top of page

earlybkk



" การเอาขวดแก้วสีชามาใช้เราก็สังเกตจากช่วงบ่ายทางทิศใต้แดดจะส่องเข้ามาในตัวร้าน จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมใช้ขวดแก้วสีชาเพราะมันกรองแสงได้ระดับหนึ่ง เมื่อเวลาแสงตกกระทบก็จะเห็นเป็นเงาที่สร้างเอฟเฟกต์สวยงามไปอีกแบบ "


ร้านกาแฟที่เกิดจากความตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม และมีคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจนตั้งแต่วันแรก ซึ่งเป็นความตั้งใจของคุณเค (เคทิตา ชัยศักดิ์ศิริ) ที่ทำร้านกาแฟให้เป็น Neighborhood cafe เนื่องจากเป็นร้านกาแฟที่อยู่ในหมู่บ้านสัมมากร ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่คุณเคอยู่มาตั้งแต่เด็ก ควบคู่ไปกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณเคสนใจมาตั้งแต่เด็กเช่นเดียวกัน และคุณเคยังทำรีเสริชข้อมูลไว้ค่อนข้างมากขณะทำงานในตำแหน่ง Business Development ของห้างแห่งหนึ่งแต่โครงการของการนำ Reuse material มาใช้ถูกพับเก็บไปหลายครั้งพร้อมกับคำถามมากมายถึงเรื่องของความทนทาน และราคาต้นทุนที่สูงกว่าวัสดุปกติ เมื่อคุณเคมีโอกาสได้ทำร้านกาแฟของตัวเองจึงนำข้อมูลทั้งหมดกลับมาใช้ โดยมีโจทย์ที่ชัดเจนและตรงไปตรงมาคือ “การนำขยะมาเปลี่ยนเป็นวัสดุโครงสร้าง และเฟอร์นิเจอร์ภายในร้านให้ได้มากที่สุด” แน่นอนว่าโจทย์นี้ถูกส่งต่อให้กับสถาปนิก คุณฟ้า (สาธิกา เจียรจรูญศรี) หนึ่งในเจ้าของ spacecraft.bkk เป็นผู้ที่เข้ามารับความตั้งใจของคุณเค พร้อมถ่ายทอดออกมาเป็นร้านกาแฟที่ใช้กล่องนมในการทำฝ้า โต๊ะ ทำหน้าที่แทนไม้อัดได้อย่างดี รวมถึงขวดแก้วสีชาที่นำมาล้อกับโครงเหล็กที่แถมฟังก์ชันในการกรองแสงช่วงบ่าย




“น้องเคถามเราตั้งแต่วันแรกว่า เอาขยะมาทำได้ไหม ซึ่งเราทำร้านกาแฟมาค่อนข้างเยอะ แต่ยังไม่เคยเจอคนที่มีคอนเซ็ปต์ชัดเจนตั้งแต่วันแรก เราเลยคุยกับพาร์ทเนอร์ตกลงรับงานนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเองก็ชอบแต่ไม่มีโอกาสได้ทำ เพราะมันก็ยังไม่มีใครเริ่ม และเรามองว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายด้วย หลังจากคุยรายละเอียดสิ่งที่น้องเคอยากทำแล้ว เราก็เริ่มหาข้อมูลและทำรีเสริชเลยว่า สามารถนำอะไรมาใช้ได้บ้างที่จะทนทานและเกิดประโยชน์สูงสุด จนมาเจอการใช้บรรจุภัณฑ์ เช่น กล่องนม ขวดแก้ว ขวดพลาสติก ซึ่งพอมาศึกษาจริง ๆ กล่องนมสามารถนำมาย่อยแล้วอัดเป็นแผ่น และยังสามารถเลือกยี่ห้อกล่องนมหรือเลือกสีได้ด้วยเลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นดึงคอนเซ็ปต์ของบรรจุภัณฑ์มาใช้ earlybkk จึงเป็นร้านที่เรามีสารตั้งต้นจากเรื่องของ material แล้วค่อยมาคิดต่อยอดว่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับส่วนไหนได้บ้าง”


หลังจากได้โจทย์ที่ชัดเจนแล้วว่าจะนำบรรจุภัณฑ์เหลือใช้ หรือ Reuse material มาเป็นแนวทางในการออกแบบโครงสร้าง และภายใน (Interior) จึงออกมาเป็นการเลือกใช้กล่องนมสีส้มที่อัดออกมาเป็นแผ่นกุเป็นฝ้าของตัวร้านใช้แทนไม้อัดและเพื่อให้รับกับ Mood & tone ภายในร้านที่เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ผิวไม้โอ๊ครวมถึงแผ่นโต๊ะก็ใช้แผ่นอัดจากกล่องนมสีส้มเช่นกัน จึงทำให้ไปกันได้ดีกับกระเบื้องดินเผาได้อย่างลงตัว และการนำขวดแก้วสีชามาผสมผสานกับโครงเหล็กสีสนิมโดยทำให้เป็นแบบกึ่งทึบกึ่งโปร่ง ซึ่งเป็นการจัดวางที่ดึงดูดความสนใจจากผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาได้ไม่น้อยเลยทีเดียว


“เราอยากให้ออกมาในโทนอบอุ่นและเรียบง่ายที่สุด แต่ทุกฟังก์ชันต้องรับกันได้ดี เช่น กล่องนมที่นำไปอัดมีลักษณะแข็งแรงทนทานไม่ต่างจากไม้อัด เราก็เอามาทำเป็นฝ้าและเฟอร์นิเจอร์ซึ่งสามารถสั่งระดับความหนาได้ หรือการเอาขวดแก้วสีชามาใช้เราก็สังเกตจากช่วงบ่ายทางทิศใต้แดดจะส่องเข้ามาในตัวร้าน จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมใช้ขวดแก้วสีชา เพราะมันกรองแสงได้ระดับหนึ่ง เมื่อเวลาแสงตกกระทบก็จะเห็นเป็นเงาที่สร้างเอฟเฟกต์สวยงามไปอีกแบบ ในส่วนชั้นสองจะเห็นว่ามีฝ้าที่เป็นสกายไลท์ ซึ่งก็เป็นวัสดุที่ไม่แพงแต่ช่วยให้ร้านดูโปรงขึ้น ซึ่งใต้สกายไลท์เราใช้ต้นไม้จริงมาปลูกไว้เลยทำให้ต้นไม้เขาก็ได้รับแสงแดดไปด้วย ถ้าไม่มีต้นไม้ก็อาจจะไม่ทำสกายไลท์ตรงนี้ เพราะเรามองว่าทุก ๆ อย่างภายในร้านที่เอามาใช้ต้อง Follow หรือไปด้วยกันได้ และเป็นประโยชน์ซึ่งกันและกัน ในส่วนของโครงสร้างเราก็เลือกใช้โครงเหล็กเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากใช้เวลาการสร้างที่เร็วกว่า และไม่สิ้นเปลืองทางด้านโครงสร้างเหมือนการใช้ปูน ซึ่งเราโชคดีที่ทีมเรามีทั้ง Architecture และอินทีเรีย จึงง่ายต่อการทำไปในทิศทางเดียวกัน”



คุณฟ้ายังบอกอีกว่า การที่เจ้าของร้านมีไอเดียหรือคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจนมาตั้งแต่ต้นแล้ว แม้ว่าเป็นการออกแบบจะมีพ้อยท์เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมก็จะง่ายต่อผู้ออกแบบในการทำให้ตอบโจทย์กับความต้องการของลูกค้า รวมถึงการมีเรื่องราวที่คุณเคตั้งใจให้ร้านนี้เป็นอีกหนึ่ง Community ในหมู่บ้านที่สามารถเป็นร้านของการมากับเพื่อน ครอบครัว หรือสัตว์เลี้ยงได้แบบสบาย ๆ อีกทั้งคุณเคยังตั้งใจใช้พื้นที่ตรงนี้ในการจัด Workshop ของการแยกขยะ และการทำน้ำยาทำความสะอาดใช้เอง เพื่อให้เกิดเป็น Educational space ที่จะดึงให้คนที่สนใจเรื่องเดียวกัน หรือคนที่กำลังสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมได้มาแชร์เรื่องราวด้วยกัน จึงทำให้ทีมของคุณฟ้าดีไซน์ออกมาได้อย่างชัดเจนและตรงประเด็น



“ในฐานะที่เป็นคนออกแบบ เรารู้สึกดีใจที่มีคนเริ่มต้นและกล้าทำในเรื่องนี้ ซึ่งเราก็ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้มันสำเร็จ และพิสูจน์ได้ด้วยว่า มันสามารถนำกล่องนม ขวดแก้ว หรืออะไรก็ได้ที่เป็นขยะในชีวิตประจำวันมาทำได้จริง และสามารถใช้งานแข็งแรงทนทานได้เหมือนกับวัสดุอื่น ๆ แน่นอนว่าในทางนี้มีทั้งคนที่เข้าใจและไม่เข้าใจ แต่เราเชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่ในอีก 10 ปี ข้างหน้าจะเข้าใจ และเรื่องการใช้ Reuse material จะกลายเป็นประเด็นสำคัญ หลังจากที่ร้านเปิด คนในหมู่บ้านก็เริ่มเข้ามาถามน้องเคมากขึ้นถึงวัสดุที่ใช้ รวมถึงจากคนภายนอกเข้ามาก็มาถามเรื่องพวกนี้มากขึ้น earlybkk สำหรับเราเลยไม่ใช่แค่ร้านกาแฟอย่างเดียว แต่เป็นสังคมเล็ก ๆ ที่กำลังเริ่มในสิ่งที่น้อยคนกล้าที่จะทำ”


จากจุดเริ่มต้นที่คุณเคต้องการให้ร้านเป็นองค์รวมของหมู่บ้านที่อยากให้เกิดเป็น Community ให้คนละแวกนี้อยู่บ้านมากขึ้น และมีพื้นที่สำหรับนั่งทานอาหารและดื่มกาแฟ พร้อมกับนำสัตว์เลี้ยงมาด้วยได้ จึงเกิดเป็น earlybkk ขึ้นมาได้ตามความตั้งใจ รวมถึงยังสามารถรื้อโครงการเรื่องสิ่งแวดล้อมกลับมาใช้ได้ประสบความสำเร็จ ซึ่งโครงการนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดสถาปนิกที่มีแนวคิดและเข้าใจคอนเซ็ปต์ไปในทางเดียวกัน


" ในฐานะที่เป็นคนออกแบบ เรารู้สึกดีใจที่มีคนเริ่มต้นและกล้าทำในเรื่องนี้ ซึ่งเราก็ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้มันสำเร็จ และพิสูจน์ได้ด้วยว่า มันสามารถนำกล่องนม ขวดแก้ว หรืออะไรก็ได้ที่เป็นขยะในชีวิตประจำวันมาทำได้จริง "


 

Contributor

ฟ้า (สาธิกา เจียรจรูญศรี)


สถาปนิกที่ชื่นชอบเรื่องราวของสิ่งแวดล้อม ต้นไม้ และการออกแบบ คุณฟ้าเรียนจบคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาอินทีเรีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งตั้งแต่เรียนจบได้ทำงานทางด้านของอินทีเรียมาตลอด โดยเริ่มทำกับพาร์ทเนอร์ 2 คนตั้งแต่ปี 2016 แต่อาจด้วยจุดอิ่มตัวประกอบกับชอบเรื่องราวธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ จึงตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศสเปนระยะเวลา 2 ปีใน สาขา Landscape แต่ในขณะที่กำลังเรียนคุณฟ้ายังคงรับงานในประเทศไทยร่วมกับพาร์ทเนอร์จนเรียนจบกลับมาแล้วเปิดบริษัทฯ spacecraft.bkk อย่างเป็นเรื่องเป็นราวในปี 2018 จนถึงปัจจุบัน


---------


ร้าน : earlybkk

นักออกแบบ : spacecraft.bkk

พิกัดร้าน : หมู่บ้านสัมมากร (สุขาภิบาล3) รามคำแหง 110 แขวงสะพานสูงเขตสะพานสูง กรุงเทพมหานคร 10240


 

Coffee Traveler

เป็นนิตยสารรายสองเดือน ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ

และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ

- - -

สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX Facebook : Coffee Traveler

Instagram : coffeetraveler_magazine

Youtube : Coffee Traveler

Blockdit : I am Coffee Traveler / coffeetravelermag

47 views0 comments

Recent Posts

See All

Comments


bottom of page