top of page
Writer's picturecoffeetravelermag

กาแฟเมืองเก่าเล่าใหม่ “ โรบัสตาเมืองกาญจน์ ”

ผลการตัดสินการประกวดสุดยอดกาแฟไทย 2564 (Thai Coffee Excellence 2021) โดยกรมวิชาการเกษตร ได้ทำการประกาศผลออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อย่างที่รู้กันว่า ในปี 2564 นี้ ได้มีการจัดประกวดทั้งกาแฟสายพันธุ์อาราบิกาและโรบัสตา ซึ่งในบทความนี้เราจะพูดถึงในส่วนของการประกวดกาแฟสายพันธุ์โรบัสตาที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในงานการประกวดสุดยอดกาแฟไทยเป็นปีแรก ก่อนอื่นเราขอเอ่ยถึงเกษตรกรที่ชนะการประกวดในลำดับที่ 1 – 3 ซึ่งเป็นลำดับพื้นฐานของการจัดการประกวด โดยมีผลการตัดสินดังนี้


1. นายธนาสิทธิ์ สอนสุภา ผลคะแนน 85.39

หมู่บ้านนาตีนเขา ต.หินแก้ว อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร

2. นายเมธา ทาติ๊บ ผลคะแนน 85.01

หมู่บ้านหัวทุ่ง ต.แม่พริก อ.แม่สรวย จ.เชียงราย

3. นายพิชิต บุญยืนพนากุล ผลคะแนน 83.75

หมู่บ้านดอยช้างใหม่ ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย


เราขอแสดงความยินดีกับเกษตรกรทั้ง 3 ท่านมา ณ ที่นี้ด้วย และเมื่อเราดูรายชื่อเกษตรกรมาถึงในลำดับที่ 4 กับข้อมูลของพื้นที่สวนของเกษตรกร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแหล่งปลูกที่เราได้เคยมีโอกาสเข้าไปทำคอนเทนต์มาแล้ว จึงคิดว่าน่าสนใจหากจะนำเรื่องกาแฟของเมืองกาญจน์กลับมาเล่าสู่กันฟังอีกครั้ง ซึ่งเกษตรกรลำดับที่ 4 คือ นายวันชัย สุดก้องหล้า จากหมู่บ้านเกาะสะเดิ่ง ต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ที่มีคะแนนถึง 83.17 คะแนน ซึ่งกาแฟจากตำบลไล่โว่นี้ ดูจะแตกต่างจากแหล่งปลูกอื่นๆ เพราะกาแฟโรบัสตาส่วนใหญ่ก็จะปลูกอยู่ในลักษณะเชิงเดี่ยวหรือใต้สวนยางเป็นต้น แตกต่างกับกาแฟที่มาจากพื้นที่ตำบลไล่โว่แห่งนี้ ที่ปลูกอยู่ในลักษณะของการผสมผสานหรือวนเกษตรอินทรีย์


และอีกเหตุผลที่เราอยากจะถ่ายทอดเรื่องราวของกาแฟเมืองกาญจน์คงไม่พ้นคำถามที่ว่า “จังหวัดกาญจนบุรีปลูกกาแฟด้วยเหรอ” บางท่านคงรู้กันดีอยู่แล้วถึงกาแฟทั้งอาราบิกาและโรบัสตาที่ถูกปลูกในจังหวัดกาญจนบุรี แต่ก็ยังมีบางท่านไม่เคยทราบว่าเมืองกาญจน์นั้นสามารถปลูกกาแฟได้และสามารถมีคุณภาพได้ดีอีกด้วย ดังนั้นบทความนี้ Coffee Traveler ขอรับหน้าที่เป็นตัวแทนหมู่บ้านที่จะมาบอกเล่าเรื่องราวกาแฟเมืองกาญจน์ให้ได้ฟังกัน


จังหวัดกาญจนบุรีถือว่าเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของประเทศไทย ด้วยขนาดพื้นที่ที่มากถึง 12,176,968 ไร่ ความพิเศษของพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีสำหรับพืชกาแฟคือ สามารถปลูกได้ทั้งสายพันธุ์อาราบิกาและโรบัสตา อาจเป็นเพราะมีสภาพพื้นดินที่สมบูรณ์ เต็มไปด้วยป่าไม้ และยังมีสภาพอากาศที่เหมาะสมอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความชื้นในบางพื้นที่ และความเย็นในระดับที่พอเหมาะกับกาแฟ จึงถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ลงตัวกับกาแฟทั้งสองสายพันธุ์ ที่ถึงแม้ว่าจะมีความสูงเฉลี่ยไม่มากเท่าพื้นที่ทางภาคเหนือก็ตาม ซึ่งพื้นที่ที่มีการปลูกกาแฟมากที่สุดอยู่ใน 2 อำเภอ คือ อำเภอะสังขละบุรี และอำเภอทองผาภูมิ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความสูงเฉลี่ยตั้งแต่ 500 - 800 เมตร จากระดับน้ำทะเล และที่สำคัญคือยังเป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่ใกล้เขตป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ของป่าสูง ทำให้มีความหลากหลายและความเหมาะสมทั้งในเรื่องของสภาพดิน สภาพอากาศ ที่จะส่งผลให้กาแฟออกผลผลิตอย่างมีคุณภาพได้ไม่แพ้พื้นที่อื่น


พื้นที่ในเขตป่าทุ่งใหญ่นเรศวรมีความหลากหลาย เป็นทั้งป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ทุ่งหญ้าซาวันนา และมีความหลากหลายทางพืชพรรณ ด้วยเหตุนี้จึงถูกขึ้นชื่อว่าเป็นมรดกโลก ซึ่งในภาคเกษตรกรรมถือว่าพื้นที่แถวๆ นี้ เป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่ดีเลยทีเดียว

นอกจากนี้พื้นที่แถบนี้ยังมีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี หน้าร้อนอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 22 องศาเซลเซียส และหน้าหนาวอยู่ที่ประมาณ 10 องศาเซลเซียส ซึ่งคล้ายคลึงกับสภาพอากาศทางภาคเหนือ พื้นที่ในเขตป่าทุ่งใหญ่นเรศวรมีความหลากหลาย เป็นทั้งป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ทุ่งหญ้าซาวันนา และมีความหลากหลายทางพืชพรรณ ด้วยเหตุนี้จึงถูกขึ้นชื่อว่าเป็นมรดกโลก ซึ่งในภาคเกษตรกรรมถือว่าพื้นที่แถวๆ นี้ เป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่ดีเลยทีเดียว และบางงานวิจัยยังบอกว่าที่นี่เป็น Sub – Tropical Zone หรือพื้นที่กึ่งเขตร้อนที่มีลักษณะคล้ายกับฮาวายอีกด้วย


กาแฟที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ใกล้หรืออยู่ในเขตป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

อย่างที่ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี ซึ่งมีชนเผ่ากะเหรี่ยงเป็นคนปลูก

ที่ตำบลไล่โว่มีพื้นที่ปลูกกาแฟอยู่ 6 หมู่บ้าน



กาแฟที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ใกล้หรืออยู่ในเขตป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อย่างที่ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี ซึ่งมีชนเผ่ากะเหรี่ยงเป็นคนปลูก ที่ตำบลไล่โว่มีพื้นที่ปลูกกาแฟอยู่ 6 หมู่บ้าน คือ บ้านสะเน่พ่อง บ้านกองม่องทะ บ้านเกาะสะเดิ่ง บ้านไล่โว่-สาละวะ บ้านไร่ป้า และบ้านสะแก ซึ่งในอดีตชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ตำบลไล่โว่ส่วนใหญ่ปลูกกาแฟโรบัสตาอย่างไม่ใส่ใจมากนัก โดยปลูกตามหัวไร่ปลายนา และปลูกแซมป่าธรรมชาติ โดยขาดระบบการจัดการที่ดี ทำให้ผลผลิตไม่มีคุณภาพจึงถูกกดราคารับซื้อ ต่อมาศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูงจังหวัดกาญจนบุรีจึงได้เข้าช่วยเหลือโดยกำหนดแนวทางการพัฒนากาแฟป่า เพื่อยกระดับคุณภาพผลผลิตกาแฟของเกษตรกรในตำบลไล่โว่ โดยเริ่มจากการส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มผู้ปลูกกาแฟ และจัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตกาแฟโรบัสตาที่เหมาะสมไปสู่สมาชิกกลุ่มเกษตรกร ตั้งแต่การปลูก การจัดการการเก็บเกี่ยว การดูแลหลังการเก็บเกี่ยว ตลอดจนการแปรรูปผลิตภัณฑ์กาแฟ เมื่อปี 2556 ทางศูนย์ฯ ได้เพาะต้นพันธุ์กาแฟโรบัสตาและมอบให้กับสมาชิกกลุ่มเกษตรกรชาวกะเหรี่ยงในตำบลไล่โว่ไปปลูกไม่น้อยกว่า 10,000 ต้น ปัจจุบันพื้นที่ตำบลไล่โว่มีเนื้อที่ปลูกกาแฟโรบัสตาประมาณ 300 – 500 ไร่ โดยปลูกในพื้นที่ป่าทำกินในเขตป่าทุ่งใหญ่นเรศวร รวมทั้งศูนย์ฯ ยังพัฒนาจุดเด่นของกาแฟป่าเป็นกาแฟอินทรีย์ที่ปราศจากปุ๋ยเคมีและสารเคมีตั้งแต่ตอนปลูกจนถึงขั้นตอนของการเก็บเกี่ยว ทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และขายได้ราคาสูงขึ้น


ปัจจุบันพื้นที่ตำบลไล่โว่มีเนื้อที่ปลูกกาแฟโรบัสตาประมาณ 300 – 500 ไร่ โดยปลูกในพื้นที่ป่าทำกินในเขตป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

อย่างไรก็ตามกาแฟจากจังหวัดกาญจนบุรียังถือได้ว่าเป็นที่รู้จักกันเฉพาะคนในแวดวงกาแฟเสียส่วนใหญ่ แต่การประกวดสุดยอดกาแฟไทย 2564 ในครั้งนี้ ก็เปรียบเสมือนเป็นตัวกระตุ้นที่จะช่วยกระเตื้องให้ชื่อเสียงของกาแฟเมืองกาญจน์รู้จักมากยิ่งขึ้น ให้ผู้ที่ไม่รู้ว่านอกจากเมืองกาญจน์จะมีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจแล้ว ยังเป็นแหล่งกาแฟโรบัสตาและอาราบิกาที่มีคุณภาพอีกแหล่งหนึ่งของประเทศไทย ไม่ว่าจะด้วยลักษณะที่สมบูรณ์ของพื้นที่ สภาพอากาศ หรือแม้แต่ฝีไม้ลายมือของตัวเกษตรกรเอง กาแฟเมืองกาญจน์จึงหวนกลับมาให้ผู้ที่ไม่ทราบได้รับทราบกันไปแล้วอย่างท้วนหน้าผ่านการประกวดในครั้งนี้ สุดท้ายนี้ทาง Coffee Traveler ขอแสดงความยินดีกับเกษตรกรทุกท่านที่ได้รับรางวัล และขอแสดงความนับถือกับเกษตรกรทุกท่านที่ส่งกาแฟเข้าร่วมประกวดภายในปีนี้ ทำให้กาแฟไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น และบางแหล่งปลูกถูกกลับมาพูดถึงอีกครั้งหนึ่ง เช่นเดียวกับกาแฟจากตำบลไล่โว่ จังหวัดกาญจนบุรี

1,020 views0 comments

Recent Posts

See All

Commentaires


bottom of page