" ร้าน Occur Coffee เป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์ของโครงการนี้ที่เราพยายามพัฒนาไม้ยางให้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมอยู่อาศัย "
Occur Coffee ร้านกาแฟที่เกิดขึ้นจากหนึ่งในโปรเจกต์ของการนำเศษวัสดุเหลือใช้จากการแปรรูปไม้ยางพารามาพัฒนาต่อยอดในโครงการ Red House Farm เช่น การนำขี้เลื่อยมาพัฒนาเป็นก้อนเห็ด และการนำปีกไม้ไปใช้ในอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าชีวมวล รวมถึงการนำไม้ยางพารามาสร้างเป็นตัวอาคารทั้งหลัง โครงการนี้จึงกลายเป็น Community Mall ของจังหวัดตรังอีกแห่งหนึ่งที่มีทั้งร้านอาหาร ห้องประชุม ห้องอเนกประสงค์ ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ และร้านกาแฟ ซึ่งมีคอนเซ็ปต์การใช้ลักษณะของเรือนพื้นถิ่นที่อยู่อาศัยในภูมิภาคนำมาพัฒนาให้เข้ากับยุคสมัย และมีเป้าหมายของการนำไม้ยางพารา
เข้ามาเพิ่มความโดดเด่นให้กับตัวอาคาร โดยคุณปาล์ม (ศิริพจน์ กลับขันธ์) เจ้าของร้านก็ได้เข้ามาร่วมพัฒนาต่อยอดในส่วนของการทำร้านกาแฟให้กับโครงการนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งได้คุณหนุ่ม (ทรงยศ เสมะกนิษฐ์) สถาปนิกออกแบบให้กับโครงการ Red House Farm มาเป็นหัวเรือในการออกแบบตัวอาคารและฟังก์ชันการใช้งานให้กับร้าน Occur Coffee และคุณเอ็ม (นรินทร์ เจริญสุข) Interior Design เข้ามาร่วมจัดวางองค์ประกอบต่าง ๆ ภายในร้านให้สมบูรณ์ขึ้น
" เนื่องจากสีธรรมชาติที่ผ่านการอบมีความโดดเด่นในแบบของมันอยู่แล้ว จึงเป็นที่มาที่ไปของการนำความดิบของแต่ละวัสดุดึงออกมา เช่น สีของไม้ สีของอิฐ และเหล็กจริง ๆ ซึ่งเราไม่ได้ไปย้อมหรือต่อเติมอะไรมากมาย "
“ร้าน Occur Coffee เป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์ของโครงการนี้ที่เราพยายามพัฒนาไม้ยางให้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมอยู่อาศัย โดยการนำมาทำเป็นตัวอาคารในลักษณะของการเป็น Community เดียวกัน ร่วมกับคุณวิถี สุพิทักษ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทวู้ดเวอร์ค และเจ้าของโครงการ ซึ่งคุณปาล์มก็เป็นผู้ร่วมก่อตั้งโครงการนี้ด้วย เราจึงได้มีโอกาสเข้ามาร่วมพัฒนาอาคารในโปรเจกต์นี้ร่วมกัน ดังนั้นคอนเซ็ปต์หลักของร้านกาแฟจึงล้อไปกับตัวโครงการ คือการนำไม้ยางพารามาทำเป็นตัวอาคารในลักษณะคล้ายเรือนพื้นถิ่นพร้อมพัฒนาให้มีความร่วมสมัย และร้อยเรียงประกอบกันด้วยชานด้านนอกที่มีขนาดใหญ่ รวมถึงลักษณะเฉพาะของคอนเซ็ปต์นี้จะพยายามเลี่ยงวิธีการใช้ปูน นอกจากการทำเป็นตัวฐานด้านล่าง จึงทำตัวผนังและฝาผนัง ขึ้นมาเป็นแพทเทิร์น เพื่อนำมาประกอบเป็นรูปฟอร์มคล้ายอาคารน็อคดาวน์ที่ใช้ระยะเวลาการก่อสร้างไม่นาน แต่เรามาคิดต่อยอดว่าจะต้องทำอย่างไรให้มันลงล็อคโดยที่ให้เหล็กมีหน้าที่ประสานกันกับไม้ เพราะฉะนั้นในส่วนของร้านกาแฟก็ทำเป็นหลังคาระแนงทรงหน้าจั่ว เพราะเราต้องการดึงแสงธรรมชาติมาจากด้านกระจกที่เป็นหน้าจั่ว และคำนึงถึงทิศการระบายอากาศด้วย”
เรียกได้ว่าเป็นการถอดรหัสการอยู่อาศัยหรือการใช้เรือนโบราณเข้ามาร่วมกับความเป็นโมเดิร์นได้อย่างชัดเจนเลยทีเดียว นอกจากงานออกแบบที่โดดเด่นแล้วในส่วนของวัสดุที่เป็นไม้ยางพาราก็สามารถพัฒนาต่อยอดให้สวยงามสะดุดตาได้เช่นกัน อีกทั้งยังแข็งแรงทนทานและปราศจากการเป็นเชื้อรา รวมถึงยังไม่เป็นจุดสนใจของมอดและปลวกอีกด้วย ซึ่งคุณหนุ่มเล่าให้ฟังว่า การจะนำไม้ธรรมชาติมาใช้สำหรับภายนอกอาคาร จำเป็นต้องแปรสภาพไม้ให้มีความมั่นคงแข็งแรงมากขึ้น โดยการนำไปอบหรือเรียกว่า เทอร์โมวูด (Thermo Wood) ซึ่งเป็นการนำไม้ไปผ่านความร้อนที่ 180 องศาเซลเซียสขึ้นไป ทำให้สารประกอบต่าง ๆ ในไม้ถูกย่อยสลาย จนเชื้อราและแมลงไม่สามารถเข้ามารบกวนได้ รวมถึงการอบไม้ยังเพิ่มความเข้มของสีไม้ได้อีกด้วย จึงเป็นที่มาตัวอาคารของร้าน Occur Coffee เช่นกันที่มีสีคล้ายเมล็ดกาแฟคั่วกลาง
“พอเราได้ไม้ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และได้ออกมาในลักษณะของสีน้ำตาลไหม้แล้ว คุณปาล์มก็เห็นด้วยว่าไม่จำเป็นต้องย้อมสีหรือแต่งอะไรเพิ่ม เนื่องจากสีธรรมชาติที่ผ่านการอบมีความโดดเด่นในแบบของมันอยู่แล้ว จึงเป็นที่มาที่ไปของการนำความดิบของแต่ละวัสดุดึงออกมา เช่น สีของไม้ สีของอิฐ และเหล็กจริง ๆ ซึ่งเราไม่ได้ไปย้อมหรือต่อเติมอะไรมากมาย เพื่อให้ได้คาแรคเตอร์ของ Occur Coffee รวมถึงทางฝั่งของอินทีเรียก็สามารถนำไปต่อยอดได้สบาย ๆ และยังสามารถคงความเป็นตัวตนของร้านเอาไว้ได้”
" อาคิเทคก็ออกแบบมาได้อย่างโดดเด่นรับกับตัวพื้นที่ ทำให้เรารู้สึกว่าตัวร้านเป็นเหมือน Living room ของจังหวัดตรัง และรู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัด "
ดังนั้นในส่วนของการออกแบบภายในร้านจึงเป็นเรื่องราวต่อยอดมาจากวัสดุที่มีไม้ยางพาราเป็นพระเอก ประกอบกับอิฐและเหล็กที่เข้ามาเสริมให้ดูเป็นสมัยใหม่มากขึ้น และด้วยการออกแบบสถาปัตยกรรมโครงสร้างที่ส่งต่อมาอย่างเต็มที่และโดดเด่นด้วยตัวของวัสดุเอง คุณเอ็มจึงตัดสินใจที่จะไม่เข้าไปเพิ่มเติมหรือปรุงแต่งอะไรมากนัก
“อาจด้วยคาแรคเตอร์ของตัวร้านที่น่าสนใจอยู่แล้ว และทางอาคิเทคก็ออกแบบมาได้อย่างโดดเด่นรับกับตัวพื้นที่ ทำให้เรารู้สึกว่าตัวร้านเป็นเหมือน Living room ของจังหวัดตรัง และรู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัด เราเลยไม่ได้เปลี่ยนอะไรไปจากเดิม เพียงแต่เข้าไปช่วยซัพพอร์ตในเรื่องของฟีเจอร์การใช้งานภายในร้านมากกว่า โดยตีโจทย์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับความตั้งใจของสถาปนิกและเจ้าของร้าน จึงถ่ายทอดออกมาให้รู้สึกว่าคนในพื้นที่สามารถเข้าถึงได้ ไม่ซับซ้อนจนเกินไป และเป็นความ Homey ผสมความเป็นผู้ใหญ่ เพื่อให้สามารถรับรองแขกบ้านแขกเมืองได้ด้วย”
คุณเอ็มยังบอกอีกว่า ในเรื่องของฟังก์ชันและหน้าตาของเฟอร์นิเจอร์จำเป็นต้องโฟกัสไปถึงบริบทของคนใช้งานและคนในพื้นที่ด้วย เพื่อให้เอื้อต่อการใช้งานเป็นหลัก โดยคนส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นวัยผู้ใหญ่และมากันแบบครอบครัว ทำให้คุณเอ็มเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ค่อนข้างนั่งสบายและมีไซต์ขนาดใหญ่
“หลังจากตีโจทย์บริบทของคนในพื้นที่และโครงสร้างโดยรวมของตัวร้านได้อย่างชัดเจน รวมถึงได้เฟอร์นิเจอร์ที่เข้ากันแล้ว เราจึงเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยการนำต้นไม้เสมือนจริงไว้ตรงกลางร้าน เนื่องจากตัวร้านมีเหล็กและอิฐที่โชว์เนื้อจริง หากได้ต้นไม้เข้าไปเสริมก็จะช่วยในแง่ของความรู้สึกที่สบายใจและสดชื่นมากขึ้น”
ดังนั้นเรื่องราวของการออกแบบจึงออกมาในทิศทางเดียวกันได้อย่างลงตัว โดยการนำแนวคิดจากวัสดุท้องถิ่นอย่างไม้ยางพารามาต่อยอดเป็นสถาปัตยกรรมที่ล้อไปกับยุคสมัยใหม่ได้อย่างน่าสนใจ รวมถึงการทำงานร่วมกันในเป้าหมายเดียวกันของสถาปนิกและอินทีเรียจึงทำให้สร้างคาแรคเตอร์ที่ชัดเจนได้อย่างดีเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม ทั้งคุณหนุ่มและคุณเอ็มก็ต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าสุดท้ายแล้วการออกแบบจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยต่อการใช้งานเป็นหลัก และสามารถช่วยเสริมศักยภาพของตัวร้านได้ด้วย รวมถึงการกำหนดบรรยากาศร้านให้มีความน่าสนใจสอดคล้องกับผู้ใช้งานในพื้นที่ เพื่อให้การใช้งานเกิดประโยชน์สูงสุด และการบอกต่อจากลูกค้าหรือการกลับมาที่ร้านซ้ำอีกครั้ง ฉะนั้นโจทย์เหล่านี้จึงเป็นหัวใจของงานออกแบบที่ทั้งสองท่านใช้กำหนดทิศทางคาแรคเตอร์ของร้าน Occur Coffee
Contributor
หนุ่ม (ทรงยศ เสมะกนิษฐ์)
อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมตำแหน่งผู้ก่อตั้งและกรรมการบริษัท สถาปนิกทาวา จำกัด ที่ถนัดและเชี่ยวชาญในการออกแบบด้านสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเกี่ยวกับการใช้วัสดุต่าง ๆ ในท้องถิ่น รวมถึงเน้นการแสดงเอกลักษณ์ของประเทศ หรือสถาปัตยกรรมไทย ซึ่งคุณหนุ่มเล่าให้ฟังว่า หลังจากเรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ใช้ทุนโดยการเป็นอาจารย์ประจำอยู่ 2 ปี พร้อมเรียนปริญญาโทไปด้วย หลังจากเรียนจบอีกใบก็ได้เข้ามาเป็นอาจารย์ที่คณะ และเปิดบริษัทออกแบบทันที โดยเน้นทางด้านสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของประเทศ ปัจจุบันคุณหนุ่มก็ยังคงเป็นทั้งอาจารย์และเจ้าของบริษัทมากว่า 10 ปีแล้ว
Contributor
เอ็ม (นรินทร์ เจริญสุข)
Interior Designer ที่เคยหยุดเรื่องการออกแบบหรืองานดีไซน์ไปกว่า 1 ปี และกลับมาด้วยการค้นเจอว่าตนเองชื่นชอบการดีไซน์ให้กับร้านอาหารและออกแบบให้กับงานที่เกี่ยวกับสาธารณะ คุณเอ็มเรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เอกอินทีเรีย มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี หลังจากเรียนจบก็ได้เริ่มชีวิตของการเป็นอินทีเรียในรูปแบบงานที่เกี่ยวกับบ้านหรือที่อยู่อาศัยจนถึงจุดอิ่มตัว จึงพักจากการทำเรื่องบ้านมาสักระยะหนึ่ง จากนั้นก็เบนเข็มลองมาทำในรูปแบบของร้านอาหารและงานสาธารณะ ซึ่งคุณเอ็มก็พบว่าเป็นเส้นทางที่สนุกและชื่นชอบมากกว่ามาจนถึงปัจจุบัน
---------
ร้าน : Occur Coffee
นักออกแบบ : TAVA architects และ Sajja Arom Design Studio
พิกัดร้าน : 119 หมู่ 3 ตำบลโคกหล่อ อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง 92000
Coffee Traveler
เป็นนิตยสารรายสองเดือน ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ
และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ
- - -
สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX Facebook : Coffee Traveler
Instagram : coffeetraveler_magazine
Youtube : Coffee Traveler
Blockdit : I am Coffee Traveler / coffeetravelermag
Comments