top of page
Writer's picturecoffeetravelermag

บ้านห้วยตองก๊อ (Huay Tong Kor)



" ชุมชนห้วยตองก๊อจึงเริ่มคิดหาแนวทางการสื่อสารให้ผู้คนภายนอก ได้เข้าใจถึงวิถีชีวิต

รวมถึงวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง "


หมู่บ้านห้วยตองก๊อ ตั้งอยู่ที่ตำบลห้วยปูลิง อำเภอเมือง จังหวังแม่ฮ่องสอน เหตุที่พื้นที่นี้ถูกเรียกว่า “บ้านห้วยตองก๊อ” เพราะในพื้นที่มีไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกว่า “ต้นตองก๊อ” ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านในพื้นที่จึงนำต้นตองก๊อมาใช้ประโยชน์ในหลากหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น ใช้สร้างบ้าน ใช้ผลของต้นย้อมผ้า หยวกของต้นตองก๊อก็สามารถนำมารับประทานได้ แม้ว่าจะได้ชื่อว่าตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง แต่บ้านห้วยตองก๊อนั้น อยู่ห่างจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนกว่า 4 ชั่วโมง เพราะถนนเข้าไปยังเป็นดินลูกรัง ทำให้การเข้า – ออก พื้นที่บ้านห้วยตองก๊อนั้นต้องใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าจะถึงตัวชุมชน หากดูจากพื้นที่รอบ ๆ ที่ล้อมไปด้วยป่า ถือว่าเป็นชุมชนที่ไม่ใหญ่มากนัก และมีความสันโดด เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของพี่น้องชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ โดยพี่น้องปกาเกอะญอเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณห้วยตองก๊อเป็นเวลากว่า 250 ปี และเมื่อราว ๆ ประมาณ 40 ปีที่ผ่านมานี่เอง ภาครัฐฯ ได้เข้ามาจัดตั้งให้เป็นการปกครองแบบท้องที่ โดยให้มีผู้ใหญ่บ้านดูแล เพื่อให้มีความเป็นชุมชนมากยิ่งขึ้น จึงทำให้พี่น้องปกาเกอะญอที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ห้วยตองก๊อนั้นกลายเป็นชุมชนส่วนหนึ่งของตำบลห้วยปูลิง และไม่สามารถย้ายถิ่นฐานได้ตามวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอแบบเดิมได้



" บ้านห้วยตองก๊อเองก็ได้ต่อยอดโดยการรื้อฟื้นวิถีชีวิตดั่งเดิมอย่างการทอผ้า ย้อมผ้า การตีมีด

และการเกษตรอื่น ๆ ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง "


ชุมชนบ้านห้วยตองก๊อมีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 25 ครัวเรือน ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาและทำไร่ การทอผ้าก็ถือเป็นอาชีพเสริมที่ได้วิชาส่งต่อมาจากผู้เฒ่าผู้แก่ เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว หน่วยงานภาครัฐฯ ร่วมมือกันระหว่างไทยและเยอรมัน ได้เข้ามาส่งเสริมในเรื่องของการพัฒนาพื้นที่ในแถบหมู่บ้านที่อยู่ในตำบลห้วยปูลิง โดยมีเป้าหมายหลักคือการปราบปรามยาเสพติด เพราะในสมัยนั้นชุมชนบ้านห้วยตองก๊อมีผู้ติดยาเสพติดค่อนข้างมาก ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวได้เข้ามาร่วมส่งเสริมชุมชนเป็นระยะเวลานานกว่า 7 ปี พร้อมทั้งปูรากฐานให้ชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่ตำบลห้วยปูลิงให้สามารถต่อยอดพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชมชุมด้วยการส่งเสริมทั้งภาควิชาการ การเกษตร การปลูกพืชเศรษฐกิจต่าง ๆ ให้ชุมชนมีความพร้อมและสามารถพึ่งพาตนเองได้


ชุมชนห้วยตองก๊อจึงเริ่มคิดหาแนวทางการสื่อสารให้ผู้คนภายนอก ได้เข้าใจถึงวิถีชีวิต รวมถึงวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง รวมถึงชุมชนยังมีความรู้ ภูมิปัญญา ทั้งการทอผ้า การตีมีด และแนวคิดในการอนุรักษ์และปกป้องพื้นที่ป่าอีกด้วย จึงเกิดเป็นแนวคิดในการสร้างการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อดึงให้ผู้คนเข้ามาที่ชุมชนและได้สัมผัสวิถีชีวิตของชาวบ้าน เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชน พร้อมทั้งสามารถสื่อสารสร้างความเข้าใจที่มากขึ้นให้แก่ผู้คนภายนอก และเผยแพร่วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาติพันธุ์ปกาเกอะญอให้กับคนรุ่นหลังเพื่อไม่ให้จางหายไปจากชุมชน


ปัจจุบันชุมชนบ้านห้วยตองก๊อได้รับการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวทั้งจากภาครัฐฯ อย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่เข้ามาช่วยเหลือชุมชนในด้านการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในชุมชนบ้านห้วยตองก๊อ ซึ่งภายหลังเองชุมชนบ้านห้วยตองก๊อเองก็ได้ต่อยอดโดยการรื้อฟื้นวิถีชีวิตดั่งเดิมอย่างการทอผ้า ย้อมผ้า การตีมีด และการเกษตรอื่น ๆ ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง พร้อมทั้งส่งเสริม พัฒนา ให้วิถีชีวิตดั้งเดิมเหล่านี้ ให้สามารถคงอยู่ต่อไปในวันข้างหน้าได้ และยังสามารถส่งต่อไปยังคนรุ่นหลังต่อไปได้อีกด้วย โดยการท่องเที่ยวชุมชนบ้านตองก๊อนั้น จะเน้นเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเชิงวัฒนธรรม เนื่องจากหลายพื้นที่ ๆ ทำโฮมสเตย์ มักจะประสบปัญหาค่อนข้างมากโดยเฉพาะการจัดการขยะที่เกิดขึ้นจากนักท่องเที่ยว ซึ่งตัวชุมชนเองมองว่าการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จะเป็นการสืบสานเจตนารมณ์ให้กับคนรุ่นหลังในชุมชนได้เข้าใจเกี่ยวกับแนวคิด การพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนและยังเปิดโอกาสให้เยาวชนมีส่วนในการร่วมกันพัฒนาต่อยอดชุมชนให้ก้าวหน้าต่อไป พร้อมกับการรักษาป่าของชุมชนได้อีกด้วย



" การที่จะพัฒนากาแฟของชุมชนห้วยตองก๊อนั้น จะต้องให้ความสำคัญกับการแปรรูปกาแฟ

เรามีโอกาสได้เข้าไปเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟ และนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์กับประสบการณ์ด้านกาแฟของตัวเอง "


ในส่วนของกาแฟนั้น ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา ที่นำกาแฟเข้ามายังพื้นที่บ้านห้วยตองก๊อ แต่ด้วยให้ความรู้ของชาวบ้านมีน้อยในเรื่องนี้ ประกอบกับในสมัยนั้น ตลาดกาแฟในประเทศไทยยังไม่เติบโตเท่าปัจจุบัน เกษตรกรที่ชุมชนห้วยตองก๊อจึงไม่ได้สนใจปลูกกาแฟกันอย่างจริงจัง จึงทำให้มีเกษตรกรน้อยรายที่ปลูกกาแฟ แต่ในปัจจุบัน ชุมชนบ้านตองก๊อเริ่มหันมาปลูกอีกครั้ง จากความร่วมมือของคนรุ่นใหม่ในชุมชนและคนรุ่นเก่าที่บุกเบิกการพัฒนาชุมชนมาอย่างยาวนาน มีความเห็นพ้องร่วมกันว่ากาแฟนั้นเป็นเกษตรเชิงยั่งยืน ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้และยังเป็นการทำเกษตรเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติตามความต้องการของชุมชนเอง


เรามีโอกาสพูดคุยกับพะตี่ (ทินกร เล่อกา) หรือภาษาปกาเกอะญอแปลว่า “ลุง” พะตี่เป็นหนึ่งในผู้นำชุมชนและเกษตรกรผู้ฟื้นคืนชีพกาแฟของชุมชนให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง


“กาแฟได้เข้ามาที่บ้านห้วยตองก๊อมากว่า 40 ปีแล้ว แต่ที่ผ่านมาคนในชุมชนยังไม่ได้รับความรู้ในเรื่องของกาแฟมากนัก ทำให้พี่น้องเกษตรกรหลายคนไม่ได้สนใจในการปลูกกาแฟเท่าที่ควร กาแฟในชุมชนห้วยตองก๊อจึงไม่ได้เป็นพืชที่เกษตรกรในพื้นที่ปลูกกันอย่างจริงจัง และเมื่อประมาณปี 2548 ชุมชนที่อยู่ข้างเคียง เริ่มหันมาปลูกกาแฟกันเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ ขณะนั้นชุมชนห้วยตองก๊อยังมองว่า การปลูกกาแฟต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในเรื่องของกาแฟ ไม่อย่างนั้นผลประโยชน์อาจตกไปอยู่กับกลุ่มนายทุนหรือพ่อค้าคนกลางแทนชาวบ้านในชุมชนได้ และเมื่อสองปีที่แล้วได้มีโอกาสพูดคุยกับกลุ่มชุมชน ซึ่งมีทั้งคนรุ่นเราและเด็กรุ่นใหม่ที่ได้ไปศึกษาเรียนอยู่ในเมือง จึงเริ่มพูดคุยถึงแนวทางในการพัฒนากาแฟในชุมชนห้วยตองก๊อ จึงเป็นจุดเริ่มทำให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ที่ชัดเจนขึ้น โดยได้ผลสรุปออกมาว่า การที่จะพัฒนากาแฟของชุมชนห้วยตองก๊อนั้น จะต้องให้ความสำคัญกับการแปรรูปกาแฟ เรามีโอกาสได้เข้าไปเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟ และนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์กับประสบการณ์ด้านกาแฟของตัวเอง เราจึงตระหนักและเห็นถึงแนวทางในการส่งเสริมการทำกาแฟในชุมชน ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องเน้นไปในเรื่องของปริมาณ แต่จะต้องเน้นในเรื่องของคุณภาพมากกว่า โดยที่ราคาของผลผลิตที่ได้นั้น จะต้องสมดุลกับคุณภาพของกาแฟที่ชุมชนทำ”



" การที่จะเดินทางมายังชุมชนห้วยตองก๊อ ไม่ได้มีหนทางที่สัญจรสะดวก ยิ่งในสมัยก่อน การจะนำเข้าต้นกาแฟนั้นจะต้องเดินตามลำน้ำเพื่อออกไปยังพื้นที่ตัวเมืองแม่ฮ่องสอน จึงไม่ได้มีกลุ่มพัฒนาหรือหน่วยงานเข้ามาให้ความรู้ชาวบ้านมากนัก "


พะตี่ไม่เพียงแค่ทดลองปลูกกาแฟเท่านั้น แต่ยังตามหาความรู้ในเรื่องการเข้าถึงตลาดกาแฟ รวมถึงความรู้ในการเพาะปลูกตามชุมชนอื่น ๆ ที่ปลูกกาแฟคุณภาพสูง และนำความรู้ที่ได้มากลับมาวิเคราะห์ถึงความคุ้มค่าที่ชุมชนจะได้รับเรียกได้ว่าเป็นผู้ที่อุทิตตนให้แก่ชุมชนอย่างแท้จริง


“การที่จะเดินทางมายังชุมชนห้วยตองก๊อ ไม่ได้มีหนทางที่สัญจรสะดวก ยิ่งในสมัยก่อน การจะนำเข้าต้นกาแฟนั้นจะต้องเดินตามลำน้ำเพื่อออกไปยังพื้นที่ตัวเมืองแม่ฮ่องสอน จึงไม่ได้มีกลุ่มพัฒนาหรือหน่วยงานเข้ามาให้ความรู้ชาวบ้านมากนัก นอกจากศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา ที่เข้ามาเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ที่นำต้นกาแฟเข้ามา ดังนั้นชุมชนนี้จึงต้องหาความรู้ด้วยตนเอง เพื่อความก้าวหน้าของชุมชน”

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในชุมชนบ้านห้วยตองก๊อยังมีจำนวนไม่มาก แต่การเริ่มต้นของคนรุ่นเก่าและเด็กรุ่นใหม่ที่ร่วมด้วยช่วยกัน ก็ทำให้ชาวบ้านเริ่มหันมาปลูกกาแฟมากขึ้น รวมถึงยังให้ความสำคัญกับการแปรรูป ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับกาแฟได้สูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันบ้านห้วยตองก๊อแปรรูปแบบแห้งหรือ Dry Process เพียงอย่างเดียว เพราะชุมชนยังไม่มีเครื่องสีกาแฟเพราะไม่มีไฟฟ้า


นับเป็นความน่ายินดีอย่างยิ่งที่คนในชุมชนให้ความสำคัญต่อการสืบสานเจตนารมณ์ต่อไปให้แก่คนรุ่นใหม่ เราจึงได้เห็นถึงการร่วมมือกันระหว่างคนในชุมชนทั้งคนรุ่นเก่าที่เป็นผู้ริเริ่มและถ่ายทอดองค์ความรู้ รวมถึงแนวทางมายังคนรุ่นใหม่ให้สามารถสานต่อและพัฒนาสิ่งที่คนรุ่นเก่าได้สร้างไว้ ซึ่งทางชุมชนก็ต่างเห็นว่าเมื่อได้พลังจากคนรุ่นใหม่ที่ได้มีโอกาสไปเรียนในเมืองและกลับมาช่วยพัฒนาชุมชนนั้น จะทำให้ชุมชนเกิดความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้ในหลายส่วน ที่เห็นได้ชัดก็คือในเรื่องของการท่องเที่ยว ที่มีการจัดการที่ดีขึ้น มีการนำความรู้ใหม่ ๆ เข้ามาให้เกิดการพัฒนาในเชิงธุรกิจทำให้ชุมชนห้วยตองก๊อเป็นที่รู้จักในสังคมที่กว้างขึ้น และสามารถดึงเอานักท่องเที่ยวที่สนใจในธรรมชาติเข้ามาท่องเที่ยวในชุมชนได้มากขึ้น รวมไปถึงยังมีส่วนสำคัญในการเป็นผู้นำร่องในการพัฒนาการปลูกกาแฟ พร้อมทั้งความรู้ในด้านการแปรรูปจนสามารถทำให้กาแฟของชุมชน

ห้วยตองก๊อนั้นมีคุณภาพที่ดีขึ้นได้



" ชุมชนจะต้องเริ่มพัฒนาระบบการจัดการในชุมชนโดยใช้เทคโนโลยีหรือโซเชียลมีเดียเข้ามาช่วย เพื่อให้สอดคล้องและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ชุมชนจึงจะสามารอยู่ต่อไปได้ในอนาคต "


“เราคลุกคลีอยู่กับพ่อและลุงมาตั้งแต่ยังเด็ก จึงได้เห็นถึงความพยายามในการพัฒนาชุมชนห้วยตองก๊อตลอดมา เห็นการพัฒนาในหลาย ๆ ส่วน เช่น เรื่องท่องเที่ยวหรือการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ผ้าทอ และยังมีโอกาสกลับมาช่วยงานที่ชุมชน แต่ว่าเริ่มแรกไม่ได้เป็นตัวหลักในการพัฒนา เรามาคอยช่วยเหลือส่งเสริมชุมชนเล็ก ๆ น้อย ๆ หลังจากเราไปเรียนในเมือง ก็เริ่มมองเห็นว่าปัจจุบันโลกพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ทั้งเทคโนโลยีหรือโลกอินเทอร์เน็ตที่เข้ามามีบทบาทกับสังคมโลกมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นจึงเห็นว่าทางชุมชนจะต้องเริ่มพัฒนาระบบการจัดการในชุมชนโดยใช้เทคโนโลยีหรือโซเชียลมีเดียเข้ามาช่วย เพื่อให้สอดคล้องและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ชุมชนจึงจะสามารถอยู่ต่อไปได้ในอนาคต การกลับมาพัฒนาชุมชนครั้งนี้ จึงเป็นการต่อยอดในสิ่งที่คนรุ่นเก่าในชุมชนได้ร่วมกันสร้างขึ้นมา ตอนนี้เราได้ทำในส่วนของการพัฒนาชุมชน อยู่ช่วยเหลือดูระบบการจัดการของชุมชน”


พ่ะฉู่ (กิตติพันธ์ กอแก้ว) เล่าวิธีคิดในฐานะเป็นคนของชุมชน เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีหัวใจในการพัฒนา พ่ะฉู่เป็นเด็กรุ่นใหม่ของบ้านห้วยตองก๊อที่กลับมาคอยช่วยพัฒนากาแฟ รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน


ปัจจุบันพ่ะฉู่ถือได้ว่าเป็นกำลังหลักในการดูแลเรื่องเกี่ยวกับงานออนไลน์ รับหน้าที่ในการดูแลเพจของชุมชน โปรโมตผลิตภัณฑ์ และทำหน้าที่ติดต่อประสานงานระหว่างเครือข่ายหน่วยงานต่าง ๆ กับชุมชน ที่สำคัญคือได้กลับมาพัฒนาชุมชนในเรื่องของกาแฟ ซึ่งในปัจจุบันยังอยู่ในขั้นของการพัฒนาทดลองเพื่อหารสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของกาแฟห้วยตองก๊อ


“หากในอนาคตบ้านห้วยตองก๊อจะทำกาแฟในรูปแบบที่จริงจังมากขึ้น เกษตรกรในชุมชนจะต้องมีองค์ความรู้เกี่ยวกับกาแฟ ซึ่งย่อมดีกว่าการที่ปลูกกาแฟและขายไปแบบทั่ว ๆ ไปหากสามารถสร้างความเป็นมาตรฐานประกอบกับเกษตรกรมีองค์ความรู้ที่เพียงพอ ย่อมเป็นการทำให้กาแฟในชุมชนเกิดความยั่งยืน หลายคนอาจมองว่าเรื่องราวของกาแฟนั้นสามารถเพิ่มมูลค่าได้ แต่เรามองว่าเรื่องราวอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะทำให้กาแฟของห้วยตองก๊อเป็นที่ยอมรับของตลาดตลอดไปได้ แต่สิ่งที่จะทำให้กาแฟของห้วยตองก๊อเป็นที่ยอมรับว่าเป็นกาแฟที่มีศักยภาพ คือรสชาติความเป็นเอกลักษณ์ของกาแฟห้วยตองก๊อ ไม่เช่นนั้น กาแฟของห้วยตองก๊อจะไม่สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง”


เดิมทีพ่ะฉู่เป็นผู้ที่สนใจเกี่ยวกับกาแฟและเคยขายกาแฟมาก่อน จึงได้เห็นและเข้าใจในตลาดของผู้บริโภคกาแฟมาบ้างเป็นทุนเดิม ซึ่งพ่ะฉู่ก็ได้นำประสบการณ์จากการที่เคยขายกาแฟ กลับมาต่อยอดให้กับกาแฟในชุมชนโดยเริ่มจากการทดลองหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อหารสชาติที่เป็นของเอกลักษณ์ และวิธีการแปรรูปที่เหมาะสมกับกาแฟห้วยตองก๊อให้ได้มากที่สุด



“ตอนนี้เราก็เริ่มส่งเสริมให้ตัวชุมชนกลับมาปลูกกาแฟกันมากขึ้น เราเล็งเห็นแล้วว่า ตลาดของผู้บริโภคกาแฟในปัจจุบันนั้นพุ่งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด และที่สำคัญอย่างยิ่ง กาแฟยังเป็นหนึ่งในพืชที่สามารถรักษาระบบนิเวศป่าไม้ให้อยู่คู่กับชุมชนได้ และสามารถสร้างความยั่งยืนให้กับระบบนิเวศน์ได้อีกด้วย เพราะป่าถือเป็นเอกลักษณ์ที่ให้กลิ่นอายของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ เราเกิดและโตมากับป่าในชุมชน”


การกลับมาพัฒนากาแฟของพ่ะฉู่นั้น ไม่เพียงแค่ทำให้ชุมชนเห็นว่าการปลูกกาแฟเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์ป่าไม้เพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นความเข้าใจใหม่ในเรื่องของการแปรรูปกาแฟกับคนรุ่นเก่าในชุมชนที่เดิมทีปลูกกาแฟกันมาอย่างยาวนานแต่ไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องการแปรรูปให้ได้คุรภาพ สามารถสร้างมูลค่าของกาแฟให้เพิ่มขึ้นได้


ผลตอบรับของการเข้ามาพัฒนาส่งเสริมในด้านกาแฟของพ่ะฉู่ได้รับผลตอบรับที่ดีเป็นอย่างมากจากคนในชุมชน ชาวบ้านสนใจในกระบวนการการแปรรูปกาแฟเพิ่มมากขึ้น คนรุ่นราวคราวเดียวกับพะฉู่ยังสนใจไปถึงขั้นของการคั่วกาแฟอีกด้วย ปัจจุบันพ่ะฉู่ยังเสริมความรู้เรื่องการแปรรูปให้กับชุมชนทั้ง Wash Process , Honey Process และ Dry Process ซึ่งพ่ะฉู่เห็นว่าการแปรรูปขั้นพื้นฐานเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟได้ค่อนข้างมาก เพราะล้วนแล้วแต่เป็นพื้นฐานสำคัญของการทำกาแฟ นอกเหนือจากความต้องการที่จะพัฒนาชุมชน อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้พ่ะฉู่กลับมาทำในส่วนของกาแฟที่ชุมชนคือ พ่ะฉู่ต้องการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคกาแฟของคนในชุมชนห้วยตองก๊อ จากเดิมที่นิยมดื่มกาแฟซอง ให้ชาวบ้านหันกลับมาดื่มกาแฟสดที่ได้จากผลผลิตของชุมชนเองให้มากขึ้นอีกด้วย


การมาบ้านห้วยตองก๊อในครั้งนี้ ทำให้เราได้เห็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชุมชน ที่ร่วมกันพัฒนาบ้านเกิดของ

ตัวเองและการทำงานร่วมกันของคนต่างวัย ที่ล้วนต้องการให้เกิดการพัฒนาขึ้นให้ได้ในชุมชนห้วยตองก๊อ ให้เป็นชุมชนที่สามารถอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องยอมรับว่าไม่ง่ายนักที่จะได้เห็นคนรุ่นเก่าและเด็กรุ่นใหม่ทำงานร่วมกันได้อย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รวมถึงเข้าใจแนวทางในการที่จะพาตัวชุมชนก้าวไปข้างหน้า เพราะฉะนั้นความร่วมมือกันของทั้งสองรุ่น จึงทำให้การพัฒนาต่อยอดของบ้านห้วยตองก๊อให้เป็นชุมชนเข็มแข็ง ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของวิถีชีวิตและกาแฟจวบจนถึงปัจจุบัน


" สิ่งที่จะทำให้กาแฟของห้วยตองก๊อเป็นที่ยอมรับว่าเป็นกาแฟที่มีศักยภาพ คือรสชาติความเป็นเอกลักษณ์ของกาแฟห้วยตองก๊อ ไม่เช่นนั้น กาแฟของห้วยตองก๊อจะไม่สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง "

 

Coffee Traveler

เป็นนิตยสารรายสองเดือน ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ

และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ

- - -

สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX Facebook : Coffee Traveler

Instagram : coffeetraveler_magazine

Youtube : Coffee Traveler

Blockdit : I am Coffee Traveler / coffeetravelermag



517 views0 comments

Comments


bottom of page