top of page

กาแฟอินทรีย์รักษ์ป่า มีวนา



" มีวนาได้เข้ามาทำทั้ง 3 ส่วน ตั้งแต่การปลูกกาแฟเพื่อสร้างรายได้ สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง

และรักษาสิ่งแวดล้อมหรือป่าต้นน้ำ "


กาแฟหนึ่งแก้วเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย และเรื่องราวนั้นอาจหมายถึงลมหายใจของผืนป่า


ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบกับปัญหาสภาพอากาศที่แปรปรวนจนอดไม่ได้ที่จะสงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้น และหนึ่งในคำตอบนั้นก็คงจะเป็น วิกฤติการณ์การลดจำนวนลงอย่างน่าใจหายของป่าไม้ในประเทศไทย โดยมีสาเหตุมาจากการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำการเกษตร ซึ่งพืชส่วนใหญ่ที่ปลูกก็มักจะเป็นพืชเชิงเดี่ยวที่มีการใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณมาก การทำการเกษตรเช่นนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อป่าไม้ และดินที่ถูกสารเคมีทำลายจนเสื่อมโทรมลงสิ่งที่ตามมาย่อมเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เช่น อากาศที่ร้อนขึ้น คุณภาพดินที่แย่ลง จนถึงภัยพิบัติต่าง ๆ เป็นต้น


ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าบนพื้นที่สูงของเกษตรกรเกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ผนวกรวมกับปัญหาด้านรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต เกษตรกรหลายคนจึงเลือกที่จะเพิ่มผลผลิตโดยการใช้สารเคมี และขยายพื้นที่เพาะปลูกด้วยการแผ้วถางป่าออกเป็นบริเวณกว้าง แม้การทำเช่นนี้จะสามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรได้ แต่ก็เป็นเพียงในระยะสั้นเท่านั้น ในระยะยาวพื้นที่ทำการเกษตรเหล่านี้ย่อมประสบปัญหาที่จะตามมามากมาย จนถึงจุดที่การปลูกพืชไม่คุ้มทุน เพราะผลผลิตตกต่ำ ในปัจจุบันจึงมีหน่วยงานต่าง ๆ พยายามเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ รวมถึง “มีวนา” ที่ได้เข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีทำการเกษตร โดยเน้นการปลูกกาแฟอินทรีย์ไปพร้อม ๆ กับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ เพื่อสร้างความยั่งยืนทั้งในด้านรายได้และความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าให้เกิดขึ้น



“มีวนา” = “มีป่า”

เรื่องราวของกาแฟอินทรีย์รักษาป่า มีวนา เริ่มต้นขึ้นเมื่อมูลนิธิสายใยแผ่นดิน ตั้งคำถามว่า “จะรักษาป่าได้อย่างไร” ในขณะเดียวกัน การรักษาป่าก็ต้องทำให้ชาวบ้านมีรายได้ และไม่กระทบต่อการดำรงชีวิต ทางมูลนิธิจึงได้ริเริ่มโครงการพัฒนาชุมชนด้วยการส่งเสริมการปลูกกาแฟอินทรีย์บนพื้นที่สูง โดยมี มีวนา เป็นผู้ส่งเสริมในเรื่องของการตลาด และระบบการจัดการผลผลิตให้มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร โดยเป้าหมายหลักของตัวโครงการคือการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนไปพร้อม ๆ กับการคำนึงถึงผลประโยชน์ของทุกภาคส่วน


“มีวนาได้เข้ามาทำทั้ง 3 ส่วน ตั้งแต่ส่งเสริมการปลูกกาแฟเพื่อสร้างรายได้ สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง และรักษาสิ่งแวดล้อมหรือป่าต้นน้ำ โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือทำอย่างไรให้ป่าอยู่กับชุมชนได้ เราจึงส่งเสริมโดยให้ความรู้ตั้งแต่การปลูก การพัฒนา การรับซื้อ และทำการตลาดให้กับสมาชิก พร้อม ๆ กับการปลูกป่าเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย การที่เราส่งเสริมและรับซื้อด้วยแบบนี้ทำให้สมาชิกของเรามีความมั่นคงทางด้านรายได้สูง เพราะชาวบ้านสามารถขายผลผลิตได้ทุกฤดูกาล ไม่ว่าราคากาแฟจะสูงหรือต่ำ” คุณนก (คมศักดิ์ เดชดี) ผู้จัดการทั่วไป และฝ่ายส่งเสริมเกษตรอินทรีย์และพัฒนาชุมชน บริษัทมีวนากล่าว


กาแฟอินทรีย์ของมีวนาถูกปลูกภายในพื้นที่ป่าต้นน้ำของจังหวัดเชียงราย บนพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดกว่า 4,600 ไร่ และมีพื้นที่ป่าที่ดูแลกว่า 10,000 ไร่ ครอบคลุมทั้งหมด 3 อำเภอ 7 หมู่บ้าน และ 3 ป่าต้นน้ำ ได้แก่ ป่าต้นน้ำแม่สรวย ป่าต้นน้ำแม่กรณ์ และป่าต้นน้ำแม่ลาว โดยทางมีวนาได้สนับสนุนเกษตรกรกว่า 270 ครัวเรือนในการพัฒนา และสนับสนุนในด้านการตลาดแบบยั่งยืน โดยกาแฟที่ปลูกจะเป็นกาแฟอาราบิก้า อาทิ สายพันธุ์คาร์ติมอร์ คาทูร์รา เบอร์บอน SJ และทิปิกา โดยมีวนาได้ทำการศึกษาแหล่งเพาะปลูกไปพร้อม ๆ กับการสร้างองค์ความรู้ และแรงจูงใจในการฟื้นฟูธรรมชาติ จึงนำโมเดลของการปลูกกาแฟแบบเกษตรอินทรีย์ หรือกาแฟออร์แกนิกใต้ร่มเงาป่าต้นน้ำ (Organic Shade-Grown Forest Coffee) มาสร้างจุดร่วมในการ “อนุรักษ์ผืนป่า” ให้กับเกษตรกรและชาวบ้าน


สิ่งสำคัญที่สุดคือทำอย่างไรให้ป่าอยู่กับชุมชนได้ เราจึงส่งเสริมโดยให้ความรู้ตั้งแต่การปลูก การพัฒนา การรับซื้อ และทำการตลาดให้กับสมาชิก พร้อม ๆ กับการปลูกป่าเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย


" พื้นที่ป่าไม้ภายใต้การดูแลของเกษตรและมีวนาได้รับการประเมินมูลค่าทางระบบนิเวศ จากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO (Biodiversity-based Economy Development Office) คิดเป็นมูลค่า 555 ล้านบาทต่อปี "


“เราต้องการปลูกป่าในพื้นที่ปลูกกาแฟ โดย 50 เปอร์เซ็นต์จะเป็นไม้ให้ร่มเงาซึ่งการปลูกไม้ให้ร่มเงานี้มีวนามีการสร้างแรงจูงใจให้กับชาวบ้าน และหนึ่งในวิธีการสร้างแรงจูงใจคือการให้ค่าตอบแทนในการปลูกป่า โดยจะวัดว่าพื้นที่ของเขามีไม้ให้ร่มเงาเท่าไร จากนั้นก็จะให้ค่าตอบแทนตามสัดส่วนของป่าที่อยู่ในพื้นที่ปลูกกาแฟ เมื่อชาวบ้านทำเกษตรอินทรีย์ซึ่งไม่มีการใช้สารเคมีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นป่าไม้ก็จะอยู่กับต้นกาแฟได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังทำให้คุณภาพของกาแฟดีขึ้นด้วย”


นอกจากกาแฟที่เป็นพืชหลักแล้ว มีวนายังส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชเศรษฐกิจเป็นพืชเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ ซึ่งต้นไม้ที่นำมาปลูกนั้น ทางมีวนาจะช่วยเป็นผู้จัดหากล้าพันธุ์ไม้มาให้ เพิ่มเติมจากการอนุรักษ์พืชที่มีอยู่เดิม โดยในปัจจุบันเกษตรกรได้นำกล้าไม้เหล่านี้ไปปลูกแล้วสะสมทั้งสิ้นกว่า 120,000 ต้น นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ซึ่งกิจกรรมนี้จะถูกจัดโดย

หมุนเวียนไปในแต่ละหมู่บ้านทุก ๆ ปี การส่งเสริมให้ปลูกและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำเช่นนี้ส่งผลต่อเนื่องสู่ระบบนิเวศของป่าที่สมบูรณ์ขึ้น ทำให้เกิดความหลากหลายของพันธุ์ไม้ รวมถึงสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่จำเป็นในระบบนิเวศก็จะกลับมา พื้นดินที่อุดมสมบูรณ์ขึ้นทำสามารถกักเก็บน้ำฝนลงสู่ผืนดิน ช่วยชะลอปริมาณน้ำฝนที่จะไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง ป่าที่สมบูรณ์ขึ้นยังช่วยบรรเทาความรุนแรงของสภาพอากาศ ต้นไม้ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยลดโลกร้อนได้ ประกอบกับการช่วยพัฒนาพื้นที่และส่งเสริมให้ชาวบ้านทำเกษตรอินทรีย์ ทำให้พื้นที่ป่าไม้ภายใต้การดูแลของเกษตรและมีวนาได้รับการประเมินมูลค่าทางระบบนิเวศ จากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO (Biodiversity-based Economy Development Office) คิดเป็นมูลค่า 555 ล้านบาทต่อปี หมายความว่า กาแฟอินทรีย์ของมีวนาช่วยรักษาระบบนิเวศได้ทำให้โลกของเราได้รับประโยชน์จากระบบนิเวศที่สมบูรณ์ขึ้น ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม “ความภูมิใจที่สุด คือเราได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านเห็นคุณค่าของป่า คุณค่าของถิ่นกำเนิด ซึ่งนี่คือความมุ่งหวังที่ทางมีวนาต้องการ เพื่อให้พวกเขามีรายได้ที่ยั่งยืน และสามารถใช้ชีวิตอยู่กับป่าได้”


การพัฒนาสวนกาแฟและการแปรรูป

“เราจะมีการสำรวจแปลงกาแฟทุกแปลงในทุก ๆ ปี และจะมีการนับต้นกาแฟทุกต้นที่มี ซึ่งนอกจากต้นกาแฟแล้ว ไม้ร่มเงาทุกต้นก็ต้องมีการนับ เพื่อเอามาวางแผนต่อว่า ในแต่ละพื้นที่ควรจะมีการจัดการในรูปแบบไหน ซึ่งในแต่ละหมู่บ้านจะไม่เหมือนกัน และถึงแม้จะเป็นหมู่บ้านเดียวกัน แต่หากเป็นคนละแปลง การจัดการก็จะแตกต่างกัน เพราะเป็นการส่งเสริมเชิงคุณภาพ เราจะไม่เอาวิธีการเดียวไปใช้กับทุกคน แต่จะฝึกฝนให้สมาชิกสามารถวิเคราะห์แปลงของตัวเองได้ เป็นกระบวนการส่งเสริมแบบรายบุคคล” บริษัทมีวนากล่าว โดยทีมส่งเสริมที่ดูแลโครงการในพื้นที่ต้นน้ำนี้จะเป็นผู้แบ่งปันองค์ความรู้ให้กับคนในชุมชนอย่างใกล้ชิด และนั่นคือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า กาแฟอินทรีย์ของมีวนาเต็มไปด้วยความใส่ใจตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำอย่างแท้จริง รวมถึงการพัฒนาสวนในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐานสากล



" เราจะไม่บอกเขา แต่จะทำให้เขาเห็น ให้เขาได้เรียนรู้ว่ากาแฟอยู่ที่ไหนถึงจะสมบูรณ์ที่สุด แล้วความรู้สึกหวงแหนมันจะเกิดขึ้นจากภายในตัวเขาเอง เพราะฉะนั้นการส่งเสริมมันไม่ใช่แค่การเอาของที่เรามีไปให้เขาใช้ แต่เป็นการฝึกให้เขาคิดว่าสิ่งที่เขาเป็นอยู่ในปัจจุบันคืออะไร "


“เพราะการทำเกษตรอินทรีย์มีเงื่อนไขว่าใช้ได้แค่อินทรีย์อย่างเดียว ไม่สามารถใช้ปุ๋ยเคมีได้เลย เราจึงต้องหาทางว่า ทำอย่างไรให้วัตถุดิบที่เป็นอินทรีย์ มากับอินทรีย์ และใช้กับอินทรีย์เท่านั้น หนึ่งในวิธีที่เราใช้คือการผลิตปุ๋ยหมักจากเปลือกเชอร์รี ซึ่งปุ๋ยนี้เราจะเอาไปใช้ในแปลงกาแฟของสมาชิกแต่ละคน ถามว่าคุณภาพได้ไหม คำตอบคือได้ เพราะเรามีการส่งปุ๋ยไปวิเคราะห์ใน Lab

ของมหาวิทยาลัยทุก ๆ ปี ผลการวิเคราะห์บอกว่าปุ๋ยจากเปลือกเชอร์รีมีธาตุอาหารเทียบเท่ากับปุ๋ยที่ขายในท้องตลาด หรือดีกว่าด้วยซ้ำ”


ตลอดเส้นทางของกาแฟมีวนาคือเกษตรอินทรีย์ที่ปราศจากสารเคมี และด้วยวิธีการปลูกแบบธรรมชาตินี้ จึงทำให้ต้นกาแฟของมีวนามีการเจริญเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป และสุกช้ากว่ากาแฟที่มีการใช้สารเคมีเล็กน้อย แต่นั่นก็หมายถึงการที่เมล็ดกาแฟจะสามารถสะสมสารอาหารได้นานขึ้น จนทำให้ได้กลิ่นและรสชาติที่มีคุณภาพยิ่งกว่า นอกจากนี้ยังไม่ส่งผลเสียต่อคุณภาพของดิน และความแข็งแรงของต้นกาแฟ เนื่องจากต้นกาแฟที่ปลูกโดยใช้วิธีอินทรีย์จะค่อย ๆ โตตามธรรมชาติอย่างสม่ำเสมอ


ในด้านการแปรรูป มีวนาได้มีการแปรรูปหลัก 2 แบบ คือแบบ Washed Process และ Dry Process โดยมีหัวใจสำคัญคือการคงรสชาติและกลิ่นของแต่ละแหล่งปลูกเอาไว้ กาแฟของมีวนาจะมีเอกลักษณ์โดดเด่นของกลุ่มผลไม้แห้ง ลักษณะเหมือนลูกเกดหรือพลัมและเบอร์รี่ เป็นรสชาติและกลิ่นที่สะอาดตามธรรมชาติ ซึ่งทีมเจ้าหน้าที่ส่งเสริมของมีวนาจะคอยดูแลให้คำแนะนำเรื่ององค์ความรู้และวิธีการแปรรูปด้วยความเอาใจใส่ในเรื่องคุณภาพในทุกขั้นตอน


“เราจะไม่บอกเขา แต่จะทำให้เขาเห็น ให้เขาได้เรียนรู้ว่ากาแฟอยู่ที่ไหนถึงจะสมบูรณ์ที่สุด แล้วความรู้สึกหวงแหนมันจะเกิดขึ้นจากภายในตัวเขาเอง เพราะฉะนั้นการส่งเสริมมันไม่ใช่แค่การเอาของที่เรามีไปให้เขาใช้ แต่เป็นการฝึกให้เขาคิดว่าสิ่งที่เขาเป็นอยู่ในปัจจุบันคืออะไร ต้นกาแฟของเขาเป็นอย่างไร สิ่งไหนที่เหมาะกับเขา แล้วเขาจะเอาสิ่งนั้นไปใช้ในการฟื้นฟูสวนกาแฟได้อย่างไร เพราะสิ่งสำคัญในการทำเกษตรอินทรีย์คือความคิด ไม่ใช่เพียงวิธีการ”


ความสม่ำเสมอและการทำตามมาตรฐานของเกษตรอินทรีย์ในทุกขั้นตอน โดยมีวนาทำงานร่วมกับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย (มกท.) และได้ตรารับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ IFOAM ตรามาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์สหภาพยุโรป (EU) และตรามาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์แคนาดา (Canada Organic Regime – COR) ซึ่งเทียบเท่ากับ USDA ที่รับรองว่าการทำเกษตรอินทรีย์ของโครงการกาแฟอินทรีย์รักษาป่ามีวนา เป็นการทำเกษตรอินทรีย์ที่ไร้ ซึ่งสารเคมีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงสามารถสร้างคุณค่า และความยั่งยืนให้กับชุมชนจริง ๆ



" มีวนาเป็นกาแฟที่เริ่มต้นจากความต้องการในการฟื้นฟู เราอยากฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ เพราะฉะนั้นกาแฟก็เป็นเหมือนตัวขับเคลื่อนที่ทำให้เกิดการฟื้นฟู การอนุรักษ์ และสร้างความยั่งยืนให้กับผืนป่า "

จากป่าสู่เมือง พื้นที่เล่าเรื่องใต้ร่มเงาไม้ มีวนา


เรามีโอกาสได้พบกับคุณโจ (ทักษิณา ชีพวรรณ) รองผู้จัดการฝ่ายงานองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านกาแฟ บริษัท มีวนา จำกัด


“มีวนาเป็นกาแฟที่เริ่มต้นจากความต้องการในการฟื้นฟู เราอยากฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ เพราะฉะนั้นกาแฟก็เป็นเหมือนตัวขับเคลื่อนที่ทำให้เกิดการฟื้นฟู การอนุรักษ์ และสร้างความยั่งยืนให้กับผืนป่า ซึ่งการทำงานของมีวนาจะเป็นในรูปแบบ Cycle ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ”


มีวนาได้สื่อสารเรื่องราวนี้ผ่านร้าน MiVana Coffee Flagship Store ที่ตั้งอยู่ในย่านศรีนครินทร์ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของคนกับป่าที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน โดยตัวร้านถูกออกแบบมาเพื่อเล่าถึงเรื่องราวเบื้องหลังการสร้างธุรกิจกาแฟที่ให้ความสำคัญกับป่าไม้ คุณภาพของกาแฟ และความเป็นอยู่ของผู้คน เพื่อสร้างมาตรฐานกาแฟอินทรีย์ระดับสากล ไปจนถึงการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน


“เราต้องการที่จะสร้างพื้นที่สีเขียว มีคาเฟ่ที่ให้ประสบการณ์เหมือนคุณได้เข้าไปในสวนกาแฟที่เติบโตใต้ร่มเงาป่าอันร่มรื่น เราเลือกใช้วัสดุที่สะท้อนภูมิปัญญาท้องถิ่นในการนำเสนอเครื่องดื่ม การใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด อันนี้คือคอนเซ็ปต์ของตัวร้าน” นอกจากร้านกาแฟแล้ว ผลิตภัณฑ์กาแฟออร์แกนิกของแบรนด์มีวนาเองก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ปัจจุบันมีวนามีกาแฟคุณภาพออกสู่ท้องตลาดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดกาแฟดิบ Green Beans สำหรับผู้ประกอบการ เมล็ดกาแฟคั่วและเมล็ดกาแฟคั่วบดสำหรับผู้บริโภค นอกจากนี้ยังมีกาแฟแบบ Single Origin จากหมู่บ้านที่มีธรรมชาติและป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์มาก จนได้รสชาติกาแฟที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น อาทิ กาแฟบ้านห้วยไคร้ กาแฟบ้านร่มเย็น และกาแฟบ้านขุนลาว นอกจากนี้ยังมีกาแฟพร้อมดื่มสปาร์คกลิ้ง คอฟฟี่ อีกด้วย


โดยเมล็ดกาแฟทุกเมล็ดจะถูกคัดสรรคุณภาพมาเป็นอย่างดี และทุกถุงจะถูกผลิตตามมาตรฐานการผลิตทั้ง GHP (Good Hygiene Practice), HACCP (Hazard Analysis and Critical Control Point System) และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระดับสากลอย่าง EU (European Union Organic) และ USDA (U.S. Department of Agriculture) นอกจากนี้ ในการบรรจุจะมีการเติมก๊าซไนโตรเจนเพื่อรักษาคุณภาพของเมล็ดกาแฟให้ยาวนานจนกว่าจะส่งไปถึงมือผู้บริโภคอีกด้วย




" กาแฟดีมันต้องประกอบด้วยเรื่องราวในชีวิตของคนใน Supply Chain "


 

Coffee Traveler

เป็นนิตยสารรายสองเดือน ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ

และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ

- - -

สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX Facebook : Coffee Traveler

Instagram : coffeetraveler_magazine

Youtube : Coffee Traveler

Blockdit : I am Coffee Traveler / coffeetravelermag

411 views0 comments
bottom of page