"อาจารย์แพท คืออีกหนึ่งบุคลากรในวงการกาแฟที่ทำงานอยู่เบื้องหลังมาหลายปี เป็นนักวิชาการรุ่นใหม่ไฟแรง"
ดร. อภิชญา ลีลาวณิชกุล หรืออาจารย์แพท ถึงแม้ว่าจะอยู่ในแวดวงวิชาการไม่นานนัก แต่อาจารย์แพทก็สามารถก้าวมาอยู่ในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ได้ ซึ่งก็ถือว่าผู้หญิงคนนี้ไม่ธรรมดา มีงานทางวิชาการมากมายที่เกี่ยวกับการผลิตกาแฟ และจากทักษะในสายงานที่เชี่ยวชาญ เชื่อว่าในอนาคตไม่นานนัก อาจารย์แพทจะเป็นอีกหนึ่งคลังข้อมูล เป็นความหวังให้กับงานวิชาการด้านกาแฟ เพื่อช่วยให้ระบบการผลิตกาแฟ โดยเฉพาะเกษตรกรกาแฟไทย ได้มีข้อมูลในการพัฒนาการผลิตกาแฟของตัวเองได้อย่างแน่นอน
ดูเหมือนว่างานสอนเพียงอย่างเดียวจะยังไม่ท้าทายพอ จึงนำไปสู่บทบาทใหม่
คือการเป็นนักวิจัยนวัตกรรมด้านการเกษตรร่วมกับเกษตรกร
ผศ.ดร. อภิชญา ลีลาวณิชกุล หรืออาจารย์แพท คืออีกหนึ่งบุคลากรในวงการกาแฟที่ทำงานอยู่เบื้องหลังมาหลายปี เป็นนักวิชาการรุ่นใหม่ไฟแรง ที่มีบทบาทตั้งแต่เป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย มีงานวิจัยที่ร่วมพัฒนากับเกษตรกรไทยและวิสาหกิจชุมชน ด้วยประสบการณ์มากมายเช่นนี้ อาจทำให้หลายคนเกร็งเวลาเจอกับอาจารย์แพทครั้งแรก แต่หากได้คุยกันแล้ว จะพบว่าอาจารย์เป็นคนกันเอง ไม่ถือตัว และยินดีเล่าเรื่องราวของตัวเองให้เราฟัง ให้มุมมอง แนวคิด และประสบการณ์การการทำงานร่วมกับเกษตรกร ภาพรวมในโลกกาแฟ และความหวังที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับภาคการเกษตรของไทย
อาจารย์แพทเกิดและโตในกรุงเทพฯ อาจารย์บอกว่า ไม่ชอบความขมมาตั้งแต่เด็ก ชีวิตในวัยเด็กก็เหมือนกับเด็กทั่ว ๆ ไป มักทำอะไรด้วยความซน อาจารย์ชอบเรื่องของอาหาร และหลงใหลกับสิ่งนี้มากเป็นพิเศษ ชอบชิม ชอบตั้งคำถามถึงที่มาที่ไป และศึกษาเรื่องของอาหาร โดยเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์ หลังจบมัธยมปลาย จึงสอบเข้าเรียนที่เทคโนโลยีทางอาหาร จุฬาฯ เพื่อทำตามฝัน หลังเรียนจบ อาจารย์ก็ออกท่องโลกกว้างจนได้เติมคำนำหน้าชื่อว่าดอกเตอร์กลับมา และด้วยความที่มีโอกาสไปเป็นนักเรียนนอก ทำให้มุมมองในเรื่องของกาแฟเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง อาจารย์มองกาแฟอย่างเข้าใจมากขึ้น และมองกาแฟในหลายมิติมากขึ้น
“ตอนไปเรียนปริญญาโทและปริญญาเอกที่เมืองนอก เราเรียนด้านเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากรที่ประเทศแคนาดา เหมือนไปเริ่มใหม่ เราต้องปรับทุกอย่างให้เข้ากับวัฒนธรรมของเขา โดยเฉพาะการกินกาแฟ คนแคนาดานิยมกินกาแฟตั้งแต่เช้ายันค่ำ ต่างกับคนไทยที่ช่วงเย็นจะไม่กิน ที่นั่นมุมถนนคลาคล่ำไปด้วยร้านกาแฟ คับคั่งด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ เป็นวัฒนธรรมพื้นฐานที่ช่วยให้เราเข้ากับคนได้ง่าย เพราะสังคมกาแฟ เป็นสังคมที่ชอบจับกลุ่มพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ เราจึงต้องหัดกินกาแฟเข้าสังคมบ้าง (หัวเราะ) พอได้ดื่มจนเริ่มชิน ทำให้รู้สึกว่ารสชาติของกาแฟไม่ได้แย่ ก็เลยชื่นชอบและหลงใหลในรสชาติกาแฟนับแต่นั้นเป็นต้นมา”
หลังกลับมาทำงานที่เมืองไทยในฐานะอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดูเหมือนว่างานสอนเพียงอย่างเดียวจะยังไม่ท้าทายพอ จึงนำไปสู่บทบาทใหม่ คือการเป็นนักวิจัยนวัตกรรมด้านการเกษตรร่วมกับเกษตรกร มีผลงานทางวิชาการมากมาย
“ช่วงแรก ๆ ก็สอนนักศึกษาตามปกติทั่วไป เป็นผู้ร่วมวิจัยกับโครงการมาตลอด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมเกษตร เช่น มันสำปะหลัง ข้าว ผ้าไหม และบรรจุภัณฑ์อาหาร ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้ทำเรื่องของกาแฟ จนวันหนึ่งมีโอกาสเข้ามาร่วมทีมวิจัยกับโครงการของทางสหภาพยุโรป”
อาจารย์ได้รับการติดต่อมาจากยุโรป ให้ทำวิจัยเรื่อง ห่วงโซ่มูลค่ากาแฟดอยช้าง
เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ก้าวเข้าสู่บทบาทนักวิจัยด้านกาแฟ
ในตอนนั้นอาจารย์แพทก็ไม่คิดว่าจะได้รับมอบหมายงานใหญ่แบบนี้ ซึ่งก็นับเป็นครั้งแรกที่ทำให้อาจารย์ก้าวมาสู่งานวิจัยด้านกาแฟอย่างเต็มตัว บางเรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อน อาจารย์แพทบอกว่าก็มารู้ในงานนี้ เพราะโปรเจกต์ที่ทำนั้น ได้ทำงานกับชาวเขา สนุกและท้าทาย เป็นแนวที่ค่อนข้างลำบาก ยากต่อการสื่อสาร เพราะหลังลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลวิจัย ยิ่งทำให้อาจารย์สัมผัสกับการทำงานต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ของกลุ่มเกษตรกรดอยช้าง ทำให้รู้คุณค่าของกาแฟแต่ละแก้วที่ดื่ม
อาจารย์เล่าถึงโปรเจกต์ Sustainability of European Food Quality Schemes ที่อาจารย์ได้รับการติดต่อมาจากยุโรป ให้ทำวิจัยเรื่อง ห่วงโซ่มูลค่ากาแฟดอยช้าง เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และศึกษาผลกระทบของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ PGI ของสหภาพยุโรป และยังเชื่อมไปยังสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของไทยอีกด้วย
“พอได้ทำงานร่วมกับคนในพื้นที่ ก็ทำให้มีมุมมองที่เปลี่ยนไป ตอนอยู่เมืองนอก เราเห็นกาแฟแค่ปลายน้ำ รับรู้แค่นั้น แต่พอทำงานร่วมกับเกษตรกร คนในพื้นที่ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่มูลค่ากาแฟ มันเห็นกว้างขึ้น โดยเฉพาะปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในสังคมกาแฟไทย และคิดว่าต้องรีบหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนของโลกแบบนี้ นำไปสู่การมองหาเส้นทางห่วงโซ่มูลค่ากาแฟที่ยั่งยืน”
งานวิจัยกาแฟของอาจารย์ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความเข้าใจในสถานการณ์ของห่วงโซ่มูลค่ากาแฟ ความสำคัญของการยกระดับมาตรฐานของกาแฟไทย และพฤติกรรมคนดื่มกาแฟที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น
" การที่จะทำให้กาแฟยั่งยืนได้คือ ต้องทำให้กาแฟไทยเป็นที่ยอมรับจากคนทุกกลุ่ม "
ต้นน้ำยั่งยืน ปลายน้ำยืนเด่น
จากคนที่ไม่ชอบกาแฟเลย กลายเป็นคนที่ติดกาแฟ ทุกเช้าต้องดื่มกาแฟก่อนไปทำงาน หลงใหลในรสชาติของกาแฟอย่างถอนตัวไม่ขึ้น แน่นอนว่าเป้าหมายต่อไปของอาจารย์นั้น ไม่ใช่แค่การเป็นอาจารย์หรือนักวิจัยทั่วไปแน่นอน เพราะโจทย์ต่อไปที่ท้าทายให้เขาหาคำตอบอยู่นั้นก็คือ ทำอย่างไรให้กาแฟไทยเกิดความอย่างยั่งยืนได้
“การที่จะทำให้กาแฟยั่งยืนได้คือ ต้องทำให้กาแฟไทยเป็นที่ยอมรับจากคนทุกกลุ่ม เหมือนที่แคนาดา ทุกมุมถนนจะมีคนกินกาแฟตลอดเวลา ไม่สร้างค่านิยมแค่การกินในตอนเช้า แต่ทำให้คนไทยเข้าใจถึงคุณค่าและเอกลักษณ์ของกาแฟไทย สร้างการรับรู้กาแฟไทยผ่านวิถีชีวิต วัฒนธรรม และส่งผ่าน Soft Power ให้เข้าไปอยู่เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตของคนไทย โดยเฉลี่ยตอนนี้คนไทยเรากินกาแฟแค่คนละแก้วต่อวัน ยังถือว่าน้อย เมื่อเทียบกับในประเทศอื่น คนไทยควรกินกาแฟให้มากกว่านี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้มีแรงขับเคลื่อนในวงการกาแฟไทย
ปัจจุบันคนกำลังพูดถึงความยั่งยืน สองปัญหาใหญ่เลยก็คือ ขาดแคลนอาหารและประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ประชาคมโลกกำลังหาทางแก้ไข และเมื่อย้อนกลับไปดูข้อมูลจะพบว่า ทุกพื้นที่ต้องการตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นให้เพียงพอ เกิดเป็นรูปแบบการทำเกษตรเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งมีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการ เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิต ใช้ปุ๋ย ใช้ยา แต่การทำเกษตรแบบนี้ มีผลต่อให้โลกเติบโตเร็วเกินไป ส่งผลกระทบต่อสมดุลระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม เกิดการเปลี่ยนแปลง เห็นได้จาก Climate Change หรือภาวะอุณหภูมิโลกที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรทุกประเภทบนโลกได้รับผลกระทบ พืชที่ได้รับผลไม่แพ้ชนิดอื่นก็คือกาแฟ จะเห็นได้จากปริมาณผลผลิตกาแฟและคุณภาพกาแฟที่ลดลง ทำให้ความไม่แน่นอนของทั้งเรื่องต้นทุนและราคากาแฟ และยังกระทบไปถึงความเป็นอยู่ของเกษตรกร ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อห่วงโซ่มูลค่ากาแฟไทย ดังนั้น เราต้องหันมามองหาความยั่งยืนกัน”
เมื่อมีคนได้ประโยชน์ ก็ต้องมีคนเสียประโยชน์ ต้นน้ำเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญของจุดเริ่มต้นทั้งหมด ถ้าไม่มีต้นน้ำ ก็ไม่มีกลางน้ำและปลายน้ำ อาจารย์บอกว่า ถ้าเรามองภาพของกาแฟหรือผลผลิตทางการเกษตรอื่น ต้นน้ำมีความสำคัญมาก แล้วคนที่จะสามารถสร้างผลผลิตป้อนเข้าสู่การบริโภคได้คนแรกก็คือเกษตรกร และทางรอดสำหรับเกษตรกรไทยก็คือ ต้องสามารถสร้างความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดี และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของแต่ละท้องถิ่นขึ้นมาให้ได้ การเพิ่มคุณภาพสินค้า การเพิ่มประสิทธิภาพก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง และต้องไม่ลืมเกษตรกรรายเล็กรายน้อย สร้างความแตกต่างในผลิตภัณฑ์ และไม่จำเป็นต้องลงทุนสูง แค่หาเอกลักษณ์กาแฟให้เจอ ทั้งรสชาติ กลิ่น ก็ช่วยในเรื่องความยั่งยืนได้ ซึ่งความพิเศษของกาแฟถือเป็นศาสตร์และศิลป์ ตั้งแต่ปลูกถึงแก้วกาแฟ ในการสรรสร้างคุณค่าและประสบการณ์ของกาแฟ
แล้วความยั่งยืนในกาแฟไทย ควรเป็นไปแบบไหน ซึ่งอาจารย์ให้แนวคิดว่า ให้ดูตัวอย่างจากกาแฟดอยช้าง แนวทางการสร้างเอกลักษณ์จะสามารถตอบโจทย์เราได้ โดยการใช้ความพิเศษเฉพาะเจาะจง ความแตกต่างของพื้นที่ปลูก ที่ช่วยให้เกิดความเฉพาะของกลิ่นรสกาแฟ ดันให้เป็นตราบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
“สิ่งสำคัญเลยก็คือ ถ้าพื้นที่ไหนมีความจำเพาะเจาะจงหรือมีเอกลักษณ์ กาแฟแต่ละแหล่งปลูกให้กลิ่นและรสไม่เหมือนกัน แค่การแปรรูปอย่างการบ่มกาแฟ การคั่วกาแฟ ก็ให้กลิ่น ให้รสชาติ ไม่เหมือนกันแล้ว สามารถขอยื่นจดขึ้นทะเบียนได้ การมีพื้นที่ที่จำกัด ทำให้มีการจำกัดซัพพลายให้กับผู้บริโภค ตามขีดความสามารถของแหล่งปลูก และไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้ปลูกเจ้าใดเจ้าหนึ่งเท่านั้น เกษตรกรที่ปลูกตามรายละเอียดของการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในพื้นที่นั้น ก็สามารถใช้การขึ้นทะเบียนร่วมกันได้ ถือเป็นการแชร์คุณค่าร่วมกันของคนในพื้นที่ หากคนในพื้นที่ไม่ร่วมมือกัน คุณค่าของกาแฟในพื้นที่นั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้ จึงถือเป็นโอกาสของเกษตรกร และเป็นทางเลือกในการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกทางหนึ่ง
ดังนั้นการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เป็นเครื่องมือที่เกษตรกรควรใช้ประโยชน์ สินค้าชุมชนหรือท้องถิ่น เมื่อได้รับการขึ้นทะเบียน ก็ดันมูลค่าสินค้าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว และยังเป็นการช่วยเปิดตลาดสินค้า ป้องกันคนอื่นแอบอ้าง เป็นการเพิ่มโอกาสในต่างประเทศ สร้างความมั่นคงทางอาหาร และสร้างความยั่งยืน”
อาจารย์อยากฝาก
“เรื่องนี้อาจารย์เคยพูดไว้บนเวทีงานสัมมนาวิชาการกาแฟ FIAC 2022: From Farm to Glamorous Coffee Flavor: Sustainable Value Chain of Coffee in Thailand เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ที่องค์กรสหประชาชาติตั้งเป้าหมายไว้ว่า “ทุกประชาคมต้องบรรลุร่วมกันให้ได้ทั้งโลก เพื่อความยั่งยืนตลอดกาล” เมื่อเรามองถึงความยั่งยืนกาแฟ เราจะมองถึงมิติด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
Economic Sustainability สร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ลดต้นทุนการผลิต เช่น ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงลดความไม่แน่นอนของราคาตลาดกาแฟ และอำนาจตลาดของธุรกิจรายใหญ่
Fairtrade สร้างความเป็นธรรม ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ความยุติธรรมในระบบงาน ไม่กีดกันเรื่องเพศ สีผิว เชื้อชาติ ศาสนา โดยเฉพาะการไม่เอาเปรียบและคำนึงถึงราคาขายที่เป็นธรรมให้แก่เกษตรกร ส่งเสริมให้ความเป็นอยู่ของเกษตรกรที่ดีขึ้น
Climate Change สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี สร้างธรรมชาติ เพราะอนาคตอันใกล้ กาแฟจะเริ่มขาดแคลนหรือเลวร้ายที่สุดคือสูญพันธุ์ สาเหตุเพราะปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การคำนึงถึงการจัดการระบบน้ำในกระบวนการแปรรูปกาแฟที่จะส่งกลับไปสู่ธรรมชาติ
ทั้งหมดนี้ทำให้เรารู้ว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังเพื่อให้เกิดการพัฒนาความยั่งยืนแก่สังคมกาแฟ ไม่เพียงแค่เกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ หรือนักธุรกิจเท่านั้น แต่เราไม่ควรมองข้ามนักวิจัย นักวิชาการ อย่างเช่น ผศ.ดร. อภิชญา ลีลาวณิชกุล ท่านนี้ เพราะถึงแม้ว่าอาจารย์จะมีเข้ามามีบทบาทกับงานด้านกาแฟได้ไม่นานนัก แต่การศึกษา การค้นคว้า ผลงานต่าง ๆ ของอาจารย์แพท ก็สามารถนำใช้ในการกำหนดเป้าหมาย นโยบาย ปรับปรุงการทำงาน ของทั้งระบบการผลิตกาแฟได้อย่างมีคุณภาพเช่นกัน
Coffee Traveler
เป็นนิตยสารรายสองเดือน ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ
และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ
- - -
สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX Facebook Coffee Traveler
Instagram : coffeetraveler_magazine
Youtube : Coffee Traveler
Blockdit : I am Coffee Traveler / coffeetravelermag
Comments