top of page

Hmong Doi Pui Family Coffee

นอกจากจะเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมแล้ว จังหวัดเชียงใหม่ยังถือว่าเป็นจังหวัดที่มีร้านกาแฟมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศเลยก็ว่าได้ จากข้อมูลของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) พบว่าปัจจุบันร้านกาแฟในเมืองเชียงใหม่มีจำนวนถึงกว่า 1,000 ร้านค้า ท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจร้านกาแฟในเชียงใหม่ที่รุนแรง แต่ละร้านต่างก็งัดกลยุทธ์ออกมาเพื่อช่วงชิงลูกค้าให้เข้าร้านมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการตกแต่งร้านให้สวยงามน่านั่ง หรือการคิดค้นเมนูแปลกใหม่ออกมานำเสนอ แต่จะมีสักกี่ร้านที่ไม่คิดจะกระโดดเข้าไปสู่เวทีแห่งการแข่งขันช่วงชิงลูกค้าเหมือนที่อื่น หากแต่มุ่งหน้าทำกาแฟทุกแก้วด้วยความรักและภาคภูมิใจในผลผลิตของบ้านเกิด เรากำลังพูดถึง Hmong Doi Pui Family Coffee หรือ ม้งดอยปุย แฟมิลี่ คอฟฟี่



“หมู่บ้านม้งดอยปุย” ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ - ปุย บนความสูง 700 – 1,685 เมตร ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ราว 40 กิโลเมตร ชุมชนแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2489 หรือหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวม้งที่อพยพจากประเทศจีนเข้ามาทำไร่และตั้งบ้านเรือน ต่อมามีชาวจีนฮ่ออพยพหนีการปราบปรามยาเสพติดจาก อ.แม่ริม เข้ามาตั้งถิ่นฐานเพิ่มอีก 30 ครัวเรือน จึงทำให้หมู่บ้านใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ในระยะแรกชาวม้งดำรงชีวิตด้วยการทำไร่ข้าวโพดและปลูกฝิ่นขายเป็นหลัก กระทั่งปี พ.ศ.2506 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงทราบว่ามีหมู่บ้านชาวม้งตั้งอยู่ใกล้ๆ กับพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จึงเสด็จพระราชดำเนินจากพระตำหนักฯ ไปทอดพระเนตรชีวิตของชาวเขา และทรงพบว่าชาวบ้านที่นี่มีอาชีพปลูกฝิ่น ทำไร่เลื่อนลอย ตัดไม้ทำลายป่า แต่ยังมีฐานะยากจน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถานีทดลองดอยปุย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ค้นคว้าหาพันธุ์พืชเมืองหนาวชนิดต่างๆ เช่น สตรอว์เบอร์รี แอปเปิล ท้อ พลับ และกาแฟ ให้เกษตรกรชาวเขานำไปปลูกแทนฝิ่น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวเขาและยังช่วยรักษาผืนป่า ซึ่งต่อมาพืชเมืองหนาวเหล่านี้ก็ได้กลายมาเป็นผลผลิตหลักของชาวม้งมาจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้ การที่บ้านม้งดอยปุยตั้งอยู่ในเส้นทางเดียวกันกับวัดพระธาตุดอยสุเทพและพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งของจังหวัดเชียงใหม่จวบจนปัจจุบัน


บ้านม้งดอยปุยตั้งอยู่ในเส้นทางเดียวกันกับวัดพระธาตุดอยสุเทพ

และพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่ง

ของจังหวัดเชียงใหม่จวบจนปัจจุบัน


พี่เน้ง ไพรทิพย์ ยิ่งยศมงคลแสน เจ้าของร้านกาแฟ Hmong Doi Pui Family Coffee คาเฟ่ของชาวดอย ที่มีทำเลที่ตั้งอยู่สูงกว่าใคร เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการก้าวมาเป็นกำลังหลักที่ผลักดันกาแฟจากบ้านม้งดอยปุยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างให้ฟังว่า “สมัยเด็กย่าเคยพาไปดูต้นกาแฟแล้วเล่าว่า นี่คือต้นไม้ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานมาให้ ตอนนั้นเราก็รู้ว่าเมล็ดกาแฟมันก็หวานๆ ไม่ได้สนใจอะไรนัก เพราะคนที่นี่ก็ไม่ค่อยชอบปลูกกัน พอโตมาก็ไปเปิดร้านขายอาหารให้นักท่องเที่ยวอยู่ที่ลานจอดรถตามคนอื่นๆ ในหมู่บ้าน เพราะตอนนั้นหมู่บ้านม้งได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของเชียงใหม่ไปแล้ว แต่ละวันจึงมีนักท่องเที่ยวมากันมาก” หลังจากทำร้านอาหารไปได้สักระยะ พี่เน้งก็รู้สึกว่าการค้าขายไม่ใช่แนวทางที่ชอบ เพราะเหนื่อยและมีคนเปิดแข่งกันเยอะ จึงเริ่มมองหาอาชีพอื่น “เผอิญว่าน้องเขยของผมเป็นนักวิจัยกาแฟอยู่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็เลยได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องการปลูกกาแฟมาจากเขา พอเรียนไปก็รู้สึกว่าเป็นทางที่ชอบ” พี่เน้งศึกษาเรื่องกาแฟโดยมีน้องเขยทำหน้าที่เป็นอาจารย์ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แบบครบวงจร ตั้งแต่สายพันธุ์กาแฟ การปลูก การดูแลไปจนถึงการโพรเซส เมื่อเรียนรู้จนตกผลึกแล้ว ในที่สุดก็คิดว่านี่แหละคือสิ่งที่เราน่าจะทำได้ เลยตัดสินใจเซ้งร้านอาหารแล้วย้ายมาเปิดร้านกาแฟแทน


สมัยเด็กย่าเคยพาไปดูต้นกาแฟแล้วเล่าว่า นี่คือต้นไม้ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานมาให้

“พี่เริ่มทำร้านเมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้ว สมัยนั้นเวลาพูดถึงบ้านม้งดอยปุย คนก็จะคิดถึงสวนดอกไม้ ไร่ฝิ่น กับพวกผลไม้ต่างๆ ไม่มีใครพูดถึงเลยว่าที่นี่มีกาแฟ กาแฟเราเห็นมาตั้งแต่ยังเด็กๆ ก็รู้สึกผูกพัน ยิ่งพอรู้ว่าเป็นพืชที่ในหลวงทรงพระราชทานมาให้ชาวม้งปลูกแล้ว ยิ่งปล่อยให้ตายไปจากหมู่บ้านไม่ได้

พี่เน้งเริ่มจากการรวบรวมต้นกล้าสายพันธุ์ต่างๆ อาทิ คาติมอร์ ทิปิก้า เบอร์บอน คาทุย นำมาทดลองปลูกในไร่ของตัวเอง


กาแฟเราเห็นมาตั้งแต่ยังเด็กๆ ก็รู้สึกผูกพัน ยิ่งพอรู้ว่าเป็นพืช

ที่ในหลวงทรงพระราชทานมาให้ชาวม้งปลูกแล้ว

ยิ่งปล่อยให้ตายไปจากหมู่บ้านไม่ได้



“ในตอนนั้นกาแฟของหมู่บ้านม้งดอยปุยได้กลายเป็นพืชที่ถูกทอดทิ้งไปแล้ว ทั้งหมู่บ้านมีแค่ไม่กี่หลังที่ยังมีต้นกาแฟหลงเหลืออยู่ ส่วนใหญ่จะปลูกแบบตามมีตามเกิด คือมีพื้นที่ว่างเหลือไม่รู้จะปลูกอะไรก็เอาต้นกาแฟมาลงไว้ หรือไม่ก็เป็นต้นที่โตมาตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่แล้วก็ปล่อยให้โทรมอยู่อย่างนั้น พอได้เชอร์รีมาก็ขายไม่ได้ราคาเท่าไหร่เพราะไม่ค่อยมีคุณภาพ”


แม้สภาพพื้นที่ของหมู่บ้านม้งดอยปุยจะเหมาะกับการปลูกกาแฟ แต่ชาวบ้านที่นี่ก็ไม่ค่อยจะสนใจเท่าไหร่ “กว่าจะปลูกกว่าจะได้เงินมันใช้เวลานาน ขัดกับนิสัยของชาวม้งที่ชอบทำอะไรที่ได้เงินเร็วๆ คนที่นี่ส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญกับกาแฟ แต่หันไปปลูกพืชอื่นๆ ตามกระแส หรือแม้แต่ไปทำมาค้าขายแทน เพราะได้เงินเร็วกว่า”

ในแต่ละปีพี่เน้งใช้วัตถุดิบกาแฟเชอร์รีรวมกว่าสองตันเพื่อแปรรูปเป็นกาแฟสำหรับขายในร้านเท่านั้น โดยใช้เมล็ดจากสวนที่ปลูกเอง ซึ่งให้ผลผลิตปีละประมาณ 500 กิโลกรัม ที่เหลือก็รับซื้อมาจากชาวบ้านในหมู่บ้าน ซึ่งพี่เน้งจะเป็นคนไปคัดเองกับมือถึงสวน เพื่อจะได้มั่นใจในคุณภาพของเชอร์รี ราคารับซื้อก็จะอิงตามราคาของบ้านขุนช่างเคี่ยน คือที่นั่นรับซื้อกิโลละเท่าไหร่ พี่เน้งก็รับซื้อเท่ากัน พี่เน้งให้เหตุผลว่านอกจากจะช่วยเหลือเกษตรกรด้วยกันแล้ว ยังอยากส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกกาแฟต่อไปเรื่อยๆ ไม่อยากให้รู้สึกว่าลงทุนลงแรงมาเป็นปีแล้วได้ค่าตอบแทนไม่คุ้ม



“พอเรารับซื้อกาแฟเชอร์รีจากชาวบ้านมาแล้ว ผมก็ใช้วิธีขนลงไปตากที่บ้านของลูกเขยที่อำเภอแม่โจ้แทน เราทำปริมาณไม่มาก การขนส่งเลยไม่มีปัญหา พอเมล็ดแห้งดีแล้วก็ขนกลับขึ้นมาสีมาคั่วข้างบน ผมจะทำ Process 3 แบบ คือ Honey Process, Washed Process และ Dry Process แต่ผมภูมิใจกับกาแฟ Dry Process มากที่สุด เพราะทำออกมาแล้วให้กลิ่นและรสชาติที่ซับซ้อนมากกว่าแบบอื่น เลยตั้งชื่อให้ว่า Food Aroma”



ยายชู แซ่ลี หนึ่งในเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ นอกจากจะเป็นหมอยาประจำหมู่บ้านแล้ว ยังเป็นเจ้าของสวนกาแฟขนาด 3 ไร่ ที่ปลูกลดหลั่นกันไปตามไหล่เขา ยายชูเล่าถึงที่มาของสวนกาแฟนี้ให้ฟังว่า “สวนกาแฟนี้เป็นมรดกตกทอดมาจากสมัยปู่ย่า พอมาถึงรุ่นยาย ก็ยกต่อให้ลูกสาว แต่ลูกสาวเขาไม่ค่อยมีเวลามาดูเท่าไหร่เพราะเป็นครู ยายก็เลยต้องมาดูแลแทน” ด้วยความที่ผูกพันกับต้นกาแฟมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ คุณยายจึงไม่เคยคิดที่จะทอดทิ้งไร่กาแฟแห่งนี้ แม้จะอายุหกสิบกว่าปีแล้ว แต่ยายชูก็ยังแข็งแรง เดินถือมีดพร้าด้ามยาว ปีนป่ายตามเนินเขา เข้าไปตัดแต่งกิ่งก้านดูแลใส่ปุ๋ยให้กับต้นกาแฟได้อย่างคล่องแคล่ว ต้นกาแฟในไร่ของยายชู เติบโตงอกงามขึ้นมาอย่างช้าๆ สะสมธาตุอาหารจากดิน น้ำ และอากาศ บวกกับความใส่ใจของคุณยายผู้เป็นเจ้าของ จึงติดดอกออกผลไปตามวิถีของธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีเร่งรัดให้ได้ผลผลิตมากๆ “ปีที่ผ่านมายายขายกาแฟจากไร่นี้ได้เงินมาสี่หมื่นกว่าบาท” ยายชูเล่าอย่างภูมิใจ ตัวเลขนี้ฟังดูผ่านๆ อาจเทียบไม่ได้เลยกับรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟขายในเชิงพาณิชย์ แต่สำหรับยายชูแล้ว การได้ดูแลต้นกาแฟที่งอกงามอยู่บนผืนดินที่เป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษต่างหาก คือความสุขที่แท้จริงของหญิงชราวัยหกสิบกว่าผู้นี้



การปลูกกาแฟไม่ใด้เป็นเพียงแค่ความสุขและความภูมิใจของเกษตรกรเท่านั้น แต่ยังเป็นทางรอดในช่วงวิกฤติอย่างนี้ด้วย พี่จั๊ว ทัศนีย์ เฟื่องฟูกิจการ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า กาแฟช่วยสร้างรายได้ให้กับเธอและครอบครัวได้จริง โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดโรคระบาด หมู่บ้านขาดรายได้จากการท่องเที่ยว พี่จั๊วซึ่งเป็นเกษตรกรที่ทำสวนเกษตรแบบผสมผสานโดยการปลูกพืชหลากหลาย “พี่ทำหลายอย่าง ในหมู่บ้านก็เปิดร้านขายของฝาก ในสวนก็ปลูกพืชผักผลไม้เมืองหนาวผสมกันไป เช่น พลับ พีช อะโวคาโด และกาแฟด้วย ก็เลยมีผลผลิตให้เก็บเกี่ยวสร้างรายได้ตลอดทั้งปี”


สวนกาแฟของพี่จั๊วปลูกกาแฟสายพันธุ์คาติมอร์ ที่เติบโตภายใต้ร่มเงาของต้นพลับและไม้ใหญ่ ใบสีเขียวเข้มจัดและแทบจะไม่มีโรคและแมลงมารบกวน ในพื้นที่เพียง 2 ไร่นี้ แม้จะไม่มากมายนัก แต่พี่จั๊วบอกว่าแค่นี้ก็พอแล้ว เพราะต้องแบ่งเวลาไปดูแลพืชอื่นๆ ในสวนด้วย ที่เลือกปลูกกาแฟเพราะที่ตรงนี้มีต้นไม้ใหญ่อยู่มาก มีร่มเงาที่เหมาะกับการปลูกกาแฟ “กาแฟเราไม่ต้องดูแลอะไรมาก ปล่อยให้เขาโตของเขาไป เราแค่ดูแลป่าให้ดี แล้วป่าจะช่วยดูแลกาแฟแทนเราให้เอง” พี่จั๊วยังเล่าให้ฟังถึงผลกระทบของโควิดกับหมู่บ้านม้งดอยปุยอีกด้วยว่า “จากเมื่อก่อนที่นักท่องเที่ยวเต็มหมู่บ้าน ปีนี้แทบจะไม่มีนักท่องเที่ยวเลย รายได้จากการขายของฝากแทบจะเป็นศูนย์ บ้านไหนที่ขายของอย่างเดียวก็แย่ไปเลย ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาใช้ ยังดีที่เรามีรายได้จากการขายผลไม้มาจุนเจือตรงส่วนนี้ เลยอยู่ได้อย่างไม่ลำบาก ส่วนกาแฟก็ยังขายได้ราคาดี เพราะเมล็ดกาแฟของเราออกมามีคุณภาพ เก็บเสร็จก็ส่งขายได้เงินเลย ไม่ต้องขนลงไปขายข้างล่างเหมือนผลไม้อื่น”


กาแฟเราไม่ต้องดูแลอะไรมาก ปล่อยให้เขาโตของเขาไป

เราแค่ดูแลป่าให้ดี แล้วป่าจะช่วยดูแลกาแฟแทนเราให้เอง



จุดเด่นของกาแฟของหมู่บ้านม้งดอยปุยถึงจะมีปริมาณไม่มาก แต่ก็ดูจะมีความใส่ใจในทุกกระบวนการผลิต พี่เน้งบอกว่า เขาเองก็เป็นคนทำกาแฟตัวเล็กๆ ก็เลยสามารถควบคุมคุณภาพเองได้ทุกขั้นตอน คือตั้งแต่เมล็ดกาแฟที่เลือกจากสวนที่ดีที่สุด การตาก การโพรเซส และก็จะเน้นเรื่องความสะอาดมาก่อนเป็นอันดับแรก


จากพืชที่ไม่เคยได้รับการเหลียวแล ต้นกาแฟและผลผลิตกาแฟของหมู่บ้านม้งดอยปุย ค่อยๆ เติบโตอย่างช้าๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป แบรนด์ Hmong Doi Pui Family Coffee ของพี่เน้งเอง ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะพากาแฟของหมู่บ้านม้งดอยปุยสร้างชื่อให้คนอื่นๆ ได้รู้จักกันมากขึ้น จากปากต่อปาก จนกลายเป็นที่รู้จักกันในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่ใครมาถึงก็ต้องขึ้นมาชิมกาแฟ มานั่งชมวิว มาฟังเรื่องเล่าเรื่องราวของกาแฟของหมู่บ้านม้งดอยปุยแบบเดียวกับที่เล่าให้เราฟัง วันนี้พี่เน้งวางมือจากการทำสวนกาแฟ โดยยกให้ลูกสาวกับลูกเขยเป็นผู้สืบทอดดูแลต่อ ส่วนตัวพี่เน้งเอง ก็ผันตัวมาทำหน้าที่คอยถ่ายทอดความรู้และเรื่องราวของกาแฟให้กับลูกค้าและนักท่องเที่ยวที่มาเยือนที่ร้าน



กาแฟของหมู่บ้านม้งดอยปุยจะอร่อย รสชาติล้ำลึกขนาดไหนนั้น เราไม่ขอบอก เพราะอยากให้ขึ้นมาชิมกันเอาเอง อย่างน้อย เราก็จะได้เป็นคนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของหมู่บ้านแห่งนี้ที่กำลังเผชิญกับวิกฤติรายได้ที่ขาดหายไปแทบเป็นศูนย์อยู่ในขณะนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราเรียนรู้จากการพูดคุยกับคนในหมู่บ้านนี้ก็คือ เขาทำในสิ่งที่เขารัก โดยไม่ตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นที่หนึ่งหรือให้ยิ่งใหญ่กว่าใครเสมอไป แค่ทำด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ทำออกมาให้ดี ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลทั้งกับคนและสิ่งแวดล้อม แล้วผลงานก็จะเป็นสิ่งที่จะพิสูจน์ให้เองว่า สิ่งที่ทำออกมามีคุณค่ามากน้อยแค่ไหน


 

Coffee Traveler เป็นนิตยสารรายสองเดือน ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ - - - สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX Facebook Coffee Traveler Instagram : coffeetraveler_magazine Youtube : Coffee Traveler Blockdit : I am Coffee Traveler / coffeetravelermag

301 views0 comments

Comments


bottom of page