ปลูกกาแฟเพื่ออนุรักษ์ป่า เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนบ้านแม่หาด
ไม่ว่าโลกจะเติบโตไปมากแค่ไหน เทคโนโลยีจะพัฒนาไปมากอย่างไร
แต่ทรัพยากรธรรมชาติก็ยังคงสำคัญที่สุดอยู่เสมอ
⛰
บ่อยครั้งที่เรามักจะได้ยินหรือได้เห็นข่าวร้ายอันเป็นเรื่องที่ไม่น่ายินดีนักเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก ตั้งแต่เรื่องก๊าซเรือนกระจก ช่องโหว่ของชั้นบรรยากาศ น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ปรากฏการณ์ของกระแสน้ำอุ่นที่ไม่เหมือนเดิม หิมะตกผิดธรรมชาติ ไฟป่า น้ำท่วม ฯลฯ เหล่านี้คือสิ่งผิดปกติซึ่งจะส่งผลต่อระบบนิเวศน์ของโลกในระยะยาว ห่วงโซ่อาหารจะเปลี่ยนไป การดำรงชีวิตของมนุษย์ สัตว์ และพืชพรรณจะไม่เหมือนเดิม
นักวิชาการรวมทั้งประชากรโลกหลายคนเริ่มตระหนักถึงผลเสียที่กำลังจะเกิดขึ้น เราจึงได้เห็นโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมมากมาย สำหรับในประเทศไทยนั้น ที่เห็นได้ชัดเจนและคนไทยคุ้นเคยกันดีก็คือโครงการในพระราชดำริต่างๆ ที่ส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ป่าบนพื้นที่สูงทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ทางภาคเหนืออันเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญหลายสาย โครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ บ้านจือทะ - สบโขง จังหวัดแม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่ ก็เป็นหนึ่งในโครงการในพระราชดำรินั้น
โครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ บ้านจือทะ - สบโขง จังหวัดแม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่ จัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารจัดการและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแบบบูรณาการในพื้นที่ป่าของโครงการฯ โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ สามารถสร้างงานและกระจายรายได้ให้กับคนในพื้นที่ ให้คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน พร้อมกับสร้างจิตสำนึกให้คนในพื้นที่ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และรู้จักใช้อย่างชาญฉลาด
“เราทำหลายโครงการ เช่น ป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก โครงการตามแนวพระราชดำริต่างๆ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านด้วย โดยวัตถุประสงค์ของโครงการฯ คือ การเพิ่มพื้นที่ป่า และพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านไปพร้อมๆ กัน ดังนั้น ถ้ามีอะไรที่สามารถส่งเสริมชาวบ้านได้ เราก็ส่งเสริม เช่น มีการนำพันธุ์ไม้ พืชเกษตร ไม้เศรษฐกิจ มาให้ชาวบ้านปลูก” หัวหน้าชวลิต อภิหิรัญตระกูล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่เงา และยังรับหน้าที่เป็นหัวหน้าโครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ บ้านจือทะ - สบโขง จังหวัดแม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่อีกหนึ่งตำแหน่ง เริ่มต้นเล่าถึงหน้าที่ของโครงการในพระราชดำริฯ ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน
“ส่วนหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติฯ คือการดูแลพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งพื้นที่หมู่บ้านหรือพื้นที่ทำกิน อุทยานจะกันออกหมด จะเหลือพื้นที่ป่าที่เป็นป่าจริงๆ ที่ทางอุทยานดูแล ส่วนมากจะเป็นป่าต้นน้ำ ดังนั้นขอบเขตงานโครงการในพระราชดำริฯ และอุทยานฯ จะอยู่คนละขอบเขตกัน”
กล่าวง่ายๆ ก็คือ อุทยานแห่งชาติแม่เงาทำหน้าที่ในการอนุรักษ์ป่า ส่วนโครงการพัฒนาป่าไม้ฯ ทำหน้าที่เพิ่มพื้นที่ป่าและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน ขอบเขตงานไม่เหมือนกันแต่มีเรื่องของการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าที่ใกล้เคียงกัน หัวหน้าชวลิต ในฐานะหัวหน้าโครงการพัฒนาป่าไม้ฯ และอุทยานแห่งชาติแม่เงา จึงได้คิดโครงการเพื่อฟื้นฟูป่า เพิ่มพื้นที่ป่า และพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน โดยร่วมกับนิตยสาร Coffee Traveler ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกกาแฟเพื่อสร้างรายได้และเพิ่มพื้นที่ป่า เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้มีความสูงที่เหมาะสมต่อการปลูกกาแฟอาราบิกา โดยจะเริ่มต้นที่บ้านแม่หาดเป็นหมู่บ้านแรก ทำแปลงกาแฟตัวอย่างและนำกาแฟอาราบิกาอย่างน้อย 4 สายพันธุ์ มาทดลองปลูกเพื่อหาสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่มากที่สุด
• • •
อุทยานแห่งชาติแม่เงา จึงได้คิดโครงการเพื่อฟื้นฟูป่า เพิ่มพื้นที่ป่า และพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน โดยร่วมกับนิตยสาร Coffee Traveler ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกกาแฟเพื่อสร้างรายได้และเพิ่มพื้นที่ป่า
โครงการส่งเสริมปลูกกาแฟเพื่ออนุรักษ์ป่าและพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวบ้านแม่หาด
บ้านแม่หาด ต.สบเมย อ.แม่สวด จ.แม่ฮ่องสอน เป็นหนึ่งในหมู่บ้านในพื้นที่ของโครงการพัฒนาป่าไม้ฯ มีประชากรอาศัยอยู่ในหมู่บ้านประมาณ 500 คน 103 หลังคาเรือน ซึ่งทั้งหมดทำอาชีพเกษตรกร ปลูกข้าวไร่เป็นหลัก โดยทำในลักษณะของการปลูกพืชหมุนเวียน
นอกจากนี้ในพื้นที่ยังพบว่ามีสวนกาแฟอาราบิกาอยู่บ้าง แต่ไม่มีการดูแลมากนัก มีพื้นที่ปลูกกาแฟประมาณ 10 - 15 ไร่ ปลูกประมาณ 10 หลังคาเรือน แต่เก็บผลผลิตมาขายได้เพียง 5 หลังคาเรือนเท่านั้น
“ที่ปลูกนานที่สุดปลูกมาแล้วประมาณ 20 ปี แต่หากย้อนกลับไปประมาณ 30 ปีที่แล้ว ตอนนั้นผมเห็นพ่อปลูกกาแฟแล้ว มีฝรั่งที่เป็นอาจารย์สอนศาสนามาสนับสนุนให้ปลูก พ่อผมก็ปลูก แต่พอปลูกแล้วได้ผลผลิตออกมา ส่งไปขายก็ไม่มีคนรับซื้อ ตอนนี้ต้นกาแฟที่ปลูกสมัยนั้นก็ไม่มีแล้ว หายไปหมด
ส่วนกาแฟชุดใหม่ที่ปลูก ปลูกมาแล้วประมาณ 7 ปี กว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก็ใช้เวลาประมาณ 5 ปี ไม่เหมือนที่อื่นที่ปลูกแค่ 3 ปีก็เก็บได้แล้ว อาจจะเพราะเราไม่ได้ดูแล หรืออาจจะเพราะปัญหาเรื่องดิน” พ่อหลวงบ้านแม่หาดให้ข้อมูลเพิ่มเติม
ดังนั้นการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกกาแฟจึงต้องอาศัยความร่วมมือกันของคนในหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่โครงการฯ หน่วยงานเอกชนต่างๆ โดยต้องเริ่มต้นทำแปลงตัวอย่างเพื่อให้ชาวบ้านเห็นว่า กาแฟคือพืชเศรษฐกิจที่สามารถปลูกและให้ผลผลิตที่ดี ขายได้ราคา ช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้ที่แน่นอนมั่นคง อีกทั้งกาแฟอาราบิกายังช่วยอนุรักษ์และเพิ่มพื้นที่ป่าให้กับชุมชนได้
• • •
ในอนาคตหากมีตลาดที่แน่นอนแล้ว ชาวบ้านก็จะหันมาทำกาแฟเป็นหลัก
รอบของการปลูกข้าวไร่หมุนเวียนจะค่อยๆ ลดลงจนหมดไป
โครงการนี้นอกจากจะช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าแล้วจึง
ยังสามารถช่วยลดพื้นที่การทำไร่หมุนเวียนได้ในอนาคต
“ผมมองว่ากาแฟมันมีตลาดอยู่แล้ว ถ้าชาวบ้านสามารถปลูกกาแฟได้ และเราหาตลาดที่แน่นอนให้ชาวบ้านได้ ให้เขามีรายได้ เขาจะมีเวลาให้กับกาแฟมากขึ้น เมื่อหันมาปลูกกาแฟพื้นที่ป่าก็เพิ่มขึ้น เพราะกาแฟชอบอยู่ในร่มรำไร เราสามารถปลูกกาแฟใต้ร่มไม้ได้ โครงการปลูกกาแฟที่คิดขึ้นมาก็เพื่อให้มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น”
หากชาวบ้านมีรายได้จากกาแฟ ก็จะเป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งนอกจากการปลูกข้าวไร่ และในอนาคตหากมีตลาดที่แน่นอนแล้ว ชาวบ้านก็จะหันมาทำกาแฟเป็นหลัก รอบของการปลูกข้าวไร่หมุนเวียนจะค่อยๆ ลดลงจนหมดไป โครงการนี้นอกจากจะช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าแล้วจึงยังสามารถช่วยลดพื้นที่การทำไร่หมุนเวียนได้ในอนาคต
ทำแปลงทดลองและหาสายพันธุ์กาแฟ
โครงการนี้จึงเริ่มต้นที่การทำแปลงตัวอย่างของหมู่บ้าน พร้อมกับนำกาแฟอาราบิกาสายพันธุ์ต่างๆ มาทดลองปลูกดูว่าพันธุ์ไหนจะเติบโตและให้ผลผลิตดีที่สุด ก่อนจะขยายพื้นที่ปลูกและนำไปส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกต่อไปในอนาคต
เราจะปรับพื้นที่เป็นขั้นบันไดเพื่อให้เหมาะสมกับการดูแล ทำระบบน้ำ แยกสายพันธุ์ปลูกอย่างน้อย 4 สายพันธุ์ เพื่อดูว่าสายพันธุ์ไหนสามารถเติบโต
และให้ผลผลิตได้ดีที่สุดในพื้นที่นี้
“เราจะปรับพื้นที่เป็นขั้นบันไดเพื่อให้เหมาะสมกับการดูแล ทำระบบน้ำ แยกสายพันธุ์ปลูกอย่างน้อย 4 สายพันธุ์ เพื่อดูว่าสายพันธุ์ไหนสามารถเติบโตและให้ผลผลิตได้ดีที่สุดในพื้นที่นี้ แล้วเอาไว้เป็นแปลงตัวอย่างให้ชาวบ้านมาดูเรื่องการจัดการสวนหากได้ผลผลิตและออกสู่ท้องตลาด เจ้าของสวนตัวอย่างก็ขยายพื้นที่ปลูกให้มากขึ้น และผมคิดว่าเมื่อชาวบ้านเห็นว่าสำเร็จ เขาก็จะปลูกตามกันเอง ส่วนเจ้าของสวนตัวอย่างก็จะกลายเป็นครูที่ให้ความรู้เรื่องการปลูกกาแฟกับชาวบ้านต่อไป
สิ่งสำคัญคือตลาด ก็ต้องหาเครือข่ายที่ช่วยเรื่องตลาดให้กับชาวบ้าน แต่ผมคิดว่ากาแฟถ้ามันดียังไงก็ขายได้ อย่างน้อยผลผลิตที่ได้ก็สามารถขายได้ในกลุ่มนักท่องเที่ยวและส่งขายที่ร้านสวัสดิการของอุทยานฯ กับของโครงการฯ ต่อไปก็เป็นการพัฒนาในเรื่องของกระบวนการผลิตต่อไป แต่ ณ วันนี้ก็คือการจัดการพื้นที่ทดลองปลูกก่อนเป็นอันดับแรก มองเรื่องของการคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีที่สุดสำหรับพื้นที่นี้ก่อน”
พ่อหลวงบอกว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านไม่เห็นความสำคัญของการปลูกและดูแลต้นกาแฟ เพราะว่าไม่เห็นรายได้จากการขายกาแฟ จึงไม่รู้ว่าจะปลูกกาแฟไปทำไม แต่หากโครงการนี้สำเร็จ กาแฟที่นำมาทดลองปลูกโตดี ให้ผลผลิต และมีตลาดรับซื้อ เมื่อชาวบ้านเห็นแบบนี้ก็น่าจะหันมาสนใจและปลูกกาแฟกันมากขึ้น
โครงการนี้จะเป็นโครงการหนึ่งที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน
ด้วยการเพิ่มรายได้จากการปลูกกาแฟ อีกทั้งยังช่วงอนุรักษ์และเพิ่มพื้นที่ป่าของบ้านแม่หาด
ลดพื้นที่การปลูกพืชหมุนเวียนได้ในอนาคต
Coffee Traveler issue 51
Commentaires