top of page

Smart Connect กาแฟผ่านสมาร์ทโฟน บทบาทใหม่ของเทคโนโลยีที่อาจกลายเป็นวิถีชีวิตในอนาคต

Updated: Dec 27, 2023



" ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เพิ่มมากขึ้น ก็ได้นำอุตสาหกรรมกาแฟเดินทางเข้าสู่เส้นทางใหม่ ที่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว "


ถ้าจะบอกว่ายุคนี้เป็นทองของวงการกาแฟก็คงไม่ผิดนัก เพราะเราจะเห็นได้ว่าในปัจจุบัน มีร้านกาแฟและงานอีเว้นท์เกี่ยวกับกาแฟเกิดขึ้นมากมายทั่วโลกนอกจากนี้ ยังเป็นยุคที่มีการผลิตและค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับกาแฟมากมาย ตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะปลูก การคั่ว ไปจนถึงการคิดค้นเทคนิคต่าง ๆ ที่ถูกนำมาใช้ในการชง ในขณะเดียวกัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เพิ่มมากขึ้น ก็ได้นำอุตสาหกรรมกาแฟเดินทางเข้าสู่เส้นทางใหม่ ที่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว


อุตสาหกรรมกาแฟเริ่มมีการเปลี่ยนทิศทางอย่างชัดเจนหลังเกิดวิกฤตโควิด 19 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ผู้ที่อยู่ในวงการกาแฟอย่างบาริสต้า โรสเตอร์ หรือแม้แต่ผู้ผลิต ต่างก็เริ่มมีการพึ่งพาเทคโนโลยีสมัยใหม่กันมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่การชงกาแฟด้วยตัวเองในบ้าน ที่มีการเพิ่มฟังก์ชันอื่น ๆ ให้แก่เครื่องชงกาแฟ เพื่อให้สามารถทำกาแฟแก้วโปรดออกมาได้ง่ายดายยิ่งกว่าเดิม อย่างไรก็ตามการ Social Distancing ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงการระบาด และการพัฒนาของสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ ๆ ก็ได้ส่งผลกระทบต่อเทคโนโลยีที่ใช้ในอุตสาหกรรมกาแฟเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะหลังการมาถึงของเทคโนโลยีเพื่อช่วยลดการสัมผัสและเพิ่มความสะดวกสบายผ่านสมาร์ทโฟน โดยหลักการทำงานคือ การให้ผู้ใช้สามารถสั่งการเครื่องชงกาแฟหรือเครื่องมืออื่น ๆ ผ่านแอปพลิเคชัน ในสมาร์ทโฟนของตัวเอง ซึ่งนั่นทำให้เราไม่มีความจำเป็นต้องสัมผัสแผงควบคุมที่อาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคโดยตรง และถึงแม้ว่าในตอนนี้ สถานการณ์การระบาดจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่การใช้เทคโนโลยีเพื่อลดการสัมผัสและสั่งการผ่านสมาร์ทโฟนก็ได้กลมกลืนจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตในปัจจุบันไปเสียแล้วและมีแนวโน้มที่จะมีบทบาทมากยิ่งขึ้นต่อไปอีกในอนาคต



แอปพลิเคชันช่วยชงกาแฟในเครื่องมือต่าง ๆ

ปัจจุบันผู้คนนิยมทำกาแฟดื่มกันเองในบ้านมากขึ้น แต่เพราะปัจจัยหลาย ๆ อย่าง จึงทำให้การทำกาแฟให้มีรสชาติสม่ำเสมอเป็นเรื่องค่อนข้างยากสำหรับมือใหม่ ดังนั้น บริษัทเทคโนโลยีหลายบริษัทจึงได้มีการคิดค้นและผลิตเครื่องชงกาแฟอัตโนมัติขึ้นมา แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเครื่องชงกาแฟอัตโนมัติเป็นเครื่องมือที่พวกเราต่างก็คุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว แต่หลังการระบาดของโควิด 19 ที่ผ่านมา ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่าเครื่องชงอัตโนมัติรุ่นใหม่ มักจะมาพร้อมกับฟังก์ชันเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนเพื่อลดการสัมผัส โดยหลักการทำงานหลัก ๆ คือการสั่งงานบนแอปพลิเคชันที่สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งในระบบ ios

และ Android และเชื่อมต่อกับเครื่องผ่านทาง Bluetooth หรือ WiFi ได้ในทันที นอกจากนี้ ข้อมูลของเครื่องและข้อมูลเชิงลึกทั้งหมด จะถูกบันทึกเอาไว้ภายในสมาร์ทโฟนเพื่อให้สามารถนำออกมาใช้งานได้ทุกเมื่อ


แอปพลิเคชันสำหรับสั่งการเครื่องชงกาแฟทุกแอป มักจะมีฟังก์ชันที่คล้ายคลึงกัน เช่น ฟังก์ชันการตั้งเวลาดริปล่วงหน้า ฟังก์ชันการเลือกระดับความเข้มของกาแฟ ฟังก์ชันบันทึกข้อมูลสูตรกาแฟที่ชอบลงในโปรไฟล์ส่วนตัว เป็นต้น แอปพลิเคชันเหล่านี้มีหลักการทำงานหลัก ๆ คือการสร้างการสื่อสารหรือส่งคำสั่งไปยังเซิร์ฟเวอร์และรับการตอบกลับจากเซิร์ฟเวอร์ เช่น หากต้องการชงเอสเพรสโซ ผู้ใช้ก็จะเริ่มด้วยการเลือกเมนูเอสเพรสโซในหน้าจอสมาร์ทโฟนเมื่อเลือกเสร็จแล้ว แอปพลิเคชันก็จะส่งสัญญาณไปยังเซิร์ฟเวอร์เพื่อบอกคำสั่งเมื่อคำสั่งส่งไปยังเซิร์ฟเวอร์สำเร็จ เซิร์ฟเวอร์ก็จะตอบกลับมาโดยการแสดงตัวเลือกและนำผู้ใช้ไปยังหน้าถัดไป สำหรับการ “ชง” เมื่อผู้ใช้กดปุ่มคำสั่งบนหน้าจอเพื่อเริ่มต้นการชงเอสเพรสโซ ระบบก็จะส่งคำสั่งนี้ไปยังเซิร์ฟเวอร์เพื่อสั่งให้เครื่องชงกาแฟเริ่มทำเครื่องดื่ม จากนั้นการชงกาแฟถึงจะเริ่มต้นขึ้น ในระหว่างนี้แอปพลิเคชันอาจจะนำผู้ใช้ไปยังหน้าอื่นเพื่อแจ้งผู้ใช้ทราบถึงสถานะของเครื่อง โดยกระบวนการในการรับส่งข้อมูลระหว่างแอปพลิเคชันเซิร์ฟเวอร์ และเครื่องชงกาแฟเหล่านี้ ใช้ระยะเวลาเพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้นและเมื่อชงเอสเปรสโซเสร็จแล้ว แอปพลิเคชันก็จะแจ้งเตือนอีกครั้ง เพียงเท่านี้คุณก็จะได้เอสเปรสโซที่ต้องการหนึ่งแก้วโดยไม่จำเป็นต้องสัมผัสเครื่องชงกาแฟเลยแม้แต่น้อย


นอกจากเครื่องชงกาแฟอัตโนมัติแล้ว ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อให้การชงกาแฟครบวงจรและสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น โดยบางบริษัทได้มีการพัฒนาเครื่องมืออื่น ๆ ที่สามารถเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนได้เช่นเดียวกัน เช่น ชุดเครื่องมือวิเคราะห์กาแฟอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัท DiFluid ในประเทศจีนที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยชุดเครื่องมือวิเคราะห์นี้ จะประกอบไปด้วยเครื่องชั่งและเครื่องวัดการหักเหของแสง เพื่อให้ผู้ใช้สามารถควบคุมการชงกาแฟได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ ตั้งแต่การวัดปริมาณเมล็ดกาแฟ อัตราการไหลและปริมาณของน้ำขณะทำการชง การวิเคราะห์ดัชนีการหักเหของแสง หรือแม้แต่การวัดปริมาณการละลายของสารอนินทรีย์และอินทรีย์ (TDS) ของการชงกาแฟสำเร็จรูป ซึ่งเครื่องมือนี้จะใช้งานโดยเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันที่ทางบริษัทได้พัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะ และจะแสดงผลออกมาในรูปแบบแผนภูมิที่แสดงอัตราส่วนการชงปริมาณเมล็ดกาแฟ และ TDS นอกจากนี้ ยังมีกราฟแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับอัตราการไหล เวลา และน้ำหนักแบบเรียลไทม์ โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกบันทึกไว้เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเห็นภาพรวมของการชงกาแฟในแต่ละครั้งและนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์เพื่อทำกาแฟที่สมบูรณ์แบบออกมา



แอปพลิเคชันช่วยในการคั่วกาแฟเพื่อเพิ่มมูลค่าในการจำหน่าย

ในการคั่วกาแฟ ผู้คั่วบางรายจะตรวจสอบระดับการคั่วด้วยการใช้เทคนิค Spectroscopy เช่น การใช้เครื่องมือวัดสี หรือ Colorimeter ในการตรวจสอบเมล็ดหลังคั่ว อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบสีของกาแฟคั่วด้วยตาเปล่าอาจทำให้เกิดการคลาดเคลื่อนได้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นกับผู้ผลิตกาแฟหรือโรงคั่วขนาดเล็กในชุมชนที่ไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอที่จะสามารถซื้อเครื่องตรวจวัดความเข้มของสี ที่มักจะมีราคาแพงและมีขนาดเครื่องที่ใหญ่ ซึ่งนั่นทำให้แม้ว่าจะสามารถผลิตกาแฟที่มีคุณภาพดีออกมา แต่เพราะการควบคุมระดับสีของของเมล็ดตอนคั่วไม่มีความแม่นยำ คุณภาพของเมล็ดกาแฟคั่วที่ได้จึงลดลง ส่งผลให้ราคาที่จำหน่ายต่ำลงไปด้วย


เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ ปัจจุบันจึงได้มีการวิจัยมากมายเกี่ยวกับเครื่องมือวัดสีที่สามารถควบคุมการทำงานและเก็บข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน โดยเน้นการทำงานที่ใช้งานได้อย่างง่ายดายและแม่นยำ เครื่องมือเหล่านี้มีหลักการทำงานคือการใช้การวัดค่าแม่สี (แดง/เขียว/น้ำเงิน) ซึ่งเมื่อนำแม่สีเหล่านี้มาผสมกันก็จะสามารถสร้างเฉดสีต่าง ๆ ได้มากกว่า 10 ล้านสี และนั่นจึงทำให้ได้ค่าความละเอียดของสีที่สูงมาก ซึ่งทำให้ในการวัดสีของกาแฟคั่วมีความแม่นยำมากขึ้น โดยหากเซ็นเซอร์ตรวจพบการเปลี่ยนแปลงของเฉดสีเพียงเล็กน้อยเครื่องก็จะสามารถแสดงออกมาให้เห็นได้ในทันที


นอกจากการวัดค่าแม่สีแล้ว บางเครื่องอาจมีฟังก์ชันการตรวจจับด้วยภาพอินฟราเรด เพี่อให้สามารถระบุการคั่วเมล็ดได้อย่างครอบคลุม เช่น DiFluidOmni ที่ใช้การตรวจจับอินฟราเรดในระยะใกล้แบบสองมิติ เพื่อตรวจสอบระดับการคั่วเมล็ดกาแฟและการบดด้วยความแม่นยำ โดยเครื่องมือเหล่านี้จะรองรับการเชื่อมต่อด้วยแอปพลิเคชัน จึงทำให้สามารถเก็บบันทึกและสืบค้นข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการสั่งการที่ทำได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้ใช้งานอีกด้วย


แอปพลิเคชันช่วยในการเพาะปลูกกาแฟสำหรับเกษตรกร

ในอุตสาหกรรมกาแฟไม่ได้มีการใช้เทคโนโลยีผ่านสมาร์ทโฟนแค่ที่ปลายน้ำและกลางน้ำอย่างการชงและการคั่วเท่านั้น แต่เริ่มมีการใช้มาตั้งแต่ต้นน้ำอย่างการเพาะปลูก โดยในปัจจุบันพบว่าเกษตรกรรุ่นใหม่นิยมใช้แอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลตัวแปรต่าง ๆ เช่น พื้นที่เพาะปลูกระดับสารอาหารในดิน สภาพอากาศ เพื่อให้ต้นกาแฟที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นนอกจากนี้บางแอปพลิเคชันอาจจะมีฟังก์ชันเสริมอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ต่อเหล่าเกษตรกร เช่น ข้อมูลแหล่งรับซื้อหรือราคารับซื้อ ข้อมูลตลาด การแจ้งเตือนเมื่อเกิดภัยพิบัติ หรือแม้แต่ฟังก์ชันที่สามารถแบ่งปันเคล็ดลับ หรือข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถนำไปเป็นตัวช่วยในการปรับปรุงคุณภาพ และพัฒนาแนวทางให้กับเหล่าเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟได้นั้นเอง


เราจะเห็นว่าในปัจจุบัน อุตสาหกรรมกาแฟมีการพึ่งพาเทคโนโลยีผ่านทางสมาร์ทโฟนมากขึ้น และคาดว่าจะมีการนำไปใช้ในรูปแบบใหม่ต่อไปอีกเรื่อย ๆ การพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ อาจจะกลายเป็นโจทย์สำคัญที่จะกำหนดอนาคตของอุตสาหกรรมกาแฟในอีกทศวรรษข้างหน้า โดยเฉพาะเมื่อมีร่องรอยหลังการมาเยือนของโควิด 19 โดยมีงานวิจัยหลายชิ้นในระยะหลังระบุตรงกันว่า Social Distancing ได้ส่งผลหลาย ๆ อย่างต่อพฤติกรรมผู้บริโภคในระยะยาว เช่น การเว้นระยะห่างที่มากขึ้น หรือการสัมผัสที่น้อยลง ซึ่งนั้นจึงทำให้เครื่องมือสำคัญที่ทุกคนมักจะพกติดตัวตลอดเวลาอย่างสมาร์ทโฟนได้กลายเป็นหนึ่งในคำตอบของโจทย์ในครั้งนี้ และนี้อาจจะเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงบทบาทใหม่ของเทคโนโลยี ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในวิถีชีวิตของมนุษย์มากยิ่งขึ้นในอนาคต



เกษตรกรรุ่นใหม่นิยมใช้แอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลตัวแปรต่าง ๆ เช่น พื้นที่เพาะปลูก ระดับสารอาหารในดิน สภาพอากาศ เพื่อให้ต้นกาแฟที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น


 


 

Coffee Traveler

เป็นนิตยสารรายสองเดือน ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ

และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ

- - -

สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX Facebook : Coffee Traveler

Instagram : coffeetraveler_magazine

Youtube : Coffee Traveler

Blockdit : I am Coffee Traveler / coffeetravelermag

107 views0 comments
bottom of page