top of page

Coffee market report 2022



ห่วงโซ่อุปสงค์และอุปทานกาแฟค่อนข้างมีความผันผวนในตลาดกาแฟทุกปี ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ภัยแล้ง หรือความไม่แน่นอนของสภาพภูมิอากาศ และการขัดข้องในเรื่องของการขนส่ง เป็นต้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้กำลังการผลิตในบางประเทศลดลงและกระทบต่อตัวเลขของการส่งออกอีกด้วย ในปีนี้ทางองค์การกาแฟสากล หรือ International Coffee Organization ได้รายงานผลของการส่งออกในตลาดกาแฟปี 2565 ออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในแต่ละปีสำนักเลขาธิการขององค์การกาแฟสากลจะใช้สถิติที่ได้รับจากสมาชิก เพื่อจัดทำการประมาณการและการคาดการณ์สำหรับการผลิตประจำปี รวมถึงการบริโภค การค้า และการส่งออก ซึ่งประเทศผู้ผลิตกาแฟที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก จะมีปีของการเพาะปลูกที่หลากหลาย ทำให้ปีการเพาะปลูกที่ใช้โดยสำนักเลขาธิการนั้น จึงเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เดือนเมษายน, 1 กรกฎาคม และ 1 ตุลาคม เพื่อรักษาความสม่ำเสมอ โดยแปลงข้อมูลการผลิตจากปีการเพาะปลูกเป็นปีการตลาด ซึ่งขึ้นอยู่กับเดือนเก็บเกี่ยวในแต่ละประเทศ รวมทั้งการใช้ปีกาแฟพื้นฐานสำหรับอุปสงค์และอุปทานกาแฟทั่วโลก ตลอดจนราคาขาย ทำให้มั่นใจได้ว่าการวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดจะเกิดขึ้นภายในช่วงเวลาเดียวกัน


โดยในปีนี้จำนวนการส่งออกกาแฟสาร (green beans) ทั่วโลกของเดือนมีนาคม 2565 เพิ่มขึ้น 2.6% หรือ 11.79 ล้านถุง เมื่อเทียบกับ 11.48 ล้านถุง ในเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากกลุ่ม Brazilian Naturals (หนึ่งในกลุ่มกาแฟอาราบิกาที่จัดตั้งขึ้นภายใต้ข้อตกลง ประเทศในกลุ่มนี้คือ Brazil, Ethiopia และ Paraguay) และกลุ่ม Robustas (กลุ่มกาแฟกลุ่มหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นภายใต้ข้อตกลง โดยจัดกลุ่มประเทศผู้ส่งออกทั้งหมดที่ผลิตโรบัสตาเป็นหลักหรือเฉพาะกลุ่ม ประเทศในกลุ่มนี้ เช่น Indonesia, Sri Lanka, Thailand และ Vietnam เป็นต้น) ที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น 3.9% และ 7.8% ตามลำดับ แต่แม้ว่าการส่งออกกาแฟสารจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน หากมองในช่วงปีกาแฟหรือหกเดือนแรกของปี 2564/65 แล้ว พบว่าตัวเลขการส่งออกลดลง 1.4% เนื่องจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ ทำให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้น้อยกว่าปกติ โดยเกิดจากกลุ่ม Colombian Milds (ประเทศในกลุ่มนี้ ได้แก่ Colombia, Kenya และ Tanzania) ที่การส่งออกลดลงถึง 10.5% รวมถึงกลุ่ม Brazilian Naturals เองก็มีการส่งออกที่ลดลง 11.5% เช่นกัน ทั้งสองกลุ่มจึงยังคงเผชิญกับปัญหาของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ที่ค่อนข้างกระทบต่อการส่งออกกาแฟ


สำหรับการส่งออกหมวด Forms of coffee (กาแฟทุกรูปแบบ ได้แก่ เชอร์รีแห้ง กาแฟกะลา กาแฟสาร กาแฟคั่ว กาแฟคั่วบด กาแฟไม่มีคาเฟอีน หัวกาแฟเข้มข้น และกาแฟสำเร็จรูป) มีจำนวนเพิ่มขึ้น 4.0% โดยมีกลุ่ม Asia และ Oceania เป็นกำลังหลักที่อยู่เบื้องหลังการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในเดือนมีนาคม 2565 เพิ่มขึ้น 19.4% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2564 และถือเป็นครั้งแรกที่การส่งออกทะลุ 5 ล้านถุงอีกด้วย แน่นอนว่าตำแหน่งการส่งออกมากที่สุดหนีไม่พ้นประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ที่มีตัวเลขเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคมปีที่แล้วถึง 29.4% รวมถึงในช่วงหกเดือนแรกของปีกาแฟ 2564/65 ส่งออกได้เพิ่มขึ้น 21.4% เลยทีเดียว ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันประเทศอินเดียก็มีการส่งออกเพิ่มขึ้น 37.6% อีกด้วย ดังนั้นทั้งสองประเทศจึงเหมือนหางเสือที่กำหนดทิศทางของการส่งออกหมวดนี้ให้พุ่งสูงขึ้นได้อย่างไม่น่าแปลกใจ


กลับกันในช่วงเดือนตุลาคม 2564 - มีนาคม 2565 การส่งออกทางฝั่งของอเมริกาใต้กลับลดลง 12.1% ซึ่งเกิดจากการส่งออกของประเทศบราซิลที่ลดลงมากถึง 17.5% โดยมีสาเหตุหลัก ได้แก่ การขาดความพร้อมใช้งานของตู้คอนเทรนเนอร์ และความสามารถในการขนส่ง รวมถึงผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้น้อยลงอีกด้วย ทั้งสามสาเหตุนี้จึงส่งผลต่อการส่งออกที่ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ยิ่งไปกว่านั้นการส่งออกของประเทศโคลอมเบียที่ลดลง 8.6% ซึ่งเกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องนั้น จึงเป็นอีกตัวการหนึ่งที่ทำให้ตัวเลขการส่งออกของทางฝั่งอเมริกาใต้ลดลงอีกด้วย


นอกจากนี้การส่งออกในเดือนมีนาคม 2565 ของทางฝั่งเม็กซิโกและอเมริกากลางเองก็ปรับตัวลงเช่นกัน โดยลดลง 10.1% หรืออยู่ที่ 1.91 ล้านถุงเมื่อเทียบกับ 2.12 ล้านถุงในเดือนมีนาคม 2564 ซึ่งเกิดจากประเทศฮอนดูรัสที่ถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในอเมริกากลางมีการส่งออกลดลง 22.0% เนื่องจากได้รับผลกระทบของการผลิตที่ลดลงทุก ๆ 2 ปี และผลกระทบจากโรคสนิมใบกาแฟ รวมทั้งการส่งออกที่ลดลงของประเทศเม็กซิโก 9.3% และกัวเตลา 10.1% ดังนั้นทั้งสามประเทศจึงเป็นเหมือนแรงกระเพื่อมหลักที่ทำให้การส่งออกของกลุ่มเม็กซิโกและอเมริกากลางลดลง


ยิ่งไปกว่านั้นการส่งออกของแอฟริกาในช่วงเวลาเดียวกันลดลง 3.8% และในช่วงหกเดือนแรกของปีกาแฟปัจจุบัน การส่งออกมีจำนวนทั้งสิ้น 6.25 ล้านถุง เมื่อเทียบกับ 6.34 ล้านถุงในปีกาแฟ 2563/64 สังเกตุได้ว่าจำนวนการส่งออกลดลงค่อนข้างมากและรวดเร็วเลยทีเดียว เนื่องจากประเทศยูกันดาประสบภัยแล้งในบางส่วนของพื้นที่ปลูกกาแฟ ทำให้ผลผลิตที่ได้ลดลงจึงกระทบไปถึงการส่งออกของประเทศที่ลดลง 16.6% แต่ในช่วงหกเดือนแรกของกาแฟปี 2564/65 การส่งออกยังคงเติบโต โดยเพิ่มขึ้นเป็น 2.88 ล้านถุง เมื่อเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 2.87 ล้านถุง รวมถึงในช่วงเวลาเดียวกันนี้การส่งออกของประเทศเอธิโอเปียและแทนซาเนียเพิ่มขึ้น 20.0% และ 10.8% ตามลำดับอีกด้วยเรียกได้ว่า ทางฝั่งแอฟริกายังคงรักษาสมดุลได้ค่อนข้างดี ในส่วนของภาพรวมกาแฟสำเร็จรูปนั้น ตัวเลขการส่งออกมีเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคมปีก่อน โดยทั้งหมดเพิ่มขึ้น 18.7% ในเดือนมีนาคม 2565 คิดเป็น 1.29 ล้านถุงจาก 1.09 ล้านถุงในเดือนมีนาคม 2564 นอกจากนี้ช่วงเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา ประเทศบราซิล โกตดิวัวร์ อินโดนีเซีย และไทยส่งออกกาแฟสำเร็จรูปรวมกันเพิ่มขึ้น 265,000 ถุง ในครึ่งแรกของปีกาแฟ 2564/65 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563/64


อย่างไรก็ตามในปีนี้ต้องยอมรับว่า ทั้งการส่งออกของกาแฟสารทั่วโลก รวมถึงการส่งออกกาแฟทุกรูปแบบ และการส่งออกในช่วงปีกาแฟปัจจุบัน สาเหตุที่ทำให้ตัวเลขการส่งออกลดลงนั้น นอกจากปัญหาการขนส่งโลจิสติกส์แล้ว อีกหนึ่งสาเหตุหลักจึงต้องยกให้การเปลี่ยงแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งค่อนข้างกระทบในหลายประเทศ และส่งผลต่อการเก็บเกี่ยวผลผลผลิตโดยตรง ทำให้เห็นได้ชัดว่าผลผลิตในบางประเทศปรับตัวลดลงอย่างน่าใจหาย สุดท้ายนี้สำนักเลขาธิการขององค์การกาแฟสากลยังบอกเพิ่มเติมอีกว่า “แนวโน้มชั่วคราวล่าสุดสำหรับการผลิตกาแฟทั้งหมดในปี 2564/65 ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงที่ 167.2 ล้านถุง หรือลดลง 2.1% เมื่อเทียบกับ 170.83 ล้านถุงในปีกาแฟก่อนหน้า แต่การบริโภคกาแฟทั่วโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.3% เป็น 170.3 ล้านถุง และคาดว่าการบริโภคจะเกินการผลิตที่ 3.1 ล้านถุง ในปี 2564/65” ดังนั้นในปีกาแฟหน้ายังคงต้องลุ้นกันต่อว่า หัวเรือของอุตสาหกรรมกาแฟโลกจะหันไปในทิศทางใด รวมถึงส่งผลกระทบอย่างไรบ้างกับอุตสาหกรรมกาแฟบ้านเรา ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเตรียมความพร้อมของทั้งผู้ผลิตและผู้ประกอบการในอนาคต _________________________________________________ แหล่งที่มา https://bit.ly/3yokAkK _________________________________________________ Coffee Traveler

เป็นนิตยสารรายสองเดือน ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ

และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ

- - -

สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX Facebook Coffee Traveler

Youtube : Coffee Traveler

182 views0 comments

Comments


bottom of page