ประเทศเวียดนามได้รับความร่วมมือจากหลายองค์กรจากต่างประเทศ ในการเข้ามาพัฒนาคุณภาพสายพันธุ์กาแฟอาราบิกากระบวนการผลิต และการแปรรูป โดยเน้นไปที่การปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนสายพันธุ์กาแฟอาราบิกา ซึ่งเดิมนั้นสายพันธุ์กาแฟอาราบิกาของประเทศเวียดนามก็จะไม่แตกต่างกับประเทศไทยเรามากนัก คือมีกาแฟอาราบิกาสายพันธุ์คาติมอร์เป็นสายพันธุ์พื้นฐาน ที่เป็นแบบนี้ เพราะกาแฟสายพันธุ์คาติมอร์ได้ถูกพัฒนามาให้ทนต่อโรค โดยเฉพาะโรคราสนิม ที่มักจะเกิดกับต้นกาแฟ และการให้ผลผลิตในปริมาณมาก แต่วันนี้หลายส่วนในโลกของกาแฟ ได้พูดไปในทำนองเดียวกันแล้วว่า กาแฟอาราบิกาสายพันธุ์คาติมอร์ให้รสชาติที่ไม่ดีเท่าที่ควร ในการนำมาทำเป็นกาแฟคุณภาพหรือกาแฟพิเศษ
ซึ่งนั่นก็อาจไม่ใช่บทสรุปเสียทีเดียว เพราะในประเทศไทยเองก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ถ้ามีกระบวนการแปรรูปที่ดี การจัดการสวนที่ดี สภาพพื้นที่ที่เหมาะสม ก็สามารถทำให้ดีได้เช่นเดียวกัน แต่ก็คงจะปฏิเสธอีกเช่นกันไม่ได้ว่า กาแฟสายพันธุ์อื่นๆ เมื่อนำมาแปรรูปในแบบเดียวกัน ก็ให้รสชาติที่ดีกว่าได้เช่นกัน
ประเทศเวียดนามนั้น ได้ชื่อว่ามี ”กาแฟโรบัสตาคุณภาพสูงและอาราบิกาคุณภาพต่ำ
Arabica F1 hybrids คือสายพันธุ์กาแฟตัวใหม่ที่พูดถึงกันมากในแวดวงกาแฟของประเทศเวียดนามอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะภาคการผลิตกาแฟอาราบิกา อย่างที่เราทราบกันดีว่า ประเทศเวียดนามเป็นประเทศผู้ส่งออกกาแฟมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากประเทศบราซิล โดยมีสัดส่วนของกาแฟโรบัสตามากถึง 96 % และมีความเป็นไปได้ที่จะมีปริมาณการส่งออกเพิ่มมากขึ้นสูงถึง 30 ล้านกระสอบหรือ 1.8 ล้านตัน ในปีการผลิต 2021/2022 นี้
แต่หากนึกถึงกาแฟจากเวียดนาม ก็คงไม่พ้นที่จะต้องนึกถึงกาแฟเกรดธรรมดา ประเทศเวียดนามนั้น ได้ชื่อว่ามี ”กาแฟโรบัสตาคุณภาพสูงและอาราบิกาคุณภาพต่ำ” ด้วยความเป็นไปได้หลายๆ ปัจจัยด้วยกัน เช่น จำนวนผลผลิตที่มาก ทำให้คุณภาพในการแปรรูปไม่ดีเท่าที่ควร หรือจะเป็นความใส่ใจของเกษตรกร เพราะมีพื้นที่ปลูกมาก ทำให้การดูแลเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง และสุดท้ายคือสายพันธุ์ที่กำลังถูกพูดถึงอยู่ในขณะนี้
องค์กรที่มีส่วนอย่างมากในการร่วมพัฒนากาแฟสายพันธุ์อาราบิกาของเวียดนามนั้น หลักๆ จะมีอยู่ 2 องค์กร คือ ศูนย์วิจัยการเกษตรแห่งฝรั่งเศสเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (Cirad - La recherche agronomique pour le développement) และองค์กรส่งเสริมการปรับปรุงสายพันธุ์กาแฟในระบบวนเกษตรแห่งสหภาพยุโรป (Breeding Coffee for Agroforestry Systems : BREEDCAFS) ซึ่งจัดตั้งโครงการ BREEDCAFS ขึ้นที่เวียดนามมาตั้งแต่ปี 2017 โดยมีวัตถุประสงค์ในการหากาแฟอาราบิกาสายพันธุ์ใหม่เพื่อนำมาปลูกทดแทนสายพันธุ์เดิมอย่างคาติมอร์ ที่คำตอบคือกาแฟสายพันธุ์ไฮบริด F1 (Arabica F1 hybrids) นั่นเอง
Arabica F1 hybrids เป็นพันธุ์ลูกผสมระหว่าง Starmaya และ Centroamerico (H1) ที่มีการศึกษาวิจัยมากว่า 20 ปี ทั้งที่นิการากัวและคอสตาริกา แล้วพบว่าให้ผลผลิตที่สูง ต้านทานต่อโรคและสภาพอากาศได้ดีกว่าสายพันธุ์คาติมอร์ ประเทศเวียดนามนับเป็นประเทศที่สามที่มีการทดลองปลูกกาแฟสายพันธุ์นี้ โดยแปลงทดลองที่ถูกเลือกคือที่เดียนเบียนฟู (Dien Bien) และเซินลา (Son La) ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ในช่วงเริ่มต้นโครงการนำต้นกล้าสายพันธุ์ F1 มาทดลองให้เกษตรกรปลูกและผสมกับสายพันธุ์ท้องถิ่นเพื่อทำการขยายพันธุ์รุ่นลูก และมีการบันทึกฟีโนไทป์ของลูกผสมแต่ละแบบเพื่อเทียบหาสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพแปลงปลูกในระดับความสูงที่แตกต่างกัน
ผลการทดสอบในปี 2020 สรุปว่า กาแฟสายพันธุ์ไฮบริด F1 นี้
ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพกว่าคาติมอร์ดั้งเดิมในทุกๆ ด้าน
ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผลผลิตหรือคุณภาพของกาแฟ
ผลการทดสอบในปี 2020 สรุปว่า กาแฟสายพันธุ์ไฮบริด F1 นี้ ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพกว่าคาติมอร์ดั้งเดิมในทุกๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นจำนวนผลผลิตหรือคุณภาพของกาแฟ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต่างก็พอใจกับผลการทดลองที่ได้ โครงการ BREEDCAFS จึงวางแผนที่กระจายต้นกล้า F1 ไปยังเกษตรกรเพิ่มอีก 35,000 ต้น ภายในปี 2021 นี้ เมื่อโครงการสิ้นสุดลงหน่วยงานพันธมิตรของเวียดนามจะรับไม้ต่อในการเป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกรต่อเนื่องไปจนกว่าสายพันธุ์ F1 จะได้รับการรับรองจากกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท (MARD) ของประเทศเวียดนามเอง ซึ่งสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ดูเหมือนจะไม่แค่เป็นความหวังของเกษตรกรในประเทศเวียดนามเท่านั้น แต่ดูจะเป็นความหวังของทั้งภูมิภาค คุณ Dao The Anh รองประธาน VAAS (Vietnamese Academy of Agricultural Sciences) หรือสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งเวียดนาม ถึงกับให้สัมภาษณ์กับ comunicaffe.com ในเรื่องนี้ว่า “เมื่อเวลาผ่านไป บริษัทแปรรูปทั้งในและต่างประเทศจะให้ความสำคัญกับภูมิภาคนี้มากยิ่งขึ้น และซื้อขายกาแฟในราคาพิเศษ และในที่สุดสิ่งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งภูมิภาคโดยการปรับปรุงรายได้ ความยั่งยืน และงานที่มั่นคงมากขึ้น”
นอกจากนี้ในบทความของ comunicaffe.com ยังบอกด้วยว่า ภายในปี 2050 นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า 60% ของพื้นที่ที่ใช้สำหรับการปลูกกาแฟอาราบิกาในปัจจุบัน อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในรูปแบบของความแห้งแล้งที่จะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และอุณหภูมิที่สูงขึ้น จะนำไปสู่การสูญเสียพืชผลอย่างมหาศาล” Dr. Luu Ngoc Quyen รองผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรและป่าไม้บนพื้นที่สูงตอนเหนือกล่าว "สายพันธุ์ที่ทนต่อสภาพอากาศที่จะกำลังจะเกิดขึ้นนี้ จะได้รับการคัดเลือกมาเพื่อต่อสู้กับปัญหาเหล่านี้ให้ไปในทางที่ดีขึ้น"
“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในรูปแบบของความแห้งแล้ง
ที่จะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และอุณหภูมิที่สูงขึ้น จะนำไปสู่
การสูญเสียพืชผลอย่างมหาศาล”
CIRAD เป็นองค์กรวิจัยและความร่วมมือด้านการเกษตรของประเทศฝรั่งเศส ที่ทำงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาคเขตร้อนและเมดิเตอร์เรเนียน โดยจะทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อสร้างความรู้และวิธีการแก้ปัญหา และคิดค้นระบบการทำฟาร์มที่ยืดหยุ่นเพื่อโลกที่ยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และการฝึกอบรม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อส่งเสริม ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงทางการเกษตร ความยั่งยืนของระบบอาหาร สุขภาพ การพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนในพื้นที่ชนบท และปรับให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยองค์กร CIRAD ทำงานใน 50 ประเทศในทุกทวีป มีพนักงาน 1,650 คน นักวิทยาศาสตร์ 1,140 คน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายพันธมิตร 200 ราย จากทั่วโลก
ส่วน BREEDCAFS (Breeding Coffee for Agroforestry Systems) องค์กรส่งเสริมการปรับปรุงสายพันธุ์กาแฟในระบบวนเกษตรแห่งสหภาพยุโรป ที่เป็นหัวเรือหลักในเรื่องนี้ ในเว็บไซต์ของ BREEDCAFS (www.breedcafs.eu) มีความน่าสนใจในเรื่องของพันธกิจและโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกาแฟ
BREEDCAFS บอกว่าวนเกษตรเป็นอีกวิธีหนึ่งในการปรับการผลิตกาแฟให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ก็มีเพียงไม่กี่สายพันธุ์เท่านั้นที่เหมาะสม BREEDCAFS จึงตั้งเป้าไปที่การกระจายความหลากหลายของสายพันธุ์ที่มีอยู่สำหรับวิธีการผลิตที่ยั่งยืน คิดค้นวิธีการใหม่ๆ ในการขยายพันธุ์ไม้ นำไปสู่ผลผลิตและความยั่งยืนสำหรับไม้ยืนต้น โดยมีจุดประสงค์หลักคือ หาวิธีการปรับตัวของต้นกาแฟให้เข้ากับสภาพอากาศในปัจจุบันและในอนาคตได้ จัดเตรียมชุดเครื่องมือชีวสารสนเทศ วิจัยกาแฟสายพันธุ์ลูกผสมอาราบิกา F1 และลูกผสมอาราบัสตา ที่ปลูกอยู่ในสภาพพื้นที่ที่ไปทำการวิจัย ปรับปรุงการผลิตและผลกำไรของกาแฟอย่างยั่งยืนในระดับเกษตรกรและอุตสาหกรรม ประเมินประสิทธิภาพทางการเกษตร ความสามารถในการทำกำไร และคุณภาพของกาแฟ ส่งเสริมการผลิต จัดจำหน่าย และการใช้สายพันธุ์อาราบิกาลูกผสมให้มากขึ้น พัฒนาแผน ขยายขนาดของกลยุทธ์ การปรับปรุงสายพันธุ์ BREEDCAFS ใหม่ และสุดท้ายคือจัดการสื่อสารและเผยแพร่งานที่ทำ รวมถึงผลลัพธ์ของโครงการ โดยมีเป้าหมาย (The Ambitions) คือการพัฒนาความรู้อย่างละเอียดเกี่ยวกับการตอบสนองทางสรีรวิทยาของกาแฟต่อความเครียดจากสิ่งแวดล้อม ภายใต้สภาพวนเกษตร และการนำไปใช้เพื่อพัฒนากลยุทธ์การเพาะพันธุ์โดยใช้โมเลกุลช่วย ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ ออกแบบระบบวนเกษตรที่ยืดหยุ่น ครอบคลุม และรวมตลาดโดยอิงจาก Coffee Hybrids- AFS การสร้างเครื่องมือและวิธีการระดับโมเลกุลสำหรับการเพาะพันธุ์จีโนไทป์ (Genotype) คือส่วนผสมของรูปแบบของยีน (gene) ต่างๆ ในสิ่งมีชีวิต ตอบโจทย์ความท้าทายของการปรับปรุงสายพันธุ์กาแฟและฟาร์ม และปัญหาของเกษตรกรรายย่อย
BREEDCAFS บอกว่าวนเกษตรเป็นอีกวิธีหนึ่งในการปรับการผลิตกาแฟ
ให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ก็มีเพียงไม่กี่สายพันธุ์เท่านั้นที่เหมาะสม
BREEDCAFS ยังได้แบ่งระบบการทำงานออกเป็นกลุ่มๆ ไว้ 6 กลุ่มด้วยกัน โดยใช้ชื่อเรียกว่า Work Packages ซึ่งแต่ละ Work Packages เขากำหนดการทำงานไว้อย่างละเอียด แต่จะขอนำบางส่วนมาเป็นข้อมูลเพื่อความเข้าใจได้โดยง่ายดังนี้
WP 1 ทำความเข้าใจการตอบสนองของกาแฟต่อความเครียดจากสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศและองค์ประกอบทางกายภาพที่ไม่มีชีวิตในระบบนิเวศ
คือการมีส่วนร่วมในการพัฒนาการผสมสายพันธุ์ใหม่สำหรับต้นกาแฟ โดยพิจารณาจากการคัดกรองประสิทธิภาพและการศึกษาการตอบสนองทางสรีรวิทยา เมแทบอลิซึม และการถอดรหัสต่อปัจจัยทางชีวภาพและสิ่งมีชีวิตของกาแฟสายพันธุ์ใหม่และสายพันธุ์เดิม การปรับตัวของกาแฟและศักยภาพในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศในปัจจุบันและอนาคต ผ่านการศึกษาเกี่ยวกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้น อุณหภูมิและความแห้งแล้ง และความยั่งยืน การศึกษาผลกระทบของร่มเงาที่มีศักยภาพในการบรรเทาผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
WP 2 บูรณาการและการวิเคราะห์ข้อมูลฟีโนไทป์และระดับโมเลกุล ผ่านการพัฒนาแพลตฟอร์มชีวสารสนเทศหรือไบโออินฟอร์เมติกส์ (Bioinformatics)ที่มีการสื่อสารระหว่างกันได้ เพื่อช่วยในการเพาะพันธุ์กาแฟ
คือการจัดเตรียมชุดเครื่องมือชีวสารสนเทศซึ่งจะสนับสนุนและให้ข้อเสนอแนะแก่ WP1, WP3 และ WP5 เพื่อความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับสรีรวิทยาของกาแฟ และพื้นฐานทางพันธุศาสตร์ (epi) ควบคู่ไปกับการพัฒนาวิธีการแบบใหม่สำหรับการสร้าง กาแฟลูกผสมที่ปรับให้เข้ากับระบบวนเกษตร
WP 3 การประเมินฟาร์ม (ประสิทธิภาพและผลกำไร)
WP 3 ศึกษาพันธุ์ลูกผสมอาราบิกา F1 ในพื้นที่ของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ และพันธุ์อาราบัสตาไฮบริด ผ่านการประเมินประสิทธิภาพทางการเกษตร ความสามารถในการทำกำไร และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ตรวจสอบความถูกต้องของผลการประเมินที่ดำเนินการในการทดลองภาคสนามจาก WP1 นอกเหนือจากโปรโตคอลที่พัฒนาด้วย WP1 แล้ว WP3 จะทำงานร่วมกับเกษตรกรในท้องถิ่น เพื่อพัฒนาชุดโปรโตคอลที่ได้มาตรฐานเพื่อนำไปใช้ในพื้นที่อื่นต่อไป
WP 4 ให้มีการเผยแพร่ F1 hybrids ในบริบทของ AFS ออกไปในวงกว้าง ผ่านการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีและสิ่งจูงใจทางเศรษฐกิจ (Economic Incentives)
วัตถุประสงค์โดยรวมของ WP 4 คือเพื่อส่งเสริมการผลิต จัดจำหน่าย และการเพิ่มจำนวนต้นกาแฟอาราบิกาลูกผสมให้มากยิ่งขึ้นในอเมริกากลาง เอเชีย และแอฟริกา โดยใช้ประเทศนิการากัว เวียดนาม และแคเมอรูน เป็นต้นแบบ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ผลิตรายย่อยในท้องถิ่นสามารถเข้าถึงพันธุ์กาแฟใหม่ๆ ได้มากขึ้น และมีความเท่าเทียมในการค้ากาแฟมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
WP 5 การพัฒนาอย่างยั่งยืน และปรับขยายส่วนโปรแกรม (Scaling – up) การปรับปรุงสายพันธุ์แบบใหม่ ที่ถูกพัฒนาขึ้นใน BREEDCAFS
โครงการ BREEDCAFS ได้รวบรวมผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และสาขาความรู้หรือการวิจัยที่เปิดสอนในวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยที่หลากหลาย นอกจากนี้ยังรวบรวมทรัพยากรต่างๆ (ชีวภาพ เทคโนโลยี ระเบียบ วิธี ข้อมูล มนุษย์ การเงิน สถาบัน) ที่กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ นำเข้ามา ซึ่งความหลากหลายดังกล่าวนี้ จะเป็นสิ่งที่จะใช้สำหรับการตรวจสอบความถูกต้องของแนวทางการปฏิบัติ และการเผยแพร่ผลลัพธ์ออกไปในวงกว้าง
WP 6 การประสานงานกลุ่มและการจัดการโครงการ
เพื่อสร้างความมั่นใจว่าโครงการจะก้าวไปข้างหน้าตามแผนงาน การส่งมอบ รวมถึงทรัพยากรตามที่วางแผนไว้ เพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐาน โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับประเด็นด้านการเงิน โลจิสติกส์ ข้อมูล และการประสานงาน ตลอดจนในด้านคุณภาพและความสอดคล้องกับกฎและขั้นตอนของ EC เพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินการตามแผนงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์
จากข้อมูลเราพอจะสรุปได้ว่า BREEDCAFS, CIRAD และองค์กรภาครัฐฯ ของประเทศเวียดนาม ต่างมองเห็นถึงปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง เพื่อพัฒนาศักยภาพของผลผลิตให้ดียิ่งขี้นแล้ว Climate change หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็กำลังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนประเทศเวียดนามก็ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน ที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจภาพรวมได้ในอนาคต หากยังไม่หาทางป้องกันรับมือเสียแต่วันนี้ สำหรับประเทศไทยเองก็เช่นกัน เราคงหนีไม่พ้นปัญหาต่างๆ เหล่านี้ไปได้เช่นกัน การรับมือกับปัญหาในอนาคตที่จะมีผลต่อรายได้ อาชีพ ของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ อาจต้องนำขึ้นโต๊ะมาถกกันหรือไม่ กับสิ่งที่ประเทศเวียดนามกำลังทำอยู่ในวันนี้
อ่านเรื่องราวของ สายพันธ์กาแฟใหม่ Arabica F1 hybrids ได้ที่ :
ขอบคุณข้อมูลจาก : BREEDCAFS
Coffee Traveler เป็นนิตยสารรายสองเดือน
ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ
และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ
- - -
สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX Facebook Coffee Traveler
Instagram : coffeetraveler_magazine
Youtube : Coffee Traveler
Blockdit : I am Coffee Traveler / coffeetravelermag
Comments