การพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมกาแฟจีน
- coffeetravelermag
- 4 days ago
- 1 min read
ประเทศจีนถือได้ว่าเป็นหนึ่งในมหาอำนาจของโลก ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ด้านนวัตกรรมที่ไม่หยุดพัฒนา ด้านเทคโนโลยีล้ำสมัย หรือแม้แต่ด้านวัฒนธรรมที่ทรงอิทธิพลไปทั่วโลก แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการพูดถึง “กาแฟ” บทบาทของจีนในตลาดกาแฟโลกยังไม่ถือว่าเป็นผู้เล่นรายสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับยักษ์ใหญ่อย่างประเทศบราซิล ประเทศเวียดนาม หรือประเทศเอธิโอเปีย ที่ครองอันดับผู้ผลิตและผู้ส่งออกกาแฟรายสำคัญของโลกมาอย่างยาวนาน เพราะจากเดิมแล้ว ในสายตาของคนทั่วโลก ประเทศจีนถูกมองว่าเป็น “ประเทศแห่งชา” มาหลายทศวรรษ ภาพจำของจีนในด้านกาแฟจึงไม่โดดเด่นมากนัก อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ จีนได้สร้างปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในโลกของกาแฟ ด้วยอัตราการบริโภคกาแฟภายในประเทศที่เติบโตแบบก้าวกระโดด เฉลี่ยปีละประมาณ 15% โดยเฉพาะเมืองใหญ่อย่าง ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ หรือฉงชิ่ง เป็นต้น ซึ่งตัวเลขการบริโภคกาแฟนี้ถือเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกได้เลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้เอง ประเทศจีนจึงกลายมาเป็น “ผู้เล่นหน้าใหม่” ที่น่าจับตามองในวงการกาแฟ แม้ว่าพื้นที่เพาะปลูกจะอยู่ที่ประมาณ 5.38% จากพื้นที่ทั้งหมด เมื่อเทียบในสเกลระดับโลกจะอยู่ที่ประมาณ 1% เท่านั้น แต่กระนั้น กลับสามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างมีนัยสำคัญ
“ปัจจุบันนี้ประเทศจีนได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟจีน พร้อมยกระดับอัตรากำลังในการพัฒนาอย่างเร่งด่วน เพื่อก้าวเข้าสู่แนวหน้าในวงการกาแฟโลก”
จากการเปิดเผยของ Prof. Chen Zhihua ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรยูนนาน ที่กล่าวในงานกาแฟพ่อหลวงสู่ความยั่งยืน (Royal Coffee BCG to SDGs) เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมาว่า “ในปัจจุบันนี้ประเทศจีนได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟจีน พร้อมยกระดับอัตรากำลังในการพัฒนาอย่างเร่งด่วน เพื่อก้าวเข้าสู่แนวหน้าในวงการกาแฟโลก เทียบเคียงยักษ์ใหญ่ในตลาดอย่างบราซิล เวียดนาม หรือ เอธิโอเปีย เป็นต้น”

ประเทศจีนมีหลายมณฑลที่นิยมเพาะปลูกกาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก แต่หากพูดถึงตัวแทนกาแฟจีน มณฑลยูนนานคือคำตอบที่ชัดเจนที่สุด ด้วยการเป็นแหล่งปลูกกาแฟหลักของประเทศ คิดเป็น 98% ของผลผลิตกาแฟทั้งหมดในประเทศ จากพื้นที่เพาะปลูกราว ๆ 8,000 ตารางกิโลเมตร ผลผลิตที่ได้สูงเกือบถึง 150,000 ตันต่อปี โดยกาแฟสายพันธุ์หลัก คือ อาราบิกาสายพันธุ์คาติมอร์ (Catimor) ที่ครองพื้นที่เพาะปลูกกว่า 95% เพราะฉะนั้นแล้ว ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมมณฑลยูนนานจึงถูกยกให้กลายมาเป็นตัวแทนกาแฟของประเทศจีน ตามที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้กล่าวไว้ว่า “กาแฟของยูนนานเป็นตัวแทนกาแฟของประเทศจีน” ด้วยความโดดเด่นของยูนนานที่มีลักษณะภูมิประเทศ สภาพอากาศ และเทคนิคการเกษตรที่เอื้ออำนวย ทำให้ได้ผลผลิตที่สม่ำเสมอและมีคุณภาพสูง ไม่ว่าจะเป็นการปลูกร่วมกับพืชชนิดอื่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พื้นที่ หรือเทคนิคการควบคุมแสงในสวนกาแฟ เพื่อลดความเครียดของต้นกาแฟ สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงระบบการจัดการที่ถูกพัฒนาขึ้นมา
นอกจากการเพิ่มปริมาณผลผลิตกาแฟแล้ว อุตสาหกรรมจีนยังได้มีการพัฒนาคุณภาพของกาแฟทั้งระบบ เพื่อยกระดับให้เทียบเคียงสากลมากขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากทางรัฐบาลจีนทุกระดับ การตั้งคลัสเตอร์วิจัยและหน่วยงานพัฒนาที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมกาแฟ ไม่ใช่แค่คลัสเตอร์ทั่วไป แต่มีศูนย์วิจัย หน่วยงานกำกับ และแพลตฟอร์มเชื่อมโยงการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ และล่าสุด ยังได้ความร่วมมือจากภาคเอกชน ด้วยการพัฒนาหุ่นยนต์เก็บเกี่ยว เพื่อลดข้อจำกัดในด้านแรงงานอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันจีนมีแปลงรวบรวมพันธุ์กาแฟกว่า 1,500 ชนิด และมี 22 สายพันธุ์ที่เพิ่งได้รับการพัฒนาใหม่ในช่วงปี 2024 ที่ผ่านมา ส่วนด้านวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรยูนนานยังได้เปิดหลักสูตร “วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมกาแฟ” ซึ่งนับว่าเป็นหลักสูตรแรกและหลักสูตรเดียวของโลกในตอนนี้

ไม่เพียงเท่านี้ ทางด้านเทคโนโลยีก็มีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมกาแฟจีนไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะเทคโนโลยีการแปรรูป ทั้งระบบปอกเปลือก (Pulping System) ด้วยเครื่องจักรเฉพาะที่ถูกออกแบบมาให้สามารถปอกเปลือกกาแฟได้อย่างมีคุณภาพและแม่นยำ ระบบคัดแยกสิ่งแปลกปลอม (Sorting System) จากเทคโนโลยีใบมีดและเซนเซอร์สี เพื่อคัดแยกระดับความสุก-ดิบของเมล็ดกาแฟ รวมถึงสิ่งแปลกปลอมที่ปะปนมาในกระบวนการเก็บเกี่ยว ระบบแรงดันกำจัดเมือกในกระบวนการผลิตกาแฟ รวมถึงการใช้เทคนิคใหม่ ๆ อย่างการสกัดเย็นเข้มข้น หรือแม้แต่การผลิตคาสคาร่าจากการนำเปลือกกาแฟกลับมาใช้ได้แบบ 100% เพื่อลดขยะที่เป็นผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งผ่านการจัดสิทธิบัตรและรับรองมาตรฐานในระดับประเทศเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ยังมีการใช้เทคโนโลยีควบคุมการหมัก (Fermentation) และการอบแห้งแบบควบคุม เพื่อช่วยให้กาแฟมีคุณภาพสูงขึ้นกว่าปกติถึง 32% อีกทั้งยังช่วยรักษารสชาติ กลิ่น และสารอาหารสำคัญไว้ได้มากถึง 95% จนในปัจจุบัน เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟแบบดั้งเดิมเริ่มหันมาใช้เทคโนโลยีขั้นสูงกันมากขึ้น เพื่อพัฒนาระบบการผลิตกาแฟให้มีประสิทธิภาพและได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
ทั้งนี้ประเทศจีนยังให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟมากขึ้นอีกด้วย พร้อมใช้โมเดลการพัฒนาแบบผสมผสาน ทั้งความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน กลุ่มเกษตรกร และภาครัฐในทุกระดับ โดยให้การสนับสนุนด้านเงินทุน การฝึกอบรมเกษตรกร ไปจนถึงระบบ IoT หรือ Internet of Things สำหรับการเชื่อมโยงอุปกรณ์ เครื่องจักร และฐานข้อมูลเข้าด้วยกันผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่อติดตามและควบคุมการผลิตของสวนกาแฟแบบเรียลไทม์ ซึ่งเป็นหนึ่งในโมเดลที่ใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน และที่สำคัญไปกว่านั้น คือ การวางเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อให้โมเดลเหล่านี้ช่วยรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟให้ได้มากที่สุด จนกลายมาเป็นจุดแข็งที่ดึงดูดความสนใจจากตลาดโลกได้ ทั้งทางฝั่งยุโรป อเมริกา หรือญี่ปุ่น สำหรับการรับรองคุณภาพระบบการผลิตกาแฟในประเทศจีน
เมื่อดูจากภาพรวมทั้งหมดแล้ว กาแฟจีนอาจจะดูสดใสและมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดี แต่กระนั้น ประเทศจีนยังต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายที่สำคัญอยู่ ซึ่งนั่นก็คือ “การยอมรับในตลาดโลก” แม้จะมีแบรนด์กาแฟต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากเท่าที่ควร เนื่องจากกาแฟจีนยังใหม่เกินไปเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแบรนด์ เรื่องราว และการเจาะกลุ่มผู้บริโภค จีนจึงจำเป็นต้องพิสูจน์ศักยภาพของตนเองต่อไป เพื่อให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล ทั้งด้านคุณภาพที่ได้มาตรฐานและด้านปริมาณผลผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการ อย่างไรก็ตาม จากทิศทางการพัฒนา การวิจัย และการรองรับคุณภาพที่ถูกยกระดับขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาหลายปี คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าประเทศจีนกำลังเดินหน้ามาถูกทาง โดยในอนาคตอันใกล้นี้ เราอาจได้เห็นอุตสาหกรรมกาแฟจีนก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในมหาอำนาจของโลกในด้านกาแฟ เฉกเช่นเดียวกับบราซิล เวียดนาม หรือเอธิโอเปีย ที่สร้างแรงขับเคลื่อนครั้งสำคัญในวงการกาแฟโลกก็เป็นได้
Coffee Traveler
เป็นนิตยสารรายสองเดือน ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ
และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ
- - -
สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX
Facebook Coffee Traveler
Instagram : coffeetraveler_magazine
Youtube : Coffee Traveler
Blockdit : I am Coffee Traveler/ coffeetravelermag
コメント