top of page
Writer's picturecoffeetravelermag

Coffee and Depression : ดื่มกาแฟลดความเสี่ยงภาวะซึมเศร้า





เมื่อไม่กี่ปีมานี้ หลายๆ ท่านอาจได้ยินคำว่า “ภาวะซึมเศร้า” หรือ “โรคซึมเศร้า” มากขึ้น เนื่องด้วยปัจจุบันมีผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือมีอาการของโรคซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากหลากหลายสาเหตุด้วยกัน “ภาวะซึมเศร้า” หรือ “โรคซึมเศร้า” นับว่าเป็นโรคทางอารมณ์ชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของสมอง ที่มีผลกระทบต่อความนึกคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม และสุขภาพกาย สามารถพบได้ในทุกช่วงวัย แต่โดยส่วนใหญ่มักพบตั้งแต่ช่วงอายุ 20 - 30 ปีที่มีประสบการณ์ชีวิตซึ่งส่งผลต่อความรู้สึกที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงหรือเป็นประจำ เช่น การสูญเสีย ความผิดหวัง ท้อแท้ และ ถูกทำร้าย เป็นต้น และประกอบกับการทำงานของสมองที่ผิดปกติทำให้ต้องมีการดูแลบำบัดรักษาอย่างถูกต้อง และหากไม่ได้รับการบำบัดรักษา ปล่อยเรื้อรัง อาจเกิดอาการซึมเศร้าอย่างรุนแรงจนถึงขั้นฆ่าตัวตาย ซึ่งผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีแนวโน้มจะฆ่าตัวตายสูงกว่าคนเท่าไปถึง 20 เท่า


ในปัจจุบันแนวโน้มของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าก็มีเพิ่มขึ้นทุกปี โดยอ้างอิงบทความของกรมสุขภาพจิตได้ระบุว่าจากสถิติ การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตทั่วโลก จำนวนกว่า 8 แสนคนต่อปี คาดว่าจะเพิ่มเป็น 1.5 ล้านคน ในปี 2020 โรคซึมเศร้าจึงเป็นอีกโรคที่ไม่อาจมองข้ามไปได้


หลายๆ ท่านอาจเกิดความสงสัยว่า แล้วการดื่มกาแฟนั้น มีความเกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้าได้อย่างไร มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างคาเฟอีนกับภาวะซึมเศร้า และพบว่าคาเฟอีนสามารถลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าได้ และในบางการศึกษายังแนะนำว่าการบริโภคคาเฟอีนสามารถลดอัตราการฆ่าตัวตายได้อีกด้วย จากการวิเคราะห์ข้อมูลในปี 2019 จากกลุ่มตัวอย่าง 80,173 คนพบว่าการดื่มกาแฟ 1 - 4 แก้วต่อวันสามารถลดความเสี่ยงของการคิดฆ่าตัวตายในผู้หญิงได้ แต่ส่งผลกระทบเล็กน้อยต่อความคิดฆ่าตัวตายในผู้ชาย


ประโยชน์จากคาเฟอีนต่อภาวะซึมเศร้า

จากผลวิเคราะห์หนึ่งในปี 2016 กรณีงานศึกษาในประเทศจีนช่วงระหว่างปี 1980 ถึง 2015 พบว่าคาเฟอีนมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าของบุคคล ซึ่งคาเฟอีนในเครื่องดื่มกาแฟนั้นมีผลป้องกันภาวะซึมเศร้า นอกจากนี้ ยังพบว่า การดื่มชาก็สามารถป้องกันภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน แต่ได้ผลน้อยกว่าการดื่มกาแฟ อย่างไรก็ตาม การดื่มชายังคงมีประสิทธิภาพในการลดความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าได้ในระดับหนึ่ง


การดื่มชาก็สามารถป้องกันภาวะซึมเศร้าได้ แม้จะได้ผลน้อยกว่าการดื่มกาแฟ แต่ก็ยังคงมีประสิทธิภาพในการลดความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าได้ในระดับหนึ่ง

เหตุใดกาแฟ จึงมีผลต่อการลดความเสี่ยงจากภาวะซึมเศร้าได้มากกว่าชา?

เนื่องจากในกาแฟมีสารประกอบบางอย่างที่อาจมีผลต่อการต้านภาวะซึมเศร้า อันได้แก่สารประกอบจำพวก กรดคลอโรจีนิก กรดคาเฟอิก และกรดเฟอร์รูริก สามารถบรรเทาการอักเสบของเซลล์ประสาทที่เกิดขึ้นในสมองของคนที่มีภาวะซึมเศร้าได้ โดยกรดเหล่านี้อาจช่วยลดระดับความรู้สึกไม่สบายหรือความทุกข์บางอย่าง ซึ่งความรู้สึกนั้นๆ จะถูกกระตุ้นจากการอักเสบของเซลล์ประสาทนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ชาบางประเภท เช่น ชาเขียวซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง และมีโฟเลต ก็สามารถช่วยให้ร่างกายต่อต้านภาวะซึมเศร้าอย่างมีประสิทธิภาพได้ดีไม่แพ้กัน


ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

ในขณะเดียวกัน ไม่ใช่การศึกษาทั้งหมดจะยอมรับว่าคาเฟอีนมีผลเชิงบวกต่อผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า เพราะคาเฟอีนอาจทำให้เกิดการหยุดชะงักของสารสื่อประสาทในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่นได้ จากงานวิจัยในปี 2019 ได้ทำการศึกษาเรื่อง โภชนาการมีผลต่อภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่นได้อย่างไร แนะนำว่าชาและกาแฟอาจรบกวนสารสื่อประสาทที่สำคัญ เช่น ฮอร์โมนโดพามีน และกรดแกมมาอะมิโนบิวทีริก (GABA) และมีการยืนยันว่า ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าเนื่องจากขาดแคลนหรือมีการหยุดชะงักของฮอร์โมนโดพามีนทำให้เกิดการขาดแรงจูงใจ และการขาดแคลน GABA สามารถเพิ่มความหงุดหงิด กระสับกระส่าย วิตกกังวล และตำหนิตัวเอง โดยมีสาเหตุมาจากการบริโภคกาแฟจำนวนมากและการได้รับคาเฟอีนในปริมาณสูงอาจส่งผลข้างเคียง เช่น อาการปวดหัววิงเวียน ใจสั่น กระสับกระส่าย วิตกกังวล และความดันโลหิตสูง เป็นต้น


ชาและกาแฟอาจรบกวนสารสื่อประสาทที่สำคัญ เช่น ฮอร์โมนโดพามีน และกรดแกมมาอะมิโนบิวทีริก (GABA) ทำให้เกิดการขาดแรงจูงใจ เพิ่มความหงุดหงิด กระสับกระส่าย วิตกกังวล และตำหนิตัวเอง โดยมีสาเหตุมาจากการบริโภคกาแฟจำนวนมาก และได้รับคาเฟอีนในปริมาณสูง

การบริโภคกาแฟ

เนื่องจากคาเฟอีนเป็นตัวหลักในการกระตุ้นสารสื่อประสาท ด้วยเหตุผลนี้ผู้คนอาจได้รับการบำบัดการลดคาเฟอีนหากไม่สามารถปรับตัวได้ ซึ่งการบำบัดการลดปริมาณคาเฟอีนอาจทำให้เกิดอาการที่ทับซ้อนกับภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล จึงต้องมีการปรับลดปริมาณการบริโภคคาเฟอีนเพื่อให้ร่างกายปรับสมดุลและลดอาการข้างเคียงจากการลดลงของสารกระตุ้น สำหรับทุกท่านแล้วก็ยังสามารถดื่มกาแฟได้อย่างปกติ ในปริมาณที่พอเหมาะ

แต่ทั้งนี้ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าควรบริโภคกาแฟในปริมาณไม่เกิน 2 แก้วต่อวัน หรือควรเลือกดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีนน้อย (Decaf) พร้อมกับทำตามคำแนะนำจากแพทย์ในการดื่มกาแฟอย่างถูกต้องให้เหมาะสม


5,928 views0 comments

Comments


bottom of page