สองข้างทางครึ้มเขียวด้วยทิวสนสูงชันเรียงรายอยู่ตลอดเส้นทางที่ถูกขนานนามว่า “ดินแดนแห่งป่าสนผืนใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” การเดินทางครั้งนี้เราใช้รถกระบะควบไปบนเส้นทางราดยางมะตอยหมาดใหม่แสนสะดวกสบาย ก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือนจะเดินทางไปยังที่อำเภอกัลยาณิวัฒนาค่อนข้างยากลำบาก โดยเฉพาะฤดูฝน ถนนลูกรังจะแปรสภาพเป็นถนนโคลน ไม่เป็นมิตรกับรถยนต์และคนขับ
อำเภอกัลยาณิวัฒนาสามารถเดินทางได้สองเส้นทาง คือไปทางอำเภอแม่ริมผ่านอำเภอปาย หรือไปทางอำเภอสะเมิงดังที่เราเลือกใช้เดินทางกันครั้งนี้ หากเริ่มจากตัวเมืองเชียงใหม่ขึ้นไปตามอำเภอสะเมิง
ใช้เวลาการเดินทางทั้งสิ้นประมาณ 4 ชั่วโมง เมื่อไปถึงสิ่งที่เราสัมผัสเป็นอย่างแรก คือความเงียบสงบ แตกต่างจากอำเภออื่นๆ ไม่มีผู้คนหรือรถราพลุกพล่าน เป็นไปตามธรรมชาติของชาวปกากะญอ ซึ่งเป็นชนกลุ่มที่รักสงบ ดำรงชีวิตโดยพึ่งพาธรรมชาติ
Saenchai Estate คือชื่อแบรนด์ของพี่แสนชัย จูเปาะ เกษตรกร ผู้เพาะปลูกกาแฟสายพันธุ์ดั้งเดิม
อาทิ Typica, Java, Rambang และ Orange Bourbon จากการนำเข้าของมิชชันนารีเมื่อ 54 ปีก่อน
พี่แสนชัยลองผิดลองถูกจนได้กระบวนการตากแห้งเป็นที่พอใจ ขัดสีเป็นกาแฟสาร นำออกจำหน่ายชนิดที่เรียกว่า ทำมาได้เท่าไหร่ก็ขายหมด เขาเป็นตัวแทนของการอนุรักษ์สายพันธุ์เก่าและขยายพันธุ์
ต้นกล้าให้กับชาวปกากะญอชนเผ่าพื้นถิ่นได้ทดลองปลูกจนเป็นช่องทางทำกินรูปแบบใหม่
จุดเริ่มต้น
เริ่มจากที่นี่เป็นหมู่บ้านของภรรยา เมื่อมาเจอครั้งแรกๆ ก็รู้สึกว่าเป็นพื้นที่ธรรมดา ไม่สูงมากมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลอยู่ที่ประมาณ 1,100 -1,300 เมตร และเป็นป่าสนเสียส่วนใหญ่ไม่ได้คิดว่ากาแฟจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ก็อยากทดลองอยู่ ก็เริ่มศึกษาหาข้อมูลกับชาวบ้านกับผู้มีความรู้ของที่นั่น
ไม่ว่าจะเป็น พะตี ทองดี และอีกหลายๆ คน ก็ได้รู้ว่ากาแฟของพื้นที่นี้มีความพิเศษในเรื่องของสายพันธุ์ เพราะเมื่อ 54 ปีที่แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 ที่มิชชันนารี ได้นำต้นกล้ากาแฟมาปลูกไว้ที่นี่ขณะนี้ก็ยังคงมี
ต้นกาแฟเหล่านั้นอยู่ในหมู่บ้าน โดยปีที่ผ่านมาจึงนำไปทดลองว่ากาแฟเหล่านี้ดีจริงไหม รสชาติมัน
โอเคหรือเปล่ามีความแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน ปรากฏว่ามันมีคาแร็กเตอร์ที่แตกต่างกัน จึงคิดว่าจะนำส่วนนี้ไปขยายต่อไป เพราะเมื่อก่อนชาวบ้านก็ปลูกแต่ไม่ได้รับการส่งเสริมหรือได้รับการต่อยอดจึงทำให้กาแฟที่นี่หายไป
การทดลอง
ช่วงแรกของการโปรเสจปีที่ผ่านมาฝนตกประมาณ 2-3 อาทิตย์ ต้องคัดทิ้งไปประมาณ 10 กระสอบ พอมาโปรเสจจริงๆ หลังจากนั้นเริ่มนิ่งมากขึ้น แต่ด้วยสภาพอากาศมีหมอกและน้ำค้าง จึงทำโดมพลาสติกยาวเป็นผืนเดียวคล้ายอุโมงค์ เมื่อน้ำค้างลงจะเกิดความชื้นภายใน ช่วงแรกยังไม่พบวิธีแก้ปัญหา
เมื่อผ่านไป 3 อาทิตย์ ปัญหาเรื่องน้ำค้างก็เริ่มหายไป จึงเริ่มโปรเสจได้ ผมทดลองมาหลายวิธีวางตัวแคร่ที่ตากห่างจากพื้นประมาณครึ่งเมตร เอาผ้าไปล้อมไว้เหมือนล้อมรั้วเพื่อกันไม่ให้ลมเข้ามา แต่มันก็ไม่ได้อยู่ดีก็เลยไม่รู้จะทำอย่างไร ตอนนี้ก็เลยเอาแคร่สองอันมาชนกัน ให้มีรูระบายข้างบนให้อากาศถ่ายเทได้ง่ายตามที่เคยไปโครงการอบรมที่ดอยช้างของบลูคอฟกับคุณ Eko Purnomowidi ในเรื่องการโปรเสจ ส่วนหนึ่งเขาบอกมาจากความแตกต่างของอุณหภูมิของข้างในที่สูงกว่าข้างนอกจึงทำให้เกิดหยดน้ำเกาะ แต่สิ่งที่แก้ไขคือให้มันมีลมไปเลยเพื่อที่จะทำให้อุณหภูมิข้างนอก-ข้างในเท่ากันและจะใช้วิธีการยกความสูงระหว่างแคร่กับพลาสติกขึ้นไปอีก ปีที่ผ่านมาใช้ความสูงของแคร่ประมาณเกือบหนึ่งเมตร ปีนี้อาจจะใช้ประมาณ 1.20 – 1.50 เมตร ก็มีสิ่งที่เราได้เรียนรู้เพิ่มขึ้น มีสิ่งที่ทำให้เราต้องเรียนรู้และตื่นเต้น
ไปกับมัน ความสุขของผมก็คือความตื่นเต้น
วางเป้าหมายในเส้นทางสายกาแฟไว้อย่างไร
ในอนาคตสิ่งที่ผมอยากจะพัฒนาต่อไปคือในเรื่องของสายพันธุ์จากต้นน้ำให้ดีที่สุด ตั้งแต่ในเรื่องของการเพาะเมล็ด การปลูก พื้นที่ปลูกให้ปลูกใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ ใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพเข้ามาช่วย และพัฒนาเรื่องการ Process ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ
มีสายพันธุ์อะไรบ้าง
มีสายพันธุ์ทิปปิก้า, จาว่า, ลัมบัง และก็มีอีกหลายสายพันธุ์ที่ผมยังไม่รู้ว่าเป็นสายพันธุ์อะไร แต่ในเรื่องของค่า Brix มีความหวานมาก เคยไปไล่วัดค่า Brix เจออยู่ที่ประมาณ 27 เลยก็มี บางต้นถึง 30
ซึ่งค่า Brix ของกาแฟใหม่ๆ อยู่ที่ 15-16 ได้ถึง 20 ก็ถือว่าเจ๋งมากแล้ว แต่พอเจอตัวนี้เข้าไปผมตกใจเลย (หัวเราะ)
เกษตรกรที่นี่ปลูกอะไร
จะนิยมปลูกพวกผลไม้ ทั้งอะโวคาโด้ ลูกพลับ สาลี่ ลูกท้อ บางครอบครัวก็ปลูกผักขายส่งให้กับโครงการหลวง ซึ่งถ้าพูดถึงกาแฟ ณ ปัจจุบันนี้ยังไม่ได้เป็นพืชหลัก แต่ในอนาคต หลายๆ คนเริ่มเข้ามาสนใจและก็เริ่มทำ บางครอบครัวปลูกไว้เป็นพันๆ ต้นแล้วก็มี ดูแล้วในอนาคตน่าจะกลายมาพืชหลักของที่นี่ได้
ด้วยความพร้อมทั้งสภาพ อากาศ ระดับความสูงและพื้นที่ปลูกที่เป็นพื้นที่ราบสูง ความได้เปรียบของคืออากาศของที่นี่ค่อนข้างที่จะเย็นเป็นผืนป่าสนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และชาวบ้านรักษาพื้นที่ป่าของที่นี่ไว้เป็นอย่างดี จะเน้นการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติและเน้นในเรื่องของการเป็นป่าอินทรีย์ เพราะชาวบ้านแต่ละคนก็จะไม่ใช้สารเคมีซึ่งเป็นมติของประชาคมหมู่บ้าน
กาแฟได้ถูกนำไปใช้ที่ไหนบ้าง
ตามร้านกาแฟต่างๆ เช่น School coffee, Gallery Coffee Drip, Cottontree Coffee และที่ประเทศญี่ปุ่น
ปัญหาและอุปสรรค
ปัญหาอย่างหนึ่งคือได้กำไรน้อยหรือบางทีก็ทำแล้วแทบจะไม่ได้อะไรเลย กาแฟที่ผมคั่วขายอยู่ทุกวันนี้เป็นรายได้ที่ทำให้ผมพอใช้จ่ายไปวันๆ ไม่มีเงินเก็บ ก็เลยจะนำเมล็ดสารไปขายบ้างมันก็เจอปัญหาอีก คือไม่ได้ตามราคาที่ตกลงกันไว้ เขากดและขอลดราคาลง 5 บาท แต่ว่าในส่วน 5 บาท นั้นคือกำไรที่เราจะได้ ก็เลยรู้สึกท้อไม่อยากทำเหมือนกันและคิดว่าเราน่าจะไปทำอย่างอื่นหรือว่าเราอาจจะกลับไปเป็นครูเหมือนเดิม แต่ว่าประมาณปีก่อนก็หันที่จะมาทำโปรเสจกาแฟใหม่ๆ สุดท้ายก็ได้ตัวที่โอเคก็คือ
black honey
ปกากะญอกับการปลูกกาแฟ
ผมไม่ค่อยมีปัญหากับลูกสวนเท่าไหร่ สิ่งแรกที่ผมทำคือให้ความสำคัญกับเขา ผมทำให้เขาเห็นคุณค่าของสิ่งที่พวกเขาทำ แล้วเขาก็อยากเห็นคุณค่าในสิ่งที่เขาทำเหมือนกัน ทุกอย่างที่ผมได้รับจากลูกค้าผมก็จะนำกลับมาบอกพวกเขาว่ามันมีผลตอบรับอย่างไร มีคนต้องการเยอะมากจนขายไม่พอ พยายามให้เขาเห็นในสิ่งที่เราทำ ถ้าเราตั้งใจเขาก็เอาด้วยเหมือนกัน ตั้งแต่การเปลี่ยนรูปแบบเคมีมาเป็นอินทรีย์ โดยที่ผมไม่ต้องพูดอะไรเยอะ ที่สำคัญคือเราต้องทำให้เขาเห็น สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เราคอนโทรลลูกสวนได้ง่าย
ผมว่ากาแฟสามารถเล่าเรื่องในตัวของมันเองได้ เมื่อไปถึงที่ไหนก็ตามมันก็จะบอกถึงวิถีชีวิตที่มันเกิดมา ตัวตนของมันจะบอกเองจากรสชาติของมันบอกไปถึงการปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี ปลูกใต้ร่มเงาไม้ ไม่รีบเร่งให้ผลออกมาจำนวนมาก แล้วก็บอกถึงการพึ่งพาอาศัยตัวของมันเอง รวมถึงสภาพอากาศบริสุทธิ์ของที่นี่
ตอนแรกเริ่มพวกเขาก็ไม่เคยมั่นใจกับการปลูกกาแฟเลย ไม่เคยคิดว่ามันจะทำให้พวกเขาอยู่ได้ แต่ตอนนี้เริ่มเปลี่ยนไป เริ่มเห็นรายได้ หลายครอบครัวก็เริ่มที่จะหันมาปลูกกาแฟกับเรา ปัญหาก็จะมีอยู่กับเรื่องความรู้ ความเชี่ยวชาญเท่าไหร่ คือจริงๆ เขาก็เคยปลูก แต่มันไปถึงจุดที่ไปต่อไม่ได้ เคยทำแล้วผิดหวัง
ต่างจากหมู่บ้านที่ไม่เคยปลูกกาแฟพวกเขามีความคิดอยากริลองมากกว่าซึ่งตอนนี้ก็กลับมาฟื้นตื่นขึ้น
อีกครั้ง
ที่ผ่านมาผมไม่เคยได้สมผัสกับชนเผ่านี้เลย แต่เมื่อเรียนมหาวิทยาลัย แล้วได้สัมผัสกับชนเผ่านี้ก็รู้สึกเหมือนได้พบคาราแร็กเตอร์ใหม่ เป็นคาราแร็กเตอร์ที่เป็นมิตร อบอุ่น ผมตั้งฉายาพวกเขาว่าเป็น ‘ชนเผ่าอดทน’
มีวันหนึ่ง เพื่อนผมชื่อชิ วันนั้นไปเรียนที่แม่ริม เป็นคณะเกษตร แล้วทีนี้ผมก็ลืมเอากระเป๋าสตางค์ไป ก็เลยไม่มีเงินกินข้าว ก็ไปขอยืมเงินเพื่อนคนนี้ เขาก็ให้ ผมก็ไปซื้อมากิน แต่คนนี้ไม่กิน พอถามแล้วเขาก็บอกว่าไม่หิว พอมารู้ทีหลังว่าเขาเองก็มีเงินอยู่แค่นั้น ผมเอาเงินของเขามากินหมดแล้ว จึงรู้สึกซาบซึ้งในน้ำใจของเขา ตลอดเวลาที่ได้สัมผัสเขาให้คนอื่นได้ เขาคิดถึงคนอื่นก่อน เขาเป็นคนที่รวยน้ำใจ คือเพื่อนแต่ละคนที่มาเรียนที่นั่น พวกเขาไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าจะเจออะไร แต่พวกเขามีความหวังและแรงศรัทธา
ที่จะเรียนหนังสือ
อนาคต
อยากจะคงสายพันธุ์ดั้งเดิม รักษามันไว้ มันมีรสชาติที่ดีกว่าสายพันธุ์ใหม่ ถึงแม้ว่าจะมีผลผลิตไม่เยอะ
ผมเริ่มเพาะต้นกล้าไว้ตั้งแต่ปีที่แล้วเตรียมแจกชาวบ้านที่สนใจ เพราะว่าผมสัมผัสความดีของมัน
ด้วยตัวเอง ผมวัดค่าความหวาน ผมไล่เจอสิ่งแปลก คือความหวานในสายพันธุ์ดั้งเดิม เมื่อโปรเสจ
ออกมาแล้วมันดีกว่า
Comments