top of page

เกษตรกรกาแฟอินเดีย ฟื้นตัวอย่างไรหลังจากพายุถล่ม



" ประเทศอินเดียมีพื้นที่กว่า 471,000 เฮกตาร์สำหรับใช้ปลูกกาแฟในประเทศทั้งสายพันธุ์อาราบิกาและโรบัสตา โดยมีสัดส่วนประมาณ 70% ของประเทศ "


ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงตลอดทั้งปีจะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ทำให้เกษตรกรกาแฟทั่วโลกต่างตั้งตารอรับมือกับผลกระทบ แต่เมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้วก็อดที่จะปล่อยวางกับความเสียหายเหล่านั้นได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่ากาแฟกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นทุกปี รวมถึงความต้องการที่มากกว่ากำลังการผลิตทั่วโลก จึงทำให้ปัญหาในเรื่องของสภาพอากาศยังคงน่ากังวลใจไม่น้อย โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวกาแฟ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของรายได้ในแต่ละปีเลยก็ว่าได้ แม้ว่าจะไม่สามารถหลีกหนีปัญหาจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ แต่เกษตรกรหรือผู้ผลิตกาแฟก็สามารถหาวิธีรับมือ หรือค่อย ๆ กลับมาฟื้นตัวได้ เช่นเดียวกันกับเกษตรกรกรกาแฟในประเทศอินเดียที่เราจะขอนำมาเป็นตัวอย่างของการเตรียมความพร้อม ประกอบกับให้เห็นภาพของการกลับมาฟื้นตัวหลังจากประสบปัญหาพายุไซโคลนถล่มหนักในช่วงฤดูการเก็บเกี่ยวของผลผลิตปี 2565/66


ตามสถิติจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture) การผลิตกาแฟของอินเดียในปี 2065/66 จะเพิ่มขึ้น 3.8% ซึ่งประเทศอินเดียมีพื้นที่กว่า 471,000 เฮกตาร์สำหรับใช้ปลูกกาแฟในประเทศทั้งสายพันธุ์อาราบิกาและโรบัสตา โดยมีสัดส่วนประมาณ 70% ของประเทศตามแนวชายฝั่งตะวันออกและคาบสมุทรทางตอนใต้ อีกทั้งยังมีเกษตรกรรายย่อยที่เป็นเจ้าของที่ดินแปลงขนาดเล็กมากถึง 98% เลยทีเดียว โดยมีพื้นที่ปลูกกาแฟที่ใหญ่ที่สุด 3 แห่ง ได้แก่ รัฐคาร์นาตากา (Karnataka), เกรละ (Kerala), และ ทมิฬนาดู (Tamil Nadu) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ทั้งหมด ทำให้อินเดียได้รับตำแหน่งผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่อันดับที่ 7 ของโลกไปได้อย่างไม่ต้องสงสัย


ตามรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ (United Nations’ latest Intergovernmental Panel on Climate Change) กล่าวว่า อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่เปราะบางต่อสภาพอากาศมากที่สุดในโลก อาจด้วยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ จึงทำให้อินเดียมีแนวโน้มที่จะพบเจอกับสภาพอากาศที่แปรปรวนและรุนแรงอยู่เสมอ โดยเฉพาะพายุไซโคลน (Cyclone : พายุที่เกิดในมหาสมุทรอินเดีย) ซึ่งเกิดจากความดันอากาศของสองบริเวณมีความต่างกันค่อนข้างมาก ทำให้อากาศเคลื่อนที่จากบริเวณที่มีความดันอากาศสูงไปยังบริเวณที่มีความดันอากาศต่ำกว่า ในลักษณะหมุนเข้าสู่ศูนย์กลางซึ่งทำให้เกิดลมแรงและฝนตกหนัก ซึ่งในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2565 พายุไซโคลน Mandous ได้พัดถล่มรัฐทมิฬนาดูทางตอนเหนือ ส่งผลให้ในช่วงกลางเดือนบริเวณพื้นที่ปลูกกาแฟทางตอนใต้ของอินเดียได้รับปริมาณน้ำฝนจำนวนมากในระยะเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์



" ผลกระทบจากพายุไซโคลน Mandous ส่งผลให้เชอร์รีกาแฟหล่นจากต้นและบางส่วนที่ยังติดอยู่ก็แตกออกจำนวนมาก "


ผลกระทบจากพายุไซโคลน Mandous ส่งผลให้เชอร์รีกาแฟหล่นจากต้นและบางส่วนที่ยังติดอยู่ก็แตกออกจำนวนมาก เนื่องจากความชื้นสูงและปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้การที่ในพื้นที่มีความชื้นสูงยังส่งผลให้เกิดการเร่งกระบวนการสุกของผลเชอร์รีกาแฟ ทำให้เชอร์รีกาแฟประมาณ 30% สุกเร็วกว่ากำหนด แน่นอนว่าระยะเวลาการสุกที่สั้นลงย่อมหมายความว่าเชอร์รีจะดูดซับสารอาหาร และการพัฒนาน้ำตาลในผลเชอร์รีก็จะน้อยลงตามไปด้วยเช่นกัน อีกทั้งเมื่อพายุผ่านพ้นไปแล้ว ผลเชอร์รีที่อยู่บนต้นก็จะเริ่มแห้งอีกด้วย นอกจากนี้ผลเชอร์รีจำนวนมากที่หล่นลงพื้นก็เป็นสาเหตุของการทำให้ราและศัตรูพืชเจริญเติบโต เกษตรกรจึงจำเป็นที่จะต้องเก็บเชอร์รีที่หล่นโดยเร็วที่สุด ทำให้เพิ่มต้นทุนด้านแรงงานขึ้นกว่า 5 เท่า จากการจ้างคนเก็บเพิ่ม ประกอบกับผลเชอร์รีที่โดนปริมาณน้ำฝนทำให้ลูกมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ดังนั้นการเก็บผลเชอร์รี 1 กิโลกรัม จึงต้องจ่ายเงินมากขึ้นในขณะที่ได้จำนวนผลผลิตลดลง พายุไซโคลนจึงเป็นตัวการที่สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ปลูกกาแฟในอินเดียอย่างมหาศาลเลยทีเดียว


ปัญหาดังกล่าวจึงทำให้เกษตรกรหรือผู้ผลิตกาแฟประเทศอินเดียหาวิธีรับมืออย่างสุดความสามารถในหลาย ๆ วิธี เช่น การใช้พัดลมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพื่อให้เชอร์รีกาแฟแห้ง และจ้างคนงานมากขึ้นเพื่อให้คนงานในไร่สามารถกระจายหรือผลิกกลับกาแฟได้อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้กาแฟแห้งเร็วขึ้น แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคงหนีไม่พ้นเม็ดเงินที่เพิ่มสูงขึ้นสำหรับการจัดการกับผลเชอร์รีกาแฟที่เสียหาย แต่เพื่อให้ฤดูของการเก็บเกี่ยวและการแปรรูปผ่านพ้นไปได้อย่างดีที่สุด จึงเป็นสิ่งที่ต้องแลกกันคนละครึ่งทางดีกว่าปล่อยให้กาแฟเน่าเสียจนไม่สามารถเรียกมูลค่ากลับคืนมาได้


อย่างไรก็ตามเนื่องจากกาแฟอินเดียส่วนใหญ่ปลูกใต้ร่มเงาไม้ ต้นไม้จึงเปรียบเสมือนหลังคาที่ช่วยปกป้องจากลมกรรโชกแรงและฝนตกหนัก รวมถึงลดการพังทลายของหน้าดิน ซึ่งทำให้สวนของเกษตรกรไม่เสียหายมากไปกว่าที่ผลเชอร์รีร่วงหล่นหรือเมล็ดแตก และการสุกก่อนระยะเวลาปกติ ดังนั้นเกษตรกรกาแฟในอินเดียจึงเตรียมการรับมือกับพายุไซโคลนหรือสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงทุกปีอย่างสุดกำลัง พร้อมหันมาปลูกกาแฟแบบใต้ร่มเงา หรือ Shade Grown Coffee กันมากขึ้น รวมถึงองค์กรกาแฟต่าง ๆ เช่น World Coffee Research ยังให้การสนับสนุนในการพัฒนาสายพันธุ์กาแฟ เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมของประเทศอินเดียอีกด้วย แน่นอนว่าประเทศอินเดียและทุกประเทศที่ผลิตกาแฟทั่วโลกไม่สามารถแก้ไขความเสียหายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ แต่ต้องไม่ลืมว่าเราสามารถเตรียมการรับมือ และพัฒนาวิธีการแก้ไขปัญหาหลังจากได้รับผลกระทบได้เช่นกัน ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้อุตสาหกรรมกาแฟสามารถก้าวไปข้างหน้าได้โดยไม่ติดหล่มคำว่า “สภาพอากาศ”



" World Coffee Research ยังให้การสนับสนุนในการพัฒนาสายพันธุ์กาแฟ เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมของประเทศอินเดีย "

 

แหล่งที่มา : https://bit.ly/43IFxVC


- -


Coffee Traveler

เป็นนิตยสารรายสองเดือน ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ

และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ

- - -

สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX Facebook Coffee Traveler

Youtube : Coffee Traveler

19 views0 comments
bottom of page