top of page

สายน้ำสีดำที่ลุ่มน้ำบางนรา : Coffee specialty in special cities



ภาพถ่ายโดย ยอร์ช กฤษฎา เชื้อชุมพล


กาลเวลาเดินหน้าไปอย่างเชื่องช้า พร้อมกับสถานการณ์ไฟใต้ที่ยังคงเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้บางครอบครัว เลือกที่จะย้ายออกไปเริ่มต้นใหม่ในพิ้นที่อื่น แต่ขณะที่อีกหลายครอบครัวเลือกที่จะอาศัยอยู่ที่นี่ แน่นอนว่าความกังวลใจในการดำเนินชีวิตในพื้นที่แห่งนี้ ไม่สามารถจางหายไปได้ง่ายๆ


แต่ในมุมกลับกัน ธุรกิจร้านกาแฟในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งยะลา ปัตตานี และนราธิวาส กลับเกิดขึ้นมากมาย ราวกับความไม่สงบใดๆ ไม่มีผลต่อการทำธุรกิจนี้ ร้านกาแฟที่เกิดใหม่มีทั้งร้านกาแฟธรรมดา ร้านกาแฟแฟรนไชส์ และร้านกาแฟพิเศษ ซึ่งเกิดขึ้นหลายสิบร้าน ทำให้คนในพื้นที่มีทางเลือกในการดื่มกาแฟมากขึ้นตามไปด้วย


ร้านกาแฟในสามจังหวัดชายแดนใต้ พัฒนาไปอย่างต่อเนื่องทั้งด้านการบริการ การลงทุน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า จากเดิมร้านกาแฟมีเพียงหยิบมือ มักตั้งเป็นร้านเล็กๆ ง่ายๆ ข้างถนน แต่ปัจจุบัน ร้านกาแฟต่างเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และแต่ละจังหวัด ก็เริ่มมีการนำกาแฟคุณภาพเข้ามาเพื่อบริการต่อลูกค้า มีวิธีการชงที่หลากหลาย ทั้งแบบ Slow bar ดริป ไซฟ่อน หรือ Moka pot ทำให้มีความพิเศษและมีรสชาติที่หลากหลายมากขึ้น




คุณสุปวีณ์ สายบัณฑิต เจ้าของร้าน 10th Coffee Bar

คุณสุปวีณ์ สายบัณฑิต เจ้าของร้าน 10th Coffee Bar หนึ่งในร้านกาแฟพิเศษของจังหวัดนราธิวาส สำรวจตลาดกาแฟในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือน เขาพบว่ามีร้านกาแฟพิเศษอยู่หลายร้าน ซึ่งก็ดูจะทำให้รสนิยมการดื่มกาแฟของคนในพื้นที่ มีการปรับเปลี่ยนและเข้าใจกับกาแฟคุณภาพมากขึ้น


ทุกเหตุการณ์เราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อไหร่อย่างที่คนในพื้นที่พูดติดตลกว่าเหมือนการถูกหวยรางวัลที่ 1 ถ้าโชคดีก็ซวยหน่อย

“แม้จะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ เอาแน่เอานอนไม่ได้ คนหวาดกลัวไม่กล้าท่องเที่ยว ลงทุนทำธุรกิจ หรือเปิดกิจการ ในขณะที่มีความเสี่ยงและมีเหตุการณ์ แต่ถ้ากลัวจนไม่กล้าที่จะเริ่มแล้วจะใช้ชีวิตอย่างไร เพราะถ้ามัวแต่กลัว ก็คงไม่ได้ทำสักที อาชีพอื่นก็เช่นกัน ทุกเหตุการณ์เราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อไหร่ อย่างที่คนในพื้นที่พูดติดตลกว่าเหมือนการถูกหวยรางวัลที่ 1 ถ้าโชคดีก็ซวยหน่อย"



ภาพถ่ายโดย ยอร์ช กฤษฎา เชื้อชุมพล


อุปสรรคในการทำร้านกาแฟในแต่ละพื้นที่นี้มีความแตกต่างไปตามบริบทของสังคม สภาพแวดล้อม และพื้นที่ แน่นอนว่าการทำธุรกิจร้านกาแฟในสามจังหวัดชายแดนใต้ หนีไม่พ้นเรื่องความไม่สงบภายในพื้นที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือคาดการณ์ได้ ทั้งสถานที่เกิดเหตุและจังหวะเวลาใด


"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นย่อมเป็นอุปสรรคอยู่แล้ว เพราะหากไม่มีเหตุการณ์ตรงนี้ ผมมองว่าจังหวัดนราธิวาสน่าจะเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ดีเมืองหนึ่งทีเดียว เพราะเรามีทั้งสนามบิน สถานีรถไฟ และเป็นเมืองอยู่ติดชายแดน ซึ่งเมืองติดชายแดนส่วนมากจะเจริญ แต่สถานการณ์ความไม่สงบ มันเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เราเป็นเพียงประชาชนที่หาเช้ากินค่ำ เราก็ต้องใช้ชีวิตในแบบของเรา ทำงานของเรา เพียงแต่เราต้องรอบคอบมากขึ้น เตรียมตัวมากขึ้น ทั้งการติดกล้องวงจรปิดภายในร้าน พนักงานช่วยกันสอดส่องดูแลเรื่องความปลอดภัย เราดูแลในสิ่งที่เราทำได้"


ส่วนใหญ่คนที่นี่มักจะพูดว่าธุรกิจการบริการรวมไปถึงร้านกาแฟสามารถวัดผลได้ใน 3 เดือน ว่าจะรอดหรือไม่รอด ซึ่งภายใน 3 เดือนนี้ มันจะขายดี เพราะในพื้นที่มีประชากรเยอะ ในขณะที่เมืองมันเล็ก

"ส่วนใหญ่คนที่นี่มักจะพูดว่าธุรกิจการบริการรวมไปถึงร้านกาแฟสามารถวัดผลได้ใน 3 เดือน ว่าจะรอดหรือไม่รอด ซึ่งภายใน 3 เดือนนี้ มันจะขายดี เพราะในพื้นที่มีประชากรเยอะ ในขณะที่เมืองมันเล็ก เขาก็จะหมุนเวียนแวะกันไปชิม แต่หลังจาก 3 เดือน ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง ลูกค้าก็จะเริ่มน้อยลง ช่วงแรกจึงเป็นช่วงที่ลูกค้ามาลองดูว่าร้านเปิดใหม่จะสามารถเป็นร้านประจำในอนาคตของเขาได้หรือไม่"





ซึ่งที่ร้าน 10th Coffee Bar เอง มีเมนูทางเลือกอื่นๆ ไว้เอาใจลูกค้า ทั้งกาแฟ Single origin แบรนด์ไทยอย่างปางขอน หรือกาแฟจากเอธิโอเปีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และบราซิล และดึงเอาความแตกต่างและความแปลกใหม่เข้ามาดึงดูดลูกค้า


"ผมว่าทุกคนต้องการของที่แปลกใหม่ แตกต่าง และอร่อย ถ้าเราทำธุรกิจแบบใส่ใจผู้บริโภคมันก็น่าจะไปได้ครับ โดยไม่เกี่ยวว่าจะเป็นสามจังหวัดชายแดนใต้หรือเปล่า เพราะผู้บริโภคหลายคนก็ต้องการของดีอยู่แล้ว"



คุณกฤษฎา เชื้อชุมพล บาริสต้าร้าน 10th Coffee Bar

จากความต้องการดื่มกาแฟพิเศษดีๆ จนมาเปิดร้านกาแฟของตัวเอง และได้รู้จักแวดวงร้านกาแฟด้วยกัน ทำให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อมูล เกิดความคิดสร้างสรรค์ และนำไปสู่เป้าหมายใหญ่อย่างมีความหวังว่าจะมีงานเทศกาลกาแฟจังหวัดนราธิวาสสักครั้ง เพื่อรวมตัวคนที่สนใจ รัก และเห็นความสำคัญของกาแฟ ไม่ว่าจะเป็นผู้ดื่ม บาริสต้า และเจ้าของร้าน ให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนและดื่มด่ำรสชาติกาแฟ ให้ได้เห็นว่ากาแฟมีหลายรูปแบบ โดยเริ่มต้นด้วยกิจกรรมเล็กๆ ของกลุ่มคู่ค้าร้านกาแฟพิเศษ อย่างการเก็บแต้มล่าตราปั๊มร้านกาแฟแต่ละร้าน


สุปวีณ์อธิบายว่า เขาต้องการทำให้ธุรกิจสามารถหมุนเวียนต่อไปได้โดยลูกค้าไม่จำเป็นต้องไปกระจุกอยู่ที่ร้านใดร้านหนึ่ง เพื่อช่วยเหลือกันและกัน ให้คนได้เห็นความสำคัญของกาแฟ ผู้บริโภคได้เห็นความหลากหลายของกาแฟ และรู้สึกสนุกทุกครั้งที่ได้ดื่มกาแฟในแบบของเขา


ผมมองว่าธุรกิจกาแฟในสามจังหวัดชายแดนใต้ยังสามารถเติบโตได้อีก ปัจจัยหลักที่หล่อเลี้ยงธุรกิจนี้ให้อยู่รอดคือคนดื่มกาแฟ ถ้าไม่มีคนดื่มเราก็ไปต่อไม่ได้

เจ้าของร้าน 10th Coffee Bar กล่าวเพิ่มว่า หากทุกคนมีความสุขกับร้านกาแฟสมัยใหม่ ก็น่าจะทำให้ธุรกิจร้านกาแฟพิเศษในพื้นที่นี้สามารถเติบโตขึ้นได้ มีคนกล้าเข้ามาลงทุนทำธุรกิจมากขึ้น ทำให้เมืองพัฒนาขึ้น แม้จะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ที่ทำเพื่อมุ่งหวังให้จังหวัดในพื้นที่สีแดงดีขึ้นได้ ซึ่งจะได้มากได้น้อยแค่ไหนนั้น เขาบอกว่าไม่รู้ แต่แค่ได้ทำในสิ่งที่ตนชอบ ก็เท่านั้น



ภาพถ่ายโดย ยอร์ช กฤษฎา เชื้อชุมพล


ในขณะที่สายน้ำบางนราไหลผ่านระเบียงหลังร้าน 10th Coffee Bar เวลาก็ก้าวเดินไปเรื่อยๆ อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ไม่ต่างกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในสามจังหวัดชายแดนใต้ ที่พยายามดิ้นรนก้าวเดินไปข้างหน้า ใช้ชีวิตที่เปี่ยมไปด้วยความหวัง เพื่อก้าวข้ามความหวาดหวั่นและดำเนินชีวิตในแบบของตนได้ต่อไป

395 views0 comments
bottom of page