top of page
Writer's picturecoffeetravelermag

ไร่กาแฟที่มีต้นไม้ให้ร่มเงากับไร่กาแฟเชิงเดี่ยว กับความหลากหลายทางชีวภาพ 🌲

ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็น Talk of the town ของประเทศไทยคงหนีไม่พ้นปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า โดยเฉพาะทางภาคเหนือของประเทศ เกษตรกรบนพื้นที่สูงจำเป็นที่จะต้องดิ้นรนเพื่อนำเงินมาเลี้ยงปากท้องของคนในครอบครัว และบวกกับการทำเกษตรเชิงเดี่ยวที่ให้ผลผลิตมาก เกษตรกรส่วนใหญ่จึงต้องทำการถางพื้นที่ป่าเพื่อทำเป็นพื้นที่เกษตรกรรม การปลูกกาแฟเชิงเดี่ยวหรือการปลูกกลางแจ้งก็เช่นกัน ความต้องการของกาแฟในตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แล้วยังขายได้ราคาสูง เกษตรกรจึงต้องการพื้นที่ปลูกที่มากขึ้น ทำให้ต้องเข้าไปลุกล้ำพื้นที่ป่า เนื่องจากพื้นที่ส่วนมากเป็นพื้นที่ลาดเอียงตามไหล่เขา เกษตรกรต้องเตรียมพื้นที่ก่อนปลูก โดยการตัดไม้และเผาวัชพืช เพื่อให้ได้พื้นที่โล่งและเรียบเหมาะกับการปลูกกาแฟ เราจึงเห็นภูเขาหัวโล้นกันมานักต่อนักแล้ว ด้วยความที่ว่ากาแฟถือเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างหนึ่งและมีความต้องการในตลาดสูง แถมยังราคาดี เกษตรกรจึงหันมามองภาพรวมของการทำเกษตรจากเม็ดเงินและผลกำไรเป็นหลัก การทำไร่กาแฟแบบเชิงเดี่ยวจึงกลายมาเป็นดาวเด่นให้เกษตรกรหันมาเลือกทำ เพราะได้ผลผลิตมากในระยะเวลาที่รวดเร็ว แต่ก็ต้องแลกมากับพื้นที่ป่าที่มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง


การรวมตัวของต้นกาแฟจำนวนมากเข้าด้วยกันนั้นทำให้เกิดศัตรูพืช

ซึ่งกาแฟที่ปลูกในสภาพกลางแจ้งกว่า 80% นั้น มักจะพบหนอนเจาะลำต้นกาแฟ



แต่ไหนแต่ไรมาแล้วต้นกาแฟนั้นอาศัยอยู่ในป่า แต่เพราะความต้องการของมนุษย์ที่มากขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกเพื่อตอบสนองต่อความต้องการในตลาด การทำไร่กาแฟแบบฟาร์มเชิงเดี่ยวจึงเป็นที่นิยมขึ้นมา แต่การรวมตัวของต้นกาแฟจำนวนมากเข้าด้วยกันนั้นทำให้เกิดศัตรูพืช ซึ่งกาแฟที่ปลูกในสภาพกลางแจ้งกว่า 80% นั้น มักจะพบหนอนเจาะลำต้นกาแฟ โดยเฉพาะกาแฟที่มีอายุมากกว่า 5 ปีขึ้นไป รวมถึงการติดเชื้อราและโรคที่สามารถแพร่กระจายได้ง่าย ส่วนหนึ่งของความอ่อนแอต่อโรคที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากความเครียดที่ต้นกาแฟโดนแดดจัดหรือได้รับความเข้มของแสงที่มากเกินไป นอกจากนี้ การปลูกพืชชนิดเดียวกันเป็นเวลาหลายปีจะทำลายดิน โดยการไปลดค่า pH ของดินและปริมาณอินทรียวัตถุ รวมถึงความอุดมสมบูรณ์ของแบคทีเรียและเชื้อราในดินด้วย ทำให้ได้ผลผลิตน้อยลง และอีกปัจจัยหนึ่งคือ การไปย่อยสลายสารต่างๆ ในดิน ทำให้ดินไม่ได้รับการเติมธาตุอาหารจากพืชชนิดอื่น (การทับถมของใบไม้) ดังนั้นเกษตรกรจึงจำเป็นที่จะต้องใส่ปุ๋ยเคมีลงในดิน และเมื่อเกิดการชะล้างด้วยน้ำฝน ระบบนิเวศโดยรอบจะประสบกับผลเสียตามมา ซึ่งหนึ่งในผลที่ตามมาเรียกว่า ยูโทรฟิเคชัน (Eutrophication) ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อปุ๋ยส่วนเกินที่มีไนเตรต (Nitrate) ถูกชะล้างลงสู่แม่น้ำ ซึ่งหากมีมากเกินไป ก็จะส่งผลให้สาหร่ายและวัชพืชในแหล่งน้ำเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว และเมื่อสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ล้มตาย ซากพืชและสาหร่ายจะจมลงสู่ท้องน้ำ แบคทีเรียจะทำการย่อยสลายซากพืช โดยการดึงออกซิเจนจากแหล่งน้ำมาใช้ในปริมาณมาก ทำให้แหล่งน้ำเกิดภาวะขาดออกซิเจน


ปัญหาสำคัญของการทำไร่กาแฟเชิงเดี่ยว คือเป็นอันตราย

ต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

โดยการทำลายสิ่งมีชีวิตในท้องถิ่นทั้งทางตรงและทางอ้อม



การทำไร่กาแฟเชิงเดี่ยวยังดึงสารอาหารเดิมจากดินซ้ำๆ โดยไม่ให้ดินได้มีโอกาสเติมเต็มตัวเอง และปัญหาสำคัญของการทำไร่กาแฟเชิงเดี่ยว คือเป็นอันตรายต่อความหลากหลายทางชีวภาพ โดยการทำลายสิ่งมีชีวิตในท้องถิ่นทั้งทางตรงและทางอ้อมเพราะเกิดจากการถางป่า ซึ่งพื้นที่ป่าที่ถูกถางจะไม่สามารถรองรับพืชและสัตว์ได้หลากหลายชนิด แต่กลับถูกแทนที่ด้วยต้นกาแฟเพียงชนิดเดียว อีกทั้งยาฆ่าแมลงยังทำลายแมลงในพื้นที่ซึ่งเป็นอาหารของนกและสัตว์ในท้องถิ่น ในทางกลับกัน การปลูกกาแฟที่มีต้นไม้ให้ร่มเงา (Shade Grown Coffee) กลับเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพได้มหาศาล เช่น มีความหลากหลายของชนิดนกที่สูงขึ้น หากไม่มีการตัดไม้ทำลายป่าก็จะไปลดการอพยพของนกบางชนิด และยังเป็นที่พักพิงของนกที่อพยพมาจากแหล่งอื่น ทำให้นกที่กินแมลงช่วยควบคุมศัตรูพืช เช่น หนอนเจาะลำต้นกาแฟ ส่วนนกที่กินน้ำหวานก็จะช่วยผสมเกสร รวมถึงนกที่กินเมล็ดกาแฟยังช่วยขยายพื้นที่เพาะปลูก นอกจากนี้ การให้ร่มเงากับต้นกาแฟมีส่วนช่วยป้องกันโรคเชื้อราบางชนิด เช่น โรคราสนิม (Coffee Leaf Rust) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อใบและผลกาแฟ โดยการกันลมและชะลอการแพร่กระจายของสปอร์ และเกษตรกรสามารถปลูกในพื้นที่ป่าทำกินหรือปลูกร่วมกับไม้ผลยืนต้นของตนเองได้ โดยไม่ต้องตัดไม้เพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูก ดังนั้นการมีจำนวนและความหลากหลายของต้นไม้ที่มากขึ้น ความหลากหลายทางชีวภาพจึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย



การมีต้นไม้ที่หลากหลายมากขึ้น สามารถเพิ่มประชากรนกในพื้นที่โดยรอบ

และการเพิ่มขึ้นของแมลงผสมเกสร โดยเฉพาะผึ้ง


การที่มีต้นไม้เพิ่มขึ้นสามารถนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศได้มากขึ้นในระหว่างการสังเคราะห์แสง ทำให้ต้นไม้สามารถลดก๊าซเรือนกระจกภายในชั้นบรรยากาศซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพที่ทำงานเชื่อมโยงกันของระบบนิเวศ เช่น การที่จุลินทรีย์ต่าง ๆ ในดินย่อยสลายอินทรียวัตถุและหมุนเวียนสารอาหารกลับสู่ต้นกาแฟ ความหลากหลายทางชีวภาพยังสามารถช่วยเพิ่มระดับความต้านทานต่อศัตรูพืชและโรคในพืชได้อีกด้วย นอกจากนี้ ความหลากหลายของสัตว์ป่าในสิ่งแวดล้อมสามารถส่งผลดีต่อกาแฟได้ ซึ่งการมีต้นไม้ที่หลากหลายมากขึ้น สามารถเพิ่มประชากรนกในพื้นที่โดยรอบ และการเพิ่มขึ้นของแมลงผสมเกสร โดยเฉพาะผึ้ง เพราะการผสมเกสรของผึ้งช่วยเพิ่มผลผลิตของกาแฟได้ ซึ่งการมีผึ้งจำนวนมากขึ้น สามารถนำไปสู่การเก็บเกี่ยวที่ดีขึ้น การปลูกกาแฟใต้ร่มเงาได้ผลผลิตน้อยกว่าการปลูกแบบกลางแจ้ง แต่ผลผลิตที่ได้นั้นยืนยาวกว่า เนื่องจากร่มไม้จะช่วยลดความเข้มของแสง และอุณหภูมิดินทำให้กาแฟให้ผลผลิตที่สม่ำเสมอ ซึ่งช่วยลดอุณหภูมิลง 2-3 องศาเซลเซียส โดยทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยในพื้นที่ปลูกไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส ผลผลิตที่ได้จึงมีคุณภาพดี เพราะระยะเวลาของการสุกที่ช้าทำให้เมล็ดกาแฟถูกบ่มอย่างเต็มที่


การปลูกกาแฟที่มีต้นไม้ให้ร่มเงายังมีส่วนช่วยปรับโครงสร้างของดินให้ร่วนซุยขึ้น ทำให้ความเป็นกรดของดินลดลง เพิ่มปริมาณธาตุอาหารให้พืช เช่น ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และแมกนีเซียม และช่วยเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ทั้งหมดและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ชนิดตรึงไนโตรเจนแบบอิสระในดิน จึงเป็นระบบการปลูกที่ใช้ปุ๋ยน้อยกว่า เพราะการทับถมของใบไม้ทำให้สามารถเป็นปุ๋ยและคลุมดินเพื่อรักษาความชื้นในดินได้ และช่วยลดการพังทลายของหน้าดิน เนื่องจากต้นกาแฟมีระบบรากแก้วและรากเหนือดินที่ดี จึงไปเอื้อประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของต้นกาแฟ


การปลูกกาแฟที่มีต้นไม้ให้ร่มเงายังมีส่วนช่วยปรับโครงสร้างของดินให้ร่วนซุยขึ้น ทำให้ความเป็นกรดของดินลดลง เพิ่มปริมาณธาตุอาหารให้พืช

เช่น ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และแมกนีเซียม


การทำไร่กาแฟที่มีต้นไม้ให้ร่มเงานั้น นอกจากจะเป็นการทำเกษตรแบบผสมผสานในพื้นที่เดียวกันที่ช่วยสร้างความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์แล้ว ยังสามารถช่วยเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปลูกกาแฟแซมสวนไม้ผล จึงนำไปสู่การประกอบอาชีพเกษตรร่วมกับการอนุรักษ์ผืนป่าได้อย่างยั่งยืน และในปัจจุบันมีการรับรองมาตรฐานกาแฟใต้ร่มไม้ที่ได้รับการยอมรับ เช่น Bird Friendly ซึ่งเป็นการรับรองที่สร้างขึ้นโดย Smithsonian Migratory Bird Center (SMBC) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสวนสัตว์แห่งชาติใน Washington D.C. เป็นเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นตราสนับสนุนการปลูกกาแฟใต้ร่มเงาไม้ เนื่องจากเป็นการช่วยอนุรักษ์นกในหลายๆ ชนิด ที่ต้องทำการอพยพจากการถางและเผาป่าสำหรับการทำเกษตรในรูปแบบของฟาร์มเชิงเดี่ยว

การจะได้รับเครื่องหมายนี้ต้องผ่านการตรวจสอบและได้รับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคที่ทำโดย U.S. Department of Agriculture เพื่อรับรองว่าไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารเคมีในการทำลายวัชพืชและแมลง รวมถึงในการเพาะปลูกกาแฟจะต้องปลูกในที่ที่มีต้นไม้ใหญ่ปกคลุมไม่ต่ำกว่า 40% ของพื้นที่ (Shade-Grown Coffee Plantation) ซึ่งมีลักษณะเป็นการปลูกกาแฟในป่าที่ไม่ทำลายต้นไม้จนโล่งเพื่อปลูกกาแฟเพียงอย่างเดียว นอกจากการรับรองโดยนกแล้ว ยังมีการรับรองจากกบด้วย ซึ่งมีตราสัญลักษณ์เป็นกบสีเขียว ที่มีชื่อว่า Agalychnis callidryas หรือกบต้นไม้ตาแดง (red-eyed treefrog) ซึ่งเป็นกบที่นักวิทยศาสตร์ใช้เป็นตัวบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ทางชีวภาพของป่า คือ Rainforest Alliance เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ (NGO) ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ตั้งอยู่ในนิวยอร์กและอัมสเตอร์ดัม มีการดำเนินงานในกว่า 60 ประเทศ ก่อตั้งขึ้นในปี 2530 โดย Daniel Katz นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวอเมริกัน ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างการทำเกษตรกรรมและป่าไม้ ให้มีความเกื้อกูลกันอย่างยั่งยืน เพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่า ปกป้องดินและน้ำ รวมถึงตัวเกษตรกรเองและชุมชนโดยรอบ Rainforest Alliance ก่อตั้งขึ้นเพื่อปกป้องป่า ปรับปรุงวิถีชีวิตของเกษตรกรและชุมชน โดยงานหลักๆ ขององค์กรนี้คือ การให้การรับรองด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนในด้านป่าไม้ การเกษตร และการท่องเที่ยว ดังนั้น กบตัวนี้จึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์สากลในเรื่องของความยั่งยืน แต่การที่จะได้กบตัวนี้มาอยู่บนบรรจุภัณฑ์กาแฟของเรานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการขอใบรับรองจาก Rainforest Alliance นั้น ไร่กาแฟต้องเป็นไปตามมาตรฐานตามแบบเครือข่ายเกษตรยั่งยืน (Sustainable Agriculture Network : SAN) ซึ่งประกอบไปด้วย สนับสนุนระบบนิเวศ ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและทางน้ำ อนุรักษ์ป่า ลดการใช้สารเคมี และปกป้องความเป็นอยู่ที่ดีของคนงานและชุมชนท้องถิ่น ซึ่งในบ้านเราก็มีกาแฟที่ได้รับการการันตีจากกบตัวนี้เช่นกัน นั่นก็คือกาแฟป่าของน้าหงา คาราวาน หนึ่งในศิลปินเพื่อชีวิต ในแบรนด์กาแฟรักษ์ป่ายี่ห้อ UNCLE COFFEE (Organic Forest Coffee Drip) ภายใต้แนวคิดกาแฟอยู่คู่ป่า ร่วมพัฒนากาแฟบนยอดดอย ที่ อ. เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ซึ่งน้าหงาได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยชาวบ้านปลูกกาแฟ และสนับสนุนการปลูกกาแฟของพื้นที่แห่งนี้ เพราะน้าหงามองเห็นว่ากาแฟสามารถอาศัยเงาของต้นไม้ใหญ่ได้ เรียกได้ว่าเป็นการปลูกแบบอินทรีย์ที่สมบูรณ์และมีความยั่งยืนสูง ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเกษตรอินทรีย์ ที่เน้นความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ โดยเน้นการปรับปรุงบํารุงดิน เคารพต่อชีวภาพของพืช สัตว์ และนิเวศเกษตร ด้วยแนวคิดนี้เอง ทำให้กาแฟของน้าหงาได้ Rainforest Alliance Certified มาประดับบนซองกาแฟได้อย่างไม่น่าสงสัย ดังนั้นองค์กรทั้งสองที่กล่าวมาล้วนเป็นผู้มีส่วนร่วมในระดับโลกในด้านของความยั่งยืน และเป็นเหมือนแรงจูงใจให้กับผู้ผลิตกาแฟหันมาใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น



อย่างไรก็ตามการส่งเสริมการปลูกกาแฟใต้ร่มไม้เชิงอนุรักษ์น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีอย่างหนึ่งที่สามารถส่งเสริมควบคู่ไปกับการฟื้นฟูผืนป่า เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นตัวช่วยส่งเสริมให้สภาพนิเวศมีความชุ่มชื้น และเป็นทางเลือกให้เกษตรกรมีรายได้ที่ยั่งยืน ควบคู่ไปกับการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและธรรมชาติรอบตัว ดังนั้น Shade Grown Coffee จึงมีประโยชน์ต่อทั้งเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม กุญแจสำคัญอยู่ที่การย้อนกลับไปสู่วิถีการปลูกแบบดั้งเดิม โดยการให้ธรรมชาติดูแลซึ่งกันและกัน ส่วนเกษตรกรก็ทำความเข้าใจในระบบวนเกษตรเพื่อเป็นการทำเกษตรกรรมระยะยาวที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนแก่การปลูกกาแฟและรักษาธรรมชาติไปพร้อมๆ กัน อีกทั้งการปลูกกาแฟใต้ร่มเงาไม้ ยังเพิ่มโอกาศให้เกษตรกรพัฒนาคุณภาพและสามารถเข้าถึงตลาด Specialty Coffee ได้อีกด้วย และหากผู้บริโภคอย่างเรายินดีที่จะซื้อกาแฟที่มีการผลิตที่ยั่งยืนซึ่งมีราคาที่สูงกว่า ก็อาจจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกษตรกรหันมาปลูกกาแฟใต้ร่มไม้กันมากขึ้นได้ด้วยเช่นกัน

537 views0 comments

Recent Posts

See All

Comments


bottom of page