top of page
Writer's picturecoffeetravelermag

Robusta Quality Processing เพื่อการพัฒนากาแฟโรบัสตาไทยให้เป็น Fine Robusta



หากจะให้พูดถึงกาแฟคุณภาพพิเศษหรือ Specialty Coffee นักดื่มกาแฟส่วนใหญ่มักจะนึกถึงกาแฟอาราบิกาที่พิถีพิถันในทุกขั้นตอนการผลิต ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเพราะ Specialty Coffee ก็เริ่มแนะนำตัวเองกับผู้ดื่มด้วยกาแฟอาราบิกาสายพันธุ์ต่างๆ ทำให้ผู้คนเริ่มสนใจในความซับซ้อนและความมหัศจรรย์ของการลิ้มรส กาแฟอาราบิกามากกว่าความต้องการกาเฟอีน เพราะ Specialty Coffee มอบประสบการณ์ที่น่าประทับใจได้มากกว่านั้น


หากแต่กาแฟไม่ได้มีเพียงสายพันธุ์อาราบิกาเท่านั้น แต่ยังมีสายพันธุ์โรบัสตาที่ผู้คนทั่วโลกเริ่มให้ความสนใจและเริ่มพัฒนาให้กาแฟโรบัสตากลายเป็น Fine Robusta หรือโรบัสตาคุณภาพพิเศษ ไม่แพ้กาแฟสายพันธุ์อาราบิกาที่เราคุ้นเคย


หากพูดถึงกาแฟโรบัสตา คนไทยเรามักจะนึกถึงกาแฟเกรดอุตสาหกรรม กาแฟที่ใช้เป็นส่วนผสมของกาแฟสำเร็จรูป (Instant Coffee) กาแฟที่มีรสชาติขมเข้มและปริมาณกาเฟอีนมากกว่ากาแฟอาราบิกาถึง 2 เท่า กาแฟโรบัสตาถูกใส่คาแรกเตอร์ให้ดุดันและไม่ได้รับความนิยมสำหรับนักดื่มที่เสาะแสวงหากาแฟคุณภาพพิเศษที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ นั่นคือชุดความคิดแบบอดีต แต่ปัจจุบันกาแฟโรบัสตาได้ถูกหยิบยกมาพูดถึงมากขึ้น หลายประเทศเริ่มให้ความสนใจที่จะผลิตกาแฟโรบัสตาคุณภาพ เป็น Fine Robusta รสชาติดี ผู้ปลูกและผู้ผลิตกาแฟโรบัสตาในประเทศไทยเอง ก็เริ่มให้ความสนใจและลงมือพัฒนากาแฟโรบัสตากันบ้างแล้ว


แม้ว่ากาแฟอาราบิกาไทยจะมีชื่อเสียงและได้รับความนิยมมากกว่า แต่หากให้พูดถึงจำนวนการผลิตกลับพบว่ากาแฟโรบัสตาที่ปลูกทางภาคใต้ของไทยเรานั้นให้ผลผลิตมากกว่าอาราบิกา โดยแหล่งปลูกกาแฟโรบัสตาส่วนใหญ่อยู่ที่จังหวัดระนองและชุมพร และความสนใจใน Fine Robusta นี้ก็เกิดจากการผลักดันของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟโรบัสตาในจังหวัดระนองและชุมพร จนเกิดโครงการ Robusta Quality Processing ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นไปเมื่อวันที่ 16 – 18 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ณ สวนนิลเขียว จ. ชุมพร



งานเสวนาในครั้งนี้มี คุณเอก สุวรรณโณ จาก The First Valley คุณเล็ก - บำรุง นิลเขียว จากไร่นิลเขียว และแขกพิเศษ คุณพิษณุชัย แก้วพิชัย ผู้บริหารและประธานที่ปรึกษา บริษัท ดอยช้าง คอฟฟี่ ออริจินอล จำกัด เป็นวิทยากร พร้อมด้วย คุณอ๊อด - ศักดิ์ชัย นุ่นหมิ่น จาก A Cup of Joe เป็นผู้ร่วมบรรยาย โดยมีเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟโรบัสตา 12 ท่าน มาร่วมงาน


ตลอด 3 วันของงานเสวนามีการให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากทั้งวิทยากรและเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟโรบัสตากันอย่างเข้มข้น กาแฟโรบัสตาที่ดีต้องปลูกอย่างไร ความสำคัญของความสมบูรณ์ของดิน ทิศทางของแปลงกาแฟ การตัดแต่งต้นกาแฟ ต้องมี Q grader และที่สำคัญคือต้องหาตลาดที่เหมาะสมเพื่อให้ Fine Robusta เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยม ฯลฯ เกษตรกรที่มาร่วมงานต่างมีความภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสชิมกาแฟที่ตัวเองปลูกและผลิต และได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้เข้าร่วมงาน


“จุดประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ เพื่อต้องการให้กาแฟโรบัสตาได้เป็น Fine Robusta ที่สามารถระบุตัวตน ระบุแหล่งที่มาได้ว่ามาจากเกษตรกรท่านใด มีตลาดที่เชื่อมั่นได้ว่าเมื่อทำได้แล้วจะขายหมด” คุณอ๊อด - ศักดิ์ชัย นุ่นหมิ่น เริ่มต้นพูดถึงที่มาของโครงการฯ และให้ความรู้เรื่องการปลูกกาแฟที่ดีได้จะต้องเริ่มต้นจาก “ดิน” กาแฟจะดีได้ต้องปลูกในดินที่ดี


คุณเอก สุวรรณโณ เสริมเรื่องการปลูกกาแฟด้วยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์และให้คำแนะนำเรื่องการปลูกกาแฟใต้ร่มเงาเพื่อเพิ่มคุณภาพของผลผลิต “กาแฟโรบัสตาจะให้ผลผลิตมากในไร่ที่เป็นพื้นที่โล่งแจ้ง ต้นกาแฟได้รับแสงแดดโดยตรงเพื่อใช้ในการสังเคราะห์แสง แต่ก็ส่งผลให้ต้นกาแฟขยายตัวมากเกินไปทั้งในส่วนของใบและลำต้น ทำให้ใบและลำต้นเปราะบาง ไม่ทนต่อโรคแมลง การเกิดราสนิม และมีการสะสมธาตุอาหารในเมล็ดต่ำ ทำให้ได้ผลกาแฟที่มีรสชาติไม่ซับซ้อนเท่าที่ควร”


การปลูกสะระแหน่แซมระหว่างแถวยังสามารถช่วยแก้ไขปัญหาคาเฟอีนตกค้างสารสะสมในดินเกินปริมาณ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ต้นกาแฟตาย เนื่องจากสะระแหน่ชอบดูดซึมสารคาเฟอีนในดินไปใช้งาน

คุณเอกยังแนะนำให้เกษตรกรลองปลูกอะโวคาโดและสะระแหน่แซมกับต้นกาแฟ “จะได้มีผลผลิตอื่นๆ สำหรับจำหน่ายระหว่างปีเก็บเกี่ยว และยังให้สารอาหารเพิ่มเติมในดิน ส่งผลให้เมล็ดกาแฟมีรสชาติดี ได้ลักษณะรสชาติที่เป็นครีมมี่ และการปลูกสะระแหน่แซมระหว่างแถวยังสามารถช่วยแก้ไขปัญหาคาเฟอีนตกค้างสารสะสมในดินเกินปริมาณ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ต้นกาแฟตาย เนื่องจากสะระแหน่ชอบดูดซึมสารคาเฟอีนในดินไปใช้งาน” และยังให้ความรู้เรื่องการตากกาแฟในประเทศไทยที่มักจะเจอปัญหามากมายจากสภาพอากาศที่แปรปรวน แดด ฝน และความชื้น ส่งผลให้เกิดเชื้อราในเมล็ดกาแฟและเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้โปรตีนในเมล็ดกาแฟสลายตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้กาแฟมีรสชาติที่ไม่ดี มีกลิ่นเหมือนยางหรือพลาสติกในขั้นตอนการคัปปิ้ง


การทำ Fine Robusta ต้องมี Q Grader ที่รู้จักตั้งแต่กายภาพของเมล็ดกาแฟและเรื่องของ defect เพื่อประเมินคุณภาพและกำหนดราคาให้สู้กับตลาดโลกได้ อีกทั้งเกษตรกรและผู้ผลิตกาแฟโรบัสตาจะต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (CQI : Continuous Quality Improvement) จะต้องมีการประเมินเพื่อพัฒนาภาคเกษตรโดยการวัดมาตรฐานเป็นตัวเลข และจะสามารถย้อนกลับไปหาสาเหตุที่ทำให้ค่าตัวเลขออกมาต่ำได้ เช่น คะแนนที่ได้น้อยเกิดจากการใส่ปุ๋ย ดังนั้นก็ต้องไปแก้ในเรื่องของการบำรุงรักษาดิน เป็นต้น


นอกเหนือจากการพัฒนากาแฟโรบัสตาให้เป็น Fine Robusta แล้ว เกษตรกรควรต้องมีทักษะในด้านการชิมด้วย เมื่อชิมแล้วต้องรู้ว่าแตกต่างอย่างไร ต้องปรับหรือแก้ไขอะไร ในส่วน Processing นั้นก็ต้องดีตั้งแต่การจัดเก็บ การคัดเมล็ด รวมทั้งต้องมีการคัดสรรสายพันธุ์ที่ดีมาปลูก


เมื่อได้กาแฟที่ดีแล้ว การตลาดก็สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งในเรื่องของการตลาดได้ คุณพิษณุชัย แก้วพิชัย มาให้ความรู้เกี่ยวกับการทำตลาด โดยยกตัวอย่างการทำตลาดให้กับกาแฟดอยช้างในช่วงเริ่มต้น


การทำ Fine Robusta ต้องมี Q Grader ที่รู้จักตั้งแต่กายภาพของเมล็ดกาแฟและเรื่องของ defect เพื่อประเมินคุณภาพและกำหนดราคาให้สู้กับตลาดโลกได้

พัฒนาให้เป็นไร่กาแฟตัวอย่างของ Fine Robusta

หลังจากงานเสวนาในครั้งนี้ ไร่กาแฟของเกษตรกรทั้ง 12 ท่านที่มาร่วมงานจะนำเป็นไร่ตัวอย่างในการทำ Fine Robusta ไม่ว่าจะเป็นไร่นิลเขียวของ คุณเล็ก - บำรุง นิลเขียว ที่มีการจัดการไร่กาแฟที่คำนึงถึงสภาพแวดล้อม การขึ้นและตกของพระอาทิตย์ มีการทดลองเพาะขยายสายพันธุ์กาแฟโรบัสตาหลากหลายรูปแบบ การตัดแต่งต้นกาแฟ ฯลฯ ซึ่งผลผลิตกาแฟโรบัสตาที่ได้จะต้องถูกนำมาคัปปิ้งต่อไป


ยังมีไร่กาแฟของคุณเหน่งที่จังหวัดระนอง ซึ่งปลูกกาแฟโรบัสตามาตั้งแต่ปี 2542 ปัจจุบันผลผลิตส่วนใหญ่ส่งออกไปขายยังประเทศอังกฤษ และส่วนหนึ่งส่งขายให้กับโรงงานภายในประเทศ โดยจัดทำการแปรรูปเพียงลักษณะเดียวเป็น Washed Process เพราะต้องการควบคุมความสม่ำเสมอของรสชาติในแต่ละปีที่ผลิตออกมา


คุณวีรยุทธ จากจังหวัดระนอง ท่านนี้เป็นประธานกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ที่ได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์และเครื่องสีกาแฟจากภาครัฐ ลักษณะพื้นที่ที่ปลูกกาแฟเป็นการปลูกกาแฟในสวนทุเรียน มีความสนใจที่จะพัฒนาการจัดการไร่กาแฟเพื่อผลักดันผลผลิตให้เข้าสู่มาตรฐานกาแฟพิเศษ และต้องการพัฒนาความรู้ในการทำเกษตรอินทรีย์


คุณดอน เกษตรกรรุ่นใหม่จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ใช้พื้นที่ถัดจากสวนมะพร้าวหลังบ้านจำนวน 4 ไร่ในการทดลองปลูกกาแฟอาราบิกา สร้างห้องตากกาแฟระบบ LTLH ขนาด 3.6X6 เมตร เพื่อช่วยลดความชื้นสัมพัทธ์ในขั้นตอนการตากกาแฟ และมีความสนใจที่จะปลูกกาแฟโรบัสตาเพิ่มเติมในพื้นที่ อีกทั้งยังยินดีให้เพื่อนสมาชิกที่เข้าร่วมในกิจกรรมนี้ ได้นำผลผลิตกาแฟไปทดลองตากในห้องตากที่ทำขึ้นมาด้วย เพื่อจะได้นำผลการทดลองมาประมวลผลและหาข้อสรุปในการพัฒนาคุณภาพของผลผลิตต่อไป

หลังจบงานเสวนาในครั้งนี้ หลายอย่างน่าจะเกิดการต่อยอดเพื่อพัฒนากาแฟโรบัสตาของไทยให้กลายเป็น Fine Robusta ต่อไป ซึ่งนอกจากเกษตรกรผู้ปลูกและผู้ผลิตกาแฟโรบัสตาทางภาคใต้ที่เริ่มสนใจเรื่องนี้แล้ว Fine Robusta ยังเกิดขึ้นในอีกหลายพื้นที่ของประเทศไทย เช่นที่ อ.เทิง จ.เชียงราย อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน หรือในภาคอีสานที่ อ.นายูง จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจของวงการกาแฟของบ้านเรา ที่จะต้องคอยติดตามผลลัพธ์กันต่อไป

1,287 views0 comments

Recent Posts

See All

Comments


bottom of page