top of page

สมาคมกาแฟสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ Thailand Southern Border Coffee Association


" เราอยากรวมทั้งเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในพื้นที่ คาเฟ่ และโรงคั่วในพื้นที่ จัดตั้งเป็นสมาคมแล้วให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม โดยที่มีชุดคณะกรรมการสมาคมในการบริหาร "



เพราะกาแฟคือชีวิตประจำวันและมันก็อยู่กับเราทุกที ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียคุ้นเคยกับกาแฟมาก่อนสังคมไทยมาก และมีประวัติศาสตร์อันเกี่ยวเนื่องกับสายพันธุ์กาแฟหลายชนิดที่แพร่กระจายไปทั่วโลกจนแทบหาต้นตอไม่เจอ แต่ในประเทศไทยกลับได้รับความสนใจไม่นานมานี้ทำให้ทุกพื้นที่ต่างพยายามสร้างตัวตนให้กับกาแฟของตัวเองให้มีความโดดเด่นทั้งเรื่องราว กลิ่น และรสชาติ ซึ่งปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เองก็ไม่ต่างกันเราได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณบัล ฮัมบัล หมัดสุวรรณ ผู้จัดการโรงคั่วกาแฟฟาฏอนี

และเป็นหนึ่งในสมาชิกสมาคมกาแฟสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นบุคคลที่รู้จักกับกาแฟใต้เป็นอย่างดี คลุกคลีกับพื้นที่มานาน ได้เล่าให้เราฟังถึงที่มาของการก่อตั้งสมาคมขึ้นมาจากการรวมตัวทำกิจกรรมของกลุ่มคาเฟ่ในจังหวัดยะลาเมื่อสองปีก่อน จึงเกิดไอเดียที่จะก่อตั้งเป็นสมาคมขึ้นมาและกำลังจะยื่นจดทะเบียนเป็นทางการตามระเบียบราชการในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนกาแฟของสามจังหวัดผ่านการยกระดับคุณภาพไปสู่มาตรฐานสากลโดยมีสมาคมเป็นสื่อกลางในการสื่อสารและถ่ายทอดความรู้ “ตอนนี้เราอยากรวมทั้งเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในพื้นที่ คาเฟ่ และโรงคั่วในพื้นที่จัดตั้งเป็นสมาคมแล้วให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม โดยที่มีชุดคณะกรรมการสมาคมในการบริหาร ทีนี้ในแต่ละจังหวัดก็จะมีอนุกรรมการที่ขับเคลื่อนในภาค

ส่วนของจังหวัดอีกที แต่ในส่วนกลางของสมาคมก็จะมีตัวแทนของแต่ละจังหวัดเข้าไปนั่ง ตอนนี้ประธานสมาคมเรายังไม่ได้เลือกตั้ง แต่ในแต่ละจังหวัดก็จะให้มีตัวแทนที่จะเข้ามานั่งในสมาคมจังหวัดละ 3 - 4 คน ก็รวมกรรมการสมาคมทั้งหมดไม่เกิน 12 คน ในการขับเคลื่อน”


ภาพรวมโครงสร้างสมาคมถูกออกแบบมาให้ทุกคนได้ส่วนร่วมให้มากที่สุดและเปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถเข้าเป็นตัวแทนในฐานะอนุกรรมการ โดยที่มาของอนุกรรมการมาจากตัวแทนของจังหวัดนั้น ๆ 3 - 4 ซึ่งต้องมีทั้งเกษตรกร โรงคั่ว Q Grader หรือบทบาทอื่นไม่ซ้ำกัน เพื่อเป็นมุมมองความหลากหลายภายในองค์กร ปัจจุบันมีสมาชิกเป็นเจ้าของคาเฟ่อยู่ประมาณ 37 คน และเกษตรกรอีก 5 คน ซึ่งตอนนี้สมาคมยังเปิดรับสมัครให้กับผู้ที่สนใจเข้ามาเป็นสมาชิกอยู่เรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ เจ้าของร้านกาแฟ นักคั่วกาแฟ บาริสตา หรือแค่เป็นคนชอบดื่มกาแฟก็สามารถสมัครได้ เพราะเรื่องของคุณภาพบางอย่างสามารถพัฒนาได้จากการเรียนรู้ร่วมกันภายในองค์กร


นอกจากนี้เป้าหมายของสมาคมยังต้องการที่จะส่งเสริมกาแฟสามจังหวัดชายแดนให้เป็นที่ยอมรับของคนในพื้นที่เองเสียก่อน เนื่องจากภาพลักษณ์ของกาแฟใต้ยังเป็นรองในเรื่องของคุณภาพอยู่บ้าง หากเทียบกับกาแฟของภาคเหนือที่มีผู้ส่งเสริมและพัฒนาด้านต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเทรนด์การบริโภคอะราบิกาที่ได้รับความนิยมในขณะนี้ ทำให้โรบัสตาอยู่นอกสายตาของใครหลายคน ดังนั้นการสร้างความภูมิใจให้กับกาแฟสามจังหวัดจึงเป็นสิ่งที่สมาคมพยายามสนับสนุนคนในพื้นที่ให้กันมาเลือกใช้และเห็นคุณค่าของกาแฟพื้นถิ่นของตัวเอง เพราะแครักเตอร์ของกาแฟแต่ละพื้นที่มีต่างกันออกไปตามสภาพแวดล้อม ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นกาแฟจากที่ใดก็ตามต่างมีดีในแบบของตัวเอง โดยเฉพาะกาแฟของที่นี่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 100 ปี ตั้งแต่โรบัสตาเข้ามาในประเทศไทยที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา และในเวลาเดียวกันที่อัยเยอร์เวง อำเภอธารโต จังหวัดยะลา


" กาแฟของที่นี่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 100 ปี ตั้งแต่โรบัสตาเข้ามาในประเทศไทยที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา และในเวลาเดียวกันที่อัยเยอร์เวง อำเภอธารโต จังหวัดยะลา "



" สภาพอากาศก็ส่วนหนึ่ง คุณภาพดินก็ส่วนหนึ่ง แต่ปัญหาหลักที่มักจะพบเจอกับทุกที่คือเกษตรกรเองยังขาดความรู้ในเรื่องของการทำโพรเซสและการทำการตลาด "



“คือตอนนี้เราดึงกาแฟท้องถิ่นมาคั่ว มาพัฒนา แล้วก็หาตลาดข้างนอกได้ แต่มันจะไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ ถ้าคาเฟ่ในพื้นที่เองยังไม่กล้าที่จะนำเสนอกาแฟในบ้านของตัวเอง เราจะเห็นว่าวัฒนธรรมกาแฟในพื้นที่ไหน ๆ เขาก็ภูมิใจที่จะนำเสนอกาแฟในพื้นที่นั้น ๆ เราไปภาคเหนือไปดอยช้างก็อยากกินกาแฟดอยช้าง ไปปางขอนเราก็อยากกินกาแฟปางขอน แต่คนที่มาเที่ยวสามจังหวัดชายแดนใต้ มาเที่ยวยะลาเราก็ควรเสิร์ฟกาแฟยะลาให้เขาได้ชิม ให้ได้รู้ถึงรสชาติกาแฟบ้านเราบ้าง”


นอกเหนือจากความพิเศษที่มีความยาวนานทางด้านประวัติศาสตร์แล้ว แครักเตอร์กาแฟก็พิเศษไม่ต่างกัน ด้วยความพิถีพิถันของการดูแล เก็บเกี่ยว จนถึงการแปรรูปทำให้รสชาติของกาแฟไม่แพ้ที่ใดในโลกแน่นอน และคุณบัลได้เล่าต่อถึงสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อรสชาติกาแฟในแต่ละพื้นที่อย่างเห็นภาพไว้แบบนี้ “แครักเตอร์ของโรบัสตาท้องถิ่นพิเศษคือแร่ธาตุในดินที่ไม่มีที่อื่น พืชผลของ จังหวัดสามชายแดนใต้จะมีความเฉพาะตัว เช่น ทุเรียนยะลา ก็จะไม่เหมือนทุเรียนชุมพร ไม่เหมือนทุเรียนระนอง เนื่องจากแร่ธาตุในดินของเขา แล้วก็โรบัสตาในบางพื้นที่ที่ผมได้มาก็จะเป็นสายแร่ดิน ซึ่งรสชาติก็จะมีความโดดเด่นเฉพาะตัวรสชาติในส่วนของบันนังสาเรงก็จะมีความเข้มของโรบัสตาตามระเบียบของโรบัสตาเลย แต่จะมี Aftertaste ที่หวานยาว แล้วก็มีความหวานของผลไม้ที่แทรกเข้ามา แล้วก็ในส่วนของตำบลบาโงยซิแนที่เกษตรกรทำโพรเซส เขาก็จะทำเป็น Anaerobic Natural ใช้การหมักจากตัวของมันเอง ซึ่งเป็นกาแฟที่ปลูกแซมในสวนผลไม้ คือจะมี Aroma ของการหมัก มีบอดี้ มี Aftertaste ที่ยาวเหมือนกัน”


อย่างไรก็ตามการทำกาแฟให้ถึงระดับนั้นได้ก็ไม่ใช่กับเกษตรกรทุกรายที่จะสามารถทำได้ สภาพอากาศก็ส่วนหนึ่ง คุณภาพดินก็ส่วนหนึ่ง แต่ปัญหาหลักที่มักจะพบเจอกับทุกที่คือเกษตรกรเองยังขาดความรู้ในเรื่องของการทำโพรเซสและการทำการตลาด น้อยมากที่เราจะเห็นเกษตรกรทำทุกอย่างครบหมดภายในคน ๆ เดียว อย่างมากก็แค่ปลูก ดูแล และเก็บเกี่ยวผลผลิตเท่านั้น นี่เป็นภาพที่เรามักจะสังเกตได้เกือบทุกที่รวมถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยเกษตรกรจะไม่มีทางนำเสนอกาแฟได้เลยถ้าไม่มีคนช่วยเหลือ หรือคนที่มีความรู้ด้านกาแฟไม่เข้าไปหาพวกเขา ดังนั้นคาเฟ่จึงกลายเป็นตลาดให้เกษตรกรได้นำเสนอสินค้าของตัวเอง มาถึงตรงนี้ การพัฒนาอาจจะไม่ใช่แค่เรื่องของเกษตรกรอีกต่อไป เพราะทุกส่วนต่างมีส่วนเกี่ยวข้องเหมือนกันหมดตั้งแต่คาเฟ่หรือโรงคั่วที่จะต้องสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรได้ ส่วนเกษตรกรก็ต้องมีวัตถุดิบคุณภาพมาแลกเปลี่ยนกับพื้นที่นำเสนอสินค้า รวมถึง Q Grader ที่เริ่มมีคนจากที่นี่ไปสอบมากขึ้น แต่ยังขาดเวทีในการแสดงความสามารถของพวกเรา สมาคมก็ถูกใช้เป็นเวทีให้สำหรับผู้ที่มีความรู้ เหล่าผู้เชี่ยวชาญได้ถ่ายทอดศักยภาพที่พวกเขามีให้กับผู้สนใจไม่ว่าจะผู้ประกอบการหรือเกษตรกรทั้งหมดกลายเป็นภาพของการเกื้อกูลกันที่นำไปสู่การพัฒนารากฐานเศรษฐกิจกาแฟในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้


เมื่อกาแฟจากสามจังหวัดเดินทางถึงจุดหนึ่งแล้ว คุณบัลก็เล่าถึงความตั้งใจและเป้าหมายระยะยาวในอีก 2 – 3 ปีข้างหน้าที่จะนำกาแฟของสามจังหวัดสู่ตลาดโลกให้ได้ เริ่มต้นจากเส้นทางในมลายูสู่ตะวันออกกลาง หากเราพิจารณาจะมองเห็นถึงความเป็นไปได้อย่างมากที่มันจะเกิดขึ้นจริง เนื่องจากวัฒนธรรมที่คล้าย ๆ กัน ไม่ว่าจะภาษาที่พูดมลายูอยู่แล้ว ศาสนาที่นับถืออิสลามเหมือนกัน และเรื่องวัฒนธรรมการดื่มกาแฟที่มีเหมือน ๆ กัน จึงมีความเป็นไปได้ที่จะนำกาแฟของที่นี่เข้าสู่เส้นทางนี้หากสามารถสร้าง Product ที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดได้จริง ๆ


“ตลาดกลุ่มนี้เขาก็จะปลูกกาแฟกันเยอะมาก มากกว่าเมืองไทยด้วยซ้ำครับ แล้วก็ตัวโรบัสตาก็เป็นตัวที่น่าสนใจ ผมเคยอยู่โรงคั่วที่กระบี่ แล้วก็มีนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มา เขาก็ประทับใจกับโรบัสตามาก ด้วยความเข้มข้นแล้วก็บอดี้ที่หนัก” ต่อจากนี้เราคงต้องติดตามกันต่อไปถึงแนวโน้มความเติบโตของกาแฟภาคใต้ โดยเฉพาะกับแหล่งปลูกในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ที่ได้มีการส่งเสริมเกษตรกรให้มีความรู้ความสามารถและทักษะที่จำเป็นต่อการปลูกกาแฟ รวมไปถึงกลุ่มผู้ประกอบการที่มีส่วนร่วมอย่างมากในการผลักดันให้กาแฟของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับภูมิภาคไปจนถึงระดับโลก ซึ่งเราเชื่อว่าสมาคาสามารถทำให้มันต้องเกิดขึ้นจริงแน่นอนในเร็ววัน



" เมื่อกาแฟจากสามจังหวัดเดินทางถึงจุดหนึ่งแล้ว คุณบัลก็เล่าถึงความตั้งใจและเป้าหมายระยะยาว ในอีก 2 – 3 ปีข้างหน้า ที่จะนำกาแฟของสามจังหวัดสู่ตลาดโลกให้ได้ เริ่มต้นจากเส้นทางในมลายูสู่ตะวันออกกลาง "

 

Coffee Traveler


เป็นนิตยสารรายสองเดือน ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ


และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ


- - -


สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX Facebook Coffee Traveler



Youtube : Coffee Traveler



326 views0 comments
bottom of page