค์จากพื้นสู่เมล็ดกาแฟ เกษตรกรจึงปรับเปลี่ยนลานตากเป็นลานตากไม้ไผ่ที่ยกสูงขึ้น ทำให้การเกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์นั้นน้อยลง และการยกสูงช่วยให้อากาศไหลเวียนและความชื้นระบายออกไปได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามจากองค์ความรู้เดิมทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ปัจจุบันวิวัฒนาการของลานตากเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และยังช่วยรักษาคุณภาพของเมล็ดกาแฟไว้ได้อีกด้วย เช่น การใช้สแลนกันแดดเพื่อลดอุณหภูมิ ซึ่งในอดีตการตากกาแฟของเกษตรกรจะสัมผัสกับแสงโดยตรง ทำให้เมล็ดกาแฟมีอุณหภูมิสูง ส่งผลต่อกลิ่นของกาแฟที่จะหายไป แต่ในปัจจุบันลานตากกาแฟได้พัฒนาขึ้นไปอีกขั้น ซึ่งส่งผลดีต่อคุณภาพของผลผลิตโดยตรง
ยกตัวอย่างโดมตากกาแฟของบริษัทกาแฟดอยช้างที่เป็นบริษัทผู้ผลิตและส่งออกกาแฟอันดับต้นๆ ของประเทศ ที่ใช้สแลนกันแดดมาเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาอุณหภูมิในโดมตากกาแฟ เพราะต้องการกรองปริมาณแสงไม่ให้มันมากจนเกินไป โดยการนำสแลนมาคลุมไว้ครึ่งหนึ่งที่ด้านบนของโดม แต่อีกด้านที่ไม่ได้คลุม เพราะอยู่ใกล้กับแนวต้นไม้ใหญ่ ก็จะมีเงาต้นไม้มาช่วยบังไม่ให้แสงแดดกระทบกับเมล็ดกาแฟโดยตรง และเนื่องจากเป็นโดมแบบปิด ภายในโดมจึงมีพัดลมที่ดึงอากาศเข้าและระบายอากาศออกอยู่คนละฝั่งกัน
การนำสแลนกันแดดมาใช้มีส่วนช่วยให้การควบคุมอุณหภูมิภายในโดมตากสามารถทำได้ง่ายขึ้น
โดยควบคุมหรือการตั้งปรับด้วยระบบเซนเซอร์ทั้งหมด ดังนั้นภายในโดมก็จะควบคุมอุณหภูมิไว้ไม่ให้เกิน 40 องศาเซลเซียส แต่โดยเฉลี่ยแล้วอุณหภูมิในการตากภายในโดมจะอยู่ที่ 30 องศาเซลเซียส ส่วนในเวลากลางคืนซึ่งพื้นที่ดอยช้างอากาศจะเย็นลง บางช่วงต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส จึงต้องใช้ฮีตเตอร์ (heater) เข้าไปช่วย เพื่อให้อุณหภูมิภายในโดมมีความคงที่ตลอดทั้งคืน และเพื่อให้อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิไม่คงที่หรืออุณหภูมิต่ำ บางครั้งจะเกิดความชื้นไหลกลับเข้าไปที่เมล็ดกาแฟ โอกาสที่จะทำให้กาแฟมีเชื้อหรือกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ก็เพิ่มขึ้น จึงใช้วิธีควบคุมอุณหภูมิกับการระบายอากาศภายใน ซึ่งการที่โดมตากกาแฟสามารถควบคุมอุณหภูมิให้คงที่ได้ตลอดทั้งวันนั้น คุณพิษณุชัย แก้วพิชัย (ประธานที่ปรึกษาบริษัทกาแฟดอยช้าง) ได้บอกถึงข้อดีกับเราว่า
“การที่เราสามารถควบคุมอุณหภูมิและความชื้นได้ตลอด 24 ชม. ไม่ว่าจะในช่วงที่อากาศชื้นหรือฝนตก โดมเราก็ยังสามารถที่จะตากกาแฟได้ โดยที่ไม่ต้องกังวลเรื่องมีความชื้นหรือโอกาสที่จะเกิดเชื้อกับเมล็ดกาแฟ ทำให้เราสามารถทำกาแฟในลักษณะเดียวกันหรือคุณภาพเดียวกันซ้ำได้ในแต่ละปี ซึ่งเราจะได้กาแฟที่มีคุณภาพสม่ำเสมอกัน”
ดังนั้นการนำสแลนกันแดดมาใช้มีส่วนช่วยให้การควบคุมอุณหภูมิภายในโดมตากสามารถทำได้ง่ายขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นโดมตากกาแฟก็ไม่เหมาะกับการใช้ตากกาแฟในปริมาณมาก เพราะลงทุนในเรื่องของเครื่องไม้เครื่องมือ และอุปกรณ์ต่างๆ พอสมควร ซึ่งถ้ามีปริมาณกาแฟไม่เพียงพอสำหรับการตากก็จะไม่คุ้ม โดมตากของกาแฟดอยช้างใช้ในการตากกาแฟชนิดพิเศษ เพราะในโดมแต่ละโดมจะตากได้ประมาณ 3 - 4 ตันต่อครั้ง ซึ่งที่ดอยช้างมี 2 โดม หนึ่งครั้งตากได้ไม่เกิน 9 ตัน
สแลนจึงเหมือนตัวช่วยควบคุมอุณหภูมิในกรณีที่เราไม่มีห้องควบคุมอุณหภูมิ เราเลยควบคุมด้วยวิธีธรรมชาติคือ ลดแสงแดดที่มากระทบกับกาแฟ
การทำโดมตากกาแฟอาจจะไม่เหมาะกับเกษตรกรมากนักเพราะลงทุนสูง แต่มีอีกตัวอย่างหนึ่งของลานตากกาแฟที่ใช้สแลนกันแดดเข้ามาช่วยในการควบคุณอุณหภูมิเช่นกัน แต่ลงทุนน้อยและรักษาคุณภาพของเมล็ดกาแฟไว้ได้ดีเลยทีเดียว นั่นก็คือ ลานตากกาแฟของพี่แดง (กิจชญานันท์ ชมสนุก) เกษตรกรที่บ้านดูลาเปอร์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งพี่แดงได้นำสแลนกันแดดมาใช้กับลานตากกาแฟแบบตระแกรงที่ยกสูงขึ้นจากพื้น พี่แดงเล่าให้ฟังว่า “ที่ต้องทำอย่างนี้เพราะสแลนกันแดดเป็นตัวช่วยควบคุมอุณหภูมิไม่ให้กาแฟของเราร้อนเกินไปเวลาตาก สแลนจึงเหมือนตัวช่วยควบคุมอุณหภูมิในกรณีที่เราไม่มีห้องควบคุมอุณหภูมิ เราเลยควบคุมด้วยวิธีธรรมชาติคือ ลดแสงแดดที่มากระทบกับกาแฟ เพราะถ้าตากแดดอุณหภูมิปกติ กาแฟอาจจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นไปถึง 50 - 60 องศาเซลเซียส ซึ่งส่งผลไม่ดีต่อคุณภาพของกาแฟในเรื่องของกลิ่น ที่ทำให้กลิ่นบางอย่างหายไป”
แต่ถึงอย่างนั้นการทำลานตากแบบพี่แดงก็มีข้อจำกัดในเรื่องของการควบคุมอุณหภูมิของการตาก เพราะสแลนกันแดดเป็นเหมือนเครื่องมือที่ช่วยในการควบคุม ไม่สามารถใช้ได้แบบ 100% เราต้องหาวิธี control เอง อย่างช่วงที่แดดน้อยหรืออากาศชื้นก็ต้องเปิดสแลนออกเพราะจะทำให้ความชื้นเกินได้ เนื่องจากความชื้นสามารถเข้ามาได้จากทุกทิศทาง ดังนั้นในตอนกลางคืนพี่แดงจะใช้พลาสติกมาคลุมเมล็ดกาแฟเพื่อเป็นตัวช่วยในการกันความชื้น ถ้าความชื้นต่ำก็จะได้กาแฟที่มีกลิ่นเหมือนกาแฟเก่า หรือกลิ่นเหมือนไม้ ดังนั้นการจะทำลานตากแบบพี่แดงนอกจากความช่วยเหลือของสแลนในการลดอุณหภูมิแล้ว ก็ต้องพึ่งการจัดการที่ดีของเกษตรกรในการป้องกันความชื้นที่อาจมากเกินไป
การใช้สแลนกันแดดของทั้ง 2 กรณี เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เป็นตัวช่วยในการรักษาสมดุลของอุณหภูมิในการตากกาแฟได้ ทำให้ควบคุมคุณภาพของกาแฟได้ง่ายขึ้น ซึ่งถ้าไม่มีสแลนกันแดดเมล็ดกาแฟจะรับแดดเต็มๆ ทำให้อุณหภูมิสูง กลิ่นและรสชาติบางอย่างในกาแฟก็จะน้อยหรือหายไปเลย เพราะถูกความร้อนของแสงแดดที่มากเกินไปตอนตากทำลาย แต่การใช้สแลนกันแดดก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่ด้วย ถ้าในพื้นที่มีแดดน้อยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สแลนกันแดดก็อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ และการที่จะได้คุณภาพของเมล็ดกาแฟที่ดีอย่างสม่ำเสมอนั้น ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับการดูแลลานตากของตัวเกษตรกรเองด้วย
Comments