top of page

“ขุนช่างเคี่ยน” หมู่บ้านคนปลูกกาแฟ ที่ไม่ยอมพ่ายให้แก่เปลวไฟ

จังหวัดเชียงใหม่วันนี้ ท้องฟ้ากลับมาสดใสอีกครั้ง เราที่เป็นคนในเมือง มองเห็นยอดไม้และวัดพระธาตุดอยสุเทพได้ชัดเจนขึ้นอีกหน ในวันที่ไฟป่ามอดดับลงไปด้วยสายฝนที่โปรยปรายลงมาหลายวันติดกัน หากคุณได้ติดตามข่าวไฟป่าที่เชียงใหม่เหตุการณ์เศร้าสลดที่ไม่มีใครอยากให้เกิด เราสูญเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่และชาวบ้านในเหตุการณ์ครั้งนี้ไปหลายคน พื้นที่ป่าเสียหายเป็นวงกว้าง สัตว์ป่าที่ต้องตาย รวมถึงฝุ่นควันที่ลอยอยู่รอบตัว ในสิ่งร้ายก็ย่อมมีสิ่งดี เรายังได้เห็นภาพของการระดมความช่วยเหลือ #SaveChiangMai กลายเป็นแฮชแทกยอดนิยม ความช่วยเหลือและธารน้ำใจถูกหลั่งไหลไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งกับเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าและชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน



และแน่นอนว่า เมื่อไฟป่าเกิดอยู่บนพื้นที่สูง ย่อมหลีกไม่พ้นที่สวนกาแฟ หรือต้นกาแฟที่เกษตรกรต่างฟูมฟักรักษากันไว้เป็นอย่างดี เพราะมันคืออาชีพ เป็นต้นไม้ที่ให้ผลผลิตที่แปรเปลี่ยนเป็นรายได้ให้กับครอบครัว กลับต้องมอดไหม้ไปกับเหตุการณ์ครั้งนี้อยู่ไม่น้อย ไม่เพียงแต่ในพื้นที่บ้านขุนช่างเคี่ยนเท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงพื้นที่ปลูกอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่าในครั้งนี้เช่นเดียวกัน

นับเป็นระยะเวลาร่วมเดือนมาแล้ว กับเหตุการณ์ที่พลิกผันชีวิตประจำวันของชาวบ้านกว่า 130 ครัวเรือน ในพื้นที่บ้านขุนช่างเคี่ยน ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ให้กลับกลายเป็นภาวะไม่ปกติ เมื่อต้องสะดุ้งตื่นขึ้นมารับบทนักผจญเพลิงจำเป็นทุกค่ำคืนแทนเวลาพักผ่อนอันแสนสุขสบาย ต้องลุกขึ้นมาจับพลั่วเพื่อมุ่งหน้าไปยังเปลวเพลิงอันร้อนระอุ สาละวนช่วยกันดับไฟที่กำลังจะลุกลามเผาไหม้พื้นที่ทำกินของตัวเองซึ่งอยู่ตรงหน้า

ในวันที่อากาศกำลังเย็นสบายด้วยสายฝนที่ดูคล้ายเข้าสู่ฤดูฝน ไฟป่ามอดดับลงไปแล้ว ท้องฟ้ากลับมาสดใสอีกครั้ง ที่บ้านขุนช่างเคี่ยน คุณชาตรี แซ่ย่าง เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟเจ้าของกาแฟขุนช่างเคี่ยน หรือ KCK Beans และยังเป็นเจ้าของรางวัลจาก 10 สุดยอดกาแฟไทย ที่คนในวงการกาแฟต่างรู้จักกันดีถึงคุณภาพของกาแฟจากยอดดอยแห่งนี้ เล่าเรื่องราวของเจ้าไฟป่าที่เพิ่งมอดดับลงไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา พร้อมกับดริปกาแฟให้พวกเราได้ดื่มไปด้วยกัน คุณชาตรีเล่าว่าต้นเพลิงนั้นเริ่มลุกลามมาจากบริเวณหลังดอยปุยด้านทิศตะวันตก ในคืนวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา แล้วลามขึ้นมาจนถึงแนวเขตของหมู่บ้านขุนช่างเคี่ยนไม่กี่วันหลังจากนั้น

ชาวบ้านในชุมชนขุนช่างเคี่ยนส่วนใหญ่มีอาชีพทำเกษตร โดยเฉพาะไร่กาแฟ ทันทีที่เกิดไฟป่าลามเข้าใกล้ที่ทำกินของคนในหมู่บ้าน ผู้นำชุมชนก็ประกาศแจ้งเตือนล่วงหน้าหากว่าไฟลุกลามเข้าใกล้พื้นที่ทำกินของใคร เจ้าของพื้นที่ก็ต้องรีบเข้าไปทำแนวกันไฟให้ทันท่วงที จากนั้นชุดเฝ้าระวังไฟป่าจะตามเข้าไปช่วยดับไฟ

“ไฟมาดับสนิทจริงๆ ก็ตอนมีฝนตกหนักเมื่อช่วงกลางเดือนเมษายนนี่เองครับ ไฟมันไหม้มานานกว่าสิบวัน ของเราไม่ได้เสียหายหนัก แต่ก็เข้ามาประชิดแนวของสวนเรา ชาวบ้านที่มีสวนอยู่ติดแนวของไฟที่กำลังมา ก็ต้องเข้าไปทำแนวกันไฟไว้ก่อน เพราะเราไม่ใช่พื้นที่โล่งเตียน ต้นกาแฟมันปลูกอยู่ใต้ต้นไม้ในป่า ส่วนมากอยู่ยอดดอย ต่ำลงมาก็เป็นสวนลิ้นจี่ ใบไม้แห้งเต็มไปหมด ถ้าเราไม่กันแนวไว้ก่อน ไฟก็ลุกลามเข้ามาแน่นอน ช่วงนั้นยังไม่ถึงกับไหม้เยอะ ชาวบ้านก็ยังไปช่วยกันได้อยู่ ในชุมชนก็จะมีชุดเผชิญไฟ ก็จะได้คนชุดนี้ไปช่วยถ้าเราทำไม่ทัน”


ชาวบ้านในชุมชนขุนช่างเคี่ยนส่วนใหญ่มีอาชีพทำเกษตร โดยเฉพาะไร่กาแฟ ทันทีที่เกิดไฟป่าลามเข้าใกล้ที่ทำกินของคนในหมู่บ้าน ผู้นำชุมชนก็ประกาศแจ้งเตือนล่วงหน้าหากว่าไฟลุกลามเข้าใกล้พื้นที่ทำกินของใคร เจ้าของพื้นที่ก็ต้องรีบเข้าไปทำแนวกันไฟให้ทันท่วงที


ไฟป่าที่มีมาเกือบจะทุกปี แต่ทว่าปีนี้ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนจัดมาตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนเป็นต้นมา ทำให้เกิดไฟป่าไปทั่วทุกพื้นที่ภาคเหนือ แนวเทือกเขาที่หมู่บ้านชุนช่างเคี่ยนตั้งอยู่ก็หนักหน่วงไม่แพ้กัน และด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ที่มีไม่เพียงพอ รวมถึงขาดแคลนงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐฯ ที่อาจเป็นเพราะภาครัฐฯ เองก็กำลังสาละวนอยู่กับการแก้ปัญหาไวรัสโควิด 19 อยู่ด้วย สิ่งที่ได้รับการสนับสนุนในเหตุการณ์ไฟป่าครั้งนี้ จึงเป็นหน้าที่ของภาคเอกชนในพื้นที่ที่เข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนทั้งเครื่องมือเครื่องใช้และอาหารการกิน อย่างกลุ่มสายใต้ออกรถ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร ที่เปิดร้านอยู่บนเส้นทางรถสาธารณะสีเหลือง (คนเชียงใหม่เรียกว่าสายใต้) หรือกลุ่มป่าเขาลมหายใจเรา ที่ทั้งสองกลุ่มดูเหมือนจะเข้ามาเป็นสปอนเซอร์หลักในการดับไฟป่าในครั้งนี้


ไฟป่าที่มีมาเกือบจะทุกปี แต่ทว่าปีนี้ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนจัดมาตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนเป็นต้นมา ทำให้เกิดไฟป่าไปทั่วทุกพื้นที่ภาคเหนือ แนวเทือกเขาที่หมู่บ้านชุนช่างเคี่ยนตั้งอยู่ก็หนักหน่วงไม่แพ้กัน


ที่เต็นท์ด่านคัดกรองทางเข้าหมู่บ้านขุนช่างเคี่ยน วันที่โควิดกำลังระบาดหนัก ผู้ช่วยพงศ์เทพ แซ่เฒ่า ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ เทศบาลตำบลช้างเผือก กำลังขมีขมันตั้งจุดตรวจคัดกรองคนเข้าออก แต่ก็ยังปลีกเวลาทำงานมานั่งคุยกับเราถึงเรื่องไฟป่าที่เพิ่งทุเลาเบาลง ถึงธรรมชาติของไฟตามประสบการณ์ของผู้ช่วยที่อยู่ในพื้นที่ที่เกิดไฟป่าเกือบทุกปี “ส่วนใหญ่คือมีคนเผาหรือไม่ก็ลามมาจากพื้นที่อื่น ถ้าเราดับไม่สนิท ในป่ามันจะมีตอมีขอนไม้อยู่ มันก็จะไหม้ลามไปเรื่อยๆ ไม่มีจุดจบ เราแก้ไขไม่ได้ เราไม่มีทุนทรัพย์ที่จะไปเฝ้าให้มันดับสนิทได้ เราดับเสร็จเราก็ออกมา มันก็อาจปะทุขึ้นมาไหม้ต่อ เมื่อก่อนนี้ผมไม่เชื่อเลยว่ามันมีไฟใต้ดิน แต่มาปีนี้ผมเชื่อเลยว่ามีแน่นอน เพราะว่ามันสะสมเชื้อเพลิง พวกรากไม้ ใบไม้ ที่มันถมไว้มาหลายปี เราดับแต่พื้นเขียวๆ นะ แต่ข้างล่างเราไม่รู้เลยว่ามันมีความร้อนอยู่ เวลาไฟลามมาตอนตีหนึ่งตีสอง ผมก็ต้องเรียกชาวบ้านมา ทุกคนต้องเข้าพื้นที่ดับไฟ นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ชาวบ้านไม่สบายใจ ผลกระทบคือไม่ได้หลับไม่ได้นอน ผมเป็นผู้นำก็ต้องประชาสัมพันธ์บอกว่าไฟไหม้ตรงนั้นตรงนี้ ต้องขอความร่วมมือ ตรงนี้คือความเดือดร้อนของชาวบ้าน บางคนก็ไป บางคนก็ไม่ไป แต่ที่สุดแล้วคือทุกคนรักผืนป่าตรงนี้เหมือนกัน”

ชุมชนขุนช่างเคี่ยนเองก็มีการร่วมแรงร่วมใจกันมาโดยตลอด ที่หมู่บ้านนี้มีการตั้งกฎกติการ่วมกันเอาไว้ว่า หากใครไม่ไปช่วยดับไฟก็จะเสียค่าปรับ และหากใครไปช่วยดับไฟ ก็จะได้รับเงินค่าแรง ซึ่งแต่ก่อนเป็นเงินที่ได้จากรัฐฯ เช่น อบต. แต่หลังๆ มา เงินค่าดับไฟส่วนใหญ่ได้มาจากภาคเอกชน ผู้ช่วยพงศ์เทพบอกว่า 5 ปีมาแล้ว ที่ไม่ได้รับงบสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐฯ เลย


ส่วนใหญ่คือมีคนเผาหรือไม่ก็ลามมาจากพื้นที่อื่น ถ้าเราดับไม่สนิท ในป่ามันจะมีตอมีขอนไม้อยู่ มันก็จะไหม้ลามไปเรื่อยๆ ไม่มีจุดจบ
เวลาไฟลามมาตอนตีหนึ่งตีสอง ผมก็ต้องเรียกชาวบ้านมา ทุกคนต้องเข้าพื้นที่ดับไฟ นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ชาวบ้านไม่สบายใจ

“กว่ายี่สิบปีมาแล้วที่ไม่เคยเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ลุกลามกว้างขนาดนี้” ชายหนุ่มวัย 26 ผู้ทำหน้าที่ปกป้องผืนป่าในชุดสีเขียวลายพรางเอ่ยขึ้น

โดยปกติแล้วเทียนชัย พนาไพรสกุล พนักงานจ้างเหมา จะปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่บริเวณลานกางเต็นท์ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ – ปุย เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวและบุคคลทั่วไป แต่วันนี้ นอกจากจะต้องมานั่งเฝ้าจุดตรวจคัดกรองหน้าหมู่บ้านขุนช่างเคี่ยนแล้ว เมื่อใดที่เกิดไฟป่าขึ้นในพื้นที่ เทียนชัยก็จะต้องเป็นหนึ่งในทีมงาน รวมกับเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ เข้ามาทำหน้าที่ดับไฟป่าในพื้นที่รับผิดชอบของตนเช่นกัน

การจุดไฟในพื้นที่ทำกินของเกษตรกรนั้น เป็นเรื่องปกติสำหรับเกษตรกร เทียนชัยบอกกับเราอย่างนั้น แต่นั่นก็หมายถึงการเผาเฉพาะพื้นที่ทำสวนเล็กๆ เท่านั้น หากแต่ปีนี้ไฟกลับเริ่มมาจากพื้นที่อำเภอหางดง ซึ่งได้รับความเสียหายหนักมาก พอไฟเริ่มเข้ามาในเขตพื้นที่อุทยานฯ ด้วยจำนวนเจ้าหน้าที่และชุดสายตรวจซึ่งมีจำนวนน้อยอยู่แล้ว จึงต้องประสานกับเจ้าหน้าที่ทหารให้เข้ามาช่วยเหลือ โดยแบ่งหน้าที่การตั้งจุดเฝ้าระวัง

“บางทีไฟก็ไม่ดับจริง จะมีตอไฟที่ข้ามมา ต้องอ้อมแนวกันไฟใหม่ไกลไปอีก บางส่วนเป็นไฟใต้ดินที่เรามองไม่เห็น ถึงเราจะทำแนวกันไฟข้างบนแล้ว แต่มันไหม้มาจากด้านล่าง ยิ่งมีลมพัดมามันก็ยิ่งไหม้”

ความยากของการดับไฟคือการทำแนวกันไฟที่ต้องขุดให้ลึกลงไปถึงชั้นใต้ดิน แต่มันก็มีข้อจำกัดด้วยเศษใบไม้ที่กองทับกันมาหลายปี มันน่ากลัวตรงไฟใต้ดิน ซึ่งเรามองไม่เห็นมัน จึงไม่สามารถทำแนวกันไฟบนพื้นที่ที่ยังมีไฟคุกรุ่นอยู่ข้างใต้ได้ ท่ามกลางเปลวเพลิงที่กำลังโหมกระหน่ำไปทั่วบริเวณ การปฏิบัติการทุกอย่างจึงต้องรีบทำเพื่อที่จะแข่งกับเวลา เพราะไฟไม่เคยรอเรา มันพร้อมที่จะเผาไหม้ลุกลามไปทุกที่ที่มันอยากไป

นั่นจึงอาจใช้เป็นเหตุผลสำหรับคนพื้นราบอย่างเราๆ ได้ว่า ทำไมถึงมีคนต้องตายจากเหตุการณ์นี้ และทำไมไฟถึงไหม้ลามไปจนดูไม่มีทีท่าว่าจะจบลง ถ้าธรรมชาติไม่เข้ามาช่วยเอาไว้เหมือนอย่างเช่นครั้งนี้ โชคดีที่คราวนี้มีฝนตกลงมาต่อกันหลายวันติด จนดูเหมือนเป็นช่วงฤดูฝน ธรรมชาติคงสงสารหรือเห็นใจมนุษย์ที่ต้องมาเจอเคราะห์ซ้ำกรรมซัดจากหลายด้าน โดยเฉพาะคนในเมืองที่ต้องเผชิญทั้งโรคระบาด ฝุ่นควัน และความร้อน น้ำฝนที่เซาะซึมลงไปถึงใต้ดิน ทำให้ความร้อนสะสมในชั้นใต้ดินได้คลายความร้อนและสงบลง แต่คนทำงานด้านป่าไม้อย่างเทียนชัยก็ยังไม่ไว้วางใจ เขาบอกว่าหลังจากนี้ก็ยังคงต้องเฝ้าระวังกันต่อไป เพราะเมื่อไรที่ดินแห้ง จุดที่ยังไม่ไหม้ก็อาจจะเกิดไฟขึ้นมาได้อีก”


การจุดไฟในพื้นที่ทำกินของเกษตรกรนั้น เป็นเรื่องปกติสำหรับเกษตรกร เทียนชัยบอกกับเราอย่างนั้น แต่นั่นก็หมายถึงการเผาเฉพาะพื้นที่ทำสวนเล็กๆ เท่านั้น


ถึงแม้ว่าในพื้นที่สวนกาแฟของหมู่บ้านขุนช่างเคี่ยนกับเหตุกรณ์ไฟป่าในครั้งนี้ จะไม่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงเหมือนพื้นที่ปลูกกาแฟอื่นๆ แต่ชาตรีเจ้าของสวนกาแฟระดับมือรางวัลเอง ก็มองไปถึงแผนการเพื่อปกป้องสวนกาแฟ อันเป็นที่ทำกินของเขาไว้ล่วงหน้าเช่นกัน


หลังสายฝนโปรยปรายมันทำให้หัวใจของชาวบ้านขุนช่างเคี่ยนได้ชุ่มฉ่ำตามไปด้วย ทุกคนในชุมชนขุนช่างเคี่ยนอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาอาศัย เป็นหน่วยเล็กๆ ของสังคม ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังของความร่วมไม้ร่วมมืออันเข้มแข็ง ไม่ยอมแพ้ให้กับไฟที่เฉียดเข้ามาใกล้ผืนป่าที่พวกเขารัก เราเชื่อว่าอีกไม่นาน นักท่องเที่ยวก็จะมีโอกาสได้ขึ้นไปเยือนไร่กาแฟได้ตามปกติ ขึ้นไปสัมผัสวิถีคนปลูกกาแฟได้อย่างใกล้ชิด นั่งจิบกาแฟท่ามกลางบรรยากาศเย็นสบาย ได้แลกเปลี่ยนบทสนทนาดีๆ ร่วมกัน และเมื่อลมหนาวกลับมาอีกครั้ง ดอกพญาเสือโคร่งสีชมพูก็จะบานเต็มดอย กลับมาสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ให้กลับมาคึกคักได้เหมือนเดิม

1,187 views0 comments
bottom of page