top of page

World Coffee Research ความยั่งยืนของ “กาแฟ” ในโลกอนาคต

Updated: Sep 21, 2022


ความยั่งยืนหรือ Sustainability นับว่าเป็นแนวทางที่องค์การสหประชาชาติได้นำมาเป็นข้อชี้แนะในการสร้างและพัฒนาโลกใบนี้ เพื่อรักษาไว้ให้กับคนรุ่นหลัง ในปี 2015 บรรดาผู้นำสมาชิกทั่วโลกต่างรับรองและบรรลุข้อตกลงร่วมกัน โดยกำหนด “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goals – SDGs) สู่ทิศทางการพัฒนาของโลกนับตั้งแต่ปี 2015 – 2030 เอาไว้ และหนึ่งในเป้าหมายหลักคือการพูดถึงการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน ของทรัพยากรประเภทต่าง ๆ บนโลกใบนี้ รวมถึงการรับมือกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง


หากเราย้อนกลับไปดูข้อมูลที่เกี่ยวกับกาแฟในช่องทางต่าง ๆ ก็จะพบว่า ในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา กาแฟถือเป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีการพึ่งพาทรัพยากรทางธรรมชาติในการผลิตเป็นอย่างมาก และกาแฟก็เป็นพืชที่ต้องเผชิญหน้ากับสภาพปัญหาหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นโรค มอด หนอน การกลายพันธุ์ ปัญหามลพิษ สิ่งแวดล้อม ความไม่เท่าเทียม เป็นต้น ทำให้ทีมนักวิจัยจาก World Coffee Research ตั้งคำถามถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า และยิ่งไปกว่านั้น ขณะที่โลกกำลังประสบปัญหาภาวะเรือนกระจก สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง แล้วกาแฟจะอยู่รอดได้ในลักษณะแบบใดเนื่องจากอุณหภูมิถือเป็นปัจจัยหลักสำคัญในการเจริญเติบโต และการให้คุณภาพผลผลิตโดยตรง


Dr. Timothy Schilling นักพันธุศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านพืช เห็นถึงความสำคัญ และตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงได้ก่อตั้งองค์กรที่มีชื่อว่า “World Coffee Research” ขึ้น



ผลกระทบจากอุณหภูมิโลกที่เปลี่ยนแปลง

แหล่งปลูกกาแฟทุกแห่งบนโลก ล้วนได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศแทบทั้งสิ้น รวมถึงพืชอื่น ๆ อีกด้วย ซึ่งกาแฟแต่ละสายพันธุ์นั้น ก็ต่างมีความต้องการอุณหภูมิที่แตกต่างกันออกไป สายพันธุ์อาราบิกาเติบโตได้ดีระหว่างอุณหภูมิ 15 - 26 องศาเซลเซียส โรบัสตาเติบโตได้ดีระหว่างอุณหภูมิ 25 ถึง 32 องศาเซลเซียส และในแต่ละสายพันธุ์ย่อยก็สามารถทนทานต่อสภาพแสงแดดที่แตกต่างกันออกไปอีก รวมทั้งปัจจัยด้านสารอาหารในดินและน้ำที่ต้องพร้อมควบคู่กันไปด้วย เพราะถือเป็นองค์ประกอบที่ต้องเกื้อหนุนกัน การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลก จึงถือได้ว่ามีผลกระทบโดยตรงต่อกาแฟอย่างมีนัยยะสำคัญ



WCR ยังพูดถึงแผนพัฒนากลยุทธ์อีก 5 ปีข้างหน้าของตัวเองเอาไว้ว่า จะมีการปรับโครงสร้างการศึกษา วิจัย โดยมุ่งเน้นที่การเพาะพันธุ์ การทดลอง พัฒนาเรือนเพาะชำ มุ่งสู่การขับเคลื่อนและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรเป็นหลัก


WCR คืออะไร

เราต่างรับรู้กันว่า กาแฟคือพืชเศรษฐกิจสำคัญลำดับต้น ๆ ของโลก การศึกษาเรื่องปัญหาของต้นกาแฟที่โลกกำลังเผชิญอยู่นั้น กลับมีข้อมูลออกมาสู่อุตสาหกรรมกาแฟน้อย ด้วยเหตุนี้ ในปี 2012 Dr. Timothy Schilling นักพันธุศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านพืช เห็นถึงความสำคัญ และตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงได้ก่อตั้งองค์กรที่มีชื่อว่า “World Coffee Research” ขึ้น เพื่อเป็นองค์กรด้านการวิจัยและพัฒนาการเกษตรที่ไม่แสวงหาผลกำไร จากความร่วมมือของแหล่งเงินทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับกาแฟ 30 กลุ่ม รวมถึงสมาคม Specialty Coffee Association of America, Green Mountain Coffee Roasters, Peet's Coffee & Tea, Counter Culture Coffee, the coffee importers InterAmerican Coffee, and specialty coffee providers Coffee Bean International. และในระยะเวลาเพียงทศวรรษกว่า ๆ WCR สามารถก้าวสู่การเป็นองค์กรวิจัยเอกชนระดับสากล ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโดยตรง นอกจากนั้น WCR ยัง


ร่วมมือกับบริษัทและสถาบันจาก 236 แห่งจาก 27 ประเทศทั่วโลก รวมถึงสถาบันวิจัยในท้องถิ่น เช่น องค์กรด้านกาแฟ รัฐบาล และ NGO ดำเนินงานภายใต้พันธกิจที่จะส่งเสริม ผลักดันความรู้งานวิชาการ และการศึกษาในทุกปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับกาแฟ ให้ครอบคลุมรอบด้าน ตั้งแต่ การเพาะปลูก ปรับปรุงสายพันธุ์ การผลิต การสร้างนวัตกรรม การผลักดันเครือข่าย สนับสนุนธุรกิจกาแฟทั่วโลก โดยตระหนักถึงสิ่งจำเป็นในการรับมือกับภาวะวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก นอกจากนี้ ยังพัฒนาเครื่องมือเกี่ยวกับการเกษตร เพื่อประโยชน์ของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ การต่อยอดผลผลิต สร้างผลกำไรแก่เกษตรกรผู้ปลูก ผลักดันเกษตรกรประเทศผู้ผลิตกาแฟและโรงคั่วให้มีคุณภาพที่ดี รวมถึงการใช้ประโยชน์จากการงานวิจัย ในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อรักษาความสมดุล รวมทั้งความหลากหลายของแหล่งต้นกำเนิดสายพันธุ์กาแฟ ให้สามารถสร้างความยั่งยืนแก่โลกอนาคตได้ โดยใช้ผลจากงานวิจัยในพันธุศาสตร์กาแฟและพืชไร่ สร้างพันธุ์กาแฟใหม่ ๆ ให้สามารถรับมือกับภัยคุกคามจากอุณหภูมิของโลกที่เปลี่ยนไป


ในช่วงปีที่ผ่านมา World Coffee Research ได้เผยแพร่รายงานฉบับพิเศษ ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 2021 ถึง 31 ธันวาคม 2021 โดยมีรายละเอียดครอบคลุมเหตุการณ์สำคัญ ๆ ทั้งหมด ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของทีมนักวิจัยในพื้นที่ฟาร์มเพาะปลูกกาแฟของเกษตรกรใน 11 ประเทศ สมาชิกพันธมิตรร่วม ได้แก่ Nicaragua, Mexico, Peru, Guatemala, Honduras, Uganda, Ethiopia, Kenya, India, Indonesia, Papua New Guinea และยังมีพื้นที่เพาะปลูกอื่น ๆ อาทิ Australia, Costa Rica, Democratic Republic of Congo, Hawaii, Laos, Malawi, Philippines, Puerto Rico, Zambia, Zimbabwe เป็นต้น ซึ่ง WCR มองว่า ประเทศเหล่านี้ ล้วนมีความสำคัญต่อแหล่งกำเนิด และความหลากหลายของกาแฟทั่วโลกที่จะต้องรักษาไว้ โดยเฉพาะ 11 ประเทศแรก เพราะถือเป็นประเทศที่ส่งออกกาแฟเข้าสู่ตลาดโลกมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากประเทศข้างต้นได้รับผลกระทบ ไปจนถึงการสูญพันธุ์ของบางสายพันธุ์ หรือแม้กระทั่งผลผลิตที่ลดลง อาจต้องเผชิญกับความเสี่ยง รวมถึงรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์อาจจะสูญหายไป ดังนั้น WCR จึงมุ่งเน้นในการศึกษาวิจัยในพื้นที่ดังกล่าวก่อนเป็นอันดับแรก แล้วค่อยขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ตามลำดับ


ในปี 2021 WCR ได้กำหนดทิศทางร่วมกับองค์กรที่เกี่ยวข้อง และสร้างรากฐานองค์ความรู้ที่สำคัญแก่ทุกภาคส่วนให้มีความยั่งยืน เพื่อความอยู่รอดของพืชเศรษฐกิจสำคัญนี้ อีกทั้งยังเปิดตัวรูปแบบสมาชิกใหม่เพื่อสนับสนุนการทำงานขององค์กร และเป็นทุนสำหรับการศึกษาค้นคว้า นอกจากนี้ WCR ยังพูดถึงแผนพัฒนากลยุทธ์อีก 5 ปีข้างหน้าของตัวเองเอาไว้ว่า จะมีการปรับโครงสร้างการศึกษา วิจัย โดยมุ่งเน้นที่การเพาะพันธุ์ การทดลอง พัฒนาเรือนเพาะชำ มุ่งสู่การขับเคลื่อนและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรเป็นหลัก เพื่อรักษาความหลากหลายของแหล่งต้นกำเนิดสายพันธุ์กาแฟ รวมถึงความต้องการกาแฟในตลาดโลกในอนาคต ทีมวิจัย WCR ยังได้เปิดตัว “Breeding Program Assessment Tool (BPAT) For Coffee” และเปิดตัวผ่าน Intertek ในปี 2022 เพื่อให้เกตรกร นักวิจัย สามารถเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น และนับเป็นก้าวสำคัญที่จะปฏิวัติวงการกาแฟให้มีเครื่องมือประเมินผลโปรแกรมการปรับปรุงพันธุ์สำหรับต้นกาแฟโดยเฉพาะ หรือ C-BPAT เพื่อสนับสนุนการปรับปรุงสายพันธุ์กาแฟ ให้สามารถทนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยในปี 2020 ที่ผ่านมา WCR ได้ทำงานร่วมกับ The University of Queensland - International สร้างเครื่องมือประมวลผลชิ้นนี้ โดยใช้เกณฑ์ที่ใช้กันทั่วไปในการประเมินโครงการปรับปรุงพันธุ์พืชต่าง ๆ ในเชิงพาณิชย์ เช่น ถั่ว ผัก กล้วย เป็นต้น ซึ่งประกอบไปด้วยแบบสอบถาม ตารางประเมินโดยทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาพันธุ์พืช ข้อมูลสรุปสถิติ ผลการรายงานจุดเด่นและจุดด้อยของโปรแกรม ซึ่งถูกนำไปใช้ในโครงการปรับปรุงสายพันธุ์กาแฟของประเทศ Uganda และ Ethiopia เป็นครั้งแรก และได้รับการพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ร่วมกับพื้นที่เพาะปลูกที่เข้าร่วมโครงการปรับปรุงสายพันธุ์


50 แห่งทั่วโลก โดยได้รับการสนับสนุนจาก Alliance for Climate Resilient Coffee และได้รับทุนจาก US Agency for International Development หรือ USAID เป็นหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐฯ หรือยูเอสเอด เป็นหน่วยงานอิสระของรัฐบาลกลางสหรัฐ ซึ่งรับผิดชอบต่อการให้การสนับสนุนระหว่างประเทศพลเรือน และความช่วยเหลือด้านการพัฒนาเป็นหลัก ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเข้ามามีบทบาทและการเปลี่ยนแปลงทิศทางในอนาคตของกาแฟให้สามารถอยู่รอดปลอดภัยในสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง อีกทั้งการเริ่มต้นการพัฒนาเครื่องมือดังกล่าว ยังช่วยเร่งการผลิตสายพันธุ์ที่มีคุณภาพของกาแฟ สู่มือเกษตรกรและพื้นที่เพาะปลูกทั่วโลกให้เร็วที่สุด ด้วยความสำเร็จดังกล่าว จึงถือว่าเป็นก้าวแรกที่ปฏิวัติวงการเพาะปลูกกาแฟ และถือเป็นรูปแบบโครงการที่ช่วยยืนยันถึงความยั่งยืนในอนาคตข้างหน้า ที่กาแฟจะสามารถอยู่รอดปลอดภัยได้ในสภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป


Breeding Program Assessment Tool (BPAT) For Coffee อาจไม่ได้มีความหมายเพียงแค่การแก้ไขปัญหาสายพันธุ์กาแฟหลักของโลกให้สามารถอยู่รอดปลอดภัยได้อย่างยั่งยืนในภาวะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หรือการรักษาเอกลักษณ์กาแฟดั้งเดิมให้คงอยู่เท่านั้น แต่อาจเป็นฐานที่จะนำพาไปสู่เครื่องมือ วิทยาการ และความรู้ใหม่ ๆ ได้ในอนาคต เพื่อสามารถรับมือกับทุกสภาพปัญหา เพราะสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ กาแฟจะยังคงเป็นพืชเศรษฐกิจที่เติมเต็มคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้อย่างยั่งยืนต่อไป


 

แหล่งข้อมูล

 

Coffee Traveler


เป็นนิตยสารรายสองเดือน ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ


และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ


- - -


สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX Facebook Coffee Traveler



Youtube : Coffee Traveler


117 views0 comments
bottom of page