top of page

Nopanunt Thinnaratwarakul นพอนันต์ ทันรัตน์วรากุล • Acaba Coffee •

คนในแวดวงกาแฟคงไม่มีใครไม่รู้จัก นพอนันต์ ทันรัตน์วรากุล หรือพี่อ๋อ อาคาบา (Acaba) ที่เราเรียกกันอย่างติดปากและคุ้นหูกันเป็นอย่างดี เมื่อก่อนพี่อ๋อทำงานสายไอทีมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นด้านซอฟต์แวร์ เอกสารและคู่มืออิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงเป็นโปรแกรมเมอร์ และ System engineer ด้วย เรียกได้ว่าห่างไกลจากวงการกาแฟพอสมควร แต่ด้วยความชอบดื่มกาแฟทำให้พี่อ๋อเริ่มขยับเข้าใกล้เรื่องกาแฟทีละนิด จนเข้ามาสู่วงการอย่างเต็มตัวจนถึงทุกวันนี้



“พอทำงานมาสักระยะหนึ่งก็เหมือนชีวิตมันลงตัวแล้ว เราเลยตั้งเป้าชีวิตไว้ว่าอยากเกษียณ แล้วออกมาอยู่ต่างจังหวัด ทำไร่ทำสวน จังหวะนั้นเราชอบดื่มกาแฟก็ไปหากาแฟมาดื่ม แต่กาแฟสดในเมืองไทยตอนนั้นถือว่าเพิ่งเริ่ม เราเลยไปซื้อตามแมคโครบ้าง ไปเจอกาแฟวาวี และรู้จักคนที่เขามีเมล็ดกาแฟก็เอามาคั่วเองกับกระทะ แล้วใช้ครกตำ เสร็จแล้วเราก็มาชงมานั่งชิม จึงได้ข้อสรุปว่า กาแฟมันเป็นสิ่งที่เราชอบอีกอย่างหนึ่ง หลังจากนั้นก็มีความรู้สึกอยากปลูกกาแฟไว้ดื่มเอง แล้วรู้จักพี่คนหนึ่งเป็นพี่ที่รู้จักกันตั้งแต่สมัยเด็ก เขาย้ายมาอยู่สันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ แล้วก็ชวนเรามาดูแปลงกาแฟที่บ้านป๊อกที่เชียงใหม่ พอเจอแล้วเราก็ชอบความธรรมชาติของที่นี่ ในตอนแรกก็คิดไว้ว่าปลูกเอาไว้ตอนแก่แล้วค่อยมาอยู่ แต่ก่อนหน้านี้ได้มีโอกาสเข้ามาทำ พอได้มาทำแล้วมันก็นำมาสู่ passion ต่างๆ”


หลังจากที่เกษียณตัวเองแล้ว พี่อ๋อก็เข้ามาเริ่มปลูกกาแฟที่บ้านป๊อก อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ และด้วยความที่เป็นคนชอบดื่มกาแฟ เวลาซื้อกาแฟจึงมองเสมอว่ากาแฟเป็นพืชที่มีมูลค่า จึงเกิดความสงสัยว่า ทำไมเกษตรกรผู้ผลิตกาแฟของไทยยังอยู่กับที่ ทั้งๆ ที่กาแฟเป็นพืชที่สร้าง value added หรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวเองได้ เมื่อทั้งแพสชั่นและความสงสัย รวมถึงความสนใจก่อตัวขึ้น จึงนำพาพี่อ๋อย่างก้าวเข้าสู่วงการกาแฟตั้งแต่ตอนนั้น


ตอนแรกแค่จะมาปลูกกาแฟไว้ดื่มเอง พอมาทำมันก็มีคำถามว่า กาแฟเป็นผลผลิตหรือสินค้ามีมูลค่า แต่ทำไมเกษตรกรยังมีหนี้สิน และยังขายไม่ได้ราคา



ตอนแรกแค่จะมาปลูกกาแฟไว้ดื่มเอง พอมาทำมันก็มีคำถามว่า กาแฟเป็นผลผลิตหรือสินค้ามีมูลค่า แต่ทำไมเกษตรกรยังมีหนี้สิน และยังขายไม่ได้ราคา ซึ่งพอเรามาเป็นเกษตรกรจริงๆ ปรากฎว่าในภาคการเกษตรมันลำบากมาก อย่าว่าแต่กำไรเลย ทำให้มันเท่าทุนยังยาก ตรงนั้นก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของความท้าทาย แล้วก็เป็นแพสชั่นที่อยากจะทำ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อสร้างราคาที่มันสูงขึ้น มันน่าจะทำอะไรได้ ก็กลายเป็นว่าทำให้เราต้องมาลงมือเรียนรู้ตั้งแต่กระบวนการปลูก พอมาปลูกจริงๆ เราก็พยายามหาวิธีหลายอย่างเพื่อที่จะเพิ่มราคาให้มัน แต่กลายเป็นว่าพอเอากาแฟไปขายให้กับโรงคั่ว มันก็มีคำถามกลับมาในเรื่องของคุณภาพ ท้ายที่สุดแล้วมันไม่ได้จบแค่ที่การปลูก เพราะมันมีในเรื่องของการ fair price ทำให้เรากระโดดเข้ามาในส่วนของโรงคั่วว่า ท้ายที่สุดแล้วเมื่อเกษตรกรอยากได้ราคาสูง โรงคั่วต้องการแบบไหนมันถึงจะแฟร์สำหรับโรงคั่วและเกษตรกร แล้วคำว่าคุณภาพมันคืออะไร ตอนแรกที่เรานำกาแฟคั่วไปส่งร้านกาแฟ ก็รู้สึกภูมิใจกับกาแฟของเรามาก พอเขาเปิดถุงแล้วดมก็ส่งคืนเลย มันก็ทำให้เราเกิดคำถามว่า แล้วตกลงคำว่าคุณภาพมันคืออะไร ถ้าเราอยากขายให้ได้ราคาดี ราคาสูง เราต้องทำยังไง ก็เป็นที่มาที่ไปว่าเราปลูก เราก็เลยลองคั่ว คั่วเสร็จมันก็ยังไม่จบ พอเราคั่วเสร็จเอาไปส่งร้านกาแฟมันก็ถูก feedback กลับมา สุดท้ายก็เลยต้องมาเปิดร้านกาแฟที่น้ำพุร้อนสันกำแพง (ปิดไปเมื่อปี 2561) เพื่อให้เป็นร้านทดลองและเป็นร้านเชิงวิจัยเพื่อสำรวจตลาด เพื่อที่จะได้รู้ว่าจริงๆ แล้วกาแฟแบบไหนที่ร้านกาแฟต้องการ รวมถึงให้เป็นร้านที่เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกร เพราะเราคิดว่าถ้าเกษตรกรอยากจะทำกาแฟให้ได้ราคาสูง เกษตรกรเองก็ต้องรู้ว่าจะทำให้มีคุณภาพได้อย่างไร เราจึงทำร้านนี้ขึ้นมา พอได้ผ่านกระบวนการปลูก การคั่ว และมาเปิดร้านกาแฟ จึงได้รู้ว่าแท้จริงแล้วเส้นทางของกาแฟมันเป็นแหล่งเชื่อมโยงระหว่างผู้ปลูกกับโรงคั่ว และร้านกาแฟ ซึ่งมันเชื่อมโยงกันหมด หลังจากนั้นก็ย้อนกลับไปที่แปลงปลูกอีกครั้งเพื่อพัฒนาให้มันตรงตามความต้องการของตลาด”



ดังนั้นเมื่อพี่อ๋อเข้ามาทำความรู้จักกับกาแฟอย่างครบกระบวนการแล้ว ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำคือ การปลูก การคั่ว และการทำร้านกาแฟ ความตั้งใจที่อยากจะเพิ่มมูลค่าให้กับกาแฟจึงดำเนินการไปถึงการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกชาและกาแฟคุณภาพบ้านป๊อก เพื่อส่งเสริมการปลูกกาแฟและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรบ้านป๊อก ซึ่งเป็นความท้าทายตั้งแต่แรกว่าจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น


“ตอนนั้นเราก็มองว่า เราจะทำยังไงในการสร้าง value added ได้ ผมก็นำเรื่องนี้เข้าไปปรึกษากับเกษตรอำเภอ เพื่อจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน และมองในเรื่องของการแปรรูปเพื่อที่จะได้สร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมา สิ่งหนึ่งที่พยายามทำก็คือ ทำยังไงก็ได้ให้มูลค่า มันมากกว่าต้นทุน เราเลยพยายามหาอะไรมาเสริม ด้วยความที่พื้นที่ที่อยู่มันเป็นป่าเมี่ยงเก่า ปี 56 - 57 ก็นำใบชาจากในหมู่บ้าน นำไปที่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ – โป่งน้อย ซึ่งเรามองว่าทำยังไงให้มันเพิ่มมูลค่าเพิ่มได้ จากวัตถุดิบที่มันมีอยู่ในท้องถิ่น เราก็เลยเอาใบชาเข้ามาเล่น เพราะกาแฟมันไม่ได้ทำทั้งปีอยู่แล้ว มันจะมีช่วงเวลา ซึ่งก็จะยุ่งกับกาแฟปีหนึ่งประมาณ 4 - 5 เดือน ที่เหลือมันก็ถือเป็นเวลาว่าง เราก็เลยพยายามเอาตัวนี้เข้ามาเสริม ดังนั้นหลักๆ ที่ตัดสินใจสร้างกลุ่มขึ้นมาก็เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรคือตัวกาแฟกับชา และเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกร”


อย่างไรก็ตามการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกชาและกาแฟคุณภาพบ้านป๊อก ที่เป็นเรื่องราวดีๆ ในการช่วยเพิ่มมูลค่าของผลผลิตกาแฟของเกษตรกร รวมถึงวัตถุดิบในท้องถิ่นได้ แต่ก็ไม่ได้ราบรื่นไปเสียทั้งหมด เนื่องจากภายใต้การขับเคลื่อนของกลุ่มก็มีเงื่อนไขและข้อจำกัดหลายอย่าง รวมถึงการขับเคลื่อนที่ค่อนข้างช้าจึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้พี่อ๋อต้องออกมาทำในรูปของบริษัทหรือในรูปของเอกชนอีกทางหนึ่งควบคู่ไปด้วยกัน


ภายใต้การบริหารจัดการของหน่วยงาน แน่นอนว่าระเบียบและข้อจำกัดมันมีเยอะมาก ผมเลยมองว่าต้องปลีกตัวมาทำแบรนด์อาคาบา วัตถุประสงค์ตอนนั้นคือในเรื่องของการตลาด



ภายใต้การบริหารจัดการของหน่วยงาน แน่นอนว่าระเบียบและข้อจำกัดมันมีเยอะมาก ผมเลยมองว่าต้องปลีกตัวมาทำแบรนด์อาคาบา วัตถุประสงค์ตอนนั้นคือในเรื่องของการตลาด เราดำเนินการได้เร็วกว่า แล้วอีกเรื่องหนึ่งคือในเรื่องของการแข่งขันทางด้านการตลาด ก็ต้องยอมรับว่ามันคล่องตัวกว่า ด้วยความที่คนที่อยู่ในแวดวงกาแฟมาจากหลากหลายองค์กร ถ้าเราจะทำเพื่อเพิ่มมูลค่า และแข่งขันในระดับสากล มันต้องใช้ในเรื่องของ business ค่อนข้างเยอะอย่างปฏิเสธไม่ได้”


ถือได้ว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นของ Acaba เลยก็ว่าได้ เพราะพี่อ๋อมองถึงภาพในวงกว้าง และมีความเชื่อว่ากาแฟไทยมันมีทางไปได้ไกล การดำเนินการของ Acaba จึงเริ่มจากชุมชนเล็กๆ อย่างบ้านป๊อก จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้คำว่า Acaba ยังเป็นชื่อที่มีที่มาที่ไปอีกด้วย โดยเกิดจากตอนที่พี่อ๋อกำลังคิดจะทำแบรนด์ จึงพยายามหาชื่อแบรนด์อยู่นานพอสมควร แล้วเผอิญว่ามีเพื่อนเป็นนักแปล แล้วชอบหนังสืออยู่เล่มหนึ่ง ซึ่งเป็นหนังสือนิทานของตะวันตกจึงแนะนำให้กับพี่อ๋อ เรื่องราวในนิทานเล่าว่า มีหมู่บ้านแห่งหนึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ และแห้งแล้งกันดาร ชาวบ้านในหมู่บ้านต้องการความช่วยเหลือ แล้วมีเด็กผู้ชายคนหนึ่งไปอธิฐานกับดวงดาวให้มาช่วย ซึ่งดวงดาวที่ลงมาช่วยนั้น ชื่อดวงดาว Acaba พี่อ๋อจึงนึกถึงสภาพแวดล้อมของบ้านป๊อก และกาแฟก็เปรียบเสมือนดวงดาวที่เข้ามาช่วยเหลือชาวบ้าน



“เมื่อสิบปีที่แล้วบ้านป๊อกเป็นหมู่บ้านที่ผลิตเมี่ยงที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากเมี่ยงมีประวัติความเป็นมาที่อยู่ในหมู่บ้านน่าจะไม่ต่ำกว่า 200 ปี ตั้งแต่สมัยชนเผ่าขมุ อาชีพหลักของหมู่บ้านจึงเป็นการทำชา เก็บเมี่ยงแล้วนำมาดอง แล้วก็เอาลงมาขายในเชียงใหม่ เขาว่ากันว่าเมี่ยงบ้านป๊อกเป็นเมี่ยงสามเกลือ คือใส่เกลือได้สามรอบ เพราะด้วยความเข้มข้นของใบเมี่ยง จึงเป็นที่ลำลือกันว่าเมี่ยงบ้านป๊อกคำเดียวทำงานได้ตลอดทั้งวัน แต่ว่าตอนหลังคนเคี้ยวเมี่ยงมันน้อยลงแล้ว เมี่ยงก็เป็นอาชีพเสริม กาแฟก็เข้ามา


พอกาแฟเข้ามาเกษตรกรก็เหมือนเกษตรกรภาคเกษตรทั่วไปของบ้านเรา เวลาเราขายเราก็ไม่ได้จะขายราคาแพง เพราะจะขายผลผลิตเยอะๆ บางทีสิ่งที่ทุกคนลืมก็คือในเรื่องของต้นทุน ก็มีหนี้มีสินกันค่อนข้างเยอะจากอาชีพการเกษตร ในหมู่บ้านนี้ก็ไม่ต่างกัน ชาวบ้านก็จะมีหนี้ครัวเรือน วัตถุประสงค์ที่เราเข้ามาในพื้นที่ด้วยความสัจจริง เราไม่ได้จะเข้ามาสร้าง business เพราะชีวิตของเรามันลงตัวแล้ว แต่ที่เราเข้ามาทำคือต้องการ happiness มากกว่า แต่ว่าหลายๆ อย่างพอมันได้มาทำกาแฟและเห็นถึงปัญหา รูปแบบของ business มันก็ต้องกระโดดเข้ามา ด้วยความที่เรามาใช้กาแฟเป็นตัวนำ เราก็มองว่าเราจะทำอะไรกับมันได้ แรกๆ เราโฟกัสที่หมู่บ้านก่อน พอเราทำได้แล้ว เกษตรกรสร้างมูลค่าให้กาแฟได้แล้ว หลังจากนั้นหลายๆ อย่างมันเริ่มกระจายออก เราจึงมองภาพรวมเป็นกาแฟไทย”


ดังนั้นในเมื่อพี่อ๋อมองภาพรวมไปถึงกาแฟไทย และ Acaba มีจุดประสงค์ที่แน่วแน่ถึงการต้องการเพิ่มมูลค่าให้กาแฟและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรไทย พี่อ๋อจึงเก็บสะสมองค์ความรู้ในเรื่องของกาแฟตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำได้อย่างเชื่อมโยงกัน จึงกลายเป็นต้นสายปลายเหตุให้พี่อ๋อมีแนวคิดที่อยากจะแชร์ประสบการณ์และองค์ความรู้ต่อให้กับเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจในเรื่องราวของกาแฟ


เราจำเป็นต้องเข้าใจกระบวนการของมันจริงๆ ถ้าเกษตรกรเราเข้าใจหรือมีความสามารถในการผลิตให้มันมีคุณภาพ ซึ่งมั่นใจว่ามันทำได้ เพราะเราทำแล้วและเราลองแล้ว มันกระทบไหล่กับข้างนอกได้ เราคิดว่ามันก็เป็นอีกหนึ่งทิศทางที่ทำให้เกิดความยั่งยืน



“เราตกตะกอนได้ว่า เราจำเป็นต้องเข้าใจกระบวนการของมันจริงๆ ถ้าเกษตรกรเราเข้าใจหรือมีความสามารถในการผลิตให้มันมีคุณภาพ ซึ่งมั่นใจว่ามันทำได้ เพราะเราทำแล้วและเราลองแล้ว มันกระทบไหล่กับข้างนอกได้ เราคิดว่ามันก็เป็นอีกหนึ่งทิศทางที่ทำให้เกิดความยั่งยืน พอได้มุมมองแล้วเลยเริ่มกระจายความรู้ เริ่มถ่ายทอดในเรื่องของการปลูก การผลิต ในเรื่องของการ process ก็เชื่อมโยงกับการปลูก การดูแลก็เชื่อมโยงกับสายพันธุ์ แล้วก็เชื่อมโยงไปถึง roasting และ brewing ด้วย ดังนั้นพอเราได้ความรู้มาสักระยะหนึ่งแล้ว เราก็อยากถ่ายทอดให้กับภาคเกษตรหรือเกษตรกร และคนที่อยู่ในแวดวงกาแฟ”


กาแฟมันเป็นสินค้ามีมูลค่า สินค้าที่สร้างแบรนด์ value added ในตัวมันได้ ดังนั้นสิ่งที่เราและทุกฝ่ายต้องทำก็คือให้พวกเขายืนได้ด้วยตัวของเขาเอง


การพัฒนาในคุณภาพของกาแฟไทยนั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เกษตรกรเองก็ไม่ใช่แค่ปลูกเหมือนเมื่อก่อน เพราะแนวโน้มในปัจจุบันค่อนข้างดี ปัจจุบันเกษตรกรมีความรู้เรื่องชิมกาแฟ รู้เรื่องการพัฒนาร่วมกับโรงคั่ว หรือร่วมกับร้านกาแฟ มีการจัดกิจกรรม แล้วอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญที่สุด สิ่งที่มันจะทำให้ยั่งยืนคงหนีไม่พ้นในเรื่องของ quality ถ้าผลิตของดีที่สุด มั่นใจได้เลยว่าคงไม่ใช่แค่คนไทยที่ต้องการ แต่ต่างประเทศเองก็ต้องการเช่นกัน เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่เกษตรกรไทยเราต้องให้ความสำคัญ รู้ว่าสิ่งที่เราผลิตดีหรือไม่ดี มีคุณภาพหรือไม่

ในยุคนี้คงจะไม่ได้เสียแล้วหากผู้ผลิตกาแฟไม่เคยชิมกาแฟที่ตัวเองทำ นอกจากนี้ในทุกขั้นตอนของการผลิตกาแฟล้วนมีจุดที่เชื่อมโยงกัน เหมือนที่พี่อ๋อกล่าวสรุปกับเราตอนท้ายว่า “ถ้าเราทราบความต้องการของกันและกันก็ปรับไปทีละจุดให้มันเชื่อมโยงกันได้ เรามองว่ากาแฟมันช่วยสนับสนุนเหมือนสินค้าเกษตรอย่างอื่นได้ แต่มันไม่ยั่งยืน กาแฟมันเป็นสินค้ามีมูลค่า สินค้าที่สร้างแบรนด์ value added ในตัวมันได้ ดังนั้นสิ่งที่เราและทุกฝ่ายต้องทำก็คือให้พวกเขายืนได้ด้วยตัวของเขาเอง


 

Coffee Traveler

เป็นนิตยสารรายสองเดือน ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ

และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ

- - -

สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX Facebook Coffee Traveler

Youtube : Coffee Traveler

253 views0 comments
bottom of page