top of page
Writer's picturecoffeetravelermag

เอก สุวรรณโณ กับ เกอิชาแห่งแม่ตอนหลวง



" First Valley Coffee Estate ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์กาแฟดั้งเดิม โดยการพัฒนาในเรื่องของการจัดการในภาคการจัดการสวน ปลูกต้นกาแฟซ่อมแซมเพิ่มเติมให้เต็มพื้นที่ บำรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์และจัดการด้านธาตุอาหารพืช เพื่อให้ต้นกาแฟได้รับสารอาหารและปรับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ให้เหมาะสม "


ในวงการกาแฟคงไม่มีใครไม่รู้จัก เอก สุวรรณโณ เกษตรกรและProfessor มือฉมังคนหนึ่งของวงการกาแฟไทย ผู้ก่อตั้ง First Valley Coffee คาเฟ่ บ้านพัก และสถาบันสอนความรู้ในเรื่องกาแฟให้กับผู้ที่สนใจ ตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยว การแปรรูป ไปจนถึงวิธีการชง นอกจากนี้ที่นี่ยังเป็นแหล่งปลูกกาแฟคุณภาพอีกแหล่งหนึ่งของไทย โดยจุดเริ่มต้นของ First Valley Coffee Estate มาจากการที่พี่เอก ได้เข้ามาพัฒนาสวนกาแฟในช่วงปี 2012 และได้เห็นความพิเศษของกาแฟในพื้นที่ มีสายพันธุ์กาแฟที่ปลูกในหมู่บ้านแม่ตอนหลวงมาดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็น Catimor, Caturra, Bourbon, Catuai, และ Typica จนนำไปสู่การค้นคว้าและงานทดลองมากมายหลายโปรเจกต์จนเกิดเป็นกาแฟชุดอัญมณี หรือ “Jewel Series” ที่คอกาแฟต่างรู้จักกันถึงระดับสากลผ่านการแข่งขันเวทีระดับโลก



“ในเบื้องต้นเรามีสายพันธุ์กาแฟที่ปลูกมาดั้งเดิมในหมู่บ้านแม่ตอนหลวงมาตั้งแต่ ปี 2523 สายพันธุ์ที่ปลูกในยุคแรก จะเป็นสายพันธุ์ที่โครงการหลวง โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ท่านได้นำสายพันธุ์กาแฟจากหลายแหล่งทั่วโลกมาปลูกที่เมืองไทย โดยสายพันธุ์ที่นำเข้ามาจะเป็นสายพันธ์รุ่นเก่า บางส่วนก็นำมาปลูกทดลองไว้ตามสถานีต่าง ๆ เพื่อรอผลการทดสอบส่วนสายพันธุ์กาแฟที่คัดเลือกให้เกษตรกรนำไปปลูกนั้น ต้องเป็นสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง และสามารถต้านทานโรคได้ดี โดยเฉพาะในกลุ่มของโรคราสนิม ที่เคยสร้างความเสียหายต่อวงการกาแฟทั่วโลกมาอย่างรุนแรง คุณสมบัติหลักทั้ง 2 ประการจึงเป็นตัวหลักในการคัดเลือกสายพันธุ์กาแฟมาปลูกในไทยในขณะนั้น ส่วนในเรื่องของคุณสมบัติในด้าน score cupping ของเทสโน๊ตกลับยังไม่ได้ถูกมองเป็นหัวข้อสำคัญในการเลือกสายพันธุ์กาแฟมาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก ทำให้กาแฟที่มีอยู่ในเมืองไทย มีระดับ score cupping ที่ไม่สูงมาก และนั่นจึงเป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่งที่ทำให้กาแฟไทย ไม่สามารถที่จะมีความโดดเด่นในเรื่องของลักษณะทางสายพันธุ์ ที่จะทำให้รสชาติต่างกันและโดดเด่นขึ้นมาได้”


จากข้อจำกัดดังเหล่านี้เป็นเหตุผล ทำให้พี่เอกมีความคิดที่จะพัฒนางานแปรรูปและการบำรุงดินจัดการธาตุอาหารให้แก่ต้นกาแฟในพื้นที่ที่มีอยู่ เพื่อให้ได้รสชาติหรือเทสโน้สที่ก้าวข้ามขีดจำกัดของกาแฟสายพันธุ์ทางธรรมชาติ ที่เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมในพื้นที่ โดยใช้ความได้เปรียบของภูมิประเทศ ที่ตั้งอยู่หุบเขาท่ามกลางผืนป่าที่สลับซับซ้อนของหมู่บ้านแม่ตอนหลวง ตำบลเทพเสด็จ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ อันเปี่ยมไปด้วยความสมบูรณ์ทางธรรมชาติอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี เหมาะกับการพัฒนาเป็นแหล่งปลูกให้มีคุณภาพ ตลอดจนต่อยอดไปถึงการค้นคว้า วิจัย พัฒนากาแฟให้เกิดความหลากหลาย เปลี่ยนกาแฟสายพันธุ์ธรรมดาให้มีอัตลักษณ์พิเศษเฉพาะตัว จนสามารถผลิตกาแฟเข้าไปในตลาดกาแฟไทยให้เป็น Thai Specialty Coffee ได้



" กาแฟสายพันธุ์แรกที่เราเลือกเข้ามาเพื่อเพาะปลูกปรับปรุงใหม่บนแปลงแรกขนาด 40 ไร่ ที่ความสูง 1,565 เมตรจากระดับน้ำทะเลในพื้นที่บ้านแม่ตอนหลวง คือ เกอิชา(Gesha) นั่นเอง "


“First Valley Coffee Estate ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์กาแฟดั้งเดิม โดยการพัฒนาในภาคการจัดการสวน ปลูกต้นกาแฟซ่อมแซมเพิ่มเติมให้เต็มพื้นที่ บำรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์และจัดการด้านธาตุอาหารพืช เพื่อให้ต้นกาแฟได้รับสารอาหารและปรับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ให้เหมาะสม จนสามารถส่งผลให้ลักษณะทางกายภาพ (Phenotypes) ของสายพันธุ์ดั้งเดิมที่มีอยู่ในแปลง ให้แสดงลักษณะที่โดดเด่นทางสายพันธุ์ (Genetic) ของเขาออกมาเต็มที่ เราพัฒนาในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี จนไปถึงจุดที่ติดในเรื่องของเพดานด้านคุณภาพของสายพันธุ์แล้ว เราจึงได้หันไปปรับปรุงในเรื่องของเทคนิคการ Process ที่มีความเฉพาะตัว ก็ทำให้ได้กาแฟที่ออกมาในแนวของ exotic แต่ในขณะเดียวกันเทรนด์และความคาดหวังของผู้บริโภคในบ้านเรา ก็ยังมุ่งหวังที่อยากจะได้กาแฟที่มีรสชาติโดดเด่นตามสายพันธุ์ (Single Variety) ซึ่งเป็นเรื่องของเทสโน๊ตตามยีนส์ของสายพันธุ์นั้น ๆ ตามอัตลักษณ์ธรรมชาติ ทางเราเองก็เลยเริ่มที่จะพัฒนาไปตามแนวทางนี้ โดยเริ่มทำการรวบรวมกาแฟแต่ล่ะสายพันธุ์ (Single Variety) ที่มีลักษณะเด่นเยี่ยมตรงตามสายพันธุ์นั้น ๆ และตัดสินใจขยายพื้นที่สวนกาแฟใหม่ โดยคัดเลือกสายพันธุ์ชั้นยอดของโลกเข้ามา เพื่อที่จะพัฒนาให้เป็น Single Variety Coffee Farm ที่มุ่งเน้นความโดดเด่นเฉพาะในเรื่อง

ของเอกลักษณ์ คาแรคเตอร์ของสายพันธ์ุนั้น ๆ และกาแฟสายพันธุ์แรกที่เราเลือกเข้ามาเพื่อเพาะปลูกปรับปรุงใหม่แปลงแรก 40 ไร่ ที่ความสูง 1,565 เมตร จากระดับน้ำทะเลในพื้นที่บ้านแม่ตอนหลวง คือ เกอิชา (Gesha) นั่นเอง”


ด้วยลักษณะพื้นที่ที่มีความสูงกว่า 1,565 ที่ได้ชื่อว่าเป็นป่าต้นน้ำชั้นเอ ผนวกรวมกับการค้นคว้าวิจัยในเรื่องราวการปลูกเกอิชาอย่างลึกซึ้ง นอกจากนี้พี่เอกยังศึกษาเรื่องลักษณะแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ ลงลึกถึงในระดับเนื้อดิน การจัดการติดตั้งระบบการให้น้ำ ชีววิทยาของต้นกาแฟ การบำรุงดินรองก้นหลุมปลูก เพื่อให้เกิดการปรับปรุงพื้นที่ปลูกให้มีสภาพที่เอื้อต่อกาแฟสายพันธุ์เกอิชา และที่สำคัญที่สุด คือการคัดเลือกเกอิชาที่มีเทสโน๊ตที่ตรงตามลักษณะสายพันธุ์ดั้งเดิม โดยใช้เกอิชาจากปานามา มาเป็นเกนฑ์ในการวัด จึงทำให้พี่เอกมั่นใจว่า เกอิชาของแม่ตอนหลวง จะเปล่งประกายในเรื่องของลักษณะทางกายภาพ (Phenotypes) ที่เป็นเอกลักษณ์ออกมาได้อย่างเต็มที่แน่นอน



" ที่สำคัญที่สุด คือการคัดเลือกเกอิชาที่มีเทสโน๊ตที่ตรงตามลักษณะสายพันธุ์ดั้งเดิม โดยใช้เกอิชาจากปานามาเป็นเกนฑ์ในการวัด จึงทำให้พี่เอกมั่นใจว่า เกอิชาของแม่ตอนหลวง จะเปล่งประกายในเรื่องของลักษณะทางกายภาพ (Phenotypes) ที่เป็นเอกลักษณ์ออกมาได้อย่างเต็มที่แน่นอน "


“เราสามารถคัดเลือกเกอิชาที่มีเทสโน๊ตที่ตรงตามลักษณะสายพันธุ์ดั้งเดิม โดยเอาเกอิชาจากปานามามาเป็นเกนฑ์ในการวัด พอเราได้ความรู้ตรงนี้ เราก็เริ่มพัฒนาในเรื่องของแปลงปลูกสายพันธุ์เกอิชาที่เป็น Single Variety โดยเรามีพื้นที่ปลูกที่ระดับ 1,565 อยู่ประมาณ 40 ไร่ แล้วเราจะเริ่มนำสายพันธุ์เกอิชาตัวที่เราคัดเลือกไว้ มาขยายพันธุ์ปลูกในพื้นที่ตรงนี้ เราตั้งใจจะทำแปลงนี้ให้เป็น Single Variety ให้เป็นสายพันธ์ุเกอิชาอย่างเดียว เพื่อให้เกิดความแม่นยำของเทสโน๊ตที่เกิดขึ้น เพราะกาแฟถ้าเอาไปปลูกรวมกัน มันจะผสมข้ามสายพันธุ์ได้ ดังนั้น การปลูกในพื้นที่ที่สายพันธุ์จะเป็น Single Variety จึงถือเป็นเรื่องสำคัญ แต่สายพันธุ์ดั้งเดิมก็ยังปลูกอยู่ แต่จะแยกอยู่คนละแปลงไปเลย ส่วนแปลงใหม่ที่กำลังบุกเบิก จะเป็น Single Variety อย่างเดียว ปีแรกเราคิดว่าคงปลูกได้ 50% ของพื้นที่ คิดว่า 40 ไร่ ก็ทำสำเร็จประมาณ 20 ไร่ เพราะการบุกเบิกพื้นที่ใหม่ ค่อนข้างจะใช้ความยากลำบากพอสมควร แล้วเราก็ตั้งใจทำแปลงให้เป็นขั้นบันได และติดตั้งระบบการให้น้ำทุกต้น มีเรื่องของการทำถนนที่จะสามารถเข้าไปในแปลงปลูกย่อยได้ จึงมีความจำเป็นที่ต้องใช้ในเรื่องของเวลาพอสมควร แต่เราจะเริ่มทำภายในปีนี้”


ด้วยประสบการณ์และความรู้ทางด้านการเกษตรที่ได้ร่ำเรียน บวกกับประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน วันนี้ พี่เอก สุวรรณโณ ได้เริ่มต่อยอดพัฒนากาแฟไทยให้ก้าวไปอีกขั้น เป็นที่น่าสนใจว่าเกอิชาของหมู่บ้านแม่ตอนหลวงจะมีรสชาติหรือเทสโน๊ตเป็นแบบไหน และพี่เอก จะสามารถพัฒนากาแฟไทยให้ก้าวต่อไปอีกในทิศทางใด แน่นอนว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่สร้างชื่อเสียงให้แก่ตนเองและหมู่บ้านแม่ตอนหลวงเท่านั้น แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟไทยทั้งประเทศ โดยแสดงให้เห็นว่าด้วยความมุ่งมั่น และการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สามารถพากาแฟไทยก้าวไกลไปในระดับสากลได้


 

Coffee Traveler 

เป็นนิตยสารรายสองเดือน ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ

และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ

- - -

สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX

Facebook Coffee Traveler 

Youtube : Coffee Traveler 

64 views0 comments

Comments


bottom of page