top of page

⛰ Formosa Coffee Coffee farm in Taiwan 🔴



เราคงเคยได้ยินคำว่า Coffee Belt หรือ Coffee Map ซึ่งเป็นแผนที่กาแฟโลก ซึ่งส่วนใหญ่แหล่งปลูกกาแฟก็จะอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร และแหล่งปลูกกาแฟที่มีชื่อเสียงและคุ้นหูไม่ว่าจะเป็น Panama, Kenya, Indonesia, Ethiopia หรือแม้แต่ประเทศไทยเราเองก็จะอยู่แถวๆ นี้ แต่คงมีน้อยคนนักที่จะเคยได้ยินและได้ชิมกาแฟจากแหล่งปลูกประเทศไต้หวัน


ไต้หวัน (สาธารณรัฐจีน) เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีวัฒนธรรมการดื่มกาแฟมายาวนานไม่แพ้วัฒนธรรมการดื่มชา นอกจากไต้หวันจะเคยเป็นเมืองขึ้นของญี่ปุ่น ดัตช์ และโปรตุเกสแล้ว วัฒนธรรมด้านอาหารและเครื่องดื่มก็ยังได้รับอิทธิพลมาจากต่างชาติพอสมควรเหมือนกัน ประเทศไต้หวันยังมีอีกหนึ่งชื่อเรียกว่า “Formosa” เพราะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่เป็นเกาะที่สวยงาม จึงเป็นที่หมายปองในยุคล่าอาณาณิคม


ปัจจุบันแหล่งปลูกซึ่งเป็นที่นิยมและพูดถึงมากที่สุด

ถ้าเป็นกาแฟจากไต้หวันก็คงจะต้องนึกถึงอาลีซานเป็นที่แรก



กาแฟไต้หวัน

ตำแหน่งของประเทศไต้หวันตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรเขตร้อนชื้น ซึ่งมีพื้นที่เหมาะแก่การปลูกชาและกาแฟ กาแฟอาราบิกาถูกส่งเสริมให้ปลูกในสมัยที่ญี่ปุ่นเข้ามาล่าอาณาณิคม โดยปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจในสมัยนั้น มีปลูกมากในแถบไถตง ภาคตะวันออกของไต้หวัน และส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศญี่ปุ่นในปี 1939


ต่อมาในปี 1941 ญี่ปุ่นได้กลับไปทำสงคราม จึงทำให้ธุรกิจกาแฟหยุดชะงัก จนกระทั่งปี 1950 มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยสายพันธุ์ และกลับมาส่งเสริมปลูกกาแฟอีกครั้ง เริ่มปลูกที่ตอนกลางและตอนใต้ของไต้หวัน โดยการแจกต้นกล้าฟรี พื้นที่ที่มีกาแฟปลูกมากที่สุดก็คือตอนกลางของประเทศไต้หวัน บริเวณอำเภอหนานโถว แต่ภายหลังเกษตรกรหันมาสนใจปลูกสับปะรดมากกว่า จึงทำให้อำเภอหยินหลิงกลายเป็นแหล่งปลูกกาแฟมากที่สุดเป็นเวลากว่า 10 ปี คือตั้งแต่ปี 1957 จนถึงปี 1973 แต่หลังจากนั้นเกิดสภาวะเมล็ดกาแฟทั้งโลก Over Supply จึงส่งผลกระทบขึ้นมาอีกครั้ง จนทำให้กาแฟถูกละทิ้งไป และกลับมาเป็นที่นิยมปลูกอีกครั้งในปี 1999 โดยมีสายพันธุ์ที่ปลูกกันอย่างแพร่หลายคือ ทิปปิก้า เบอร์เบิร์น และ SL34 บ้างก็เป็นสายพันธุ์ที่ได้มาจากประเทศบราซิลตั้งแต่ปี 1930 แล้วสามารถเจริญเติบโตได้ดีในประเทศไต้หวันแห่งนี้



ปัจจุบันแหล่งปลูกซึ่งเป็นที่นิยมและพูดถึงมากที่สุดถ้าเป็นกาแฟจากไต้หวันก็คงจะต้องนึกถึงอาลีซานเป็นที่แรก การได้คุยกับ Mr. Fang Zheng Luang (Coffee prince of Taiwan) ซึ่งเป็นหัวหน้าสมาคมกาแฟอาลีซานและเจียยี่ ผู้ก่อตั้งแบรนด์กาแฟโจวจูหยวนเมื่อปี 2017 เป็น Q Grader และยังได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดเมล็ดกาแฟมามากมายเล่าว่า ที่อาลีซานมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 3,000 เมตร แต่ที่เหมาะสำหรับการปลูกกาแฟจะอยู่ที่ 1,200 – 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล นอกจากนี้แล้ว ที่อาลีซานยังเป็นแหล่งผลิตชาชั้นยอด ไม่ว่าจะเป็นชาอู่หลงเกรดดี Golden lily (Jinxuan tea) และชาขาวมาหลายร้อยปี คนปลูกชาที่นี่ส่วนใหญ่จะเป็นชาว Aborigin ชนเผ่าโจว ซึ่งรวมถึงตัว Mr. Fang Zheng Luang ก็เป็นชนเผ่าโจวเช่นกัน จนมาถึงรุ่นหลังที่เปลี่ยนจากการปลูกชามาเป็นการปลูกกาแฟ โดยสายพันธุ์กาแฟที่นำเข้ามาไม่ว่าจะมาจากประเทศปานามา เอธิโอเปีย และมีสายพันธุ์ดั้งเดิมซึ่งก่อนหน้านั้นเหล่านักล่าอาณาณิคมได้หว่านเอาไว้ ส่วนใหญ่ที่ปลูกอยู่แล้วก็จะมีสายพันธุ์ทิปปิก้า เบอร์เบิร์น SL-34 และมีสายพันธุ์เกชาที่เริ่มปลูกกันอย่างแพร่หลายในช่วง 5 ปีมานี้



กาแฟสำหรับที่แห่งนี้ก็ยังถือว่าเป็นอะไรที่ใหม่ เจ้าของฟาร์มส่วนใหญ่ก็จะทำไปเรียนรู้ไป ซึ่งส่วนใหญ่จะเลือกทำแบบ Natural, Honey, Anerobic และ Washed



การแปรรูปและการดูแลดินก็ใช้ความรู้เดิมจากการดูแลต้นชาเข้ามาผสมผสาน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม กาแฟสำหรับที่แห่งนี้ก็ยังถือว่าเป็นอะไรที่ใหม่ เจ้าของฟาร์มส่วนใหญ่ก็จะทำไปเรียนรู้ไป ซึ่งส่วนใหญ่จะเลือกทำแบบ Natural, Honey, Anerobic และ Washed ซึ่งจะเลือก Process ให้เข้ากับสายพันธุ์ หากเลือกการ Process ที่ถูกวิธี ก็จะเป็นการไปไฮไลต์รสชาติให้ดียิ่งขึ้นไปอีก อย่างเช่นสายพันธุ์เกชา ส่วนใหญ่จะเลือกทำแบบ Washed ส่วนสายพันธุ์เบอร์เบิร์นก็จะเลือกทำแบบ Honey Process



ช่วงไม่กี่ปีมานี้ Mr. Fang สนใจในสายพันธุ์เป็นพิเศษ โดยเขาชิมและสังเกต

เพื่อจำแนกสายพันธุ์ และทำการเก็บเกี่ยวแบบแยกสายพันธุ์

ทำให้เจอสายพันธุ์ใหม่ที่มีเฉพาะที่ไต้หวันและได้ตั้งชื่อว่า “So’ngna”


ช่วงไม่กี่ปีมานี้ Mr. Fang สนใจในสายพันธุ์เป็นพิเศษ โดยเขาชิมและสังเกตเพื่อจำแนกสายพันธุ์ และทำการเก็บเกี่ยวแบบแยกสายพันธุ์ ทำให้เจอสายพันธุ์ใหม่ที่มีเฉพาะที่ไต้หวันและได้ตั้งชื่อว่า “So’ngna” เอกลักษณ์ของกาแฟไต้หวันคือมี Flavor หรือรสชาติไปทาง Plum, Brown Sugar, Citrus, Tea like และบางตัวจะออกไปทาง Floral, Peach, Lychee


ถึงแม้ว่าที่นี่จะมีภูมิประเทศที่เหมาะสมต่อการปลูกกาแฟก็ตาม แต่ในบางปีหากมีพายุไต้ฝุ่น ก็เสี่ยงที่จะทำให้เกิดความเสียหายได้เช่นกัน และด้วยอากาศที่หนาวเย็นและมีความชื้น การตากกาแฟจึงใช้เวลาตากนานกว่าปกติ ซึ่งแทบทุกฟาร์มจะมีเครื่องอบเอาไว้อบกาแฟ ไม่ว่าจะเป็นแบบดรัมหมุนโดยใช้ลมร้อน หรือดัดแปลงจากห้องอบชาที่มีเครื่องดูดความชื้นตัวใหญ่ไว้ไล่ความชื้นมาใช้อบกาแฟแทน



ความนิยมต่อการดื่มกาแฟของคนที่นี่ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากชาวญี่ปุ่น ในยุคแรกความนิยมดื่มกาแฟมีมากพอกับการดื่มชา การดื่มกาแฟจะนิยมดื่มไปทางคั่วเข้มและใช้การสกัดกาแฟผ่านการชงไซฟอน ภายหลังจึงค่อยๆ หันมานิยมชงจากเครื่องชงและคั่วอ่อนลง ด้วยความนิยมต่อการบริโภคกาแฟ และภาษีนำเข้าของกาแฟที่ไม่สูงมากนัก จึงทำให้ที่นี่มีวัตถุดิบดีๆ มาจากทั่วโลก แต่ไม่กี่ปีให้หลังมานี้ ด้วยความที่คนรุ่นใหม่อยากหาแหล่งกาแฟใหม่ๆ บวกกับคุณภาพที่ดีขึ้นในทุกปีของกาแฟไต้หวัน ทำให้คนหันมาสนใจกาแฟไต้หวันมากยิ่งขึ้น แต่หลายๆ ครั้ง ก็เจอปัญหาในเรื่องของราคาที่ค่อนข้างสูงของกาแฟจากแหล่งปลูกไต้หวันเอง ด้วยปัจจัยที่ทำให้ราคากาแฟสูงก็มาจากค่าครองชีพที่สูง พื้นที่ที่มีอยู่จำกัด และภูมิอากาศที่ทำให้ต้องลงทุนไปกับอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่อการทำงานต่างๆ ทำให้หลายๆ ครั้ง กาแฟไต้หวันจึงถูกเปรียบเทียบเรื่องราคากาแฟที่มีคุณภาพใกล้เคียงกันว่าสามารถที่จะหากาแฟที่มีรสชาติดีกว่าและถูกกว่าได้


จึงนับเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ผลิตกาแฟของประเทศนี้จะต้องเผชิญกับความท้าทาย และต้องเร่งให้ความรู้ต่อผู้บริโภค ในส่วนของภาครัฐฯ หรือสมาคมกาแฟต่างๆ ในประเทศไต้หวัน ก็มีการจัดการแข่งขันประกวดเมล็ดกาแฟในระดับอำเภอถึงในระดับประเทศ เพื่อส่งเสริมให้คนหันมาบริโภคและสนับสนุนกาแฟจากในประเทศไต้หวันเอง แต่หากในระดับสากล น่าจะยังคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะในการไปทำความรู้จักกับผู้บริโภคภายนอกประเทศให้หันมาสนใจกาแฟจากประเทศที่เป็นเกาะที่สวยงามอย่างประเทศไต้หวันแห่งนี้


 

Writer: Liz Shen (93armycoffee)

Liz Shen เป็นนักเรียนทุนปริญญาโทในประเทศไต้หวัน สนใจศึกษาเรื่องกาแฟในไต้หวัน เพราะเห็นว่าที่นี่เป็นแหล่งความรู้และมีวัตถุดิบชั้นเลิศที่มาจากทั่วโลกมากมาย มีอุตสาหกรรมเครื่องจักรที่ผลิตได้คุณภาพและราคาไม่แพงมาก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องคั่ว เครื่องจักรในระดับครัวเรือนจนถึงระดับอุตสาหกรรมที่ใช้ในฟาร์ม อุปกรณ์กาแฟ เทคโนโลยี มีแชมป์โลกด้านกาแฟมากมาย มีคนเก่งในระดับเวทีโลก และที่สำคัญยังปลูกกาแฟเองได้ Liz Shen จึงใช้เวลาว่างจากการเรียนมาศึกษาหาความรู้และสร้างความสัมพันธ์กับคนกาแฟที่ประเทศไต้หวัน



307 views0 comments
bottom of page