ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันมีสินค้าเกษตรและหัตถกรรมท้องถิ่นที่มีมูลค่าเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐที่ต้องการช่วยยกระดับสินค้าท้องถิ่นให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ การสร้างความมั่นคงทางอาชีพให้กับคนในชุมชนหรือในท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจและช่วยเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการค้าทุกระดับ จึงมีนโยบายที่เป็นเหมือนตัวกระตุ้นให้คนในชุมชนลุกขึ้นมาสนใจของดีที่ตัวเองมีอยู่ออกมาค่อนข้างมาก หนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่เข้ามาช่วยและเริ่มเป็นที่รู้จักแล้วในปัจจุบันคือ การขึ้นเป็น “สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” (Geographical Indication: GI)
หากพูดถึงสินค้า GI หรือสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จะดูเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก แต่สินค้า GI เขามีมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ยกตัวอย่างสินค้าที่คุ้นหูกันเป็นอย่างดี เช่น ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ทุเรียนนนท์ หมูย่างเมืองตรัง ไข่เค็มไชยา และส้มโอทับทิมสยามปากพนัง เป็นต้น สินค้าเหล่านี้ล้วนเป็นสินค้า GI ทั้งสิ้น ถึงแม้ส่วนใหญ่ที่ได้ขอขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จะเป็นสินค้าเกษตรก็ตาม (Agricultural Based Products) แต่ยังมีสินค้าชนิดอื่นอย่าง สินค้าผ้า (ผ้าไหมและผ้าฝ้าย) สินค้าหัตถกรรมและอุตสาหกรรม และไวน์-สุรา ที่สามารถขอตราสัญลักษณ์ GI ได้เช่นกัน หากสังเกตให้ดี สินค้า GI จะมีชื่อตำบล อำเภอ หรือจังหวัดห้อยท้ายมาด้วย เนื่องจากเป็นสินค้าที่ผลิตได้เฉพาะท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งเท่านั้น ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาหรือลักษณะเฉพาะของแหล่งภูมิศาสตร์ดังกล่าว ดังนั้นตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication: GI) คือ ตราที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นผู้ออกให้แก่ผู้ผลิตสินค้า GI เพื่อรับรองว่าเป็นสินค้าที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์ที่ได้รับขึ้นทะเบียนไว้ โดยสินค้าที่ผู้ผลิตในชุมชนได้ผลิตออกมานั้น ต้องเป็นสินค้าคุณภาพและลักษณะพิเศษที่เป็นผลมาจากปัจจัยธรรมชาติ สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ของแหล่งผลิตที่มีการผสมผสานเข้ากับภูมิปัญญาของคนในพื้นที่ เพราะฉะนั้นการใช้ชื่อแหล่งภูมิศาสตร์กับสินค้า จึงเสมือนเป็นการสร้างแบรนด์ของชุมชนที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์และแหล่งที่มาของสินค้าได้อย่างชัดเจน (กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์, 2559)
โดยขั้นตอนการขอใช้ตรา GI จะเริ่มจากการได้รับขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI ประกอบกับการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพ จากนั้นจะรวบรวมเกษตรกรหรือผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะใช้ตราสัญลักษณ์ GI ไทย และสมัครขอเข้าร่วมการตรวจสอบ หลังจากที่ผ่านการขอเข้าร่วมการตรวจสอบแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนของการลงพื้นที่ตรวจประเมิน โดยมีคณะกรรมการจังหวัด และ CB (Certification Body: หน่วยรับรอง เป็นบุคคลที่สามที่ให้บริการการตรวจประเมิน และรับรอง หรือจดทะเบียนการเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด) เป็นผู้ลงตรวจประเมิน จากนั้นจะทำการจัดส่งรายงานและหนังสือรับรองให้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา และกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเป็นผู้พิจารณาออกใบอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ GI ไทย ซึ่งใบอนุญาตใช้ตรามีอายุ 2 ปี เมื่อใกล้ครบกำหนดต้องดำเนินการซ้ำ
"เป็นสินค้าที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์ที่ได้รับขึ้นทะเบียนไว้ โดยสินค้าที่ผู้ผลิตในชุมชนได้ผลิตออกมานั้น ต้องเป็นสินค้าคุณภาพและลักษณะพิเศษที่เป็นผลมาจากปัจจัยธรรมชาติ สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ของแหล่งผลิตที่มีการผสมผสานเข้ากับภูมิปัญญาของคนในพื้นที่"
แน่นอนว่ากาแฟถือเป็นสินค้าเกษตร กาแฟจึงเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่สามารถขอตราสัญลักษณ์ GI ได้เช่นกัน กาแฟแบรนด์ท้องถิ่นที่นักดื่มคุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดี อย่าง “กาแฟเทพเสด็จ (Thepsadej Coffee)” ก็ได้ตราสัญลักษณ์ GI มาอวดโฉมบนหน้าซองเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเกิดจากน้ำพักน้ำแรงของหน่วยงานรัฐและคนในชุมชน ผ่านโครงการประเมินสินค้ากาแฟเทพเสด็จ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้จัดจ้างที่ปรึกษา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณฐิตากานต์ พยัคฆา ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ ภาควิชาพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตร สาขาวิชาส่งเสริมและเผยแพร่การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (หัวหน้าโครงการ) และทีมที่ปรึกษาจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้รับจ้างโครงการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์คือ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและความเชื่อมั่นในเรื่องของคุณภาพ รวมถึงมาตรฐานให้กับสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย และเพื่อช่วยกระตุ้นให้ชุมชนต่างๆ เข้าสู่ระบบสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทยมากยิ่งขึ้น โดยชื่อ “กาแฟเทพเสด็จ” เกิดขึ้นจากในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดําเนินเยี่ยมโครงการหลวงป่าเมี่ยง และสมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชดําเนินตามมาด้วย หลังจากนั้นพระองค์เสด็จฯ มาอีก 2 ครั้ง จึงขอพระราชทานนามชื่อแหล่งที่ตั้งหมู่บ้านเป็นตําบลเทพเสด็จ ซึ่งเป็นที่มาของกาแฟที่ปลูกในพื้นที่ ตำบลเทพเสด็จ จึงได้ใช้ชื่อแบรนด์ว่า “กาแฟเทพเสด็จ”
กาแฟเทพเสด็จ (Thepsadej Coffee) เป็นกาแฟอาราบิกาที่ปลูกแบบธรรมชาติ โดยชาวบ้านปลูกกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ 2523 หรือราวๆ 40 ปีแล้ว เกษตรกรส่วนใหญ่มักจะปลูกสายพันธุ์ คาติมอร์ (CatiMor) เพราะค่อนข้างต้านทานโรคราสนิม กาแฟเทพเสด็จอยู่ในพื้นที่ ตําบลเทพเสด็จ อําเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ บนความสูง 1,100 – 1,600 เมตรจากระดับน้ำทะเล ทำให้อากาศในพื้นที่มีความเย็นเฉลี่ย 10 – 28 องศาเซลเซียสตลอดทั้งปี และฤดูกาลเก็บเกี่ยวจะเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม - กุมภาพันธ์ของทุกปี นอกจากนี้ตำบลเทพเสด็จยังเป็นแหล่งป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ และมีแหล่งต้นน้ำธรรมชาติที่สะอาด (มีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งทดลองเอาน้ำลงมาตรวจสอบคุณภาพน้ำ พบว่ามีคุณภาพค่อนข้างดี จนถือว่าน้ำที่ตำบลเทพเสด็จเป็นแหล่งต้นน้ำที่มีคุณภาพดีอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย) ส่งผลให้เมล็ดกาแฟเทพเสด็จมีความยาวมากกว่าเมล็ดกาแฟจากพื้นที่อื่น นอกจากนี้ การที่กาแฟอาศัยอยู่ร่วมกับไม้ป่า เช่น ต้นก่อ ที่มีขึ้นอยู่ค่อนข้างมากบริเวณพื้นที่ปลูก รวมถึงสวนชา (เมี่ยง) และผลไม้อื่นๆ เช่น ลูกพลับ พลัม และแมคคาเดเมีย ประกอบกับในพื้นที่มีผึ้งโก๋น หรือผึ้งโพรง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้รสชาติของกาแฟเทพเสด็จมีเอกลักษณ์เฉพาะที่มีกลิ่นหอมดอกไม้ป่า ดังนั้นสององค์ประกอบสำคัญนี้เองที่ทำให้กาแฟเทพเสด็จได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ไปโดยปริยาย
อย่างไรก็ตามการดำเนินการหรือเกณฑ์การประเมินของแหล่งปลูกกาแฟเทพเสด็จนั้น ไม่เพียงแต่ตัดสินตามท้องเรื่องอย่างสภาพแวดล้อมที่ดีเท่านั้น แต่การที่เกษตรกรหรือผู้ผลิตจะขอขึ้นเป็นสินค้า GI ได้หรือไม่ ต้องผ่านเกณฑ์การประเมินคุณภาพเสียก่อน ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มของผู้ที่ผลิตกาแฟสาร และกลุ่มที่ผลิตกาแฟคั่ว โดยเกณฑ์ของกาแฟสารที่เป็นเกษตรกรหรือผู้ประกอบการ ต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ผลิตกับหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย และมีเขตพื้นที่การปลูกกาแฟครอบคลุมพื้นที่ ตําบลเทพเสด็จ อําเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น ในเรื่องของกระบวนการการผลิตจะครอบคลุมตั้งแต่เรื่องการเตรียมพันธุ์ไปจนถึงการทำเป็นกาแฟสารเลยทีเดียว ซึ่งกาแฟอาราบิกาสายพันธุ์หลักที่เข้าเกณฑ์การประเมิน ได้แก่ คาทูรา คาร์ติมอร์ และคาทุย ซึ่งต้องถูกชำแล้วอย่างน้อย 8 – 14 เดือน หรือมีใบจริง 6 – 8 คู่ใบ รวมถึงการเตรียมดินและการปลูก ต้องขุดหลุมขนาด 30x30x30 เซนติเมตร ผสมหน้าดินกับปุ๋ยคอกสําหรับรองก้นหลุม (การเตรียมดินจะขึ้นอยู่กับการจัดการดูแลแปลงปลูกของเกษตรกรแต่ละราย) และระยะปลูกประมาณ 1.5x1.5 เมตร และ 1.5x2.0 เมตร ใต้ร่มเงาไม้ป่า และสวนชาเมี่ยง ซึ่งต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีความสูง 1,100 – 1,600 เมตรจากระดับน้ำทะเล รวมถึงในขั้นตอนของการดูแลสวน จำเป็นต้องมีการตัดแต่งกิ่งอย่างสม่ำเสมอ และใส่ปุ๋ย 2 – 3 ครั้งต่อปี ในระยะก่อนการออกดอก ระยะติดผล และระยะก่อนการเก็บเกี่ยว 1-2 เดือน เพื่อให้ผลเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่ ขั้นตอนสุดท้ายที่จะผลิตเป็นกาแฟสาร หลังจากที่คัดแยกเมล็ดที่สมบูรณ์ออกและผ่านกระบวนการแปรรูป (Processing) เรียบร้อยแล้ว นำมาตากให้แห้งโดยยกสูงจากพื้นประมาณ 80 – 100 เซนติเมตร หลังจากที่แห้งดีแล้ว ต้องได้กาแฟกะลาที่มีความชื้นประมาณ 7% จึงจะนำบรรจุลงกระสอบได้และเก็บไว้ในโรงเก็บที่มีอากาศถ่ายเท หลังจากที่ได้กาแฟกะลามาแล้ว ในขั้นตอนการสีกะลาออก ต้องได้กาแฟสารที่มีความชื้นไม่เกิน 10 – 12% เท่านั้นจึงจะผ่านเกณฑ์
"เมล็ดกาแฟเทพเสด็จมีความยาวมากกว่าเมล็ดกาแฟจากพื้นที่อื่น นอกจากนี้การที่กาแฟอาศัยอยู่ร่วมกับไม้ป่า เช่น ต้นก่อ ที่มีขึ้นอยู่ค่อนข้างมากบริเวณพื้นที่ปลูก รวมถึงสวนชา (เมี่ยง) และผลไม้อื่นๆ เช่น ลูกพลับ พลัม และแมคคาเดเมีย ประกอบกับในพื้นที่มีผึ้งโก๋น หรือผึ้งโพรง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้รสชาติของกาแฟเทพเสด็จมีเอกลักษณ์เฉพาะที่มีกลิ่นหอมดอกไม้ป่า"
ในส่วนการประเมินคุณภาพกาแฟคั่วของกาแฟเทพเสด็จ ในเรื่องของเขตพื้นที่และผู้ผลิตจะเหมือนกับเกณฑ์กาแฟสาร คือ เกษตรกรหรือผู้ประกอบการต้องได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ผลิตกับหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย และอยู่ในพื้นที่ตำบลเทพเสด็จ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น แต่ในส่วนการผลิตนั้น ต้องเป็นโรงคั่วที่ได้รับมาตรฐาน รวมถึงการผลิตเบื้องต้นต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของสาธารณสุข และมีใบอนุญาตประกอบการได้รับมาตรฐานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานเกษตรอำเภอ (วิสาหกิจชุมชน) หรือ สํานักงานพัฒนาชุมชน (ทะเบียนผลิตภัณฑ์ OTOP) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดด้วย นอกจากนี้รายละเอียดบนฉลากให้ประกอบด้วยคำว่า “กาแฟเทพเสด็จ” หรือ “Thepsadej coffee” และต้องมีรายละเอียดวันที่จําหน่าย และจำนวนปริมาณที่ชัดเจนอีกด้วย ขั้นตอนสุดท้ายคือ ผู้ประกอบการจะต้องผ่านการควบคุม และตรวจสอบว่ามีการขึ้นทะเบียนสมาชิกเป็นผู้ประกอบการกาแฟเทพเสด็จ รวมไปถึงต้องมีเอกสารกํากับเพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นกาแฟสารหรือกาแฟคั่ว หากตรงตามเกณฑ์ที่กล่าวไว้ทั้งหมด ก็สามารถขอตราสัญลักษณ์สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ได้เช่นเดียวกัน
การที่แหล่งปลูกกาแฟเทพเสด็จได้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งปลูก สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือได้ใช้ตราสัญลักษณ์ GI นั้น ส่งผลเป็นอย่างมากต่อชุมชน โดยผลการดำเนินการของโครงการพบว่า รายได้ของเกษตรกรและผู้ประกอบการหลังขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์มีมูลค่าที่สูงขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากที่ผู้ผลิตมีการปรับตัวโดยการจำหน่ายสินค้าผ่านทางออนไลน์ ทำให้สามารถสื่อสารกับผู้บริโภคได้โดยตรง ผู้ผลิตจึงเป็นผู้ที่กำหนดราคาของสินค้าได้เอง นอกจากนี้ยังพบว่าสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับชุมชนได้มากขึ้น และสนับสนุนการท่องเที่ยวให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย นอกจากนี้ผลสรุปการตรวจประเมินเพื่อขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย สินค้ากาแฟเทพเสด็จ มีเกษตรกรและผู้ประกอบการเข้าร่วมการตรวจประเมินจำนวน 97 ราย แบ่งเป็นรายเดี่ยวจำนวน 93 ราย และรายกลุ่มจำนวน 4 ราย ซึ่งมีผู้ผ่านเกณฑ์มากถึง 90 รายเลยทีเดียว การที่ผู้เข้ารับการประเมินคุณภาพสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์กาแฟเทพเสด็จมีจำนวนมากนั้น บ่งบอกได้ถึงสิ่งแวดล้อมและคุณภาพที่ไม่เป็นสองรองใครของกาแฟตำบลเทพเสด็จได้อย่างชัดเจน
ดังนั้นการได้ตราสัญลักษณ์ GI สำหรับพื้นที่ที่เป็นแหล่งปลูกกาแฟ จึงเปรียบเสมือนเป็นตัวที่บ่งบอกถึงคุณภาพที่สม่ำเสมอของแหล่งปลูกนั้นๆ เพราะอย่างที่ได้กล่าวไปตอนต้นว่าใบอนุญาตการใช้ตรา GI มีอายุเพียง 2 ปีเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าเกษตรกรหรือผู้ประกอบการในแหล่งปลูกนั้น ต้องได้รับการประเมินคุณภาพอยู่เสมอ ซึ่งการได้รับการตรวจสอบคุณภาพที่สม่ำเสมอย่อมมีส่วนช่วยให้ผู้ผลิตเกิดการกระตุ้นที่จะรักษาคุณภาพของสินค้าเอาไว้ได้อย่างแข็งแรงและยั่งยืนต่อไป เป็นผลให้แหล่งปลูกหรือชุมชนมีสินค้าท้องถิ่นที่สามารถสร้างเป็นอาชีพได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้การได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์และได้รับตราสัญลักษณ์ GI ยังเป็นผลดีในเรื่องของสินค้าจะได้รับการคุ้มครอง เพราะชื่อสินค้าให้เป็นสิทธิ์เฉพาะของชุมชนที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เนื่องจากสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้มากขึ้น รวมถึงยังสามารถสร้างความเชื่อมั่นในแหล่งที่มาและคุณภาพของตัวสินค้าให้กับผู้ซื้อได้อีกด้วย อีกทั้งยังเป็นเหมือนตัวช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในชุมชน ทำให้ก้าวสู่ระดับสากลและสามารถจดทะเบียนในระดับต่างประเทศต่อไปได้อีกด้วย
"การได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์และได้รับตราสัญลักษณ์ GI ยังเป็นผลดีในเรื่องของสินค้าจะได้รับการคุ้มครอง เพราะชื่อสินค้าให้เป็นสิทธิ์เฉพาะของชุมชนที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น"
Coffee Traveler
เป็นนิตยสารรายสองเดือน ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ
และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ
- - -
สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX Facebook Coffee Traveler
Instagram : coffeetraveler_magazine
Youtube : Coffee Traveler
Blockdit : I am Coffee Traveler / coffeetravelermag
Comments