top of page

Mae Hong Son : Coffee in the mist



จังหวัดแม่ฮ่องสอนนั้นว่ากันว่าเป็นเมืองในสายหมอก เป็นจังหวัดแห่งหุบเขาสูงลดหลั่นสวยงาม และต้องใช้ความตั้งใจในการไปเยือน มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่สมบูรณ์ มีศิลปะวัฒนธรรมที่งดงาม และมีประวัติศาสตร์ที่แสนยาวนาน


“กาแฟแม่ฮ่องสอน” คำนิยามกว้างๆ ที่กำลังเข้ามาเกี่ยวข้องกับสังคม เศรษฐกิจ ผู้คน ป่าเขา และอีกหลายภาคส่วนที่ประกอบกันเป็นกาแฟแม่ฮ่องสอน ในฐานะพืชเศรษฐกิจความหวังใหม่ ซึ่งในอนาคตไม่ไกล กาแฟกำลังจะเป็นสินค้าประจำจังหวัดนี้


แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีภูมิประเทศเป็นดอยสูงเฉลี่ย 1,100 – 1,700 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล มีผืนป่าและเทือกเขาสลับซับซ้อนมากถึง 95% ของจังหวัด ผู้เฒ่าผู้แก่นำเมล็ดกาแฟเข้ามาปลูกในพื้นที่ และได้รับพระราชทานเมล็ดกาแฟจากในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อปลูกเป็นอาชีพแทนการปลูกฝิ่น ทำไร่เลื่อนลอย หลักฐานต่างๆ เช่นต้นกาแฟพระราชทานดั้งเดิมก็ยังมีให้เราได้ดูอยู่ที่บ้านปางอุ๋ง เป็นต้น แหล่งปลูกกาแฟแม่ฮ่องสอนยังมีความหลากหลายของสายพันธุ์เป็นอย่างมาก มีทั้ง สายพันธุ์ทิปปิก้า คาทูรา คาทุย และคาติมอร์ เป็นต้น


เนื่องด้วยกาแฟเป็นพืชที่มีลักษณะพิเศษ ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับภูมิประเทศ และภูมิอากาศตามแหล่งปลูกนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี ทำให้เกิดเป็นความหลากหลายที่เป็นเอกลักษณ์ตามภูมิประเทศแตกต่างกันไป แม้ว่าการปลูกกาแฟในจังหวัดแม่ฮ่องสอนจะไม่ใช่เรื่องใหม่ก็จริงอยู่ แต่ก็ใช่ว่าจุดแข็งทั้งหมดที่กล่าวมา จะทำให้กาแฟแม่ฮ่องสอนประสบความสำเร็จโดยง่ายดาย เพราะในตลาดอุตสาหกรรมกาแฟระดับประเทศหรือในระดับโลกนั้น กาแฟแม่ฮ่องสอนยังถือเป็นน้องใหม่ที่เพิ่งก้าวเดินได้เพียงไม่กี่ก้าวเท่านั้น ด้วยความจริงที่ว่า วิสาหกิจระดับครัวเรือนนั้นยังเป็น “มวยคนละชั้น” เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมระดับประเทศหรือใหญ่กว่า เป้าหมายที่อยากผลิตกาแฟให้เป็นกาแฟพิเศษมีคุณภาพและเต็มไปด้วยอัตลักษณ์นั้น ยังต้องอาศัยปัจจัยอีกมากมาย




เปิดโลกกาแฟแม่ฮ่องสอน

งาน “เปิดโลกกาแฟแม่ฮ่องสอน” งานนี้จัดไปเมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมปีนี้ (2560) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากาแฟแม่ฮ่องสอนให้เป็นกาแฟพิเศษ มีแม่งานคืออุตสาหกรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ต้องการเสริมสร้างศักยภาพของผู้ผลิตกาแฟในจังหวัด ในด้านองค์ความรู้จนนำไปสู่การพัฒนาเป็นสถานประกอบการต้นแบบ และยังเป็นการทดลองตลาด มองหาความสนใจของผู้บริโภคที่มีต่อกาแฟแม่ฮ่องสอน เชิญ Q grader จากกลุ่ม Torch มา Cupping กาแฟจากแหล่งปลูกทั่วทุกอำเภอในจังหวัด เพื่อให้คะแนนและออกใบรับรองการันตีคุณภาพ


กาแฟนั้นเป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถเชื่อมโยงวิถีชีวิตของชาวบ้าน เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้เข้าไว้ด้วยกันได้ผ่านคำถามที่ว่า “เราจะผลักดันไปสู่การเป็นกาแฟพิเศษได้อย่างไร”


“แม่ฮ่องสอนเป็นแหล่งปลูกกาแฟในพื้นที่หุบเขา ซึ่งกาแฟนั้นสามารถเติบโตควบคู่ไปกับสิ่งแวดล้อม สามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกร ชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และยังสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับกลุ่มผู้ผลิตกลุ่มอื่นๆ ได้อีกด้วย ปัจจุบันกาแฟของแม่ฮ่องสอนเป็นที่รู้จัก มีการทำตลาด

ให้กับผู้ดื่มทั่วไปแล้วในเบื้องต้น แต่ยังต้องการการพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการพัฒนาการปลูก การเก็บ การแปรรูป และคั่วให้ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างความชัดเจนในเรื่องของอัตลักษณ์ ซึ่งการพัฒนานั้นต้องร่วมมือกันทั้งหน่วยงานภาครัฐฯ และเอกชน ทางจังหวัดพร้อมที่จะส่งเสริมผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าของธุรกิจกาแฟแม่ฮ่องสอนให้ดียิ่งขึ้น” คุณสำเริง ไชยเสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประธานในงานนี้ เน้นย้ำถึงบทบาทของภาครัฐที่มีต่อกาแฟแม่ฮ่องสอน



กิจกรรมที่น่าสนใจมากที่สุดของงานเปิดโลกกาแฟแม่ฮ่องสอนนั้น นอกจากจะเป็นงานที่ทำให้ผู้ผลิต

ได้เจอกับผู้ซื้อแล้ว ก็คือการ Cupping กาแฟ18 ตัวอย่าง จากแหล่งปลูกทั่วทั้งจังหวัดแม่ฮ่องสอนโดยกลุ่ม Q grader กาแฟเกือบทั้งหมดได้คะแนนในระดับ 70 ขึ้นไป ซึ่งถือว่ามีคุณภาพที่ดี แต่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ คือกลุ่มที่ได้คะแนน 80 ขึ้นไป ซึ่งถือได้ว่าใกล้เคียงหรือไม่ยากที่จะทำให้เป็นกาแฟพิเศษ กาแฟ Top 5 ซึ่งเป็นที่หมายตาของผู้ซื้อในงานวันนั้น บางแหล่งถูกจองข้ามปีไว้เรียบร้อยแล้ว เช่น หมายเลข 14 กาแฟนามูระ (Semi wash process) ของบ้านดูลาเปอร์ ได้คะแนน 83.5 หมายเลข 6 กาแฟจาก Acacia’s (Wash Process) จากวิสาหกิจชุมชนกาแฟบ้านนาป่าแปก ปางอุ๋ง ได้ 82.75 คะแนน หรือหมายเลข 1 กาแฟโกลฮาคี (Klo Ha Ki) (Semi wash process) จากบ้านห้วยห้า อำเภอแม่ลาน้อยที่ได้ 81 คะแนน


นางสายชล การีพจน์ หัวหน้าอุตสาหกรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน แม่งานของโครงการสร้างกาแฟแม่ฮ่องสอนให้เป็นกาแฟพิเศษบอกกับเราว่า


“พวกเขาจะได้รู้ว่า สิ่งที่พวกเขาพยายามทำมาตลอดนั้นถูกทางหรือไม่ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาในทันที สำหรับผู้ที่มีผลคะแนนไม่ดีก็จะได้รู้ว่าต้องพัฒนาต่อไปอย่างไร แต่ที่มั่นใจก็คือ ผู้ผลิตที่ติด Top 5

เขาจะพัฒนาเลยแน่นอน ปีใหม่นี้จะได้เห็นเมล็ดกาแฟรุ่นใหม่ที่ดีขึ้นในทันที แล้วต่อไปในอนาคตข้างหน้า ผู้ผลิตเหล่านี้ก็จะมาเป็นพี่เลี้ยงที่คอยให้ความรู้ พัฒนาสมาชิกในกลุ่มคลัสเตอร์ต่อไป”


คลัสเตอร์คือการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อความร่วมมือ เกื้อหนุน

เชื่อมโยง และส่งเสริมกิจการซึ่งกันและกัน ในรูปแบบของการแข่งขันเพื่อพัฒนาศักยภาพของแต่ละแหล่งปลูก และหาอัตลักษณ์เฉพาะของแต่ละแหล่งปลูกออกมา โดยอุตสาหกรรมจังหวัดเป็นผู้คอยสนับสนุนจัดการรวมตัว การศึกษาดูงาน เพื่อให้สมาชิกในกลุ่มสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง และขยายตัว

ดึงกลุ่มผู้ปลูกกาแฟอื่นๆ เข้ามาร่วมเพิ่มมากขึ้น โดยเป้าหมายหลักของกลุ่มคือการสร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่ใช่ปริมาณ


“กลุ่มคลัสเตอร์จะเป็นทั้งผู้นำเรื่องตลาด ทดลองและพัฒนาทั้งการปลูก การผลิต และที่สำคัญ กลุ่มต้องเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้สำหรับผู้ปลูกกาแฟที่ยังไม่ได้เข้าร่วม”


พี่แดง กิจชญานันท์ ชมสนุก หัวหน้าฝ่ายเกษตรกรกลุ่มคลัสเตอร์ บอกถึงทิศทางและเป้าหมายของกลุ่มว่า


“ในการทดลองตลาดเราได้พบความจริงข้อหนึ่งว่า พวกเราเป็นเกษตรกรมากกว่าพ่อค้า การทำตลาด

การโปรโมท หรือการสร้างแบรนด์หน้าร้านนั้นเราสู้เขาไม่ได้ เราจึงต้องกลับมามองสิ่งที่เราทำได้ดี

นั่นก็คือการเป็นผู้ผลิตกาแฟสาร เรามีต้นทุนด้านการเป็นผู้ปลูก มีพื้นที่ปลูกที่ยอดเยี่ยม ถ้าเราพัฒนาการ Process ให้มีคุณภาพมากขึ้นและควบคุมคุณภาพได้ ผมมั่นใจว่าตลาดต้องการกาแฟสารจากเราแน่นอน”


ด้วยแนวทางที่อุตสาหกรรมจังหวัดและกลุ่มคลัสเตอร์ต้องการให้เกิดขึ้น ยังเป็นแนวทางของการสร้างอาชีพที่สามารถควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรที่มีอยู่ในจังหวัดได้ด้วย นั่นคือผืนป่าที่ยังคงสมบูรณ์ คนในชุมชนกับป่าไม้อยู่ร่วมกันได้แบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ต่างคนต่างได้ประโยชน์ร่วมกัน และแหล่งปลูกบ้านดูลาเปอร์ของพี่แดงเอง ก็เป็นตัวอย่างของแนวทางนี้ได้เช่นเดียวกัน



การเดินทางเข้าไปยังหมู่บ้านมีอุปสรรคนิดหน่อยพอเป็นสีสัน จากฝนที่เทลงมาตลอดทั้งวัน

บ้านดูลาเปอร์ หมู่บ้านเล็กๆ ที่ถูกโอบกอดด้วยขุนเขาที่มีทิวทัศน์สวยงามเป็นฉากหลัง เป็นหมู่บ้านของชาวไทยภูเขาเผ่าปกาเกอะญอมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,200 –1,350 เมตร โอบล้อมด้วย

ป่าธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี เป็นอีกแหล่งปลูกหนึ่งที่น่าจับตามอง

พี่แดงใช้เวลาลองผิดลองถูกอยู่หลายปี จนวันที่พวกเขาได้รับคือรางวัลของความพยายาม “กาแฟนามูระ” ติด Top 5 ในการ Cupping ถึง 3 ตัวด้วยกันได้แก่ นามูระ Semi Wash Process (83.5คะแนน), Dry Process1 (83.5คะแนน) และ Dry Process 2 (81คะแนน) ซึ่งเป็นข้อมูลรองรับได้ว่า ที่บ้านดูลาเปอร์นั้น เป็นแหล่งปลูกกาแฟที่ดีแหล่งหนึ่งของจังหวัดแม่ฮ่องสอน


“การทำกาแฟต้องใส่ใจรายละเอียด กาแฟเชอร์รี่ที่ได้มาต้องคัดเอาเม็ดเสีย เม็ดลอยออกให้หมด เวลาสีกาแฟแล้วลูกไหนที่เครื่องสีตีเม็ดไม่ออกเราจะไม่นั่งแกะเปลือกออก แต่จะแยกไว้ต่างหาก ไม่เอากลับไปสีซ้ำหรือเอาไปรวมกันเวลาเก็บต้องเน้นว่ากาแฟต้องสุกเต็มที่ กาแฟของผมจะหมักแบบแห้งในถังสะอาดปิดฝาแล้วคอยเช็คกลิ่น พอได้จังหวะกลิ่นที่เราชอบก็เอามาล้าง แล้วเอาไปตาก ใช้เวลาตากประมาณ

10 – 12 วัน พยายามให้กาแฟค่อยๆ แห้ง จะไม่เร่งให้แห้งทีเดียว ให้ความชื้นอยู่ที่ประมาณ 11 – 12 ไม่เกินนี้”




จากเบื้องหลังความสำเร็จของกาแฟนามูระ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า เป็นแหล่งปลูกกาแฟระดับดี ตั้งแต่กระบวนการดูแลสวนจนไปถึงการควบคุมคุณภาพในการผลิตเป็นกาแฟสาร ทำให้หมู่บ้านดูลาเปอร์ หมู่บ้านเล็กๆ ของชนเผ่าปกาเกอะญอ เป็นแหล่งปลูกและการแปรรูปต้นแบบของการผลิตกาแฟในจังหวัดแม่ฮ่องสอน


นอกจากพี่แดงแล้ว ยังมีชายหนุ่มเชื้อสายปกาเกอะญอชื่อปันปัน วัชรพงศ์ กระท่อมร่มไพร เขาเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มคลัสเตอร์และเป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจกาแฟโกลฮาคี ปันปันอยู่หมู่บ้านห้วยห้า

ซึ่งไม่ไกลนักจากบ้านดูลาเปอร์ กาแฟโกลฮาคีจากบ้านห้วยห้า ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย

กลายเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ได้รับคะแนนติด Top 5 จากงานเปิดโลกกาแฟแม่ฮ่องสอนที่ผ่านมา

ด้วยคะแนน 81 ขึ้นไป ปันปันบอกว่า กาแฟของเขามีรสชาติเปรี้ยวคล้ายกับรสชาติของเสาวรส มีกลิ่นที่หอมเหมือนดอกไม้ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เขาคัดสรรเมล็ดกาแฟคุณภาพอย่างพิถีพิถัน ปลูกในพื้นที่สูงกว่า 1,200 –1,350 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งในระดับนี้ ถือได้ว่าเป็นระดับที่เหมาะสมที่สุด และด้วยความใส่ใจดูแลต้นกาแฟที่ถูกสั่งสมสืบทอดมาจากคนเฒ่าคนแก่ของหมู่บ้าน ประกอบกับอากาศที่หนาวเย็นตลอดทั้งปี ทำให้กาแฟโกลฮาคีมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว


ในบ้านของปันปันอบอวนไปด้วยกลิ่นกาแฟที่คั่วด้วยกระทะโดยฝีมือพ่อตาของปันปัน ซึ่งเป็นวิถีแบบดั้งเดิมที่ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านยังคงใช้กันอยู่การได้เห็นคนหนุ่มๆ กับผู้เฒ่าผู้แก่ต่างมีปฎิสัมพันธ์ร่วมกันโดยมีกาแฟที่ปลูกในหมู่บ้านของตัวเองเป็นสื่อกลาง นั่นเป็นภาพที่น่าประทับใจอีกภาพหนึ่งทีเดียว


ปันปันก็เหมือนเด็กหนุ่มในหมู่บ้านทุกคน ที่ต้องออกไปทำงานในเมืองใหญ่ต้องระหกระเหินไปอยู่ไกลบ้าน ทำงานแลกเงินอย่างไร้จุดหมาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการย้ายถิ่นฐานของคนรุ่นใหม่

ที่ทิ้งหมู่บ้านออกไปแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าในเมือง แต่คำถามก็คือ มันใช่โอกาสที่ดีกว่าจริงหรือไม่

คำถามนี้ปันปันได้ลองหาคำตอบให้กับตัวเองมาแล้วว่า การมองหาชีวิตที่ดีกว่าในเมืองใหญ่ ใช่ว่าจะ

สวยหรู หากแต่บางครั้งมันอาจต้องแลกมาด้วยการดิ้นรนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด


“คนรุ่นใหม่ต้องไม่ทิ้งหมู่บ้าน ไม่ทิ้งพ่อแม่ผู้เฒ่าผู้แก่ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ออกจากหมู่บ้านไปลองทำงาน

ในเมืองมามากมายหลายที่ ไปทำงานเมืองนอก (ประเทศออสเตรเลีย) ดิ้นรนใช้ชีวิตในเมืองใหญ่

แต่สุดท้ายก็รู้ได้ว่าบ้านนี่แหละดีที่สุด เรามีป่าเป็นเหมือนต้นเงินต้นทองของเรา กลับมาสร้างเงินสร้างงานจากสิ่งที่เรามีดีกว่า ทุกวันนี้ผมก็พยายามดึงเด็กๆ ที่ออกไปทำงานในเมืองให้กลับมาพัฒนาบ้านเกิด

ให้ได้อยู่ใกล้ชิดพ่อแม่ กับครอบครัวสร้างชุมชนให้เข็มแข็ง โดยมีกาแฟเป็นตัวเชื่อมให้เด็กในหมู่บ้านกลับมาอยู่บ้าน


เทคนิคการผลิตกาแฟโกลฮาคีคือการใส่ใจในการตากเมล็ด ช่วงสามถึงสี่เดือนในกระบวนการ Process ผมไม่ไปไหนเลย ต้องคอยพลิกเมล็ด คัด และดูแลให้เมล็ดมีอุณหภูมิที่เหมาะสม อันไหนไม่ดีก็คัดออก เป้าหมายของกลุ่มกาแฟโกลฮาคีคือการรักษาคุณภาพของกาแฟโกลฮาคีให้มั่นคงก่อน ตัวอย่างที่ส่ง

ไปนั้นก็เกิดมาจากการลองผิดลองถูก แต่เมื่อเสียงตอบรับจาก Q grader ออกมาดีอย่างนี้ ก็ต้องรักษาคุณภาพการผลิตรอบนี้ให้มั่นคงก่อน แล้วต่อไป ผลผลิตรอบหน้าออกมา ค่อยคิดกันต่อว่าจะทำอย่างไรให้คะแนนดีขึ้น หรือมีรสชาติที่แตกต่าง”


เป้าหมายของกาแฟโกลฮาคี ที่ปันปันก่อร่างสร้างขึ้นมากับกลุ่มเครือญาติจนเป็นวิสาหกิจกาแฟโกลฮาคี ก็เพื่อมุ่งหวังให้กาแฟเป็นสิ่งที่จะช่วยดึงเด็กวัยรุ่นในหมู่บ้านที่ออกไปทำงานในเมือง ได้หันมามองเห็นความหวังที่บ้านเกิดตัวเอง


“เราอยากสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนรุ่นใหม่ในหมู่บ้าน พวกเขาจะได้ไม่ต้องระหกระเหินไปทำงาน

ในเมือง เป้าหมายด้านการพัฒนาต่อไป เราจะผลิตกาแฟในรูปแบบสหกรณ์ มีการส่งเด็กที่สนใจเรื่องกาแฟไปเรียนหรือดูงานเพิ่มเติมในด้านต่างๆ เพื่อเอากลับมาต่อยอดให้กาแฟในหมู่บ้านของเราพัฒนา

ต่อไป จริงๆ แล้วการพัฒนาทั้งหมดนี้ผมทำคนเดียวไม่ไหวแน่ เด็กรุ่นใหม่จึงต้องเป็นคนช่วยผมทำต่อไปด้วย”


ปางอุ๋ง ใครๆ ก็รู้ดีว่าช่วงหน้าหนาวนั้นสวยงามมากมายแค่ไหน เป็นที่ตั้งของโครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง) ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านรวมไทย ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน อยู่ห่างจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนประมาณ 44 กิโลเมตร นอกจากจะมีจุดเด่นในด้านการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่พยายามผลักดันกาแฟให้เป็นจุดเด่นควบคู่ไปกับสถานที่ที่สวยงามแห่งนี้อีกด้วย



อมตะ สุขพันธ์ หรือวัล และคุณณิสาพัฒน์ ทองประทุม หรืออ๊อฟ คู่สามีภรรยา ที่ชื่นชอบธรรมชาติที่งดงามของปางอุ๋ง และยังหลงใหลในเรื่องของกาแฟ จึงปักหลักเริ่มต้นทำตามความฝันของตัวเอง นั่นก็คือการทดลองทำไร่กาแฟ และยังมีร้านกาแฟเล็กๆ อยู่ตรงเส้นทางเข้าบ้านปางอุ๋งชื่อ ACACIA’S Coffee กาแฟของ ACACIA’S มาจากสวนดั้งเดิมของพื้นที่ปลูกบ้านปางอุ๋ง อีกส่วนรับซื้อจากบ้านห้วยมะเขือส้ม

ที่มีความโดดเด่นป็นกาแฟที่ปลูกอยู่ในแนวป่าสน


บ้านไม้ไผ่หลังเล็กบนเนินเขา โอบล้อมด้วยต้นไม้หลากหลายพันธุ์ มีโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ แปลงพืชผัก

สวนครัว และสระน้ำขนาดพอมีน้ำไว้ใช้รดต้นไม้และให้คน 2 คน กับหมาที่เลี้ยงไว้อีกสามตัวในบ้านพอว่ายน้ำเล่นกันได้อย่างสบายๆ เป็นบ้านที่น่าประทับใจของสองสามีภรรยาชาวกรุง ที่ตัดสินใจลงหลัก

ปักฐาน ห่างไกลสิ่งที่ชีวิตของพวกเขาคุ้นเคย


วัลเล่าให้เราฟังระหว่างการเข้าไปร่วมประชุมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในหมู่บ้านว่า “มันคงเป็นจังหวะชีวิตของเราสองคนที่อิ่มตัวกับชีวิตในเมือง เมื่อวันหนึ่งมีโอกาสมาเที่ยวที่นี่และชอบธรรมชาติที่นี่มาก

เราสองคนจึงตัดสินใจย้ายตัวเองมาอยู่ ช่วงแรกคนที่บ้านเป็นห่วงมาก กลัวเราอยู่ไม่ได้ ชาวบ้านแถวนี้

ก็ตลกเรา ถามว่าคนจากในเมืองมาทำอะไรกัน


เราเริ่มจากการลองผิดลองถูก ศึกษาหาข้อมูลกันเอง พัฒนาทักษะทั้งการปลูกการ Process การคั่ว

การชง จนวันนี้กาแฟของเราได้รับคะแนนจากการ Cupping 82.75 ซึ่งน่าจะเป็นผลจากความพยายามของเรา และพื้นที่ปลูกที่มีความเหมาะสม สิ่งที่เราเน้นมากที่สุดคือการเลือกเก็บผลเชอร์รี่ที่สุกงอมเท่านั้น

เอามาสีแล้วหมักหนึ่งคืน ล้างให้สะอาด แล้วเอามาตาก เกลี่ย หมั่นดูแล ประมาณ 3 – 4 รอบต่อวัน

ทำอย่างนี้อยู่ประมาณ 7 วันกระบวนการ Process ทั้งหมดก็จะทำกันที่ลานหน้าบ้าน”






ด้วยความคาดหวังที่มีต่อกาแฟ ACACIA’S คือการผลักดันให้เป็นกาแฟพิเศษ เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ จนมีลูกค้าสั่งจองล่วงหน้าข้ามปี ทำให้ชาวบ้านในแหล่งปลูกปางอุ๋งเห็นว่า กาแฟนั้นสามารถ

นำมาปลูกเป็นอาชีพที่ยั่งยืน มั่นคง ได้เช่นเดียวกับการปลูกพืชอื่นๆ หรือเป็นอีกช่องทางของรายได้ นอกจากรายได้จากฤดูกาลท่องเที่ยว


“เรารับซื้อจากสวนกาแฟบ้านปางอุ๋งทั้งหมด โดยเฉพาะลูกสวนที่บ้านป่าแปกกับบ้านห้วยมะเขือส้ม

เราก็รับทั้งหมด เรารวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อต้องการให้ที่นี่มีผู้ปลูกกาแฟเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

อยากทำให้ชาวบ้านเห็นว่ากาแฟก็เป็นพืชที่สามารถพึ่งพาได้จริงๆ สามารถต่อยอดได้อีกหลากหลาย

เป้าหมายของเราจึงเป็นการทำกาแฟครบวงจร เพื่อจะได้เป็นที่ดูงานของชาวบ้าน หาตลาดให้เขาได้

ชี้ช่องทางให้พวกเขาในส่วนที่เขายังมองมันไม่ออกด้วยการทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง


จากก้าวแรกชาวบ้านในหมู่บ้านยังไม่รู้ว่าเราทำอะไรกันอยู่ จนทุกวันนี้ ชาวบ้านในพื้นที่ก็เริ่มสนใจและหันมาปลูกกาแฟเป็นอาชีพเสริมกันมากขึ้น ในอนาคตเราอยากเห็นหมู่บ้านของเรามีคนทำกาแฟเป็นอาชีพหลักมากขึ้น และทุกคนช่วยกันสร้างอัตลักษณ์กาแฟของหมู่บ้านให้ชัดเจน วันหนึ่งข้างหน้า ปางอุ๋งอาจเป็นสถานที่ปลูกกาแฟเชิงท่องเที่ยว ที่มีครบวงจร ทั้งแหล่งปลูก Process คั่วและชง มีเวิร์คช็อปกาแฟ

ที่สามารถดึงนักท่องเที่ยวมาได้ทั้งปี ไม่ใช่แค่หน้าหนาวอย่างเดียว”


นอกจากแหล่งปลูกที่คนรุ่นใหม่ๆ พยายามช่วยกันผลักดันแล้ว จังหวัด แม่ฮ่องสอนยังมีแหล่งปลูกอยู่อีกหลายแหล่ง ที่แสดงบทบาทอยู่ก่อนหน้านั้น อย่างเช่นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตามหมู่บ้านต่างๆ ทั่วจังหวัดก็มีมากมาย ซึ่งรวมกลุ่มกันเพื่อปลูก คั่ว ขาย กันในชุมชน ตามสถานที่ท่องเที่ยว หรือส่งออกไปขาย

นอกพื้นที่ อย่างเช่นที่วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกาแฟบ้านแม่อูคอหลวง อำเภอขุนยวมแห่งนี้ก็เช่นเดียวกัน


ภายใต้ความงดงามของท้องทุ่งดอกบัวตองสีเหลือง ยังมีผลิตผลคุณภาพที่ซ่อนตัวอยู่กับธรรมชาติ

ภายใต้ชื่อ “กาแฟดอยแม่อูคอ” มีคุณบุญชัย กรกัมพล กับกลุ่มเกษตรกรวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกาแฟบ้านแม่อูคอหลวง ที่ปลูกกาแฟ เพื่อผลิตและจำหน่ายกันเองโดยได้รับการสนับสนุนเครื่องกะเทาะเปลือก

สร้างโรงเก็บจากหน่วยงานในพื้นที่ (อบต.) จนนำไปสู่การพัฒนาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ปัจจุบันกาแฟดอยแม่อูคอเป็นกาแฟที่มีคุณภาพในอันดับต้นๆ ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน




คุณบุญชัย พาเราเยี่ยมชมทุกขั้นตอนการผลิตกาแฟของบ้านแม่อูคอหลวง ถือเป็นหมู่บ้านที่มี

ความพร้อมในเรื่องของกระบวนการผลิต นอกจากพืชอย่างกาแฟแล้ว ชาวบ้านยังคงปลูกข้าวเป็นหลัก

ซึ่งกาแฟของหมู่บ้านนี้ มีคุณบุญชัยเป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อน ให้กาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจ

อีกตัวหนึ่งของหมู่บ้าน


เช่นเดียวกับที่อำเภอแม่สะเรียง อำเภอเล็กๆ ที่ไม่ค่อยโดดเด่นในเรื่องของการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเท่าไรนัก แต่ใช่ว่าอำเภอแม่สะเรียงจะหมดความน่าสนใจไปซะทีเดียว ที่นี่ยังมีหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในเรื่องของกาแฟ และยังเป็นแหล่งปลูกที่กำลังเพิ่มจำนวนพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย


กลุ่มวิสาหกิจบ้านแม่เหาะ อำเภอแม่สะเรียง ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านแม่เหาะ มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล

900-1,200 เมตร สภาพพื้นที่เหมาะสมแก่การปลูกกาแฟ ทำให้พืชเศรษฐกิจอย่างกาแฟ ช่วยยกระดับ

รายได้ของชุมชนแม่เหาะแห่งนี้ นอกจากกาแฟจะสร้างรายได้แล้ว ยังเป็นกลไกสำคัญในการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำในพื้นที่อีกด้วย ปัจจุบันกาแฟของบ้านแม่เหาะส่งผลให้ชุมชนมีรายได้จากการขายเมล็ดกาแฟให้ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ ต่อยอดไปสู่การทำร้านกาแฟที่โรงเรียน เป็นผลิตภัณฑ์ของหมู่บ้าน โดยมีคุณมานพ เพียรชอบไพร เป็นผู้ดูแล


“เคล็ดลับความหอมของกาแฟที่นี่ คือการปลูกต้นกล้วย อโวคาโด ลูกเนียงแซมไว้ เพื่อเป็นผลผลิตสร้างรายได้อีกทางหนึ่งของชาวบ้าน แหล่งปลูกแม่เหาะยังมีแร่ธาตุที่จำเป็นต่อกาแฟอีกด้วย”



ลุงโอเย่ หรือลุง เสริมศักดิ์ เอกดิลก เจ้าของร้านกาแฟไอ้ตัวเล็กที่อยู่ก่อนถึงตัวอำเภอแม่สะเรียงประมาณ 5 กิโลเมตร และยังเป็นเจ้าของแบรนด์กาแฟแม่เหาะฮิลล์คอฟฟี่ (Mae Ho Hill Coffee)

เป็นคนหนึ่งที่รับซื้อกาแฟสารจากเกษตรกรบ้านแม่เหาะ อดีตนักหนังสือพิมพ์ผู้นี้ หันเหเส้นทางชีวิตมาคลุกคลีในวงการกาแฟอยู่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนมานานกว่า 20 ปีแล้ว ลุงโอเย่พูดถึงทิศทางของกาแฟแม่ฮ่องสอนไว้ในหลากหลายมิติ และค่อนข้างน่าสนใจ โดยเน้นไปที่การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐฯ และชาวบ้าน


“การเข้ามาสนับสนุนอย่างจริงจังของภาครัฐฯ เป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ก็มีเรื่องที่น่าเป็นห่วงอยู่หลายเรื่อง หลักๆ คือการสนับสนุนส่งเสริมที่เรียกได้ว่า ทำให้กาแฟแม่ฮ่องสอนตอนนี้เป็นที่รู้จักมากขึ้นกว่าในอดีตมาก แต่ก็อาจจะทำให้คุณภาพและเอกลักษณ์ของกาแฟแม่ฮ่องสอนลดลง จากการใช้สารเคมีเพื่อเพิ่ม

ผลผลิต หรือการสวมกาแฟจากแหล่งปลูกอื่นเกิดขึ้น เพราะทุกคนก็อยากขายมากๆ กาแฟที่แม่ฮ่องสอนส่วนใหญ่เป็นกาแฟปลอดสาร ปลูกกับป่าก็อาจจะเสื่อมคุณภาพลงได้ ถ้าเราไม่มีการควบคุมที่ดี ทั้งจากกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิต สหกรณ์และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ต้องเป็นผู้คัดกรอง ควรเน้นย้ำกับเกษตรกร

ลูกข่ายให้เข้าใจถึงความสำคัญของการรักษาคุณภาพกาแฟของแม่ฮ่องสอน ว่านั่นคือจุดขายต้องรักษาไว้ให้ดี ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐฯ ก็ต้องสนับสนุนด้านนโยบาย กำหนดยุทธศาสตร์ให้เหมาะสม เพื่อให้ภาครัฐฯ

และเอกชนก้าวไปพร้อมกันอย่างน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า


ภาครัฐควรเป็นฝ่ายสนับสนุนเรื่องอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือที่เหมาะสมกับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่นั้นๆ เป็นเสมือนการให้เบ็ดที่เหมาะสมกับเกษตรกร ผู้ปลูกกาแฟในจังหวัดแม่ฮ่องสอนแต่ละกลุ่ม มีความต้องการ จุดอ่อนจุดแข็งที่ไม่เหมือนกัน การสนับสนุนจากภาครัฐฯ ก็ต้องมีความยืดหยุ่น เหมาะสม

ไม่ใช่ได้งบมาก็เอาไปซื้อเครื่องสีกาแฟแบบเดียวกัน รุ่นเดียวกัน แจกทุกกลุ่ม สำหรับบางกลุ่มก็ไม่จำเป็น สิ่งที่ให้ไปก็ไม่มีประโยชน์ หากภาครัฐฯ อยากผลักดันกาแฟของแม่ฮ่องสอนอย่างจริงใจ ต้องรับฟังเกษตรกรที่เป็นดั่งต้นทางให้มากๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องและตรงจุด”


นอกจากเกษตรกรและผู้แปรรูปแล้ว สิ่งที่สำคัญและขาดไม่ได้ในอุตสาหกรรมกาแฟ นั่นก็คือร้านกาแฟ สถานที่ซึ่งเป็นเสมือนหน้าร้านที่ต้องเจอกับผู้บริโภคโดยตรง เป็นสถานที่ปลายน้ำ กระจายสินค้าออกไปยังผู้ดื่ม อย่างร้าน Before Sunset Coffee และ ร้าน Coffee Morning ร้านเก่าแก่ที่อยู่คู่กับจังหวัดแม่ฮ่องสอนมานานกว่า 10 ปี มีพี่โก้ หรือคุณเสนีย์ อังคะสุด ผู้ประกอบการร้านกาแฟที่เห็นการเติบโตของธุรกิจร้านกาแฟในจังหวัดแม่ฮ่องสอนมานาน และยังเป็นกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอนของประชารัฐ พี่โก้เองมองว่า กาแฟจะเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนในสังคมอย่างจริงจัง


“กาแฟเป็นเสมือนเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพอย่างมาก ที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงทุคภาคส่วนของสังคมในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเข้าด้วยกัน ทั้งเกษตรกร คนคั่ว คนขาย ผู้ดื่ม ทั้งคนในพื้นที่หรือ

นักท่องเที่ยว และหน่วยงานภาครัฐฯ ถ้าหากเราเห็นความสำคัญที่จะร่วมมือกันอย่างมีเอกภาพ

ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่ สังคมแม่ฮ่องสอนจะได้รับประโยชน์จากกาแฟอีกมาก ต่อยอดไปอีกหลากหลายด้าน แต่ทั้งหมดทั้งมวลทุกคนก็ต้องหันหน้าเข้าหากัน ร่วมมือกันอย่างจริงใจก่อน ทำให้คนภายนอกเขามองแม่ฮ่องสอนในแง่มุมใหม่ แง่มุมแห่งการเป็นเมืองกาแฟที่มีเรื่องราวชัดเจน น่าสนใจ ทุกคนจะได้ประโยชน์

จากความพยายามร่วมกันเป็นสิ่งตอบแทน เพราะเรามีของดีอยู่ในตัวอยู่แล้ว จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีจุดขาย หากเราทุกคนมารวมกันได้แม่ฮ่องสอนของเราจะถูกตีความใหม่ให้ดีกว่าเดิม”


ทุกความพยายามมีความหมายตั้งแต่เริ่มคิดไปจนถึงลงมือทำ การมาจังหวัดแม่ฮ่องสอนในครั้งนี้ของเรา นอกจากจะได้เดินทางท่องเที่ยวอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนไปตามเส้นทางกาแฟแล้ว เรายังได้เห็นความร่วมไม้ร่วมมือกันระหว่างชาวบ้าน ภาคเอกชน และภาครัฐฯ เพื่อปรับโครงสร้างในระดับจังหวัด เพิ่มคุณค่าผลผลิต ต่อยอดพัฒนาองค์ความรู้ที่มีอยู่ จนนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกาแฟ เพื่อเป้าหมายเดียวกันคือการสร้างกาแฟพิเศษ และ กาแฟที่มีระบบการพึ่งพากันระหว่างคน ป่า และกาแฟ ให้เป็นเอกลักษณ์

ที่อยากให้คนจดจำ ในฐานะที่เป็นแหล่งปลูกกาแฟคุณภาพอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย


1,044 views0 comments

Recent Posts

See All

Comments


bottom of page