top of page

World Tea & Coffee Expo 2023 " A Cup of Success "



" สิ่งที่ทางจังหวัดคำนึงถึงคือการทำอย่างไรที่จะส่งเสริมกาแฟที่มีคุณภาพเหล่านี้สามารถส่งขายในตลาดที่กว้างขึ้น ไม่จำเป็นต้องรอให้คนไปเที่ยวบนดอยแล้วซื้อกลับลงมาทีสองสามถุงซึ่งเป็นตลาดที่แคบไป จึงมองถึงการช่วยพัฒนาเชื่อมตลาดกาแฟเชียงใหม่สู่ตลาดที่กว้างขึ้น "


เนื่องในวันที่ 26 – 29 มกราคมที่ผ่านมาได้มีการจัดงาน World Tea & Coffee Expo 2023 อีเว้นท์ชากาแฟระดับโลก ที่รวบรวมกิจกรรมสำหรับคนรักชาและกาแฟทั้งไทยและต่างประเทศมาไว้ด้วยกัน ซึ่งในวันที่ 26 มกราคม ได้รับเกียรตินายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และดร.จุฑา ธาราไชย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการภาคเหนือ ร่วมกันรดน้ำต้นกล้าชา กาแฟและกล่าวเปิดงาน ณ ห้องประชุม Nimman Convention Centre พร้อมทั้งให้เกียรติร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษร่วมกับนายฮิกุจิ เคอิจิกงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่ และ นาย Yasuo Suzuki CEO ของ Trunk Coffee ในหัวข้อการสัมมนาเรื่อง Thai Tea & Coffee Industry supporters behind the success อีกด้วย นอกจากนี้ภายในงานยังมีกิจกรรมที่หลากหลายและน่าสนใจหลายกิจกรรมด้วยกัน ทั้งงานสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องชากาแฟโดยได้รับเกียรติจากนักวิชาการและผู้บริหารที่ค่ำวอดในอุตสาหกรรมชากาแฟขึ้นพูดในหัวข้อการเสวนาต่าง ๆ อีกทั้งยังมีบูธกาแฟกว่า 50 บูธ ที่ขนกาแฟชื่อดังทั้งในและต่างประเทศมาร่วมงานตลอดทั้ง 4 วันเช่นกัน


นอกจากนี้ทาง Coffee Traveler ได้มีโอกาสสัมภาษณ์สุด Exclusive กับ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ที่ให้เกียรติสัมภาษณ์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมกาแฟในเชียงใหม่ ซึ่งในส่วนของแนวโน้มทิศทางในการเติบโตของอุตสาหกรรมกาแฟในเชียงใหม่ ท่านผู้ว่าฯ มีความเห็นว่ากาแฟในเชียงใหม่นั้นเป็นกาแฟที่ดีมีคุณภาพสูงและสามารถขายได้ในราคาที่สูง แต่ยังขาดการเชื่อมโยงสู่ตลาดที่กว้างขึ้น


“ในหลาย ๆ พื้นที่ที่ปลูกกาแฟในเชียงใหม่นั้นมีกาแฟที่คุณภาพสูงขายได้ในราคาที่สูง แต่สิ่งที่ทางจังหวัดคำนึงถึงคือการทำอย่างไรที่จะส่งเสริมกาแฟที่มีคุณภาพเหล่านี้สามารถส่งขายในตลาดที่กว้างขึ้น ไม่จำเป็นต้องรอให้คนไปเที่ยวบนดอยแล้วซื้อกลับลงมาทีสองสามถุงซึ่งเป็นตลาดที่แคบไป จึงมองถึงการช่วยพัฒนาเชื่อมตลาดกาแฟเชียงใหม่สู่ตลาดที่กว้างขึ้นเป็น World Wide มากขึ้น และยังสามารถให้เกษตรกรหันมาปลูกกาแฟได้มากกว่านี้ ทดแทนพืชเชิงเดี่ยวที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะที่กาแฟสามารถปลูกได้ในใต้ร่มไม้ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ป่าไม้ไปในตัวอีกเช่นกัน ดังนั้นเราจึงจำเป็นที่จะต้องเชื่อมตลาดเพื่อที่ในอนาคตตลาดกาแฟและราคากาแฟของเชียงใหม่จะดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งในปัจจุบันบางปีกาแฟขาดตลาดทำให้มีราคาพุ่งสูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันเกษตรกรยังไม่สามารถขายกาแฟในราคาสูงได้เท่าที่ควรจะเป็น”



ทางผู้ว่าฯ ได้กล่าวเสริมว่าเหตุที่เป็นเช่นนี้เกิดจากการเชื่อมต่อตลาดกาแฟเชียงใหม่นั้นยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร และถ้าหากสามารถขยายตัวเชื่อมตลาดให้ได้ก็จะสามารถทำให้กาแฟมีราคาที่ดีขึ้นและยังเป็นการส่งเสริมการปลูกกาแฟควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้ผู้ว่าฯ ยังเล่าให้เราฟังถึงนโยบายการส่งเสริมการปลูกกาแฟของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ไว้อย่างน่าสนใจ


“แนวทางในการส่งเสริมเกษตรกรเกี่ยวการปลูกกาแฟนั้นมีแน่นอน แต่สิ่งที่ทางจังหวัดต้องการคือ ความยั่งยืนในการปลูกกาแฟที่วันหนึ่งจะได้ไม่เกิดปัญหาว่าหากกาแฟที่เกษตรกรปลูกอยู่กลับขายไม่ได้ การดำเนินนโยบายนั้นจะต้องส่งเสริมในหลาย ๆ ภาคส่วนด้วยกันไม่เพียงแค่การปลูกกาแฟเพียงเท่านั้นแต่ยังต้องส่งเสริมทั้งตลาดกาแฟเพื่อให้เกษตรกรมีพื้นที่รองรับในการขายกาแฟและขยายตลาดกาแฟเชียงใหม่ให้กว้างขึ้น พร้อมทั้งยังต้องส่งเสริมการตลาดเพื่อนำเสนอกาแฟเชียงใหม่ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นเพื่อที่จะขายได้ในราคาสูงยิ่งขึ้นจึงจะเกิดความยั่งยืน”



โดยผู้ว่าฯ เห็นว่าเดิมทีตลาดกาแฟของเชียงใหม่ยังมีความเป็น Local และขายได้เฉพาะในพื้นที่ จึงเล็งเห็นว่าควรส่งเสริมให้ตลาดกาแฟของเชียงใหม่เป็นที่รู้จักมากขึ้นในตลาดกาแฟโลก และยังเห็นว่าการจัดงาน World Tea & Coffee ที่เกิดขึ้นนี้ก็เป็นหนึ่งในการส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมตลาดระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟกับพ่อค้าคนกลางรวมถึงผู้บริโภคผู้ซื้อกาแฟไม่เพียงเฉพาะในประเทศเท่านั้น ยังมีผู้ซื้อจากต่างประเทศที่เข้ามาให้ความสนกาแฟไทยได้มาเจอกันอีกด้วย ซึ่งหลังจากที่ให้สัมภาษณ์กับทาง Coffee Traveler เสร็จเรียบร้อย ผู้ว่าฯ ได้ให้เกียรติเดินชมบูธ ทั้ง 50 บูธที่จัดขึ้น ณ ลานชั้นล่าง พร้อมทั้งชิมกาแฟของพี่น้องเกษตรกรที่มาจัดบูธอีกด้วย


ในวันที่ 27 มกราคม ทาง Coffee Traveler ได้รับเกียรติเดินทางไปร่วม Trip กิจกรรมเรียนรู้ดูงานให้แก่ผู้ร่วมงานประชุม The 3rd Tea & Coffee International Symposium เดินทางไปเข้าเยี่ยมชมศูนย์การเรียนกาแฟ The Coffeenery ของ PANA Coffee ที่ตั้งอยู่ ณ ตำบลหลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ต จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีทั้งเกษตรกรจนถึงเจ้าของกิจการร้านกาแฟและโรงคั่วกาแฟ รวมถึงสื่อด้านกาแฟโดยเฉพาะ ซึ่งการเยี่ยมชมที่ศูนย์การเรียนรู้ Coffeenery ในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก อาจารย์พีระ พนาสุกน ประธานกรรมการบริษัท พานาคอฟฟี่ จำกัด เป็นผู้เปิดงานการเรียนรู้เกี่ยวกับกาแฟครบวงจร โดยเริ่มจากการเยี่ยมชมตั้งแต่โรงงานแปรรูปกาแฟ PANA Coffee ตั้งแต่กระบวนการรับลูกเชอร์รีจากเกษตรกร การแปรรูปผลเชอร์รี การตากเมล็ดกาแฟ การสีกาแฟกะลาที่มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการสีทำให้ได้ผลผลิตมีมาตราฐานและปริมาณที่เพิ่มขึ้น และกระบวนการคั่วกาแฟที่ใช้เครื่องคั่วกาแฟที่ได้มาตราฐานประกอบกับคนคั่วกาแฟที่มาประสบการณ์ทำให้การคั่วมีความแม่นยำในระดับการคั่วที่ต้องการ ไปจนถึงการสาธิตการ Cupping และการสาธิตการชงกาแฟดริปเย็นที่ผู้เข้าร่วมได้มีโอกาสชิกาแฟดริปเย็นกันสด ๆ รวมถึงผู้เข้าร่วมยังได้รับการเรียนรู้ผ่านการรับชมวิดีทัศน์เกี่ยวกับศูนย์การเรียนรู้ Coffeenery แห่งนี้ เพื่อให้เข้าสายพานการผลิตกาแฟตั้งแต่การแปรรูปกาแฟจนถึงการคั่วกาแฟ ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมให้ความสนใจกันเป็นอย่างยิ่ง



ไม่เพียงแค่นั้นหลังจากรับประทานอาหารกลางวันกันอย่างอิ่มหนำสำราญที่เฮือนใจ๋ยองแล้ว จึงเดินทางมาเรียนรู้กันต่อที่ ร้านชา Monsoon Tea Shop และได้รับเกียรติจาก Mr.Rolf Johan Keneth Rimdahl ซึ่งเป็นCEO และผู้ก่อตั้ง Monsoon Tea Shop ที่ให้เกียรติมาเป็นผู้บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชา กระบวนการผลิตชาของ Monsoon Tea Shop ที่ใส่ใจและคำนึงถึงเรื่องของการรักษาธรรมชาติ รวมถึงการปลูกป่าไม้ควบคู่ไปกับปลูกชาหรือเมี่ยงที่ชาวเหนือเรียกกัน นอกจากนี้ยังมีสาธิตวิธีการดื่มชาแต่ละชนิด ซึ่งทาง Monsoon Tea Shop ได้ขนชามามากกว่า 10 ชนิดเพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้มีโอกาสได้ลิ้มลองรสชาติกันอีกด้วย และปิดท้ายสำหรับ Trip กิจกรรมสำหรับการเรียนรู้ดูงานกาแฟและชาที่จัดขึ้นในครั้งนี้ด้วยการรับประทานอาหารเย็น ณ ร้าน โอ้กะจู๋สาขาสันทราย ด้วยบรรยากาศที่เรียกได้ว่าอบอุ่นและเป็นกันเอง ทั้งยังได้รับการดูแลที่จากทีมงานผู้จัดงานทุกท่าน และได้รับความรู้เกี่ยวกับกาแฟแบบครบวงจรแก่ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับธุรกิจกาแฟกันแบบจุใจ ในการไปเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ Coffeenery โรงแปรรูปกาแฟ PANA Coffee รวมถึงการได้รับความรู้จาก Monsoon Tea ที่ทำให้ได้เรียนรู้ชาในมิติต่าง ๆ ทำให้เป็น Trip ที่ควรค่าแก่การจดจำและทาง Coffee Traveler ก็รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้



" กรมวิชาการเกษตรในฐานะที่เป็นศูนย์วิจัยเกี่ยวกับเมล็ด r พันธุ์ต่าง ๆ พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการสนับสนุนอุตสาหกรรมกาแฟในทุกภาคส่วนเช่นเคย และอยากเห็นความร่วมมือที่มากขึ้นจากทางภาคเอกชนในการลงทุนสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้นในอนาคต "


พิเศษที่สุดในวันสุดท้ายของงาน World Tea & Coffee วันที่ 29 มกราคม ที่ผ่านมาได้มีการกล่าวเปิดประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้สนใจในกิจกรรมการประกวดสุดยอดกาแฟไทยปี 2566 โดยได้เกียรติจาก คุณระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เข้าร่วมกิจกรรมในวันสุดท้ายซึ่งท่านอธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้ให้เกียรติเดินชมงานพร้อมกับขึ้นเวทีเสวนา ร่วมกับ คุณธีรวัฒน์ วงศ์วรทัต นายกสมาคมกาแฟและชาไทย และ คุณเอก สุวรรณโณ กรรมการการประกวดสุดยอดกาแฟไทยปี 2565 ร่วมเปิดงานกิจกรรมการประกวดสุดยอดกาแฟไทยปี 2566 ที่จะเกิดขึ้นนี้ โดยการประกวดสุดยอดกาแฟไทยในปี 2566 ที่จัดขึ้นโดยกรมวิชาการเกษตร ร่วมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สมาคม และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจกาแฟ จัดการประกวดสุดยอดกาแฟอาราบิกา และโรบัสตาของประเทศไทย ภายใต้แนวคิด การผลิตอย่างยั่งยืน (Sustainable Coffee Production) กาแฟดูแลป่า รักษาต้นน้ำ และความหลากหลายทางชีวภาพ โดยกาแฟที่มีคะแนนสูงที่สุดในแต่ละประเภทจะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทางผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดเอกสารการสมัครได้ในเดือน มีนาคม 2566 และจะเปิดรับสมัครวันที่ 1 เมษายน – 31 พฤษภาคม 2566


โดยคุณระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ได้กล่าวเสริมว่า “นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระราชทานถ้วยรางวัล ในการประกวดสุดยอดกาแฟไทยในปี 2564 และปี 2565 ต่อเนื่องกันมาแล้ว 2 ปีเราจึงจัดงานให้สมพระเกียรติของท่าน โดยร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการให้ความร่วมมือกัน ในการสนับสนุนให้สามารถที่จะขยายพระราชดำริของพระองค์ท่านให้เป็นสุดยอดกาแฟไทยได้จริง ๆ ในหลายพื้นที่ไม่ใช่แค่ภาคเหนือและภาคใต้รวมถึงภาคอื่น ๆ ที่กรมวิชาการเกษตรจะทำการประชาสัมพันธ์ในปีต่อ ๆ ไป เพื่อเป็นการต่อยอดให้สุดยอดกาแฟไทยกลายเป็นสุดยอดกาแฟโลก จึงอยากเห็นความร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาตั้งแต่เกษตรกรต้นน้ำ ผู้รับซื้อกลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำหรือผู้บริโภค ซึ่งกรมวิชาการเกษตรในฐานะที่เป็นศูนย์วิจัยเกี่ยวกับเมล็ดrพันธุ์ต่าง ๆ พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการสนับสนุนอุตสาหกรรมกาแฟในทุกภาคส่วนเช่นเคย และอยากเห็นความร่วมมือที่มากขึ้นจากทางภาคเอกชนในการลงทุนสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้นในอนาคต ที่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม รสชาติ และสายพันธ์ ให้มีความมั่นคงและเสถียรมากขึ้น”



" การประกวดสุดยอดกาแฟไทยนั้นสร้างการรับรู้ของกาแฟไทย ให้เป็นที่รู้จักในระดับประเทศและระดับสากล พร้อมทั้งยังมีส่วนช่วยพัฒนาองค์ความรู้ของเกษตรกร เพิ่มทักษะผู้ประกอบการกาแฟในการยกระดับคุณภาพ และเพิ่มมูลค่าของกาแฟไทย รวมทั้งยังเพิ่มการบริโภค และสามารถกระตุ้นตลาดกาแฟไทยให้กว้างขึ้น "


นอกจากนี้เราได้มีโอกาสสัมภาษณ์กับ คุณระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เกี่ยวกับการแข่งขันการประกวดสุดยอดกาแฟไทยเพิ่มเติม ซึ่งท่านอธิบดีกรมวิชาการเกษตรก็ได้ให้เกียรติพูดคุยอย่างเป็นกันเอง

“การประกวดสุดยอดกาแฟไทยนั้นสร้างการรับรู้ของกาแฟไทย ให้เป็นที่รู้จักในระดับประเทศและระดับสากล พร้อมทั้งยังมีส่วนช่วยพัฒนาองค์ความรู้ของเกษตรกร เพิ่มทักษะผู้ประกอบการกาแฟในการยกระดับคุณภาพ และเพิ่มมูลค่าของกาแฟไทย รวมทั้งยังเพิ่มการบริโภค และสามารถกระตุ้นตลาดกาแฟไทยให้กว้างขึ้น ซึ่งในปีนี้เราจะต้องต่อยอดขยายผลตามที่พระองค์ท่านทรงมีพระราชกรุณาธิคุณ สนับสนุนและส่งเสริมให้มีการปลูกกาแฟ เพื่อที่จะทดแทนพืชเศรษฐกิจต่าง ๆ และเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาสร้างรายได้อย่างมหาศาลให้แก่เกษตรกรในพื้นที่สูง รวมไปถึงในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อม ดังนั้นกรมวิชาการเกษตรจึงได้น้อมนำพระราชดำริของพระองค์ ในหลาย ๆ ส่วนทั้งการบริหารจัดการป่า การจัดการสายพันธ์กาแฟที่ดี การหามาตราการป้องกันผลกระทบที่ได้รับจากแมลงศัตรูพืช และมองว่าการที่กาแฟไทยสามารถมาถึงจุดนี้ได้ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะรางวัลสุดยอดกาแฟไทยที่เข้ามามีบทบาทอย่างเป็นนัยสำคัญที่เห็นได้ชัดเจนจากราคากาแฟที่ส่งเข้าประกวด ซึ่งปัจจุบันมีราคาที่ค่อนข้างสูงต่อกิโลกรัม นับได้ว่าการแข่งขันสุดยอดกาแฟไทยนี้สามารถตอบโจทย์เกษตรกรไทยได้ในหลายมิติ จึงอยากจะเห็นการสนับสนุนการเข้าร่วมจากทุกภาคในประเทศไทยในกิจกรรมการประกวดที่จะเกิดในปีนี้”


นอกจากนี้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรยังได้กล่าวฝากถึงพี่น้องเกษตรกรเกี่ยวกับการประกวดสุดยอดกาแฟไทยที่กำลังจะจัดขึ้น โดยการเชิญชวนให้พี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟที่สนใจที่จะเข้าร่วมการแข่งขันประกวดสุดยอดกาแฟไทยในครั้งนี้สามารถติดตามรายละเอียดการแข่งขันได้ที่เว็บไซต์ของกรมวิชาการเกษตร และการจัดประกวดสุดยอดกาแฟไทยปีนี้จะได้พบกับความหลากหลายที่มากขึ้นทั้งในส่วนของ รสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ คุณภาพกาแฟที่สูงขึ้น และสายพันธ์ที่หลากหลาย รวมไปถึงการใช้เทคโนยีที่เข้ามามีส่วนช่วยในการพัฒนากลิ่นและรสชาติของกาแฟให้มีความโดดเด่นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้เห็นถึงการพัฒนาที่ไม่ใช่สุดยอดกาแฟไทย แต่เรียกได้ว่าเป็นสุดยอดกาแฟโลก


 

Coffee Traveler


เป็นนิตยสารรายสองเดือน ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ


และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ


- - -


สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX Facebook Coffee Traveler



Youtube : Coffee Traveler


114 views0 comments
bottom of page