top of page

10 Years in Advance อนาคตของกาแฟในป่า

Updated: Sep 6, 2018

จากความร่วมมือของ Espressoman และ Sopa’s Estate



สเปรย์ฉีดกันแมลงถูกประโคมฉีดตามร่างกายจนกลิ่นคลุ้ง เพื่อป้องกันการเผชิญหน้ากับดัชนีวัด

ความสมบูรณ์ของป่าอย่างทาก จากคำเตือนแกมขู่ของคนในพื้นที่อย่าง Sopa’s Estate ซึ่งนำทีม

โดยคุณโสภา-บงกชษศฎา ไชยพรหม พวกเราซึ่งเป็นแรงงานต่างถิ่น(เฉพาะกิจ) จาก Espressoman Supply และ Coffee Traveler จึงต้องรีบจัดการชายกางเกงและหยิบเสื้อมาสวมทับอีกชั้นก่อนปฏิบัติภารกิจของวันนี้


Sopa’s Estate และ Espressoman Supply จับมือกันตั้งแต่กาแฟอมก๋อยในชื่อของบงกชษศฎา

ไชยพรหม ไปคว้ารางวัลชนะเลิศสุดยอดกาแฟไทยจากเวทีของสมาคมกาแฟพิเศษไทยในปี 2558

หลังจากได้ประมูลกาแฟชนะเลิศในปีนั้นแล้ว Espressoman จึงติดตามเมล็ดกาแฟเข้ามาในพื้นที่อมก๋อย และร่วมมือกันผลักดันในเกิด อมก๋อย บีนส์ ขึ้น ทำให้วงจรกาแฟของ Sopa’s Estate และ Espressoman Supply เป็นวงจรครบถ้วนสมบูรณ์ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำที่ทำงานประสานกันอย่างใกล้ชิด


ในครั้งนี้ก็เช่นกัน Coffee Traveler กระโดดขึ้นรถมุ่งหน้ามายังอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

เพื่อติดตามการทำงานของ Sopa’s Estate และ Espressoman Supply ในการเตรียมผลผลิตล่วงหน้าที่อาจฟังดูเป็นเรื่องธรรมดา หากเราไม่บอกผู้อ่านว่ามันคือการเตรียมตัวล่วงหน้าราว 10 ปี!



ชื่ออำเภออมก๋อยนี้สันนิษฐานกันว่าเพี้ยนมาจากคำว่า ‘อำกอย’ ในภาษาลัวะ ภาษาของชาติพันธุ์ดั้งเดิมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ คำว่าอำกอย หมายถึงขุนน้ำหรือต้นน้ำ จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นไส้เดือนตัวเขื่องโผล่มาเป็นระยะๆ ตลอดการลงมือขุดหลุมเพื่อปลูกกล้าไม้ เป็นเครื่องยืนยันคำกล่าวที่ใครๆ ต่างยกให้แผ่นดินอมก๋อยเป็นดินดี ไม้ว่าจะปลูกอะไรก็ได้ผลผลิตคุณภาพ กล้าไม้ไม่ว่าจะเป็นกล้วยน้ำว้า

มะขามป้อม มะม่วง ไปจนถึงเมล็ดพันธุ์ทั้งลำไย ลิ้นจี่ ขนุน และไม้ยืนต้นอื่นๆ ที่ลำเลียงไว้เต็มกระบะรถ

ถูกทยอยปลูกในเขตป่าอนุรักษ์ชุมชน บ้านแม่ลานหลวง ตำบลยางเปียง อำเภออมก๋อยหลายจุดในบริเวณใกล้กัน


-

คำว่าอำกอย หมายถึงขุนน้ำหรือต้นน้ำ จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นไส้เดือนตัวเขื่อง

โผล่มาเป็นระยะๆ ตลอดการลงมือขุดหลุมเพื่อปลูกกล้าไม้

เป็นเครื่องยืนยันคำกล่าวที่ใครๆ ต่างยกให้แผ่นดินอมก๋อยเป็นดินดี

ไม่ว่าจะปลูกอะไรก็ได้ผลผลิตคุณภาพ

-


“จริงๆ นี่ไม่ใช่โครงการอะไรเลย เราแค่อยากมาสร้างป่าที่สมบูรณ์ขึ้น เพื่อที่อีกห้าปีเจ็ดปีหลังจากวันนี้

เราจะได้มีต้นไม้ใหญ่ไว้เป็นร่มให้กาแฟ คือเราปลูกไม้ยืนต้นไว้วันนี้ อีกห้าปีชาวบ้านก็ลงต้นกาแฟได้

อีกไม่เกินสิบปีเราก็ได้ผลผลิตกาแฟเพิ่มขึ้น” คุณตู๋ - ต่อพงศ์ ตันตราภรณ์ เจ้าของ Espressoman Supply บอกเราด้วยความเชื่อมั่น เราเห็นความผูกพันระหว่างคุณตู๋และพื้นที่อมก๋อยหลายครั้ง จนเราแอบคิดว่าคุณตู๋เป็นคนอมก๋อยแทนที่จะเป็นคนกรุงเทพ




ทีมเจ้าบ้านจากอมก๋อย นอกจากจะมีคุณโสภาแล้ว ยังมีเกษตรกรที่ส่งผลผลิตให้กับ Sopa’s Estate

มาสมทบด้วย ได้แก่พี่จอโพ พี่พะลิแม และพี่คุนุ พร้อมลูกชายอีกสองคนซึ่งกลายเป็นผู้รับหน้าที่หว่านเมล็ดพันธุ์โดยการใช้หนังสติ๊กยิงส่งเมล็ดพันธุ์ออกไปไกลๆ แบบไม่ต้องเสียแรงเดิน



นอกจากลงกล้าและหว่านเมล็ดพันธุ์ไม้ยืนต้นต่างๆ แล้ว ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ชุมชนที่มีร่มเงาต้นไม้ใหญ่เหมาะสม พี่จอโพ พี่พะลิแม และพี่คุนุได้ปลูกกล้ากาแฟเพิ่มเติมด้วย ความลาดชันของพื้นที่ปลูก

ทำให้ผู้มาเยือนพลาดลื่นกันคนละเล็กละน้อย ในขณะที่เจ้าบ้านเดินขึ้นลงอย่างคล่องแคล่ว

แม้กระทั่งกับเด็กน้อยสองคนที่ติดตามพ่อมาในวันหยุด การวิ่งขึ้นวิ่งลงลัดเลาะระหว่างต้นไม้ใหญ่

และหลุมที่ขุดไว้เตรียมลงต้นกาแฟกลับกลายเป็นเรื่องสนุกไปอีกเรื่องหนึ่ง



“เราแค่อยากมาสร้างป่าที่สมบูรณ์ขึ้น เพื่อที่อีกห้าปีเจ็ดปีหลังจากวันนี้ เราจะได้มีต้นไม้ใหญ่ไว้เป็นร่มให้กาแฟ คือเราปลูกไม้ยืนต้นไว้วันนี้ อีกห้าปีชาวบ้านก็ลงต้นกาแฟได้ อีกไม่เกินสิบปีเราก็ได้ผลผลิตกาแฟเพิ่มขึ้น”


คุณตู๋ - ต่อพงศ์ ตันตราภรณ์



การปลูกกาแฟแทรกระหว่างต้นไม้ใหญ่นี้ให้ประโยชน์หลายประการ นอกจากจะเป็นผลดีต่อต้นกาแฟ

ในแง่ที่ว่าต้นกาแฟจะเติบโตขึ้นโดยได้รับปริมาณแสงแดดที่เหมาะสม คือราว 40% แล้ว ยังทำให้

ผลกาแฟสุกช้ากว่าการปลูกแบบไร่ ทำให้เชอร์รีกาแฟได้รับสารอาหารจากดินดีๆ อย่างเต็มที่

นัยว่าเป็นการบ่มเพาะให้กาแฟมีรสชาติที่ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้แล้วยังเป็นการลดการตัดต้นไม้ใหญ่

ซ้ำยังเป็นเงื่อนไขให้ชาวบ้านต้องปลูกต้นไม้เพิ่ม และดูแลป่าให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นเพื่อให้ได้ผลผลิตกาแฟคุณภาพที่ได้ราคาดีขึ้นนั่นเอง



ต้นกล้ากาแฟอาราบิก้าในถุงปลูก สูงได้ประมาณสองคืบผู้ใหญ่ ถูกวางลงในหลุมและกลบด้วยดินดำเนื้อดี อย่างที่เพียงจับดูก็รู้ได้ว่าเป็นดินที่เต็มไปด้วยอินทรียวัตถุ ได้ยินเสียงใครสองสามคนข้างหลังคุยกันว่าถ้าเจอดินแบบนี้ในเมืองใหญ่คงถูกเอาไปผสมเป็นดินปลูกใส่กระสอบขาย แต่ดอยที่นี่เป็นดินสมบูรณ์อย่างนี้ทั้งหมด ต้นกาแฟถูกปลูกแทรกไว้ระหว่างไม้ใหญ่ ห่างกันเกือบสองเมตร คะเนดูด้วยสายตา

คงได้หลายสิบต้น


-

การปลูกกาแฟแทรกระหว่างต้นไม้ใหญ่นี้ให้ประโยชน์หลายประการ

นอกจากจะเป็นผลดีต่อต้นกาแฟในแง่ที่ว่าต้นกาแฟจะเติบโตขึ้น

โดยได้รับปริมาณแสงแดดที่เหมาะสม คือราว 40% แล้ว

ยังทำให้ผลกาแฟสุกช้ากว่าการปลูกแบบไร่

ทำให้เชอร์รีกาแฟได้รับสารอาหารจากดินดีๆอย่างเต็มที่

-


แม้อากาศจะเย็นและชื้น แต่การได้ออกแรงปลูกต้นไม้ – โดยเฉพาะกับคนที่นานทีจึงจะได้ออกแรงจริงจังเสียที ก็ทำเอาเหงื่อซึมไปหลายรอบกว่ากล้าไม้และต้นกล้ากาแฟจะหมดจากหลังรถกระบะ ก่อนเราจะแยกย้ายกัน คุณโสภาหันไปกำชับชาวบ้านที่มาร่วมกันปลูกต้นไม้ในวันนั้นเป็นคำเมือง


“ตั๋วต้องดูแลหนา ต้องดูแลต้นกาแฟ ต้องดูแลป่า แล้วบ่กี่ปีตั๋วจะได้ไว้ทำมาหากิน ลงรอบหนึ่งเฮาได้กาแฟเป็นหลายปี๋ บ่ต้องปลูกๆ ตัดๆ เหมือนอันอื่น”



คุณโสภา - บงกชษศฎา ไชยพรหม


คุณโสภาพูดต่อจากนั้นอีกหลายประโยคคล้ายนัดหมายว่าจะมาพบกับเกษตรกรซึ่งตั้งใจว่าจะส่งผลผลิตกาแฟให้กับ Sopa’s Estate ในต้นปีหน้าอีกเช่นเคย หรืออะไรที่มีใจความใกล้เคียงนี้ เราไม่ได้ตั้งใจฟัง ให้ถนัด เพราะมัวแต่คิดกับตัวเอง ว่าที่แท้แล้วการใช้ประโยชน์จากป่ากับการครอบครองผืนป่านั้นมี

ความหมายแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง อย่างแรกนั้นเป็นวิถีชีวิตส่วนอีกอย่างหนึ่งนั้นเป็นการอ้างกรรมสิทธิ์ และเราค่อนข้างมั่นใจว่า การส่งเสริมให้คนใช้ประโยชน์จากผืนป่าอย่างยั่งยืน น่าจะเป็นหนทางที่ทำให้

คนกับป่าอยู่ด้วยกันได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด ไม่ใช่การขีดเส้นกันให้คนและป่าต้องแยกออกจากกันแต่

อย่างใด


ป่าที่ชาวบ้านได้เป็นเจ้าของและใช้ประโยชน์ร่วมกันนั่นต่างหากที่จะรักษาความสมบูรณ์เอาไว้ได้ทั้งในมิติของธรรมชาติและมิติของสังคม ในอีกสิบปีข้างหน้า กาแฟจากดอยอมก๋อยที่เราได้ลงมือปลูกวันนี้

น่าจะเป็นคำตอบที่ยืนยันความเชื่อนี้ได้ การเตรียมตัวในครั้งนี้จึงไม่ใช่การเตรียมตัวของ Sopa’s Estate ไม่ใช่การเตรียมตัวของ Espressoman Supply หรือของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการเตรียมตัวก้าวเล็กๆ ของคนทุกฝ่ายในวงจรกาแฟ เพื่อก้าวสู่อนาคตที่ยั่งยืนของกาแฟไทยร่วมกันนั่นเอง





730 views0 comments
bottom of page