top of page

Mark King ไม่ได้โลกสวย แต่มองโลกให้สวย

หากคุณเป็นคนที่คลุกคลีอยู่ในวงการกาแฟ วงการการศึกษา การวิจัย การเมือง การตลาด ธุรกิจ ไปจนถึงวงการถ่ายภาพนก อาจจะต้องคลุกคลีในระดับที่ค่อนข้างลึกซึ้ง คุณน่าจะรู้จักชื่อของ อาจารย์มาร์ค คิง (Mark King) บุคลากรผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยองค์ความรู้ วิสัยทัศน์ และพร้อมที่จะแบ่งปัน รวมถึงยังคงเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากผู้คน และทุกสิ่งใหม่ในโลกอยู่ทุกวัน

"เรามักจะมองเห็นคนรุ่นใหม่ที่กล้าอยากลองทำอะไร ซึ่งผมว่ามันไม่พอ มันต้องมีความรู้ มีวิธีวิทยา มี Methodology ที่ถูกต้อง แล้วจึงจะสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้"


หากจะให้แนะนำด้วยตำแหน่งหน้าที่การงานอย่างเป็นทางการ อาจจะกินพื้นที่หลายหน้ากระดาษ อาจารย์จึงสบายใจให้เรียกสั้นๆ อย่างเป็นกันเองว่า อาจารย์มาร์ค


“ผมมีหมวก 3 ใบ หนึ่งคือผมเป็นนักธุรกิจ ผมทำธุรกิจในหลายๆ ด้าน ทั้งธุรกิจเกี่ยวกับงานคราฟต์ที่เราเห็นในหลายๆ ประเทศ ซึ่งด้านที่ถนัดและชอบก็คือเรื่องความคิดสร้างสรรค์ หมวกใบที่สองคือผมเป็นอาจารย์พิเศษสอนหนังสือในระดับปริญญาโทกับปริญญาเอก สอนเรื่องการค้าระหว่างประเทศ เรื่องกลยุทธ์ เรื่องยุทธศาสตร์ อย่างที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมสอนที่คณะบริหารฯ คณะวิจิตรศิลป์ คณะวิศวะฯ และหมวกใบที่สามก็คือเป็นนักวิจัย ทั้งสามพาร์ทเป็นงานหลักที่ผมทำอย่างซีเรียสมาก ผมเป็นมนุษย์ซีเรียส ถ้าจะทำอะไรต้องทำลึกจริงๆ ผมเป็นคนที่จริงจังกับเรื่องนั้นๆ และมักจะทำอย่างถึงที่สุด อย่างเช่นในพาร์ทของการทำธุรกิจ ผมก็ได้รับคัดเลือกให้เป็นสุดยอด CEO ของประเทศไทย ครั้งที่ 1 ในช่วงประมาณต้นปี 2000”


อาจารย์เล่าอย่างไม่ได้อวดอ้าง หากแต่ต้องการสื่อสารให้ทราบว่าทุกสิ่งที่ลงมือทำ ล้วนทำด้วยความตั้งใจและอย่างจริงจัง หากจะรู้อะไรต้องรู้ให้จริง รู้ให้ลึก ต้องศึกษาย้อนกลับไปถึงรากเหง้าแห่งที่มาที่ไป ต้องค้นคว้า ต้องใช้วิธีวิทยา (Methodology) ที่ถูกต้องเพื่อให้ได้ความรู้เชิงประจักษ์ แล้วจึงจะสามารถนำองค์ความรู้เหล่านั้นไปใช้งานต่อได้


“ผมชอบการค้นคว้า ชอบเรื่องที่ต้องใช้ Methodology ที่ถูกต้อง ถึงค่อยได้เป็นองค์ความรู้อย่างแท้จริงที่พิสูจน์ได้ แล้วค่อยเอาไปใช้งานจริง เรามักจะมองเห็นคนรุ่นใหม่ที่กล้า อยากลองทำอะไร ซึ่งผมว่ามันไม่พอ มันต้องมีความรู้ มีวิธีวิทยา มี Methodology ที่ถูกต้อง แล้วจึงจะสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้”


อย่างเช่น หากจะทำงานดีไซน์ ต้องรู้ให้ลึกถึงขนาดของตู้คอนเทนเนอร์ ขนาดรถสิบล้อ ไปจนถึงขนาดของรถกระบะ

“เราต้องรู้ขนาดของตู้คอนเทนเนอร์ก่อนการดีไซน์ผลิตภัณฑ์ เพราะมันเกี่ยวข้องกับ logistic ตัวคอนเทนเนอร์ก็ต้องพอดีกับเรือที่ใช้ขนส่ง เรือก็ต้องมีขนาดที่พอดีกับคลองปานามา คลองซูเอซ หรือคลองทั้งหลาย ย่อยลงมาอีกคือขนาดของรถสิบล้อ รถกระบะ อันนี้คือหลักของการดีไซน์ เป็นเรื่องพื้นฐานที่เราต้องรู้ เหมือนกันกับทุกๆ เรื่อง ทุกสังคม เราจำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานเพื่อให้เดินไปข้างหน้าได้อย่างไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูก เพราะมันมีความรู้ชุดใหญ่ให้เราหยิบยืมมาใช้อยู่แล้ว แต่เรามักจะไม่ค่อยได้ทบทวนนำสิ่งเหล่านั้นมาใช้”


• Lifelong learning เพราะการศึกษาต้องทำไปตลอดชีวิต

ผลงานของอาจารย์สะท้อนผ่านทางความรู้และงานวิจัยมากมาย ไปจนถึงนวัตกรรมใหม่ๆ อันเกิดจากองค์ความรู้ที่ศึกษามาอย่างลึกซึ้ง กระทั่งระหว่างการพูดคุยกันในช่วงเวลาครึ่งค่อนวัน ยังมีความรู้ใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งอาจารย์หยิบมาแบ่งปันให้กับทีมงาน ทั้งความรู้เรื่องกาแฟ ยุทธศาสตร์ของกาแฟโลก ความเป็นไปได้ของกาแฟในประเทศไทยและกาแฟเชียงใหม่ ความรู้เรื่องวัฒนธรรม ความเชื่อ ไปจนถึงมานุษยวิทยา


“เรื่องของกาแฟมันไม่จบ มันบอกไม่ได้ว่าสำเร็จตอนไหน เพราะกาแฟเป็นสิ่งที่พลวัตตลอดเวลามาเป็นหลายร้อยปี และโลกก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว อย่างยุคนี้เราต้องมี Sense and Respond เราต้อง sense ให้ได้ว่าลูกค้าต้องการอะไรแล้วก็ respond สิ่งนั้น เพราะฉะนั้นเรื่องการตลาดเลยมีความสำคัญในแง่ของศาสตร์สมัยใหม่ Marketing เป็นศาสตร์ได้ เพราะว่าเอามาทำให้เป็นตัวเลขได้ เราเอาความอร่อยให้เป็นตัวเลขได้ เอาความรู้สึกให้เป็นตัวเลขได้ เช่น กาแฟแก้วนี้ผมให้คะแนนเท่าไหร่ คุณให้คะแนนเท่าไหร่ ซึ่งในการกำหนดคะแนนเราก็ต้องมี Methodology วิธีวิทยายอย่างไรว่า 1 - 10 ให้เท่าไหร่ เพราะอะไร ฉะนั้นกาแฟจึงสามารถมีค่าได้ กาแฟดีแปลว่าอะไร คุณภาพมันคืออะไร สิ่งนี้คือ Marketing Research และถ้าเราทำบ่อยๆ มันก็คืองานศิลปะ เพราะจุดตัด 9 ช่อง หรือ Golden Ratio มันไม่ใช่จู่ๆ ก็เกิดขึ้นมา แต่มันเป็นสิ่งที่ทำซ้ำมาตลอด แล้วจึงเป็นความป๊อปปูล่า จากนั้นก็พลวัตกลายเป็นวัฒนธรรม วัฒนธรรมที่ดีก็กลายมาเป็นจริยธรรม ซึ่งอันนี้คือสิ่งที่ฝังรากอยู่ในมนุษย์เรามาตั้งแต่โบราณ ทำให้เราเป็นสัตว์สังคมที่อยู่ร่วมกันได้ บนพื้นฐานของคำว่าวัฒนธรรมและจริยธรรม”


สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ทุกสิ่งในโลกล้วนมีความพลวัต การศึกษาด้วยวิธีวิทยาเพื่อให้ได้ความรู้เชิงประจักษ์นั้นจึงสำคัญ และเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นใคร วิชาชีพไหน หรืออยู่ในสังคมอย่างไร เพราะหากวันใดที่เราหยุดเรียนรู้ก็เหมือนกับเราเริ่มเดินถอยหลัง


“ผมเชื่อเรื่อง Lifelong learning แนวทางที่ผมใช้มาตลอดชีวิตคือการศึกษาตลอดชีวิต ผมไม่เคยสนว่าใครเรียนอะไรหรือจบอะไร เพราะผมถือว่าทุกอย่างมันสามารถเรียนรู้ใหม่ได้ อยู่ที่เราจะเริ่มเรียนรู้สิ่งนั้นหรือไม่ แล้วเส้นกราฟของการเรียนรู้ก็จะค่อยๆ ขยับขึ้นมา”

"ผมสนใจกาแฟในฐานะที่เป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรม เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นกาแฟทุกแก้วมีสิ่งที่น่าสนใจ กาแฟทุกแก้วเปลี่ยนชีวิตผมทุกวัน"

• อยู่อย่างไรให้มีความสุข

ความสนุกกับการได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ อยู่ตลอดเวลา อาจทำให้อาจารย์มาร์คมองว่าทุกอย่างล้วนดีงามไปหมด ไม่ใช่การมองโลกในแง่ดี หรือคนโลกสวย แต่คือการมองโลกในแง่มุมที่สวย ด้วยความเชื่อว่าทุกอย่างนั้นดีงามเสมอ เช่นเดียวกับการไม่นับถือศาสนาอะไร เพราะเชื่อว่าทุกศาสนาล้วนสอนให้เป็นคนดี


“ผมเป็นคนไม่มีศาสนา เพราะผมเชื่อทุกศาสนา แต่เดิมตอนเด็กๆ ผมก็เรียนศาสนาพุทธ ผมเรียนนักธรรม สอบนักธรรมชั้นโทด้วยนะ พอโตมาผมมีเพื่อนเป็นชาวมุสลิม ผมก็ไปนั่งศึกษาความเป็นอิสลาม ตอนนี้ลูกสาวสองคนผมก็เรียนอยู่ที่โรงเรียนคริสต์ ผมก็เอาลูกสาวไปฝากไว้กับแม่ชีเลย เพราะฉะนั้นผมจึงรู้ว่าทุกศาสนาสอนให้เราเป็นคนดี ที่ผมพูดว่าไม่มีศาสนาไม่ได้แปลว่าผมไม่นับถืออะไรเลย แต่ผมเชื่อทุกศาสนา เพราะเขาสอนให้เราเป็นคนดี

แล้วผมก็เชื่อว่าเราเกิดมาบนโลกที่โคตรงดงาม ผมไม่ได้โลกสวยนะ แต่ผมเชื่อว่าทุกอย่างดีหมด มันสวยอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเรามองมันยังไงต่างหากเหมือนผมย้ายมาอยู่เชียงใหม่ ผมก็ทำตัวแบบนักท่องเที่ยวตั้งแต่วันแรกจนถึงทุกวันนี้ เพราะเวลาที่เราไปเที่ยวเรามักจะมองหาแต่สิ่งดีๆ สวยๆ เราอยากไปที่สวยๆ ไปกินอาหารอร่อยๆ ไปเจอผู้คนดีๆ ผมอยู่เชียงใหม่มา 20 กว่าปี ผมยังเจอสิ่งดีๆ สวยๆ ไม่หมดเลย ผมเลือกที่จะอยู่แบบนี้ อยู่แบบไม่ได้โลกสวย แต่ผมมองอะไรก็สวย ทุกอย่างดีหมดสำหรับผม กาแฟทุกแก้วที่ผมกินอร่อยหมด”


เพราะฉะนั้นกาแฟทุกแก้วสำหรับอาจารย์คือกาแฟที่ดี บาริสต้าทุกคนก็เป็นบาริสต้าที่ดี เพราะหากเราลองปรับมุมมองต่อกาแฟให้กลายเป็นมุมมองทางมานุษยวิทยา เราจะพบว่ากาแฟทุกแก้วเปลี่ยนโลกได้ทุกวัน

“ที่ผมพูดว่าไม่มีศาสนาไม่ได้แปลว่าผมไม่นับถืออะไรเลย แต่ผมเชื่อทุกศาสนา เพราะเขาสอนให้เราเป็นคนดี”


“ผมสนใจกาแฟในฐานะที่เป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรม เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นกาแฟทุกแก้วมีสิ่งที่น่าสนใจ กาแฟทุกแก้วเปลี่ยนชีวิตผมทุกวัน


หลายคนบอกว่าผมบ้า ผมขับรถออกจากบ้านตี 3 เพื่อไปสว่างที่แนวชายแดนไทย - พม่า แล้วเราก็อยู่ตรงนั้นเพื่อรอดูนก รอถ่ายภาพนก ซึ่งนกก็มาไม่เกิน 15 - 20 วินาที แล้วเราก็กลับบ้าน แค่นั้นเราก็มีความสุขแล้ว แต่เราสามารถอธิบายความสุขของเราได้ด้วยเหตุผลบางอย่าง มันคือเรื่องของปัจเจก เพราะฉะนั้นการดำเนินชีวิตหรือการใช้ชีวิตมันเป็นเรื่องของปัจเจก มันอยู่ที่ว่าที่ผ่านมาเราถูกหล่อเลี้ยงมายังไง ทำให้เราเห็นโลกยังไง มันเป็นเรื่องของตัวเราเองในการที่จะถอดรหัสหรือให้ความหมายของอะไรบางอย่าง เพราะฉะนั้นกาแฟของผมอาจจะไม่ได้มีความหมายเหมือนคนอื่นเขาก็ได้ ผมอาจจะสนใจกาแฟในมุมที่ไม่เหมือนคนอื่นเขา”


ดังนั้นเรื่องเล็กๆ หรือสิ่งเล็กๆ ใกล้ๆ ตัว จึงสามารถเป็นอาจารย์สอนเราได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการได้พูดคุยกับคนใหม่ๆ หรือการเดินทางออกจากบ้านในทุกๆ วัน หากแต่มันอยู่ที่มุมที่เราจะเลือกมอง ประกอบกับประสบการณ์ในการเดินทางผ่านช่วงเวลามาจนเป็นเรา ณ ตอนนี้


บางเรื่องเราอาจไม่จำเป็นต้องไปถึงโมเดลระดับโลก เพียงมองสิ่งใกล้ตัวเรา อย่างเช่นเรื่องกาแฟกับมานุษยวิทยาต่อการพัฒนา ที่อาจารย์ยกตัวอย่างเรื่องราวของ คุณเคเลบ จอร์แดน ชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ใน จ.น่าน เป็นนักพัฒนา คนปลูก คนแปรรูป และคนคั่วกาแฟผู้ก่อตั้ง Gem forest Coffee กาแฟมณีพฤกษ์ ที่พัฒนาหมู่บ้านจนเกิดการพัฒนาด้านกาแฟให้เป็นไปได้อย่างยั่งยืน


“ตอนนี้เขาสามารถรวมกลุ่มต่อรองราคากาแฟได้ อันนี้คือทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เลยนะ เป็นแนวคิดแบบ Decentralization คือการทำลายศูนย์กลาง การที่คนชายขอบสามารถมีอำนาจต่อรองศูนย์กลางได้ ทำให้เกิด Margin ใหม่ โดยคนกลุ่มเล็กๆ สามารถต่อรองได้ผ่านการรวมกลุ่มกัน ผ่านพื้นฐานของความรู้ใหม่อย่างที่เคเลบทำ นี่คือโมเดลที่ดีมาก แค่ที่หมู่บ้านเล็กๆ ใน จ.น่าน ที่ไม่เกิดไฟไหม้ป่า ป่าอุดมสมบูรณ์ มีเศรษฐกิจ มีทุกอย่างครบหมด เราสามารถทำให้เป็นมณีพฤกษ์โมเดลได้”


เพียงเสี้ยวหนึ่งของการสนทนา ทำให้เราได้เห็นมุมมองของบุคคลที่เปี่ยมไปด้วยองค์ความรู้ ซึ่งดำเนินชีวิตด้วยทัศนคติที่แสนเรียบง่าย ด้วยความเชื่อว่าทุกอย่างล้วนมีความดีงาม และที่สำคัญคือ จงอย่าหยุดที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่อย่างลึกซึ้งอยู่เสมอ

“เราเกิดมาบนโลกนี้มันก็มีปัญหาทุกวันอยู่แล้ว หิวก็เป็นปัญหา ป่วยก็เป็นปัญหา แต่เราจะอยู่กับมันยังให้มีความสุขต่างหาก เพราะฉะนั้นทัศนคติของผมต่อการใช้ชีวิตก็คือ อยู่ยังไงให้มีความสุข”

 

Coffee Traveler เป็นนิตยสารรายสองเดือน ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ - - - สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX Facebook Coffee Traveler Instagram : coffeetraveler_magazine Youtube : Coffee Traveler Blockdit : I am Coffee Traveler / coffeetravelermag


194 views0 comments
bottom of page