top of page

ชุมชนกาแฟเทพเสด็จ แหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนทั้งระบบ



" กาแฟเทพเสด็จได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) และได้ใช้ตราสัญลักษณ์ GI ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 "


ปฏิเสธไม่ได้ว่าอุตสาหกรรมกาแฟบ้านเรายังคงเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง สังเกตได้จากงานอีเวนต์หรือเทศกาลงานกาแฟที่ถูกจัดขึ้นทั่วประเทศ หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ทำให้ภาพรวมของวงการกาแฟกลับมาคึกคักไม่น้อยเลยทีเดียวแน่นอนว่าการกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่งของวงการกาแฟไทยนั้น สิ่งที่ตามมาคงหนีไม่พ้นเรื่องของการท่องเที่ยว เนื่องจากการจัดอีเวนต์งานกาแฟ ย่อมเป็นตัวช่วยในการกระตุ้นเรื่องการท่องเที่ยวไปโดยปริยาย ซึ่งสามารถดึงทั้งคนในและนอกพื้นที่เข้ามาร่วมงานได้ค่อนข้างดีทีเดียว จึงส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้ภายในจังหวัดหรือชุมชน ในส่วนของแหล่งปลูกกาแฟเองก็เช่นกัน เมื่อเป็นแหล่งปลูกกาแฟคุณภาพที่สามารถรักษามาตรฐานมาได้อย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นที่รู้จักแล้ว ย่อมมีเรื่องของการท่องเที่ยวเข้าไปเพิ่มเสริมเข้ามาด้วยเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟ โรงแรม หรือโฮมสเตย์ที่ขยายตัวในพื้นที่มากขึ้น ทำให้รายได้ของคนในชุมชนเพิ่มขึ้น รวมถึงตลาดกาแฟของแหล่งปลูกนั้น ๆ ก็ขยายตัวตามไปด้วย


เราจึงเห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่ากาแฟสามารถเติบโตควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวได้ดีเลยทีเดียว เช่นเดียวกันกับแหล่งปลูกกาแฟเทพเสด็จ ที่ถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งปลูกกาแฟคุณภาพแห่งหนึ่งของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นชุมชนกาแฟพ่วงตำแหน่งแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ ที่คอกาแฟหรือนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปชิมกาแฟได้ถึงแหล่งผลิตได้ไม่ยาก เพราะอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่มากนัก เส้นทางคมนาคมก็สะดวกสบาย และอากาศก็เย็นทั้งปี ทำให้มีนักท่องเที่ยวขึ้นไปไม่ขาดสายในปัจจุบัน



" หลังจากชาวบ้านได้รับกล้ากาแฟก็ได้นำมาปลูกแซมต้นชาเมี่ยงเพื่อเป็นอาชีพเสริม จากนั้นโครงการหลวงได้เข้ามาส่งเสริมและมีตลาดรับซื้อกาแฟของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านหันมาสนใจปลูกกาแฟมากขึ้น "


เดิมทีพื้นที่ของตำบลเทพเสด็จนั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพปลูกเมี่ยง จึงมีชื่อเดิมว่า “ตำบลป่าเมี่ยง” แต่เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโครงการหลวงป่าเมี่ยง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาติดตามงานถึง 2 ครั้ง จึงเห็นว่าตำบลป่าเมี่ยงเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การปลูกกาแฟสายพันธุ์อาราบิกา จึงพระราชทานกล้ากาแฟให้กับชาวบ้าน พร้อมทั้งพระราชทานนามชื่อว่า “ตำบลเทพเสด็จ” นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลังจากชาวบ้านได้รับกล้ากาแฟก็ได้นำมาปลูกแซมต้นชาเมี่ยงเพื่อเป็นอาชีพเสริม จากนั้นโครงการหลวงได้เข้ามาส่งเสริมและมีตลาดรับซื้อกาแฟของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านหันมาสนใจปลูกกาแฟมากขึ้น และกลายเป็นอาชีพหลักมาจนถึงปัจจุบัน


พื้นที่ปลูกกาแฟของตำบลเทพเสด็จเป็นการปลูกในร่มเงาต้นชาเมี่ยง และป่าไม้ธรรมชาติ ซึ่งมีพันธุ์ไม้และดอกไม้ป่าเฉพาะในพื้นที่เรียกว่า ดอกก่อ ประกอบกับในพื้นที่มีผึ้งโก๋น หรือผึ้งโพรง ทำให้รสชาติของกาแฟเทพเสด็จมีอัตลักษณ์พิเศษเฉพาะตัว และมีกลิ่นหอมดอกไม้ป่า อีกทั้งยังอยู่บนความสูง 1,100 - 1,600 เมตรจากระดับน้ำทะเล ส่งผลให้อากาศในพื้นที่มีความเย็นเฉลี่ย 10 - 28 องศาเซลเซียสตลอดทั้งปี นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ และมีแหล่งต้นน้ำธรรมชาติที่มีคุณภาพดี ดังนั้นองค์ประกอบเหล่านี้เองที่เป็นลักษณะเฉพาะในพื้น ทำให้กาแฟเทพเสด็จได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) และได้ใช้ตราสัญลักษณ์ GI ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 โดยในปีนี้ ครบอายุ 2 ปี ของใบอนุญาตการใช้ตรา GI จึงเป็นอีกปีที่ชุมชนกาแฟเทพเสด็จและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างร่วมมือกันดำเนินการยื่นเอกสารขอใช้ตรา GI ต่อไป ดังนั้นการได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จึงเป็นข้อพิสูจน์ถึงความพิเศษของกาแฟเทพเสด็จ รวมถึงสามารถสร้างความเชื่อมั่นในแหล่งที่มาและคุณภาพของตัวสินค้าได้อีกด้วย ซึ่งแน่นอนว่าในส่วนของการท่องเที่ยวก็พลอยได้รับผลลัพธ์ที่ดีไปด้วยเช่นเดียวกัน



เรามีโอกาสได้พูดคุยกับนายก อบต. เทพเสด็จ คุณสว่าง จันทร์เที่ยง ถึงภาพรวมของกาแฟเทพเสด็จที่สามารถผลักดันในเรื่องของการท่องเที่ยวไปพร้อมกันได้อย่างประสบความสำเร็จ อีกทั้งยังเป็นภาพตัวอย่างที่ชัดเจนให้กับแหล่งปลูกกาแฟอื่น ๆ ถึงการเป็นชุมชนกาแฟสู่แหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนทั้งระบบได้อีกด้วย


“จริง ๆ แล้วกาแฟในพื้นที่ของเราถูกนำเข้ามาโดยเจ้ามงคล ณ เชียงใหม่ ซึ่งเป็นเจ้าคนหนึ่งของเชียงใหม่ในขณะนั้น เป็นผู้นำกาแฟอาราบิกาเข้ามาในพื้นที่ให้เกษตรกรปลูก หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2524 โครงการหลวงได้เข้ามาส่งเสริม และด้วยพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จเยี่ยมพื้นที่ตำบลเทพเสด็จ พร้อมให้มีการส่งเสริมการปลูกกาแฟให้กับชาวบ้านมากขึ้น ก็ต้องยอมรับว่าชาวบ้านกลับมาให้ความสนใจกับการปลูกกาแฟกันอย่างมาก อีกทั้งยังเริ่มมองเห็นตลาดและมูลค่าของผลผลิตในระยะยาว นับตั้งแต่นั้นมาชาวบ้านในพื้นที่ตำบลเทพเสด็จจึงยึดการปลูกกาแฟเป็นอาชีพหลักมาจนถึงปัจจุบัน



เราจึงมีการจัดให้มีคณะกรรมการการท่องเที่ยวของตำบลเทพเสด็จขึ้นมา หรือเรียกว่า “ชมรมผู้ประกอบการกาแฟเทพเสด็จ"


ทาง อบต.เอง ก็ให้การสนับสนุนกับเกษตรกรอย่างเต็มที่ รวมถึงมีการจัดงบประมาณในการช่วยเกษตรกรที่จัดตั้งเป็นกลุ่มกาแฟด้วย และในช่วง 5 - 6 ปีที่ผ่านมา คนในพื้นที่ของเราออกไปเสวนา หรือออกไปจัดบูธในหลาย ๆ ที่ ทำให้กาแฟเทพเสด็จเป็นที่รู้จักและถูกพูดถึงในวงกว้างมากขึ้น เมื่อกาแฟของเราเป็นที่รู้จักและมีตลาดรองรับค่อนข้างมากแล้ว สิ่งหนึ่งที่ได้นอกจากมูลค่าผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ก็คือกาแฟสามารถดึงคนจากภายนอกเข้ามาในพื้นที่ของเราได้อย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ หรือคนกาแฟที่อยากเข้ามาลิ้มลองกาแฟเทพเสด็จจนถึงแหล่งปลูก ตรงนี้ก็ทำให้ชาวบ้านหรือคนในชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการขายกาแฟหน้าร้าน เมื่อมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาแล้ว เราจึงมองภาพต่อยอดไปอีกว่า จะทำอย่างไรให้เขาเข้ามาแล้วไม่ได้มาเพื่อชิมกาแฟเพียงอย่างเดียว”


หลังจากกาแฟเทพเสด็จเริ่มเป็นที่รู้จักและเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น รวมถึงคอกาแฟและนักท่องเที่ยวที่ต่างหลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่ไม่ขาดสายประกอบกับการคิดต่อยอดของทางภาครัฐฯ และชุมชน ที่เล็งเห็นถึงโอกาสของการขยับขยายเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ชาวบ้านเริ่มเปิดบ้านเป็นโฮมสเตย์ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาชิมกาแฟ

กันเกือบตลอดทั้งปี “เมื่อตำบลเทพเสด็จเป็นแหล่งปลูกกาแฟคุณภาพ และได้รับรองมาตรฐานหรือตราสัญลักษณ์แหล่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ได้สักระยะหนึ่งแล้ว การท่องเที่ยวก็เริ่มเข้ามาในพื้นที่ของเรามากขึ้น ทั้งจากผู้ประกอบการภายนอก และคนในพื้นที่ที่มองเห็นโอกาสในเรื่องของการท่องเที่ยว เราจึงมีการจัดให้มีคณะกรรมการการท่องเที่ยวของตำบลเทพเสด็จขึ้นมา หรือเรียกว่า “ชมรมผู้ประกอบการกาแฟเทพเสด็จ” ในส่วนของชมรม จะหมายรวมถึงบ้านพักโฮมสเตย์และร้านกาแฟ แต่ในส่วนของโฮมสเตย์ที่ชาวบ้านตำบลเทพเสด็จเปิดเอง เราก็มีกลุ่มชาวบ้านในการจัดการโฮมสเตย์ในชุมชนเช่นกัน แต่ชาวบ้านเขาก็จะมีการรับนักท่องเที่ยวบ้านใครบ้านมัน แต่ในกรณีที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก เขาจะจัดการกระจายนักท่องเที่ยวไปบ้านอื่น ๆ ด้วย ตรงจุดนี้เองที่เรามองว่าเป็นการพึ่งพาอาศัยกันของคนในชุมชน และเป็นการทำให้เกิดประโยชน์ร่วมกันได้อย่างแท้จริง ทำให้ตำบลเทพเสด็จมีภาพที่ชัดเจนของการเป็นชุมชนกาแฟ และแหล่งท่องเที่ยวที่เข้มแข็งขึ้นมาได้จนถึงทุกวันนี้”


คุณสว่าง จันทร์เที่ยง นายก อบต. เทพเสด็จ อธิบายให้เห็นถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นชุมชนกาแฟ ไล่มาจนถึงปัจจุบันที่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเชียงใหม่ได้อย่างชัดเจนเลยทีเดียว นอกจากนี้ นายกอบต. ยังบอกอีกว่า ในอนาคทางอบต. จะยังคงร่วมมือกับชุมชนและชาวบ้านในการพัฒนาต่อยอดทั้งในเรื่องของกาแฟและการท่องเที่ยวต่อไป เพื่อให้กาแฟเทพเสด็จมีมูลค่าและชาวบ้านมีรายได้ที่ยั่งยืน รวมถึงในส่วนของการท่องเที่ยวนั้น จะร่วมมือกันบริหารจัดการกับคนในชุมชน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน และให้ตำบลเทพเสด็จเป็นแหล่งปลูกกาแฟคุณภาพและมีการท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐานต้องยอมรับเลยว่ากาแฟเทพเสด็จมีอนาคตที่สดใสในเรื่องของการท่องเที่ยว ที่สามารถมองเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมเลยทีเดียว


แน่นอนว่าหากมีแต่ที่พัก การท่องเที่ยวจะไม่สามารถเติบโตขึ้นไปกว่าเดิมมากเท่าไรนัก จึงจำเป็นต้องมีการท่องเที่ยวในรูปแบบอื่นเข้ามาเสริมเพื่อให้เกิดความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ตรงจุดนี้เอง จึงจำเป็นต้องอาศัยผู้ประกอบการภายนอกเข้ามาร่วมพัฒนาการท่องเที่ยวให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น แต่ทางฝั่งของผู้ประกอบการเอง ก็จำเป็นต้องมีใจรักในความเป็นลักษณะเฉพาะของพื้นที่เช่นกัน ไม่เพียงแต่จะเข้ามาหวังกอบโกยกำไร แต่ต้องทำตาม



" การเข้ามาทำร่วมกับคนในพื้นที่ จึงเป็นการจัดการลักษณะชุมชนที่เรามองว่าเป็นการเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน เราได้ประโยชน์จากชุมชน ชุมชนก็ได้ประโยชน์จากเราด้วยเช่นกัน "


ข้อกำหนดที่ชุมชนตั้งไว้ด้วยเช่นกัน เพื่อให้สามารถร่วมกันพัฒนาชุมชนไปในทิศทางเดียวกันได้ เช่นเดียวกับคุณซอนนี่ คุณส่องใส มังคลาด กรรมการผู้จัดการของ King Kong Smile Zipline ที่เข้ามาเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการในเรื่องของการท่องเที่ยวที่ตำบลเทพเสด็จ โดยคุณซอนนี่ทำธุรกิจ Zipline หรือกิจกรรมการโหนสลิงอยู่ก่อนแล้วในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งถือได้ว่าคุณซอนนี่เป็นเจ้าแรก ๆ ของการนำกิจกรรมการโหนสลิงเข้ามาในประเทศไทย และมีอุปกรณ์ Safety ที่ได้มาตรฐานในระดับสากล


ซิปไลน์เป็นกิจกรรมการโหนสลิงไปตามเส้นทางธรรมชาติ ซึ่งจะได้เห็นทิวทัศน์ของป่าไม้และธรรมชาติอย่างชัดเจน ซึ่งตำบลเทพเสด็จขึ้นชื่อในเรื่องของความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ อีกทั้งยังเป็นแหล่งปลูกกาแฟคุณภาพสูง คุณซอนนี่ จึงเห็นโอกาสว่ากิจกรรมโหนสลิงเหมาะสมกับพื้นที่ของตำบลเทพเสด็จ ทั้งในเรื่องของการเผยให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ และศักยภาพของแหล่งปลูกกาแฟเทพเสด็จ คุณซอนนี่จึงมองว่าการโหนสลิงจะกลายเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของตำบลเทพเสด็จ ที่สามารถดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวได้ดีเลยทีเดียว


“เราทำเรื่องท่องเที่ยวมากว่า 10 ปี แล้ว ก็มาเห็นศักยภาพในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวของเทพเสด็จที่มีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง เรามองในฐานะคนทำเรื่องการท่องเที่ยวว่า เทพเสด็จเป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีศักยภาพเรื่องการท่องเที่ยว และเผยแพร่ให้ชาวต่างชาติรับรู้ได้ จึงตัดสินใจเข้ามาทำซิปไลน์ที่นี่ด้วย เดิมทีเทพเสด็จมีกาแฟดีอยู่แล้ว และมีที่พักโฮมสเตย์มากมายไว้รองรับ นักท่องเที่ยว แต่ถ้ามีที่พักเพียงอย่างเดียวก็ไม่สามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาตลอดได้ เมื่อเทียบกับการมีสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ดังนั้น เมื่อเรามองเห็นโอกาสจึงเข้ามาคุยกับทางกำนันและผู้ใหญ่บ้านว่าเราจะเข้ามาทำซิปไลน์ตรงนี้ ทางชุมชนก็เห็นด้วย จึงเกิดเป็นการทำร่วมกับชาวบ้าน คล้ายเป็นสหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชน เพื่อที่จะดึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้เข้ามารู้จักกับตำบลเทพเสด็จมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การเข้ามาทำร่วมกับคนในพื้นที่ จึงเป็นการจัดการลักษณะชุมชนที่เรามองว่าเป็นการเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน เราได้ประโยชน์จากชุมชน ชุมชนก็ได้ประโยชน์จากเราด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นการได้ประโยชน์ร่วมกันที่สามารถเดินไปด้วยกันได้ในระยะยาว”


บอกได้เลยว่าวิธีนี้เป็นอีกหนึ่งวิธีของการลดความขัดแย้งระหว่างผู้ประกอบการและชุมชนในอนาคตได้ดีเลยทีเดียว อีกทั้งความร่วมมือในการช่วยกันพัฒนาและจัดการการท่องเที่ยว ยังส่งผลให้ชุมชนมีความพร้อมสำหรับการรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย นอกจากนี้ คุณซอนนี่ ยังแชร์มุมมองในเรื่องของกาแฟและการท่องเที่ยวของตำบลเทพเสด็จให้ฟังได้อย่างน่าสนใจ


“ในมุมมองของเรา มองว่ากาแฟเป็นสิ่งที่ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยว 100%เพราะกาแฟเป็นโปรดักต์ที่ต้องการสำหรับทุกที่ ทั้งโรงแรม เกสต์เฮาส์ แม้แต่โฮมสเตย์ก็เช่นกัน ดังนั้น กาแฟและการท่องเที่ยวจึงเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะถ้าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีสวนกาแฟเหมือนกับตำบลเทพเสด็จ เราก็สามารถให้ประสบการณ์กับนักท่องเที่ยวได้ในอีกมิติหนึ่ง อย่างการพาเขาไปชมสวนกาแฟ ไปดูผลกาแฟหรือดอกกาแฟ ซึ่งก็เป็นการให้เขาได้เข้ามาสัมผัสกับแหล่งปลูกอย่างใกล้ชิดได้จริง ๆ”



หลังจากได้เห็นมุมมองเรื่องการท่องเที่ยวจากผู้ประกอบการในพื้นที่อย่างคุณซอนนี่แล้ว ก็ยิ่งทำให้เห็นถึงความมั่นคงทั้งในเรื่องของกาแฟและการท่องเที่ยวของตำบลเทพเสด็จได้อย่างชัดเจน รวมถึงยังเห็นภาพของชุมชนที่เข้มแข็งจากการร่วมมือร่วมใจในการพัฒนากาแฟควบคู่ไปกับการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย


“ในอนาคตเราตั้งใจว่าจะจัดตั้งเป็นชมรมหรือสมาคมท่องเที่ยวอำเภอดอยสะเก็ด เนื่องจากอยากให้การท่องเที่ยวพัฒนาต่อไป ไม่กระจุกอยู่จุดเดียวแต่ในตอนนี้ จุดแรกของอำเภอดอยสะเก็ดที่มีชื่อเสียงก็คือ ตำบลเทพเสด็จต้องยอมรับว่าเทพเสด็จเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด เราจึงต้องหันกลับมามองต่อว่าแล้วสถานที่ที่มีพร้อมทุกอย่างแล้วทั้งกาแฟ ที่พัก และสถานที่ท่องเที่ยวสามารถช่วยกันผลักดันไปในทิศทางใดได้อีกบ้าง แต่สิ่งสำคัญคือการพัฒนาต่อยอดต้องไม่สร้างปัญหาให้กับชุมชนและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ก่อนลงมือสร้างเราจำเป็นต้องคำนึงถึงปัญหาและวิธีแก้ไขเสียก่อน เพื่อให้ตำบลเทพเสด็จยังคงเป็นชุมชนกาแฟที่เติบโตไปพร้อมกับการเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนทั้งระบบไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน”


คุณซอนนี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของผู้ประกอบการที่สามารถเข้ากันได้กับชุมชนอย่างกลมกลืน และในตำบลเทพเสด็จ ยังมีผู้ประกอบการอีกหลายท่านที่ร่วมมือกับชาวบ้าน เพื่อพัฒนาเรื่องกาแฟควบคู่ไปกับการท่องเที่ยว เหตุนี้เองจึงทำให้ชุมชนกาแฟเทพเสด็จสามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง รวมถึงเศรษฐกิจหรือรายได้ของคนในชุมชนเองก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย


ตำบลเทพเสด็จจึงเป็นตัวอย่างชุมชนกาแฟที่ทำให้มองเห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่าการเป็นแหล่งปลูกกาแฟคุณภาพอย่างเดียว หรือการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ไม่สามารถทำให้ชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืนได้ หากขาดความร่วมมือของคนในชุมชน รวมถึงแรงสนับสนุนที่ดีทั้งจากทางภาครัฐฯ และเอกชน ที่เป็นผู้ประกอบการเข้ามาในพื้นที่ที่ต้องทำตามกฎและระเบียบของชุมชน เพื่อให้เกิดชุมชนที่ยั่งยืนได้อย่างประสบผลสำเร็จ นอกจากนี้ ตำบลเทพเสด็จยังเป็นอีกหนึ่งชุมชนตัวอย่างของการพัฒนาคุณภาพกาแฟควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวในชุมชน ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์ ทำให้ความพิเศษและอัตลักษณ์ของกาแฟ และสภาพแวดล้อมของตำบลเทพเสด็จยังคงมีให้เราเห็นจนถึงปัจจุบัน


" ในมุมมองของเรา มองว่ากาแฟเป็นสิ่งที่ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยว 100% เพราะกาแฟเป็นโปรดักต์ที่ต้องการสำหรับทุกที่ ทั้งโรงแรม เกสต์เฮาส์ แม้แต่โฮมสเตย์ "


 

Coffee Traveler

เป็นนิตยสารรายสองเดือน ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ

และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ

- - -

สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX Facebook Coffee Traveler

Youtube : Coffee Traveler






383 views0 comments
bottom of page