top of page

บ้านธงชัย Baan Thongjaya



“ ความหมายของบ้านธงชัยมิได้อยู่ที่มูลค่า แต่ให้ความหมายของบ้านที่มีคุณค่า คุณประโยชน์ต่อชีวิตและจิตใจ ”

บ้านธงชัย (Baan Thongjaya) บ้านที่คุณตุ้ม หม่อมหลวงสุทธิชัย ชยางกูร เจ้าของและผู้ออกแบบ ตั้งใจให้เป็นอนุสรณ์สถานเพื่อระลึกถึงคุณพ่อ พันโท หม่อมราชวงศ์ธงชัย ชยางกูร และเป็นเครื่องหมายแห่งการสนองพระเดชพระคุณต่อพระกรุณาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไชยานุชิต กรมหมื่นพงษาดิศรมหิป ซึ่งเป็นบุพการีต้นราชสกุล ‘ชยางกูร’ ประกอบกับความสนใจในสถาปัตยกรรมเก่าและความคุ้นเคยในบ้านรูปแบบเดิมที่ได้เห็นมาตั้งแต่เด็ก รวมถึงความชื่นชอบในสถาปัตยกรรมแบบอาคารยุคอาณานิคม “บ้านธงชัย” จึงได้ถูกสร้างขึ้นและตั้งตระหง่านบนสวนกลางทุ่งนาในอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่


“เราไม่ได้เรียนมาทางสถาปัตยกรรม แต่มีความสนใจในเรื่องนี้พอสมควร เดิมทีชอบสถาปัตยกรรมเก่าอยู่แล้ว เนื่องจากสมัยก่อนอาศัยอยู่จังหวัดกรุงเทพฯ กับครอบครัว ทำให้เราได้เห็นภาพของบ้านสไตล์เก่ามาตั้งแต่จำความได้ ซึ่งภาพจำเหล่านี้และความคุ้นชินกับบ้านเก่า เช่น บ้านของท่านปู่ที่อยู่ตรงถนนสามเสนเป็นเรือนไม้ปั้นหยามีระเบียง และบ้านที่อาศัยอยู่ตอนเด็กในย่านของบ้านพักข้าราชการและบ้านขุนนางที่เราได้เห็นจนชินตา ทำให้ได้รับอิทธิพลในลักษณะนี้มาโดยตลอด จนกระทั่งเริ่มสนใจเรื่องของการออกแบบ จึงยิ่งทำให้เราสนใจเรื่องสถาปัตยกรรมแบบเก่าเป็นพิเศษ ดังนั้นบ้านธงชัยจึงตั้งใจอยากทำเป็นทรงบังกะโลยุคอาณานิคมโคโลเนียล ที่เน้นฟังก์ชั่นของการใช้งาน โดยมีส่วนใช้สอย รับแขก และอาศัยหลับนอน”




ในพื้นที่ส่วนหน้าบ้านยังมีแถวเต๊งหรือเตี้ยมฉู่ที่จำลองแบบสถาปัตยกรรมจีน-ยูโรเปี้ยน สมัยรัชกาลที่ 5 จำนวน 10 คูหาไว้สำหรับรองรับผู้ประกอบการ


ด้วยฟังก์ชันที่เน้นเพื่อการใช้งาน พื้นที่ในแต่ละส่วนของบ้านธงชัยจึงถูกจัดวางอย่างมีระเบียบและสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย โดยมีทั้งร้านอาหารคาเฟ่ ห้องสมุด แกลเลอรี สำนักงาน ร้านค้าขายของทำมือ (Hand made) ศูนย์การเรียนแลกเปลี่ยนความรู้ โรงแรม และเป็นที่อยู่อาศัยของเจ้าของบ้าน ตามคอนเซ็ปต์ที่วางไว้ตั้งแต่ต้นว่า “ความหมายของบ้านธงชัยมิได้อยู่ที่มูลค่า แต่ให้ความหมายของบ้านที่มีคุณค่า คุณประโยชน์ต่อชีวิตและจิตใจ”


“ในส่วนของตัวบ้านเรายึดถือแบบบ้านของคหบดี เสนาบดีหรือบ้านขุนนางสมัยก่อนช่วงยุคอาณานิคมที่ยังไม่มีออฟฟิศสำหรับทำงาน โดยมีบ้านเป็นสำนักงานทำให้คนในกรมของตนเองต้องมาทำงานหรือปรึกษาราชการที่บ้านของเสนาบดีในกรมนั้น ๆ ซึ่งบ้านของเสนาบดีก็จะถูกแบ่งออกเป็นส่วนออฟฟิศทำงาน เลี้ยงสัตว์ ทำเครื่องจักรสาน และเรือนอาศัย เราจึงอยากให้บ้านธงชัยออกมาในลักษณะที่ไม่เพียงแต่เป็นที่อยู่อาศัย แต่เป็นที่พบปะของผู้คน ซึ่งนอกจากตัวอาคารหลักที่เป็นตึกโถงและตึกนอนแล้ว ในพื้นที่ส่วนหน้าบ้านยังมีแถวเต๊งหรือเตี้ยมฉู่ที่จำลองแบบสถาปัตยกรรมจีน - ยูโรเปี้ยน สมัยรัชกาลที่ 5 จำนวน 10 คูหาไว้สำหรับรองรับผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์งานฝีมือและงานศิลปะด้วย ซึ่งเราอยากให้เป็นร้านค้าประกอบกันคล้ายเป็นย่าน ๆ หนึ่ง รวมถึงมีร้านอาหารและร้านกาแฟเป็นสื่อกลางให้ผู้คนได้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น และมีกิจกรรมที่ทำให้ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันจริง ๆ เพราะเรามองว่าในปัจจุบันอะไรแบบนี้มันเริ่มหายไป คนส่วนใหญ่หันไปใช้สื่อโซเชียลมีเดียมากกว่าการส่งต่อแบบภาษาวาจา ภาษากาย ทำให้การถ่ายทอดความรู้ ความคิด หรือการสื่อสารซึ่งกันและกันไม่ครบถ้วน เราเลยอยากให้บ้านธงชัยเป็นพื้นที่ของการสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างมากกว่าการเป็นร้านกาแฟหรือร้านอาหารอย่างเดียว”



นอกจากนี้คุณตุ้มยังอธิบายให้ฟังเพิ่มเติมอีกว่า ลักษณะการออกแบบของตัวอาคารสามารถบอกยุคสมัยได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ด้านหน้าของบ้านธงชัยที่เป็นตัวร้านกาแฟและร้านอาหารไม่มีชานชาลา เนื่องจากเป็นอาคารโคโลเนียลยุคที่ยังใช้รถม้า ซึ่งถ้าเป็นอาคารที่มีชานชาลาพร้อมมีถนนลอดเข้ามานั้น จะเป็นยุครถยนต์หรือยุคปลายรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีรถยนต์ใช้กันแล้ว บอกได้เลยว่านอกจากจะได้ซึมซับอาคารแบบเก่าที่ไม่ได้มีให้เห็นในปัจจุบันมากนัก เรายังได้เรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ผ่านการดีไซน์ที่อิงอาคารแบบเก่า ซึ่งเป็นความชื่นชอบของคุณตุ้มอีกด้วย


บ้านธงชัยจึงเปรียบเหมือนบ้านแห่งความคิดถึง และเป็นบ้านที่รวบรวมความทรงจำของคุณตุ้มในวัยเด็ก ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างบ้านเพื่อระลึกถึงคุณพ่อและบรรพรุษแล้ว คุณตุ้มยังตั้งใจให้บ้านหลังนี้เป็นอนุสรณ์ให้ได้ระลึกถึงตระกูลต่อไปด้วย แม้ว่าบ้านธงชัยจะก่อสร้างขึ้นใหม่ทั้งหลัง แต่ทุกรายละเอียดของการออกแบบและการตกแต่ง สามารถถอดแบบผ่านความชอบ ความคิดถึง และความทรงจำ ออกมาได้อย่างดีเลยทีเดียว อีกทั้งยังเป็นสถานที่ที่แสดงให้เห็นถึงบ้านที่มีความหมาย มีคุณค่า คุณประโยชน์ต่อชีวิตและจิตใจ ตามคอนเซ็ปต์และความตั้งใจของคุณตุ้มออกมาได้อย่างชัดเจน



" บ้านธงชัยจึงใช้แนวคิดอย่างเก่าพร้อมการพิจารณาคร่าว ๆ ว่าฟังก์ชันอาคารควรจะออกมาในลักษณะแบบใด เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานของคนสมัยก่อน แต่ยังคงตอบโจทย์กับคนในยุคปัจจุบันได้ด้วยเช่นกัน "


 

Contributor

ตุ้ม (หม่อมหลวงสุทธิชัย ชยางกูร)


คุณตุ้มจบด้านดนตรีมาโดยตรง แต่มีความสนใจในเรื่องของการออกแบบสไตล์ยุคเก่า ด้วยความผูกพันและได้ซึมซับสถาปัตยกรรมแบบเก่ามาตั้งแต่วัยเด็ก จึงสนใจงานด้านการออกแบบอาคารในลักษณะของยุคอาณานิคมโคโลเนียลเป็นพิเศษ ซึ่งคุณตุ้มมีร้านกาแฟชื่อ The old Chiang Mai Cafe ที่เปิดมากว่า 10 ปีแล้ว ในพื้นที่ของ บ้านข้างวัด จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากนั้นก็ตั้งใจมาทำบ้านธงชัยเพื่อระลึกถึงคุณพ่อและสนองพระเดชพระคุณต่อบุพการีต้นราชสกุล ‘ชยางกูร’ รวมถึงความตั้งใจที่อยากให้บ้านธงชัยเป็นมากกว่าบ้านที่อยู่อาศัย แต่อยากให้เป็นสถานที่ที่ผู้คนเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น ผ่านบ้านที่เต็มไปด้วยความทรงจำวัยเด็กของคุณตุ้ม

---------


ร้าน : บ้านธงชัย : Baan Thongjaya

นักออกแบบ : หม่อมหลวงสุทธิชัย ชยางกูร

พิกัดร้าน : 282/1 หมู่ 5 บ้านหนองควาย ต.หนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ 50230


 

Coffee Traveler

เป็นนิตยสารรายสองเดือน ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ

และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ

- - -

สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX Facebook : Coffee Traveler

Instagram : coffeetraveler_magazine

Youtube : Coffee Traveler

Blockdit : I am Coffee Traveler / coffeetravelermag

156 views0 comments

Recent Posts

See All
bottom of page