top of page

บ้านห้วยขวาง จังหวัดน่าน



" การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรจังหวัดน่านของกรมสมเด็จพระเทพฯ เมื่อกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ได้เข้ามาเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนบ้านห้วยขวาก จึงมีพระราชดำริให้ช่วยเหลือชาวบ้านให้มาปลูกกาแฟ ช่วยอาชีพทางการเกษตร พัฒนาในเรื่องของกาแฟให้เป็นอาชีพของชาวบ้าน "


เมื่อปี พ.ศ. 2551 กรมสมเด็จพระเทพฯ เคยเสด็จพระราชดำเนินมาสถานที่แห่งนี้ พร้อมกับมีพระราชดำริให้ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนชาวบ้านให้มีรายได้ เช่น การปลูกกาแฟ เนื่องจากเดิมทีชาวบ้านปลูกกันไว้อยู่แล้ว เพียงแต่มีปัญหาด้านการตลาด จึงโค่นกาแฟทิ้งจนหมดเหลือแต่ตอ นี่คือส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์จากปากผู้รู้ ซึ่งทำงานคลุกคลีกับชุมชนบ้านห้วยขวาก อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน เป็นเวลากว่า 14 ปีแล้ว ที่กาแฟจากจังหวัดน่านดึงสีสันของชุมชนให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง หลังจากวิถีใหม่เกือบนำพาผู้คนหลั่งไหลออกหมู่บ้านเพื่อไปเผชิญกับการทำงานและชีวิตความเป็นอยู่แบบสังคมเมือง เพราะอย่างไรก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าปากท้องคือเรื่องสำคัญของใครหลายคน โดยเฉพาะกับชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกล



หากจะพูดถึงความเป็นมาของหมู่บ้านห้วยขวากนั้น จะต้องย้อนกลับไปในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2516 – 2523 เป็นต้นมา ในช่วงท้ายของสงครามเย็นที่ยังเข้มข้นอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะฝั่งประเทศไทย ลาว และกัมพูชา เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวเกี่ยวพันกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่ช่วงหนึ่งเคยปักหลักอยู่บริเวณนี้ จนเกิดการสู้รบด้านหลังหมู่บ้านมณีพฤกษ์หรือที่ตอนนี้ถูกเรียกว่าภูแว และถัดไปไม่ไกลที่ภูพยัคฆ์ ทำให้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ออกคำสั่ง 66/23 ขึ้นมาเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2523 มีจุดประสงค์เพื่อปรองดองและยุติความขัดแย้งทางอุดมการณ์ของคนในชาติโดยใช้การเมืองนำการทหาร หลังจากนั้นจึงได้มีการเจรจากับลุงคำตัน แกนนำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เพื่อถอยกันคนละก้าวก่อนจะมีการวางอาวุธเรื่อยมา จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. 2530 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชทานปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมีพระราชดำรัสกับพลเอกศิริ ทิวะพันธุ์ ซึ่งตอนนั้นดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 3 ให้ช่วยเหลือราษฎรชาวไทยภูเขาจังหวัดน่านและผู้ร่วมชาติไทย จึงได้มีการเข้ามาพัฒนาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 โดยจัดตั้งการพัฒนาความมั่นคงลุ่มน้ำน่านขึ้นมา 7 พื้นที่ ได้แก่ บ้านน้ำรีพัฒนา บ้านแม่สะนาน บ้านร่มเกล้า บ้านน้ำดวง บ้านปางแก บ้านมณีพฤกษ์ บ้านปางช้าง ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 จัดตั้งเพิ่มอีก 1 พื้นที่ คือ บ้านห้วยกานต์ และใน พ.ศ. 2539 จัดตั้งเพิ่มอีก 2 พื้นที่ คือบ้านสบมาง – นาบง และบ้านถ้ำเวียงแก จากนั้นการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรจังหวัดน่านของกรมสมเด็จพระเทพฯ เมื่อกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ได้เข้ามาเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนบ้านห้วยขวาก จึงมีพระราชดำริให้ช่วยเหลือชาวบ้านให้มาปลูกกาแฟ ช่วยอาชีพทางการเกษตร พัฒนาในเรื่องของกาแฟให้เป็นอาชีพของชาวบ้าน จึงได้มีการจัดตั้งโครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริบ้านห้วยขวากขึ้น


ชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลั๊วะ มีวิถีชีวิตการทำการเกษตรแบบยังชีพ และบางส่วนทำไร่หมุนเวียน นั่นจึงเป็นสาเหตุทำให้สภาพแวดล้อมค่อย ๆ ถูกทำลายไปทีละน้อยจากวิถีชีวิตของพวกเขาเอง เช่น ข้าวและข้าวโพด เพราะขายได้ราคาดีกว่าพืชอื่น ๆ เราได้พูดคุยกับคุณโม่ง วิทยา ไพรศาลศักดิ์ บุคคลที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า ผอ. ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้อำนวยการส่วนประสานงานโครงการภาคเหนือ สำนักสนองงานพระราชดำริ และเป็นผู้นำพาพวกเราสู่เรื่องราวการเดินทางครั้งนี้ ระยะทางเพียง 3 กิโลเมตรจากปากทางเข้าหมู่บ้านที่ดูเหมือนไม่ได้ไกลมากนัก เรากลับใช้เวลาเกือบ 20 นาทีเพื่อเข้าไปเยี่ยมชมหมู่บ้าน มันทำให้เราเริ่มตระหนักได้ว่าทำไมถึงมีเพียงน้อยคนที่จะเข้ามาในนี้ นอกจากความห่างไกลจากเมืองแล้ว ความโหดร้ายของถนนก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ห้วยขวากอยู่นอกสายตาของคนทั่วไป มีเพียงชาวบ้านบางส่วนเท่านั้นที่ใช้เส้นทางนี้ขึ้นลงสัญจรไปมา แต่หากไม่มีความจำเป็น ถนนเส้นนี้ก็แทบจะไม่มีใครอยากใช้งานมันสักเท่าไร คงจะมีแต่คุณโม่งและหน่วยงานราชการในพื้นที่เท่านั้นที่ใช้ถนนเส้นนี้บ่อยกว่าคนอื่น ๆ



" ส่งเสริมให้ชาวบ้านกลับไปปลูกและดูแลกาแฟที่มีอยู่แล้ว แทรกกับพืชหมุนเวียนอื่น ๆ โดยสนับสนุนกาแฟสายพันธุ์คาติมอร์ ที่ผ่านการวิเคราะห์จีโนไทป์และฟีโนไทป์มาอย่างดี "


กาแฟตามแนวพระราชดำริ

เป็นที่ทราบกันว่าเดิมทีชาวบ้านห้วยขวากปลูกกาแฟกันอยู่แล้วแต่ขาดตลาดที่รองรับผลผลิตของพวกเขา ประกอบกับพืชอื่นที่ขายได้ผลผลิตดีกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แนวทางของชาวบ้านกลับกำลังทำให้สิ่งแวดล้อมของชุมชนเสื่อมสภาพลงทุกที คำถามคือจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร ซึ่งคำตอบง่าย ๆ ที่คุณโม่งบอกกับเราก็คือส่งเสริมให้ชาวบ้านกลับไปปลูกและดูแลกาแฟที่มีอยู่แล้ว แทรกกับพืชหมุนเวียนอื่น ๆ โดยสนับสนุนกาแฟสายพันธุ์คาติมอร์ ที่ผ่านการวิเคราะห์จีโนไทป์และฟีโนไทป์มาอย่างดี ที่ปกติจะให้ผลผลิตมาก ทนทานต่อโรค ทั้งยังดูแลง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการเรื่องรายได้ของชุมชน หากได้ผลผลิตในปริมาณมากก็แสดงว่าชุมชนจะมีรายได้มากขึ้นจากการขายกาแฟด้วย และที่สำคัญเมื่อมีการปลูกกาแฟแล้ว สิ่งแวดล้อมของชุมชนก็จะกลับมาสมบูรณ์มากขึ้น เนื่องจากกาแฟสามารถปลูกแซมร่วมกับพืชชนิดอื่น ๆ ได้ ซึ่งเหมาะสมกับบริบทของห้วยขวากเป็นอย่างมากที่ชาวบ้านมีวิถีชีวิตเดิมคือการทำเกษตรกรรม ทั้งนี้กาแฟยังต้องการร่มไม้สำหรับการเจริญเติบโต ซึ่งสุดท้ายชุมชนก็จะตอบโจทย์เรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมได้ในตัวเอง โดยเฉพาะการเป็นแหล่งต้นน้ำน่าน


เนื่องจากหมู่บ้านห้วยขวากอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา จึงมีหน่วยงานราชการที่เข้ามาส่งเสริมและพัฒนาวิถีชีวิตตามแนวพระราชดำริตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงอยู่บ่อยครั้ง เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ประกอบการที่รัฐบาลเปลี่ยนแปลงนโยบายโดยออกพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ซึ่งสามารถให้ประชาชนในพื้นที่อนุรักษ์สามารถอยู่ได้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งมีพื้นที่ทำกิน โดยอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นชาวบ้านส่วนใหญ่จะถูกจัดสรรพื้นที่ทำกินของตัวเอง ทำให้แต่ละครอบครัวมีพื้นที่ทำกินอยู่ประมาณ 5 – 10 ไร่ ซึ่งก็มากพอที่จะสร้างรายได้เลี้ยงปากท้องได้ตลอดปี


“สมัยก่อนผมเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลตั้งแต่เริ่มต้น จริง ๆ แล้วกาแฟเราไม่ได้ตั้งใจให้เป็น Specialty เราทำเพื่อให้ชาวบ้านมีผลผลิตที่มากพอสำหรับที่จะเป็นรายได้ เป็นอาชีพของชาวบ้านเพื่อไม่ให้ชาวบ้านทำไร่ถางป่า มีรายได้จากการขายกาแฟมาซื้อข้าวกิน ส่วนข้าวก็ปลูกแค่พอกิน ไม่ต้องทำพืชไร่อื่น และไม่ต้องใช้แรงงานในเมือง ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาด้านครอบครัวตามมาก็เลยมีอาชีพเรื่องกาแฟขึ้นมา ตอนนี้ทุกหลังคาเรือนปลูกกาแฟหมด



" เราทำแค่ Washed Process เท่านั้น ตอนหลังเราเลยเริ่มพัฒนา เริ่มที่จะสอนเรื่องการทำโพรเซสพิเศษบ้าง แต่ความพร้อมของชุมชนก็ยังไม่มาก ส่วนใหญ่ 90% จึงทำเป็น Washed Process "


เราคุยกับชาวบ้านว่าถ้าจะปลูกกาแฟในไร่หมุนเวียนที่อายุ 3 ปี หรือ 5 ปี ซึ่งมันมีลูกไม้โตบ้างแล้ว ให้นำกาแฟของเราไปปลูกแซมมันก็โตขึ้นมาเป็นป่า จะสังเกตเห็นว่าในห้วยขวากมีต้นกาแฟอยู่ในป่า ซึ่งป่าพวกนี้ฟื้นตัวมาโดยที่ชาวบ้านช่วยกันดูแลป่าและเรื่องไฟป่า ชาวบ้านปลูกกาแฟจนกระทั่งมีผลผลิต เราในฐานะโครงการหน่วยงานของรัฐของกรมอุทยานก็มีหน่วยงานที่คอยรับซื้อ คอยดูแลการส่งเสริมเรื่องการแปรรูป ซึ่งเราทำแค่ Washed Process เท่านั้น ตอนหลังเราเลยเริ่มพัฒนา เริ่มที่จะสอนเรื่องการทำโพรเซสพิเศษบ้าง แต่ความพร้อมของชุมชนก็ยังไม่มาก ส่วนใหญ่ 90% จึงทำเป็น Washed Process”


ด้วยความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 – 1,500 เมตร ทำให้กาแฟสายพันธุ์คาติมอร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรมอุทยานเหมาะแก่การนำไปทำกาแฟพิเศษอย่างมาก ถึงแม้จะเป็นสายพันธุ์ที่หาได้ทั่วไป แต่ความพิเศษไม่ได้อยู่ที่สายพันธุ์ คุณโม่งบอกกับเราว่าตั้งใจทำกาแฟให้เป็นกาแฟ Commercial ลักษณะพรีเมียมที่ตอบสนองเรื่องรสชาติเป็นหลัก ซึ่งบอกเล่ากับเรื่องราวของคนในชุมชนมานำเสนอกับผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะคอกาแฟผู้รักสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ความพิเศษอีกอย่างคือกระบวนการแปรรูป ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับการทำกาแฟพิเศษ แม้ที่ผ่านมาจะมีข้อจำกัดหลายอย่าง เพราะความรู้เรื่องกาแฟมีความลึกและต้องใช้เวลาเรียนรู้พอสมควรหากอยากทำออกมาให้ดี การทำความเข้าใจเรื่องนี้กับชาวบ้านในตอนนี้อาจจะยังเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นการแปรรูปแบบ Washed Process จึงตอบโจทย์กับทักษะของชาวบ้านมากที่สุดในตอนนี้


ทุกปีเชอร์รีกาแฟจากชุมชนจำนวน 60 – 70 ตัน จะเริ่มเก็บช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนเป็นหลัก แต่ในช่วงปลายเดือนตุลาคมของบางปี กาแฟบางสวนที่โดนแดดก็จะเริ่มสุกและถูกเก็บขาย แต่บางสวนที่ตั้งอยู่บนความสูงประมาณ 1,400 - 1,500 จะเริ่มเก็บช่วงธันวาคมเป็นต้นไป ก่อนผลผลิตทั้งหมดจะถูกนำไปโพรเซสเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทั้งกาแฟกะลา กาแฟสด ดริปแบค ส่วนใหญ่จะถูกส่งให้ร้านของโครงการพระราชดำริของกรมอุทยาน คือร้านภูพยัคฆ์และร้านในโครงการของสมเด็จพระเทพฯ อีก 7 สาขา ซึ่งเป็นตัวแทนรับซื้อกาแฟของหมู่บ้านห้วยขวาก และที่อื่น ๆ เช่น บ้านน้ำรีพัฒนา บ้านน้ำแคระ ภายหลังชาวบ้านเริ่มหาวิธีขายด้วยตัวเองเพื่อลดภาระของหน่วยงานที่ดูแลอยู่ จะเห็นได้ว่ากาแฟทำเงินให้กับชาวบ้านได้จริง และหากสามารถขายได้โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางก็จะยิ่งเป็นผลดีกับชาวบ้านเอง ความเดือดร้อนที่ผ่านมาของเกษตรกรส่วนใหญ่มักถูกกดขี่จากพ่อค้าคนกลางที่รับซื้อกาแฟอย่างไม่เป็นธรรม เหมือนที่ชาวบ้านแห่งนี้เคยประสบกับตัวเองไม่ว่าจะเป็นข้าวหรือข้าวโพด อย่างน้อยที่สุดจุดนี้ก็ถือเป็นก้าวเล็ก ๆ ที่คุณโม่งมองเห็นว่าชาวบ้านจะสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในเร็ววัน อนาคตกาแฟห้วยขวากอาจกลายเป็นกาแฟที่เป็นของชุมชนจริง ๆ โดยไม่ต้องพึ่งพาบุคคลภายนอกก็เป็นได้ เพราะเราพอจะเห็นแนวทางที่ชาวบ้านและคุณโม่ง รวมถึงหน่วยงานอื่นที่กำลังพยายามอย่างหนักในการทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้มาตลอด


“ตอนแรก ๆ นำกาแฟไปหัดคั่ว เราเองก็ไปเรียนรู้มาทุกเรื่องจนกว่าจะช่วยชาวบ้านได้ก็เลยเป็นร้านที่รับซื้อผลผลิตของชาวบ้านโดยไม่ให้ชาวบ้านนำไปขายให้กับพ่อค้าคนกลาง แต่เราก็จะตั้งไว้สมมุติว่า ปีนี้เราจะซื้อกาแฟกะลาให้ชาวบ้านทำเป็นกะลาขึ้นมา เราซื้อ 120 บาท ถ้ามีพ่อค้าคนกลางหรือใครก็ตามอยากซื้อในราคานี้หรือแพงกว่านี้ให้รีบขายไปเลยไม่ต้องห่วงเรา แต่ถ้าเขามาซื้อถูกกว่านี้มาขายให้เรา เราจะซื้อราคานี้ อย่างปีที่ผ่านมาเราก็ซื้อ 130 บาทต่อกะลา พอเราซื้อแล้วก็จะเอากาแฟพวกนี้ไปคั่วขายที่ร้านภูพยัคฆ์”



" หลายสิ่งหลายอย่างถูกจัดการด้วยกระบวนการคิดและลงมือทำอย่างตรงไปตรงมา ทำให้ตอนนี้ชุมชนมีกลุ่มกาแฟของตัวเองชื่อว่า “กลุ่มกาแฟยั่งยืน” ภายใต้โครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริบ้านห้วยขวาก จังหวัดน่าน "


กลุ่มกาแฟของชุมชนเพื่อชุมชน

ต้องบอกว่าที่ผ่านมาคุณโม่งมีบทบาทอย่างมากต่อการสนับสนุน พัฒนา และส่งเสริมกาแฟในชุมชนหมู่บ้านห้วยขวาก จนได้รับความไว้ใจจากคนในชุมชนค่อนข้างมาก แม้ปัจจุบันจะไม่ได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการแล้ว แต่ชาวบ้านยังคงนับถือคุณโม่งไม่ต่างจากเดิม ในตอนแรกการเข้ามาในชุมชนของคุณโม่งอาจจะมาในฐานะคนนอกซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ ปัจจุบันคงไม่มีใครปฏิเสธว่าเขาคือส่วนหนึ่งของชุมชนไปแล้ว หลายสิ่งหลายอย่างถูกจัดการด้วยกระบวนการคิดและลงมือทำอย่างตรงไปตรงมา ทำให้ตอนนี้ชุมชนมีกลุ่มกาแฟของตัวเองชื่อว่า“กลุ่มกาแฟยั่งยืน” ภายใต้โครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริบ้านห้วยขวาก จังหวัดน่าน โดยมีคุณเต้ เกริกฤทธิ์ ศรีสุวอ นักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ เป็นหัวหน้าดูแลโครงการอยู่ร่วมกับคุณโม่ง มีจำนวนสมาชิกทั้งหมด 18 คน กาแฟทั้งหมด 50 ไร่ แต่ถึงอย่างนั้น กลุ่มกาแฟยั่งยืนก็ไม่ได้เป็นกลุ่มกาแฟกลุ่มแรกที่เกิดขึ้นในชุมชน เพราะก่อนหน้านี้มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคอยรับซื้อและสนับสนุนกาแฟอยู่ก่อนแล้ว แต่เมื่อมีการเปลี่ยนหัวหน้าโครงการเมื่อ 2 ปีที่แล้วก็เกิดความกังวลจากชาวบ้านที่มีต่อหัวหน้าโครงการคนใหม่ จึงได้เกิดกลุ่มกาแฟยั่งยืนขึ้น ซึ่งคุณโม่งบอกเล่าให้เราฟังแบบนี้


“ตอนแรกมีกลุ่มวิสาหกิจกาแฟขึ้นมาก่อน ภายใต้โครงการพัฒนาป่าไม้บ้านห้วยขวาก สัก 2 ปีที่ผ่านมาหัวหน้าโครงการบอกอยากจะทำเอง แต่ชาวบ้านอีกกลุ่มยังไม่มั่นใจเพราะหัวหน้าโครงการเข้ามาใหม่ ซึ่งจริง ๆ แล้วเรามีกลุ่มอยู่ประมาณ 8 - 9 คน ที่จะเปลี่ยนกาแฟ Commercial มาเป็นกาแฟค่อนข้างพิเศษ โดยเอาเชอร์รีไปทำโพรเซสพิเศษอยู่ก่อนแล้ว จากนั้นมาคุยกันว่าให้เอามาขายกับทางนี้จึงเกิดเป็นกลุ่มขึ้นมา ถ้าอยากให้ยั่งยืนได้ชุมชนจะต้องเข้มแข็งและมีเศรษฐกิจที่ดีไปพร้อมกับการดูแลป่าต้นน้ำและสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งตอนนี้ตั้งกลุ่มมาได้ประมาณ 2 ปีแล้ว


เรามีการฝึกอบรมชาวบ้านตั้งแต่เรื่องการดูแล การปลูก การจัดการสวน การตัดแต่งกิ่ง ไปจนถึงการใส่ปุ๋ยและการทำปุ๋ยหมัก แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง บางแปลงใช้เวลาเดินทาง 3 ชั่วโมง ทำให้แบกปุ๋ยไปลำบาก แต่บังเอิญมีข้อดีข้อได้เปรียบคือใบไม้ที่หล่นลงมาทับถมกันและย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ย จึงเกิดเป็นระบบนิเวศที่ทำให้ป่าโตขึ้นมาได้ตามธรรมชาติและเข้ามาซัพพอร์ตแปลงกาแฟ จริง ๆ แล้วพื้นที่เดิมแทบจะเป็นภูเขาหัวโล้นและมีความลาดชัน ดังนั้นเวลาฝนตกจะทำให้น้ำชะปุ๋ยที่ใส่ไปหมด ซึ่งต้นกาแฟอาจจะไม่ได้คุณภาพขนาดนี้ แต่พอมีต้นไม้มีป่าก็กลายเป็นว่าเราได้ดินที่อุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้ต้นกาแฟได้สารอาหารที่ค่อนข้างจะครบถ้วน การให้ปุ๋ยเคมีจึงไม่จำเป็นอีกต่อไป ถ้าเดินเข้าไปในแปลงกาแฟก็จะรู้เลยเหยียบเข้าไปดินจะมีความนุ่มและจะสังเกตเห็นว่าสุขภาพของต้นกาแฟดีมาก”


" ถ้าอยากให้ยั่งยืนได้ชุมชนจะต้องเข้มแข็งและมีเศรษฐกิจที่ดีไปพร้อมกับการดูแลป่าต้นน้ำและสิ่งแวดล้อมด้วย "

ต้องบอกว่าสิ่งหนึ่งที่การันตีคุณภาพของกาแฟห้วยขวากได้อย่างดีคือรางวัลจากการประกวดต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมากาแฟจากห้วยขวากได้การยอมรับมากพอสมควร โดยเฉพาะกับรายการล่าสุดอย่าง Best of Thailand สามารถทำ Cupping Score ได้มากถึง 88.39 เป็นอันดับที่ 6 ซึ่งเป็นสายพันธุ์คาติมอร์ที่ได้คะแนนมากที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ เลยกว่าได้ ถึงแม้คาติมอร์จะไม่ได้มีความโดดเด่นด้านรสชาติเหมือนสายพันธุ์อื่นมากนัก แต่การทำให้คาติมอร์มีความพิเศษได้ต้องยกเครดิตให้กับคุณโม่งในฐานะผู้โพรเซส และชาวบ้านที่ปลูกและดูแลกาแฟอย่างดี ซึ่งเราได้คุยกับหนึ่งในชาวบ้านสมาชิกกลุ่มกาแฟยั่งยืนอย่างพี่นิด ศุภกิตติ์ อุ่นถิ่น ผู้ซึ่งปลูกกาแฟมา 7 ปี นับตั้งแต่เริ่มมีการส่งเสริมกาแฟในสมัยแรก ๆ ด้วยพื้นที่ทั้งหมด 6 ไร่ โดยปลูกแทรกเข้าไปในไร่หมุนเวียน


“แต่ก่อนเราขายที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน แต่ 2 ปีที่ผ่านมาได้มาทำกาแฟพิเศษกับท่าน ผอ. เพื่อส่งเสริมเมล็ดพันธุ์ที่ดีให้มันได้คุณภาพขึ้น จึงได้มาเข้าร่วมกลุ่มกาแฟยั่งยืน วิธีการคือคัดเม็ดพิเศษออกจากสวน ลูกเชอร์รีที่เก็บมาขายจะต้องเป็นลูกแดงกล่ำ ค่าน้ำตาล 18 บริกซ์ขึ้นไป ถึงจะได้มาตรฐาน จากนั้นในขั้นตอนของการลอยเชอร์รีจำเป็นต้องนำลูกลอยออกเพื่อคัดเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์ และทำการแยกเป็นอีกเกรด ส่วนขั้นตอนการสีต้องมาสีที่โรงกาแฟยั่งยืนเพื่อทำการคัดก่อนที่จะสี”


ฟังดูแล้ววิธีการดังกล่าวไม่ได้เป็นวิธีการที่ยากหรือซ้ำซ้อนอะไร กลับเป็นวิธีการธรรมดาทั่วไปสำหรับการแปรรูปแบบเปียกเสียด้วยซ้ำ แต่กลับทำให้เราพอจะนึกได้ว่าชาวบ้านกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เริ่มต้นทำกาแฟพิเศษได้ไม่นาน การค่อยเป็นค่อยไปเป็นผลดีมากกว่าที่จะทำให้มีพื้นฐานที่เข้มแข็งก่อนจะไปสู่ขั้นตอนระดับ Advanced ต่อไป ทั้งนี้เรายังเริ่มเห็นความละเอียดจากขั้นตอนของผู้ที่อยู่ต้นน้ำได้ชัดเจนมากขึ้น ที่ผ่านมาเราอาจเห็นชาวบ้านที่เมื่อเห็นกาแฟสีแดงก็เก็บออกมาหมดโดยไม่คำนึงถึงระดับความสุกของกาแฟ แต่กลับชุมชนนี้ให้ความสำคัญลงลึกไปถึงระดับของสีและค่าน้ำตาล ซึ่งน้อยครั้งที่จะได้เห็นวิธีการแบบนี้จากชุมชน จึงเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการต่อยอดความรู้ในอนาคต หากเทียบกับระดับการศึกษาคงเปรียบเทียบได้กับนักเรียนที่ยังคงอยู่ในระบบโรงเรียนตั้งแต่ประถมต้นจนถึงมัธยมปลาย การสร้างพื้นฐานจึงเป็นพื้นฐานสำคัญของการเริ่มต้นพัฒนาต่อยอดความรู้อีกในระดับมหาวิทยาลัย และในวันที่ชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ คงไม่ต่างจากวันที่นักศึกษาจบจากมหาวิทยาลัยและออกมาโบยบินในโลกของการทำงาน


เอาเข้าจริงแล้วกาแฟมีส่วนสำคัญที่มาเติมเต็มวิถีชีวิตของชาวบ้านชุมชนห้วยขวากก็จริง แต่ลึก ๆ แล้วกาแฟยังเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับการหารายได้เท่านั้น ไม่ต่างกับเทรนด์การทำงานของชาวเมืองที่มักจะหารายได้เสริมจากช่องทางอื่น ๆ นอกเหนือจากงานหลักที่ทำอยู่ และสิ่งนี้เกิดขึ้นกับชุมชนบ้านห้วยขวากด้วยเช่นกัน เพราะในแต่ละปีชาวบ้านจะมีวิถีชีวิตอยู่กับการเกษตรหลายอย่าง บางคนทำทั้งกาแฟและสตรอว์เบอร์รี บางคนทำกาแฟพร้อมกับการปลูกข้าว ซึ่งทำสลับกันไปเป็นปฏิทินของชุมชน


“ชาวบ้านจะเกี่ยวข้าวเสร็จในเดือนเดือนตุลาคม และกลางเดือนพฤศจิกายนก็มาเก็บกาแฟ พอเก็บกาแฟเสร็จจะไปสิ้นสุดประมาณเดือนมีนาคม ทำให้ช่วงเมษาจะเป็นประเพณีชุมชนคล้ายกับคนทางเหนืออยู่บ้าง พอหลังจากสงกรานต์ตั้งแต่พฤษภาคม มิถุนายน จนถึงกรกฎาคมก็เริ่มกลับมาทำนา หรือทำข้าวไร่ สุดท้ายพอถึงช่วงเดือนถึงตุลามาก็จะมาเกี่ยวข้าว และเก็บกาแฟ ซึ่งจะวนกันไปแบบนี้ในทุก ๆ ปี”


ดังนั้นเมื่อมาที่บ้านห้วยขวากจะไม่ได้เจอเพียงแค่กาแฟดีพร้อมป่าไม้คุณภาพ แต่ได้พบกับวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมายในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งบอกได้เลยว่าเป็นเอกลักษณ์ไม่แพ้ที่ไหนอย่างแน่นอน



" ในแต่ละปีชาวบ้านจะมีวิถีชีวิตอยู่กับการเกษตรหลายอย่าง บางคนทำทั้งกาแฟและสตรอว์เบอร์รี บางคนทำกาแฟพร้อมกับการปลูกข้าว ซึ่งทำสลับกันไปเป็นปฏิทินของชุมชน "


 

Coffee Traveler

เป็นนิตยสารรายสองเดือน ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ

และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ

- - -

สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX Facebook Coffee Traveler

Youtube : Coffee Traveler



427 views0 comments

Comments


bottom of page