ในโลกที่ทุกอย่างดูจะหมุนเวียนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วไปเสียหมด หลายสิ่งหลายอย่างต่างเป็นกระแสที่มาไวไปไวอย่างไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด เป็น dynamics ที่เคลื่อนไหวขึ้นและลงสลับกันไปอยู่แทบทุกขณะ ในวงการกาแฟก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นกระแสการบริโภคที่มีความแปลกใหม่เพิ่มขึ้นมาให้จับตามอง การตลาดที่งัดเอาสารพัดกลยุทธ์มามัดใจลูกค้า หรือจะเป็นเรื่องของกระบวนการผลิตที่มีการนำเอาลูกเล่นใหม่ๆ เสริมเข้ามาเพื่อเพิ่มคุณภาพให้กับกาแฟ หากผู้เกี่ยวข้องในหลายๆ ภาคส่วนไม่มีการปรับตัวหรือพัฒนาเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ ก็คงจะถูกทิ้งไว้อยู่ข้างหลังและถูกกลืนหายไปในคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงในที่สุด
ชมรม Q Arabica Grader Thailand เป็นการรวมตัวกันระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกาแฟในภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งกรมวิชาการเกษตร สมาคมกาแฟพิเศษแห่งประเทศไทย สมาคมชาและกาแฟไทย เหล่า Q - Grader และผู้เชี่ยวชาญในส่วนอื่นๆ
ชมรม Q Arabica Grader Thailand เป็นการรวมตัวกันระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกาแฟในภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งกรมวิชาการเกษตร สมาคมกาแฟพิเศษแห่งประเทศไทย สมาคมชาและกาแฟไทย เหล่า Q - Grader และผู้เชี่ยวชาญในส่วนอื่นๆ เพื่อดึงเอาจุดเด่นและทรัพยากรที่แต่ละภาคส่วนมีมาทำประโยชน์ร่วมกันในเชิงของการทำงานแบบบูรณาการ โดยมีจุดประสงค์ร่วมกันคือ การพัฒนาคุณภาพกาแฟไทย ให้มีมาตรฐานในระดับสากลและสามารถแข่งขันในตลาดโลก และ Q Arabica Grader Thailand ต้องการที่จะเป็นศูนย์กลางในการหาแหล่งทุน พัฒนาบุคลากร เป็นที่ปรึกษา และเป็นศูนย์กลางในการรวมศักยภาพคน ให้สามารถพัฒนาไปพร้อมๆ กันได้อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรเป็นหลัก อันเป็นส่วนต้นน้ำที่สำคัญในการผลิตกาแฟให้มีคุณภาพ
“ทางกรมวิชาการเกษตรทำวิจัยเกี่ยวกับกาแฟมาเกือบ 30 ปีแล้ว และได้มีการส่งต่อให้กับเกษตรกรในบางชิ้น แต่งานวิจัยบางชิ้นก็ไม่ได้รับการสื่อสารอย่างถูกต้อง เราเลยคิดว่าการถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมกับภาคเอกชน จะเป็นสิ่งที่สามารถนำองค์ความรู้ไปสู่ผู้ใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้และสามารถนำเอาไปใช้ประโยชน์ได้จริง” ดร. โกเมศ สัตยาวุธ หรือด็อกเตอร์เก่ง พูดถึงจุดประสงค์ของการตั้งชมรม Q Arabica Grader Thailand ในครั้งนี้
กรมวิชาการเกษตรทำวิจัยเกี่ยวกับกาแฟมาเกือบ 30 ปีแล้ว และได้มีการส่งต่อให้กับเกษตรกรในบางชิ้น แต่งานวิจัยบางชิ้นก็ไม่ได้รับการสื่อสารอย่างถูกต้อง - ดร. โกเมศ สัตยาวุธ
กรมวิชาการเกษตรนั้นจะสนับสนุนในเรื่ององค์ความรู้เชิงวิชาการหรือการทำวิจัยเป็นหลัก และในภาคเอกชน ก็จะสนับสนุนในเรื่องของนวัตกรรม เทคโนโลยี อย่างเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์หรือห้องปฏิบัติการต่างๆ รวมไปถึงเรื่องของการตลาด เทรนด์การบริโภค หรือการพัฒนาในส่วนของรสชาติและคุณภาพที่ต้องอาศัยองค์ความรู้จาก Q - Grader และ Q - Sensory เรียกได้ว่าเป็นการพึ่งพาซึ่งกันและกัน ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน และแบ่งปันประสบการณ์กัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันกับทุกฝ่าย อย่างการจัดตั้งห้องปฏิบัติการกาแฟ CCQ เพื่อเป็นศูนย์บริการ One stop service ที่ทุกคนสามารมาปรึกษาได้ตั้งแต่เรื่องการปลูกไปจนถึงจบกระบวนการ และไม่ใช่เฉพาะกับกาแฟสายพันธุ์อราบิก้าเท่านั้น ทั้ง โรบัสต้า ลิเบอลิก้า หรือสายพันธุ์อื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน
Q Arabica Grader Thailand ยังมีโครงการ Thai premium coffee ซึ่งเป็นการทำ Role model ในการรวมตัวกันเพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ร่วมกัน โดยมีจุดประสงค์หลักคือ การสร้าง Network หรือสร้างเครือข่ายเพื่อเป็นการร่วมมือระหว่างเกษตรกร ผู้ประกอบการ และนักวิจัย ข้อต่อมาคือการพัฒนา Processing เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพกาแฟไทย และ สุดท้ายคือ การทำการโฆษณาและการตลาด เพื่อนำเสนอกาแฟไทยสู่ตลาดโลก
แล้วเพราะเหตุใดถึงมุ่งเน้นในเรื่องของคุณภาพและให้ความสำคัญกับเกษตรกรเป็นหลัก ก็เนื่องจากประเทศไทยนั้น มีข้อจำกัดในเรื่องขนาดพื้นที่เพาะปลูก ทำให้ไม่สามารถผลิตกาแฟได้ในปริมาณมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีความพร้อมในเรื่องของพื้นที่ แรงงานคน และการผลิต ดังนั้น สิ่งที่จะทำได้คือ การพัฒนาในเรื่องของคุณภาพ และมุ่งเน้นไปที่กาแฟแบบ Specialty coffee หรือกาแฟชนิดพิเศษเป็นหลัก แม้ว่าประเทศไทยจะมีข้อจำกัดในด้านขนาดของพื้นที่ปลูก แต่ก็เป็นพื้นที่ที่มีปัจจัยการผลิตค่อนข้างจะดี ปัญหาที่พบก็คือ เกษตรกรไม่สามารถทำกาแฟให้มีคุณภาพตามความต้องการของตลาดหรือตามปัจจัยการผลิตที่มีอยู่ได้ เนื่องจากขาดข้อมูลความรู้ในกระบวนการปลูกและการผลิตอย่างถูกต้องเหมาะสม ดังนั้น จึงต้องการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ให้กับเกษตรกร เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในการผลิตกาแฟที่มีคุณภาพ สามารถสร้างอัตลักษณ์และจุดเด่นให้กับกาแฟไทยได้ และให้ผู้ดื่มได้รับรู้ได้ว่า กาแฟไทยเป็นกาแฟที่มีคุณภาพ และสามารถขายได้ในตลาดสากลต่อไป
ซึ่งการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรนั้น นอกจากจะมีศูนย์กลางอย่างห้องปฏิบัติการแล้ว ก็ยังมีการลงพื้นที่หรือการขึ้นไปยังแหล่งปลูกกาแฟต่างๆ โดยสมาชิกในชมรมอย่าง Q - Grader เพื่อนำข้อมูลความรู้ส่งต่อยังเกษตรกรในแต่ละพื้นที่อย่างแม่นยำถูกต้องด้วยเช่นกัน
“มีงานวิจัยมากมายที่นักวิชาการได้ทำการศึกษา แต่งานวิจัยเหล่านี้ ไม่ค่อยจะไปถึงมือเกษตรกร เกษตรกรไม่สามารถนำความรู้ตรงนี้ไปใช้งานได้ ภารกิจของเราคือ เราอยากจะเป็นผู้นำพาสิ่งเหล่านี้ ทั้งความรู้ วิทยาการใหม่ๆ เทคโนโลยี งานวิจัยใหม่ๆ ที่ทำให้กาแฟมีคุณภาพสูงขึ้น ไปสู่เกษตรกร ด้วยความแม่นยำและถูกต้อง หากเราให้ข้อมูลที่ผิดพลาดแล้วก่อให้เกิดความเสียหาย เกษตรกรก็จะยิ่งเสียกำลังใจและเสียทุนทรัพย์” คุณเอก สุวรรณโณ ตัวแทนของ Q - Grader พูดถึงการทำงานในชมรม Q Arabica Grader Thailand
เราอยากจะเป็นผู้นำพาสิ่งเหล่านี้ ทั้งความรู้ วิทยาการใหม่ๆ เทคโนโลยี งานวิจัยใหม่ๆ ที่ทำให้กาแฟมีคุณภาพสูงขึ้น ไปสู่เกษตรกร ด้วยความแม่นยำและถูกต้อง - คุณเอก สุวรรณโณ
ในการพัฒนากาแฟไทยให้มีคุณภาพมากขึ้น ก็รวมไปถึงเรื่องของรสชาติและวิธีการ Process ด้วย สมาชิกชมรมอย่าง Q - Grader ต้องการจัดระดับคุณภาพรสชาติที่เป็นค่ามาตรฐาน หรือเป็นค่ากลางของประเทศ โดยให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้สนับสนุน และมีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่จะสามารถ Identify ระบุ แยกแยะ ในเรื่องของกลิ่นและรสชาติต่างๆ ได้ และมีความแม่นยำ เป็นค่า Candidate หรือค่ากลางเพื่อสร้างมาตรฐานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และในอนาคต ก็อาจจะไปพัฒนาในเรื่องของวิธีการ Process ร่วมด้วย
คุณเอก สุวรรณโณ ได้เล่าถึงการ Process กาแฟให้ฟังว่า กาแฟบ้านเราทุกวันนี้ บางล็อตทำออกมาดีมาก แต่ว่าไม่สามารถทำซ้ำได้ ซึ่งก็ไม่สามารถส่งกาแฟให้กับลูกค้าได้ เนื่องจากไม่มีความเสถียร เพราะฉะนั้น ปัญหาในส่วนนี้จะต้องได้รับการแก้ไข โดยทาง Q - Grader กำลังปรึกษากับนักวิชาการกรมวิชาการเกษตรเพื่อศึกษาหนทางในเรื่องของขบวนการ Process ให้มีความเสถียร และถ้าทำสำเร็จก็จะทำการเผยแพร่ต่อไป เพื่อให้วิธีการแปรรูปกาแฟสามารถทำซ้ำได้ เมื่อสามารถทำซ้ำได้ ก็จะได้กาแฟที่มีอัตลักษณ์ของพื้นที่ชัดเจน มีความคงที่ และสามารถทำการตลาดกับต่างประเทศได้
“กาแฟมีเรื่องราวในตัวเองอยู่แล้ว เราต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้สามารถพัฒนาต่อไปได้เรื่อยๆ เราก็จะพัฒนามาตรฐานให้ครบทั้งหมด ให้อยู่ในระดับสากล และสื่อสารให้คนเข้าใจได้อย่างถูกต้องว่ากาแฟมีที่มาอย่างไร พืชตัวนี้มีผลประโยชน์อย่างไร ให้คนสามารถเข้าใจได้ว่า กาแฟไม่ใช่แค่เครื่องดื่ม แต่มันมีเรื่องราวในตัวของมันเอง มันเป็นชีวิต เป็นวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ” ดร. โกเมศ สัตยาวุธ กล่าว
กาแฟมีเรื่องราวในตัวเองอยู่แล้ว เราต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้สามารถพัฒนาต่อไปได้เรื่อยๆ เราก็จะพัฒนามาตรฐานให้ครบทั้งหมด ให้อยู่ในระดับสากล
เมื่อแต่ละภาคส่วนต่างก็มีจุดเด่นและมีศักยภาพที่แตกต่างกันไป ก็คงจะเป็นการดีที่จับมือเพื่อร่วมกันพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้ ทั้งยังเป็นการพัฒนาเพื่อนำประโยชน์มาให้กับทุกๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เพราะแต่ละคนก็ต่างมีเป้าประสงค์ร่วมกัน นั่นคือการนำเสนอกาแฟไทย อันเป็นสิ่งที่เราต่างเห็นคุณค่าและภูมิใจ ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับสากลนั่นเอง
Comentarios