top of page

“สถานการณ์กาแฟไทย พร้อมแนวทางการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมกาแฟไทยในปัจจุบัน”


เชื่อได้เลยว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการพูดถึง “กาแฟ” ภาพจำที่หลายคนมักนึกถึงก็คือเครื่องดื่มปลุกความสดชื่น เพื่อคลายความง่วง ทว่าเป็นเพียงภาพจำที่เราเห็นและคิดกันตลอดหลายปี แม้แต่ต่างประเทศก็มีภาพลักษณ์ไม่แตกต่างกันมากนัก แต่หากลองมองลึกลงไป จะพบว่ากาแฟไม่ใช่แค่เครื่องดื่มสร้างความเพลิดเพลินเท่านั้น แต่เป็นพืชที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับโลก ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทาน เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ ผู้แปรรูป โรงคั่ว ผู้ประกอบการร้านกาแฟ หรือแม้แต่ผู้บริโภคปลายทาง ในขณะเดียวกันยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจ ไปพร้อม ๆ กับการดูแลสิ่งแวดล้อมและรักษาวิถีชีวิตของชุมชนผู้ปลูกกาแฟได้อีกด้วย 


หลายปีมานี้ สถานการณ์กาแฟโลกเกิดการปรับตัวอย่างมาก ราคากาแฟสายพันธุ์หลักอย่างอาราบิกาพุ่งสูงขึ้นเป็นเท่าตัว ส่วนโรบัสตาก็ปรับเพิ่มขึ้นกว่าสามถึงสี่เท่าเมื่อเทียบกับอดีต ถ้าหากไม่ใช่ผู้ที่อยู่ในวงการอาจเข้าใจว่าเหตุผลที่ราคากาแฟปรับตัวเกิดจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น แต่จริง ๆ แล้ว ปัจจัยสำคัญกลับเป็นภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือที่เรียกกันว่า Climate Change ที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตกาแฟทั่วโลก ซึ่งย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน มหาวิทยาลัยฮาวาด (Havard University) เคยคาดการณ์ไว้ว่าในช่วงปี 2050 ผลผลิตกาแฟทั่วโลกโลกจะลดต่ำลงถึง 50% ซึ่งปัจจุบันนี้ เราก็เริ่มเห็นได้อย่างชัดเจนแล้วว่าสัญญาณนั้นเป็นจริงมากขึ้นเรื่อย ๆ จากสภาพอากาศแปรปรวน คาดเดาได้ยาก ฝนตกหนักในช่วงฤดูร้อน สภาวะแห้งแล้งยาวนาน รวมไปถึงโรคและศัตรูพืชที่ระบาดหนัก ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผลผลิตกาแฟทั่วโลกต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การวิจัยและพัฒนาแนวทางใหม่ ๆ เพื่อหาวิธีปรับตัวและรับมือกับผลกระทบ ไปจนถึงการรักษาความมั่นคงของอุตสาหกรรมกาแฟ


หากมองในมุมตลาดกาแฟเอเชีย เราจะเห็นได้ว่าปัจจุบันนี้กลายเป็นหนึ่งภูมิภาคหลักในเวทีโลก ด้วยการเติบโตและขยายตัวอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาหลายปี มูลค่าการตลาดก็เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเฉลี่ยแล้วประมาณสองแสนล้านบาท ในขณะที่ตลาดกาแฟอเมริกาหรือยุโรปเริ่มอิ่มตัวและคงที่ จึงถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งโอกาสที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Asia Turn หรือยุคที่เอเชียจะยกระดับกลายเป็นศูนย์กลางการบริโภคและผู้เล่นสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดกาแฟโลก 



สำหรับสถานการณ์กาแฟไทยเองก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบกับอดีต ประเทศไทยเคยผลิตกาแฟได้สูงราว ๆ หนึ่งแสนตันต่อปี แต่ปัจจุบันตัวเลขกลับลดลงเหลือเพียง 10,000 - 20,000 ตันต่อปีเท่านั้น เรียกได้ว่าหดตัวลงหลายเท่าตัวเลยทีเดียว ส่งผลให้ประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้ากาแฟกว่า 90% เพื่อตอบสนองต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิมประเทศไทยเป็นผู้ผลิตกาแฟ แต่กลับกลายมาเป็นประเทศผู้บริโภคกาแฟอย่างสมบูรณ์แทน โดยสาเหตุหนึ่งไม่ใช่เพราะปัจจัยเรื่องสภาพภูมิอากาศเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะการขาดกลไกการบริหารจัดการแบบบูรณาการ ที่มักเน้นต้นน้ำเป็นหลัก เช่น การสนับสนุนเกษตรกร หรือการพัฒนาสายพันธุ์ โดยมองข้ามภาพรวมอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้ศักยภาพของอุตสาหกรรมกาแฟไทยไม่ถูกดึงออกมาอย่างเต็มประสิทธิภาพ


ต่อเนื่องจากก่อนหน้านี้ ข้อมูลของทาง ICO (International Coffee Organization) และ SCA (Specilty Coffee Association) ระบุไว้ว่ากาแฟเป็นพืชที่สามารถยกระดับเศรษฐกิจได้อย่างมาก กล่าวให้เห็นภาพที่สุด คือ เมล็ดกาแฟดิบทั่ว ๆ ไป เมื่อเข้าสู่กระบวนการคั่วจะสามารถเพิ่มมูลค่าได้กว่าห้าเท่า และหากนำไปทำเป็นเครื่องดื่มหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มูลค่าก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมถึงสี่สิบเท่า แต่เพราะอุตสาหกรรมกาแฟไทยยังขาดการสนับสนุนในการสร้างมูลค่าเพิ่มของกาแฟ ทำให้สูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้อย่างมหาศาล 


แม้ว่าผลผลิตในประเทศไทยจะลดลงจนประเมินมูลค่าไม่ได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นเดียวกันว่าตลาดกาแฟไทยมีการเติบโตและขยายตัวอย่างก้าวกระโดด ซึ่งประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำตลาดกาแฟคุณภาพของภูมิเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกอาเซียน อเมริกา ญี่ปุ่น หรือยุโรปต่างให้การยอมรับถึงคุณภาพของกาแฟไทย นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีองค์ความรู้และความสามารถในการผลิตกาแฟคุณภาพสูงเป็นทุนเดิม เนื่องจากปัจจัยการบริโภคภายในประเทศที่เติบโตอยู่เสมอ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้ประกอบการหลายเจ้าจากต่างประเทศ ตัดสินใจเลือกเข้ามาลงทุนหรือหาคู่ค้าในไทย เพราะเล็งเห็นถึงศักยภาพที่จะช่วยต่อยอดธุรกิจและสร้างการรับรู้แบรนด์ได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันตลาดกาแฟไทยถูกครองโดยแบรนด์ไม่กี่เจ้าเท่านั้น ทำให้แบรนด์เล็ก ๆ หรือผู้เล่นหน้าใหม่เติบโตได้ยาก หากเทียบกับประเทศอื่นที่มีนโยบายส่งเสริมและกลยุทธ์สนับสนุนผู้ประกอบการที่เข้มแข็งมากกว่า


ประเทศไทยมีจุดเด่นอยู่ที่กาแฟไฮบริด ซึ่งในปัจจุบันยังคงมีช่องว่างระหว่างกาแฟคอมเมอร์เชียล (Commercial Coffee) และกาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) ค่อนข้างเยอะ ทั้งกาแฟที่ขายได้ตั้งแต่กิโลกรัมละสองร้อยบาท ไปจนถึงสองพัน หรือแม้แต่หลักหมื่นบาท แต่กระนั้น ไทยยังไม่ให้ความสำคัญกับสายพันธุ์ที่มีมูลค่าสูงอย่างจริง ๆ เพราะหากมีการวางแผนกลยุทธ์ดี ๆ แม้จะใช้พื้นที่ปลูกเดิม แต่เปลี่ยนสายพันธุ์และวิธีการจัดการ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกหลายเท่าตัว โดยไม่จำเป็นต้องขยายพื้นที่ใหม่เลย สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟ สิ่งสำคัญที่สุดคือ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการเพาะปลูกกาแฟจำเป็นต้องคำนึงถึงคาร์บอนนิวทรอน (Carbon Neutral) และเป้าหมายสุดท้ายอย่าง Net Zero เพราะฉะนั้นแล้ว หากไทยเดินหน้าในเรื่องนี้ได้เร็วมากแค่ไหน ก็จะมีแต้มต่อสำคัญมากกว่าประเทศอื่น ๆ 



จากทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมา สิ่งสำคัญที่เราต้องทำต่อจากนี้คือ การตั้งโจทย์ว่าต้องการให้อุตสาหกรรมกาแฟไทยเติบโตไปในทิศทางไหน? มากแค่ไหน? ในระยะเวลาเท่าไหร่? และจะมีวิธีการดึงศักยภาพอุตสาหกรรมกาแฟจากทุกภาคส่วน ทั้ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำออกมาอย่างไรให้ได้ประสิทธิภาพที่สุด? เพราะกาแฟไม่ใช่แค่เครื่องดื่มปลุกความสดชื่น แต่เป็นพืชเศรษฐกิจมหัศจรรย์ที่สามารถขับเคลื่อนชีวิต เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กันได้ หากมีการจัดระบบและวางกลยุทธ์ที่เหมาะสมและถูกทิศทาง สุดท้ายแล้ว เชื่อว่าในอนาคตข้างหน้า ประเทศไทยสามารถเติบโตไปเทียบเคียงกับยักษ์ใหญ่ในตลาดกาแฟโลกได้อย่างแน่นอน ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ



Coffee Traveler 

เป็นนิตยสารรายสองเดือน ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ

และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ

- - -

สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX

Facebook Coffee Traveler 

Youtube : Coffee Traveler 

Comments


bottom of page