top of page

Harudot by NANA COFFEE ROASTER



เราใช้ต้นไม้ที่มาจากความหมายของชื่อฮารุดอทที่สื่อถึงการเติบโต


เราอาจคุ้นเคยกับชื่อ “Harudot” กันมาบ้างแล้วตามซูเปอร์มาเก็ตชั้นนำในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นร้านกาแฟสไลต์ญี่ปุ่นที่เรียบง่าย แต่ Harudot by NANA COFFEE ROASTER กลับเป็นความอลังการที่กลายเป็นจุดเช็คอินอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดชลบุรี และได้รับเสียงตอบรับจากลูกค้าในพื้นที่และนักท่องเที่ยวอย่างล้นหลามเลยทีเดียว โดยจุดเริ่มต้นของดีไซน์แปลกตาเกิดจากคุณกุ้ง (วรงค์ ชลานุชพงศ์) ผู้ก่อตั้งแบรนด์ NANA COFFEE ROASTER และคุณเป้ (จีรเวช หงสกุล) ผู้ก่อตั้งและดีไซเนอร์ของ IDIN Architects ร่วมกันตีโจทย์ของการทำเป็น Flagship store ซึ่งเป็นการขยายเชนร้านฮารุดอทออกต่างจังหวัดเป็นครั้งแรก โดยมีชาเลนจ์ให้ตัวร้านหรือสถาปัตยกรรมเป็นพระเอกเพื่อดึงคนให้เข้ามาที่ร้าน


“โปรเจกต์ฮารุดอทสาขาชลบุรีเกิดจากคุณกุ้งได้ Collab กับเจ้าของที่ดิน เพื่อทำแบรนด์ฮารุดอทเป็น Flagship store แห่งแรกที่ขยายออกมาต่างจังหวัด ประกอบกับการได้พื้นที่ที่เป็นพื้นที่โล่ง และคนสัญจรไปมาค่อนข้างน้อย ทำให้การดีไซน์ตัวร้านจึงจำเป็นต้องออกแบบให้มีลักษณะที่โดดเด่นพอสมควร เมื่อได้โจทย์มาแล้วเราก็มานั่งตีโจทย์ต่อด้วยไอเดียว่า อยากผสมผสานความต้องการของแบรนด์ฮารุดอทเข้ากับความเป็นเจ้าของที่ดินที่เป็นคนชอบต้นไม้และสะสมต้นไม้สวยงาม รวมถึงมองไปที่ความหมายของชื่อฮารุดอท ซึ่งคำว่า Haru แปลว่าฤดูใบไม้ผลิในภาษาญี่ปุ่น ถือเป็นการเริ่มต้นใหม่ของคนญี่ปุ่น และสามารถตีความหมายเป็นการผลิดอกออกผลหรือการเจริญเติบโตงอกงาม ส่วนคำว่า dot คือการทำสิ่งใดย่อมเกิดจากจุดก่อนเสมอ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง เราจึงนำองค์ประกอบและไอเดียทั้งหมดมารวมให้เป็น Architecture หนึ่งชิ้น”



" เรามีไซน์เนจทิ้งไว้รอบ ๆ ร้านตั้งแต่ทางเข้า ซึ่งมีทั้ง Wall Signage,Floor Signage, และ Furniture Signage โดยเราใช้เป็นฟอนต์สีดำ เพราะอยากซ่อนไว้ให้มันเป็นดีเทลที่พอคนมาเห็นแล้วรู้สึกดี "


จากความชาเลนจ์ที่จำเป็นต้องออกแบบตัวร้านให้เป็นพระเอก โดยมีจุดประสงค์คือการนำลูกค้าเข้ามาในร้าน ประกอบกับไอเดียที่ต้องการผสมผสานความต้องการของทั้งสอง owners ใส่เข้ามาในผลงานด้วย ทำให้คุณเป้เริ่มตกตะกอนทีละเล็กทีละน้อย และเริ่มปั้นผลงานการดีไซน์ในแบบฉบับของตัวเองไปพร้อม ๆ กับความรู้สึกที่มีต้นไม้และความหมายของชื่อร้านเป็นสารตั้งต้น


“ในส่วนของตัวอาคารที่เราได้รับโจทย์มา ให้ทำสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น ซึ่งงานของไอดินส่วนใหญ่เป็นงานแบบ humble ดูเรียบง่าย นิ่ง ๆ แต่โจทย์มาแบบนี้ เราจึงอยากทำให้เป็นกลิ่นอายของ Japanese modern ที่ภายนอกสงบนิ่ง แต่ไประเบิดความโดดเด่นด้านในแทน ทั้งเรื่องของงานออกแบบและอินทีเรียเริ่มต้นเราใช้ต้นไม้ที่มาจากความหมายของชื่อฮารุดอทที่สื่อถึงการเติบโต ซึ่งแทนที่จะเปิดอาคารเป็น courtyard หรือลานที่มีต้นไม้ด้านใน แต่เราออกแบบให้พื้นที่ของอาคารคล้ายถูกวางเมล็ดพันธุ์ไว้ตั้งแต่แรก ซึ่งให้ล้อไปกับความหมายของการเจริญเติบโตงอกงาม ทำให้ดูเหมือนกับว่าต้นไม้เติบโตขึ้นมาในตัวอาคารแล้วทะลุออกมาจากหลังคาคล้ายเป็นการแทรกตัวทำให้ตัวอาคารเกิดการขยายออกและมีลักษณะเป็นริ้ว ๆ กลายเป็น curve form ที่ดูไดนามิก จากนั้นเราจึงฉีกอาคารออกเป็นสามส่วน แทนที่จะทำเป็นจั่วใหญ่ ๆ เพียงอันเดียวเพื่อให้เกิดพื้นที่หรือช่องว่างระหว่างอาคาร ซึ่งก็ให้ความรู้สึกที่ไม่หวือหวาจนเกินไป และกลายเป็นมุมถ่ายรูปที่ค่อนข้างอิมแพคกลายเป็นจุดเช็คอินของร้าน จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราดีไซน์ฟอร์มออกมาให้เป็นในลักษณะนี้”


ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากมองจากภายนอก มักจะจินตนาการถึงภาพด้านในได้ไม่ชัดเจนนัก ด้วยความเรียบง่ายภายนอกประกอบกับการใช้สีดำจึงยิ่งทำให้ฮารุดอทสาขาชลบุรีเป็นเหมือนกล่องเซอร์ไพร์สที่ดึงดูดให้เดินเข้าไปด้านใน ซึ่งมองด้วยตาเปล่าจากภายนอกจะสังเกตการแบ่งส่วนอย่างง่ายออกเป็น 3 ส่วนคือ อาคารทรงจั่ว 2 ส่วน และอาคารทรงสี่เหลี่ยมอีกหนึ่งส่วน โดยในแต่ละส่วนนั้น ถูกแบ่งออกเป็นพื้นที่ใช้สอยร่วมกันอย่างกลมกลืน ในส่วนที่เป็นทรงจั่วจะเป็น Main entrance หรือทางเข้าที่เห็นคนเดินเข้ามาและทรงจั่วตรงกลางถูกออกแบบให้หันหน้ารับกับถนนด้านหน้าร้าน ซึ่งภายในถูกทำเป็นพื้นที่ส่วนของเคาท์เตอร์และที่นั่ง ส่วนอาคารทรงสี่เหลี่ยมภายในถูกจัดวางให้เป็นโซนของห้องประชุมและห้องน้ำ


“ตัวอาคารเป็นโครงสร้างเหล็กที่ปรุด้วยกันซึม จากนั้นทำการแรปด้านนอกและคลุมด้วยไม้สน เนื่องจากชื่อเขามาทางญี่ปุ่นอยู่แล้ว จึงเลือกใช้ไม้สนเป็นตัวชูโรง โดยด้านนอกตั้งใจให้เป็นสีดำเพื่อสร้างเซอร์ไพร์สด้านใน ซึ่งด้านในเราอยากให้คนที่เข้ามาได้ความรู้สึกอบอุ่น จึงทำเป็นสีของเนื้อไม้ธรรมชาติ โดยด้านในจะเชื่อมโยงกันระหว่าง 3 อาคาร ซึ่งเมื่อฟอร์มของทรงจั่วมาชนกันมันจะเกิดการ intersect เราจึงคว้านส่วนที่ผ่านกันออกเพื่อให้เกิดทางเชื่อมระหว่างสามอาคาร จึงเป็นจังหวะพอดีที่ต้องคว้านด้านล่างให้มันเหมือนเป็นประตูเชื่อมหากัน และดีไซน์ให้ด้านในคล้ายเป็นริบบิ้นวิ่งรอบตัวอาคาร โดยเลาะที่นั่งไปตามรูปร่าง (Shape) ของอาคารเพื่อเล่นระดับให้เกิดความสูงต่ำ เช่น ในส่วนที่สูงจะกลายเป็นโต๊ะและส่วนที่ต่ำกว่ากลายเป็นเก้าอี้ พร้อมจัดให้มี grouping ให้คนสามารถนั่งเป็นกลุ่มได้ ทำให้พื้นที่ด้านในให้ความรู้สึกที่ค่อนข้างโฟลมาก ในส่วนของตัวเฟอร์นิเจอร์บางตัวใช้วิธีหล่อเรซิ่นแล้วนำผงกาแฟ ใบไม้ และเปลือกข้าวลงไปด้วย ซึ่งใช้ได้ทั้งด้านในและด้านนอก ส่วนด้านในบางตัวเราก็ใช้เป็นไม้จริง”



นอกจากการดีไซน์ภายนอกและภายในให้มีความเป็นไดนามิกที่เรียบง่ายแต่แฝงไปด้วยรายละเอียดแล้ว คุณเป้ยังอธิบายถึงการให้แสงด้านในตัวอาคารให้ฟังว่า ใช้เป็นระบบ uplight แล้วให้แสงเบาลงด้วยแผ่นกระจายแสง ส่วนด้านบนที่เป็นช่องคล้ายดวงตาเหมือนด้านนอกที่ต้นไม้ทะลุออกมานั้น จะใช้วิธีซ่อนไฟอยู่ด้านหลังแผ่นฝ้า เพื่อให้เกิดการกระจายแสงออกไป ดังนั้นแสงด้านในจึงออกมาในลักษณะฟุ้ง ๆ ที่กลมกลืนกับแสงภายนอกได้อย่างเป็นธรรมชาติ นอกจากนี้ช่องที่คล้ายรูปดวงตาด้านนอกที่มีท้องฟ้าเป็นเหมือนวอลเปเปอร์สีฟ้าข้างบนและด้านในที่เป็นฝ้าสีขาวของแสง ยังให้ความรู้สึกล้อกันระหว่างภายนอกและภายในอีกด้วย


ส่วนของบาร์กาแฟที่ตั้งอยู่ในส่วนของทางเข้าหลักก็โดดเด่นไม่แพ้กัน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ Speed bar และ Slow bar บอกได้เลยว่าบาร์กาแฟถูกจัดวางอยู่ในพื้นที่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพื้นที่ได้อย่างดีเลยทีเดียว อาจด้วยความโค้งมนที่ล้อไปกับเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงความตั้งใจของคุณเป้ที่พยายามจัดวางทุกส่วนภายในร้านให้เกิดความเชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะเป็นบาร์กาแฟเฟอร์นิเจอร์ ต้นไม้ด้านใน และการจัดไฟ รวมถึงรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตัวอาคาร ทำให้บาร์กาแฟไม่เป็นสิ่งที่ดูแปลกตาหรือโดดเด่นมากและน้อยไปกว่าองค์ประกอบอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งส่วนที่เป็นความพิเศษอันเป็นดีเทลที่หลบซ่อนซึ่งจำเป็นต้องใช้การสังเกตพอสมควร เนื่องจากดีเทลความครีเอทเหล่านี้จะอยู่บนพื้นและโต๊ะสีดำ ซึ่งคุณเป้

ได้ซ่อนงาน Signage หรือโควทภาษาอังกฤษ โดยออกแบบฟอนต์ให้มีลักษณะที่เกิดจากจุดวงกลมแล้วเชื่อมต่อกันไปแบบ Dot connecting dot



" โดยเราใช้เป็นฟอนต์สีดำ เพราะอยากซ่อนไว้ให้มันเป็นดีเทลที่พอคนมาเห็นแล้วรู้สึกดี เราก็พยายามเอาคำว่ากาแฟและชามาเล่นอยู่ในประโยค "


“เรามีไซน์เนจทิ้งไว้รอบ ๆ ร้านตั้งแต่ทางเข้า ซึ่งมีทั้ง Wall Signage, Floor Signage, และ Furniture Signage โดยเราใช้เป็นฟอนต์สีดำ เพราะอยากซ่อนไว้ให้มันเป็นดีเทลที่พอคนมาเห็นแล้วรู้สึกดี เราก็พยายามเอาคำว่ากาแฟและชามาเล่นอยู่ในประโยค เช่น Have a brew-tiful day และ Have a moteavationถูกซ่อนไว้บนโต๊ะสีดำ นอกจากนี้พวกเส้นที่พื้นก็จะมีโควทภาษาอังกฤษเช่นกัน ซึ่งถูกดีไซน์เอาไว้แล้วอย่างคำว่า way to toilet ถ้าเดินตามเส้นไปก็จะพบว่าจุดหมายปลายทางคือห้องน้ำจริง ๆ เพราะฉะนั้นพวกงานดีเทลเรารู้สึกว่าเป็นงานที่ไม่ต้องบอกหรืออธิบายอะไร แต่สามารถอิมแพคกับความรู้สึกของคนที่สังเกตเห็นได้ อย่างพื้นอาคารเราทำเป็นพื้นเทอร์ราซโซ (Terrazzo) หรือพื้นหินขัดซึ่งใช้เป็นหินสีขาว พื้นตรงส่วนต้นเบาบับด้านนอกเราทำเรซิ่นขึ้นมาเป็นรูปใบซากุระสีขาว เพื่อฝังลงไปในเทอร์ราซโซให้เขาขัดหน้า เพราะฉะนั้นมันจะเหมือนใบไม้ที่ร่วงหล่นลงมาในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเราตั้งใจวางให้ยิ่งใกล้ต้นไม้ลายของใบซากุระก็จะยิ่งเยอะและชัดขึ้น แต่เมื่อห่างออกไปลายก็จะค่อย ๆ หายไปเป็นเหมือนการไล่ระดับสี (Gradient) ดังนั้นดีเทลที่แฝงตัวอยู่ในสถาปัตยกรรมหรืองานออกแบบ เรามองว่าเป็นสิ่งที่เรียบง่ายแต่ให้ความรู้สึกที่ค่อนข้างอิมแพคเหมือนกับงาน ๆ หนึ่งได้ดีทีเดียว”


บอกได้เลยว่าผลงานการออกแบบของร้าน Harudot by NANA COFFEE ROASTER เต็มไปด้วยรายละเอียดที่เป็นเหตุเป็นผล ซึ่งทำหน้าที่ในการดึงดูดผู้คนได้อย่างดีเลยทีเดียว หากสังเกตตั้งแต่ภายนอกที่มีคอนเซ็ปต์ของการงอกงามทำให้ตัวอาคารออกมาเป็นในลักษณะของ Curve form ที่โดดเด่น อีกทั้งภายในที่ถูกจัดวางและดีไซน์ให้เป็นแบบ Japanese modern ที่ดูเรียบง่ายแต่ไม่ธรรมดาด้วยการเล่นดีเทลกับทุกองค์ประกอบ ทำให้ได้รับความรู้สึกเซอร์ไพร์สตามความตั้งใจของคุณเป้ แน่นอนว่าหลังจากที่ฮารุดอทสาขาชลบุรีเปิดตัวแล้ว อาคารสีดำสองทรงจั่วก็สามารถทำหน้าที่เรียกแขกได้อย่างดีตั้งแต่วันแรก อีกทั้งพื้นที่โล่งที่เคยเป็นเพียงถนนสัญจรกลับคึกคักขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งทำให้เห็นว่าร้านกาแฟที่ดีด้วยดีไซน์ไม่ได้สร้างบรรยากาศที่ดีแก่ผู้ที่เดินเข้ามาเท่านั้น แต่สามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้แก่ผู้อยู่อาศัยด้วยเช่นกัน ทั้งพนักงานในร้าน บาริสต้า หรือตัวเจ้าของร้านเอง เมื่อพนักงานรู้สึกอยากอยู่ก็จะทำให้สามารถส่งการบริการที่ดีไปยังลูกค้า ซึ่งตรงจุดนี้เองที่คุณเป้มองว่า การดีไซน์ที่ผ่านความตั้งใจสามารถกลายเป็นสถานการณ์ที่ส่งเสริมมนุษย์ แบบ Well being หรือการอยู่อย่างมีความสุขได้ด้วย






" ดีเทลที่แฝงตัวอยู่ในสถาปัตยกรรมหรืองานออกแบบ เรามองว่าเป็นสิ่งที่เรียบง่ายแต่ให้ความรู้สึกที่ค่อนข้างอิมแพค "






 

Contributor

เป้ (จีรเวช หงสกุล)


คุณเป้จบจากคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หลังจากเรียนจบคุณเป้ก็ได้ไปทำงานตามปกติของนักศึกษาจบใหม่ จนกระทั่งอิ่มตัวและออกมาเปิดสตูดิโอกับเพื่อนและแยกย้ายกันไปตามหาความถนัดของตัวเอง ซึ่งประจวบเหมาะกับที่คุณเป้มีงานของลูกค้าชิ้นหนึ่งทำให้จับพลัดจับผลูเปิดเป็นบริษัทชื่อ “IDIN Architects” ตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งมาจากคำว่า Integrating Design Into Nature โดยคำว่าไอดินคุณเป้ต้องการสื่อถึงกลิ่นของดินหลังฝนตก ดังนั้นแนวทางของคุณเป้จึงเป็นการผสมผสานงานออกแบบให้เข้ากับธรรมชาติในหลาย ๆ มิติทั้งธรรมชาติและผู้คน ในสไตล์ Tropical Architecture โดยเน้นฟังก์ชันการใช้งานที่สอดรับกับสภาพแวดล้อม



----------


ร้าน : Harudot by NANA COFFEE ROASTER

นักออกแบบ : IDIN Architects

พิกัดร้าน : ซอยนารถมนตเสวี 30/10 ต.เสม็ด อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี 20000


 

Coffee Traveler

เป็นนิตยสารรายสองเดือน ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ

และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ

- - -

สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX Facebook : Coffee Traveler

Instagram : coffeetraveler_magazine

Youtube : Coffee Traveler

Blockdit : I am Coffee Traveler / coffeetravelermag

97 views0 comments

Recent Posts

See All
bottom of page