top of page

ก้าวแรกสู่ฤดูเก็บเกี่ยวกาแฟ บนดอยม่อนล้าน


เราใช้เวลาเดินทางจากตัวเมืองนานกว่าสี่ชั่วโมง มุ่งหน้าสู่ปลายทางที่สถานีพัฒนาเกษตรที่สูงตาม

พระราชดำริ ดอยม่อนล้าน ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ความสูงกว่า 1,600 เมตร

เหนือระดับน้ำทะเล เมื่อรวมกับฝนที่ตกต่อเนื่องมาตั้งแต่คืนก่อน ทำให้ยอดดอยแห่งนี้ถูกปกคลุมไปด้วยหมอกหนาจนเราแทบไม่อยากขยับตัวไปทำอะไร ท่ามกลางอากาศหนาวและความชื้นแฉะนี้ กลับมีคนกลุ่มหนึ่งฝ่าหมอกฝนมารวมตัวกันที่นี่ เพื่อเตรียมตัวสำหรับฤดูเก็บเกี่ยวกาแฟในช่วงปลายปีที่กำลังจะถึง



พี่น้องชาวอาข่าจากบ้านอาแย บ้านอาบอแน และบ้านอาบอลาชา ซึ่งเป็นพื้นที่ในโครงการสถานีพัฒนาเกษตรที่สูง ฯ แห่งนี้ เป็นแรงสำคัญของกลุ่มกาแฟม่อนล้าน กลุ่มเกษตรกรปลูกกาแฟสายเลือดเชียงใหม่ ที่มีพัฒนาการน่าจับตามองอีกกลุ่มหนึ่ง นอกจากนี้แล้วยังมีกลุ่มเกษตรกรจากบ้านสิบหลังอาข่า ซึ่งแม้จะอยู่นอกพื้นที่โครงการฯ แต่ก็มีกำลังการผลิตและคุณภาพของเมล็ดที่ดีไม่แพ้กัน จึงได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มกาแฟม่อนล้านด้วย ทำให้อาคารไม้สักหลังเล็กๆ ที่รับหน้าที่เป็นห้องประชุมเฉพาะกิจในวันนี้

อัดแน่นไปด้วยเกษตรกรผู้เพาะปลูกกาแฟเกินร้อยคน บ้างมาในชุดลำลอง บ้างแต่งองค์ทรงเครื่องด้วย

ชุดท้องถิ่น โพกผมด้วยผ้าสีสดใส การเฝ้ามองรายละเอียดและความแตกต่างของเกษตรกรแต่ละคน ทำให้ลมฝนของเช้าวันนี้ไม่น่าเบื่อนัก



ชาวบ้านจากบ้านอาแย บ้านอาบอแน บ้านอาบอลาชา และบ้านสิบหลังมารวมตัวกันในวันนี้ ก็เพื่อประชุมเตรียมความพร้อมสำหรับฤดูเก็บเกี่ยว ด้วยความร่วมมือจากสถานีพัฒนาเกษตรที่สูงฯ และบริษัท

ซาลอตโต้คอฟฟี่ ที่เข้ามาให้ความรู้เรื่องการดูแลต้นกาแฟในช่วงโค้งสุดท้าย ซึ่งถือเป็นช่วงสำคัญ

ที่นอกจากเกษตรกรจะต้องป้องกันโรคพืชต่างๆ แล้ว ยังต้องบำรุงต้นกาแฟเป็นพิเศษเพื่อให้ได้ผลผลิต

ที่ดีที่สุดทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพ


"ดูเหมือนว่าเชื้อราจะเป็นสาเหตุการเกิดโรคอันดับหนึ่งของพื้นที่นี้

ไม่ว่าจะเป็นราสนิม ราดำ หรือราขาว ก็ล้วนเป็นสิ่งที่เกษตรกรทุกไร่

ต่างเคยประสบพบเจอเหมือน ๆ กัน"



ดูเหมือนว่าเชื้อราจะเป็นสาเหตุการเกิดโรคอันดับหนึ่งของพื้นที่นี้ ไม่ว่าจะเป็นราสนิม ราดำ หรือราขาว

ก็ล้วนเป็นสิ่งที่เกษตรกรทุกไร่ต่างเคยประสบพบเจอเหมือนๆ กัน เสียงพูดคุยด้วยภาษาถิ่นดังเซ็งแซ่ขึ้นทันทีหลังจากเกษตรกรคนหนึ่งถามคำถามเรื่องเชื้อราจบ แม้กำแพงภาษาจะกั้นเราออกจากบทสนทนาตรงหน้า แต่เราก็รู้ได้ทันทีว่าทุกคนกำลังคุยกันเรื่องราร้ายพวกนี้ เสียงเหล่านั้นค่อยๆ เงียบลงเมื่อคุณ

อภิชา แย้มเกษร กรรมการผู้จัดการ บริษัทซาลอตโต้ จำกัด เริ่มบอกวิธีการป้องกันความเสียหายจากราแต่ละชนิด


“อย่าปล่อยให้เทวดาดูแล” คือคำพูดสรุปง่ายๆ แต่ชัดเจน เพราะต้นกาแฟต้องได้รับการเอาใจใส่ ไม่ใช่ปล่อยให้เติบโตไปตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกต้นไม้อื่นที่ให้ร่มเงาเพิ่มขึ้น การหมั่นกำจัดวัชพืช ปลูกพืชคลุมดินและแต่งกิ่งล่างของลำต้นออกเพื่อให้อากาศถ่ายเท แม้จะไม่สามารถกำจัดราได้ทั้งหมด แต่ก็จะสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับต้นกาแฟ ส่งผลให้ต้นกาแฟมีผลผลิตที่ดีขึ้นได้


(ซ้าย) อภิชา แย้มเกษร กรรมการผู้จัดการ บริษัทซาลอตโต้ จำกัด


การบำรุงต้นกาแฟในระยะก่อนการเก็บเกี่ยวก็สำคัญไม่แพ้กัน การใช้ปุ๋ยเคมีแม้จะทำให้ได้ผลผลิตมาก

แต่ก็มีต้นทุนสูง และยังทำลายเชื้อราดีอย่างราไตรโคเดอร์มาที่จะช่วยกำจัดราไม่ดีชนิดอื่นๆ การใช้ปุ๋ยเคมีจึงไม่ใช่การบำรุงต้นกาแฟที่ยั่งยืน ไม่ได้ส่งผลดีให้กับการเพาะปลูกอย่างแท้จริง แตกต่างจากการใช้ปุ๋ยชีวภาพที่นอกจากจะราคาต่ำกว่าแล้ว ยังเป็นมิตรต่อทั้งผลผลิตและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย



"การใช้ปุ๋ยเคมีจึงไม่ใช่การบำรุงต้นกาแฟที่ยั่งยืน ไม่ได้ส่งผลดี ให้กับการเพาะปลูกอย่างแท้จริง"



ประเด็นสุดท้ายที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงในห้องประชุม คือการเริ่มทำบัญชีรายรับรายจ่ายง่ายๆ ซึ่งเป็น

กระบวนการสำคัญที่จะทำให้เกษตรกรเข้าใจได้ว่า การใช้ปุ๋ยชีวภาพนั้นคุ้มค่ากว่าการใช้สารเคมี

หลายเท่า เพราะเมื่อผ่านพ้นฤดูเก็บเกี่ยวไปแล้ว ตัวเลขเงินคงเหลือจะเป็นหลักฐานที่ยืนยันว่า

การเลือกใช้สิ่งที่ดีต่อธรรมชาติ ดีต่อต้นกาแฟ ก็คือการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับพวกเขาด้วยเช่นกัน




ฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตกาแฟอาจช้าเร็วเหลื่อมกันไปเล็กน้อยในแต่ละพื้นที่ แต่ในช่วงกลางฤดูฝนเช่นนี้

ก็ถือเป็นเวลาที่ผู้เพาะปลูกกาแฟทุกคนต้องเริ่มเตรียมตัวให้พร้อม ทั้งการปรับสภาพสวน

การบำรุงต้นกาแฟ และการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เพราะทั้งสามส่วนนี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้

ได้ผลผลิตกาแฟที่ดีขึ้นทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ และผลผลิตที่เกิดขึ้นจากการดูแลอย่างเหมาะสมนี้ ก็ย่อมจะส่งผลดีให้กับวงการกาแฟไทยและตัวเกษตรกรเอง เมื่อเวลาแห่งการเก็บเกี่ยวมาถึง


485 views0 comments
bottom of page