top of page

การแช่แข็งกาแฟสาร (Freezing Green Coffee)




ณ ปัจจุบันกาแฟไม่ได้เป็นเพียงเครื่องดื่มที่ช่วยทำให้ตื่นตัวหรือรู้สึกกระปรี้กระเปร่าเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป เนื่องจากในโลกของกาแฟถือเป็นอีกโลกที่สามารถเดินเข้าไปเรียนรู้ได้อย่างไม่สิ้นสุด และยังคงมีปริศนาอีกมากมายที่รอพิสูจน์ แน่นอนว่าปริศนาสำคัญเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาคุณภาพ การรักษาคุณภาพ และการเพิ่มมูลค่า ล้วนเป็นโจทย์ที่คนในแวดวงกาแฟต่างพยายามหาคำตอบที่ดีที่สุด ซึ่งในทุก ๆ ปีเราจะเห็นบทความหรืองานวิจัยหลายชิ้นเกี่ยวกับกาแฟออกมาให้ได้ตื่นเต้นว่าเขาทำอะไร เจอสิ่งใด และผลเป็นอย่างไร ดังนั้นสิ่งที่จะตามมาของการได้คำตอบคือ การพัฒนาของอุตสาหกรรมกาแฟให้เติบโตขึ้นอย่างไม่สิ้นสุดเช่นกัน

เช่นเดียวกันกับไม่กี่ปีที่ผ่านที่มีการวิจัยนำกาแฟสารเข้าตู้แช่แข็ง หรือนำไปไว้ในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส เพื่อต้องการรักษาความสดและทำให้เกิดความชื้นที่สมดุล ซึ่งก่อนจะเข้าไปถึงเนื้อหาของการนำสารกาแฟไปที่อุณหภูมิติดลบ ต้องขอเท้าความไปถึงจุดเริ่มต้นของวิทยาการนี้กันก่อน อย่างการนำเมล็ดกาแฟคั่วไปแช่งแข็ง ซึ่งถือเป็นการต่อยอดของวิจัยในครั้งนี้เลยก็ว่าได้


อย่างที่ทราบกันดีว่าปัจจัยภายนอกอย่างออกซิเจนและความชื้นเป็นศัตรูคู่กัดของกาแฟ โดยการทำลายโครงสร้างเซลล์อินทรีย์ของเมล็ดกาแฟ และกระตุ้นการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ซึ่งทำให้เมล็ดกาแฟเสียรสชาติและลดอายุการเก็บรักษาไปโดยปริยาย รวมถึงการเปิดถุงหรือโหลกาแฟคั่วในแต่ละครั้งก็นำพาก๊าซออกซิเจนให้เข้ามาสัมผัสกับกาแฟด้านในอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้อาจสูญเสียรสสัมผัสหรือมิติของกาแฟไปอย่างน่าเสียดายด้วยเช่นกัน อุปสรรคต่าง ๆ มากมายเหล่านี้จึงกลายเป็นอุปสรรคสำหรับการรักษาคุณภาพของกาแฟ และเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยากเลยทีเดียว ซึ่งเป็นธรรมดาที่เมื่อถึงจุดหนึ่งสิ่งที่เคยดีมีคุณภาพจะกลับกลายเป็นเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา แต่ถ้าเรานำกาแฟแช่แข็งไว้เหมือนกับการเก็บปลาใน Freezer จะสามารถรักษาคุณภาพของกาแฟได้หรือไม่ ? แน่นอนว่าคำถามนี้ถูกตั้งขึ้นไว้นานนับสิบปีแล้ว รวมถึงมีผู้ที่มาไขข้อสงสัยแล้วเช่นกัน และถือเป็นต้นแบบให้คนที่สนใจนำไปพัฒนาต่อยอดจนถึงปัจจุบัน


George Howell ผู้ก่อตั้ง George Howell Coffee และเป็นผู้ตอบคำถามนี้ ซึ่งคุณจอร์จ ฮาเวลล์เริ่มทำกาแฟแช่แข็งครั้งแรกเมื่อราว ๆ ปี 2000 หรือ 20 ปีที่ผ่านมาโดยประมาณ ซึ่งจุดเริ่มต้นเกิดจากการสังเกตเห็นว่าการนำส่งกาแฟดิบหรือสารกาแฟที่ถูกส่งมาจากประเทศต้นกำเนิดด้วยกระสอบปอกระเจา ทำให้เมล็ดกาแฟเกิดความชื้นและลดทอนคุณภาพในเรื่องของความสดของเมล็ดกาแฟ คุณจอร์จ ฮาเวลล์ จึงหาวิธีที่จะรักษาคุณภาพและรสชาติของกาแฟเอาไว้ให้ได้สดที่สุด จึงเกิดไอเดียแช่แข็งกาแฟสารเช่นเดียวกับการขนส่งไวน์เพื่อรักษาคุณภาพในเรื่องของรสชาติ โดยเริ่มจากทำการฟรีซกาแฟระดับไฮเอนด์หรือกาแฟคุณภาพสูง ซึ่งมีการเรียกที่ใช้คำภาษาอังกฤษว่า ‘Vintage Coffees’ โดยจะถูกเก็บไว้ใน Freezer room จากนั้นนำกาแฟออกมาเพื่อปรับสมดุลของอุณหภูมิประมาณ 2 - 3 วันก่อนคั่ว ซึ่งผลปรากฏว่าสามารถรักษาคุณภาพของกาแฟพร้อมกับคงรสชาติที่ดีได้อีกด้วย ทำให้ในตอนนั้นคุณจอร์จ ฮาเวลล์ ได้รับขนานนามว่าเป็นผู้ปฏิวัติการจัดเก็บกาแฟเลยทีเดียว หลังจากนั้นจึงเกิดกลุ่มนักวิจัยหลายกลุ่มให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องอุณหภูมิที่มีผลต่อกาแฟ


หนึ่งในกลุ่มนักวิจัยได้นำกาแฟคั่วทดลองเก็บไว้ในอุณหภูมิติดลบเช่นกัน ซึ่งต้องการทราบว่าความเย็นสามารถชะลอการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หลังจากคั่วกาแฟได้หรือไม่ เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าในขณะที่กำลังคั่วกาแฟนั้น เมล็ดกาแฟจะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในระดับสูง และจะปล่อยออกมาหลังจากการคั่วในวันหรือสัปดาห์ถัดไปแล้วแต่ประเภทของการคั่ว ซึ่งเมื่อก๊าซถูกปล่อยออกมาและอยู่ในจุดที่เหมาะสมสำหรับการชงแล้ว หลังจากนั้นเมล็ดกาแฟคั่วก็จะเริ่มนับวันเข้าสู่การเสื่อมคุณภาพในเรื่องรสชาติ โดยในการวิจัยได้นำตัวอย่างของเมล็ดกาแฟคั่วที่เก็บไว้ในอุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส และ -25 องศาเซลเซียส มาเปรียบเทียบกัน พบว่าการเก็บกาแฟในอุณหภูมิ -25 องศาเซลเซียส มีอัตราการไล่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ช้าลงอย่างเห็นได้ชัด และสามารถหยุดการทำงานของเซลล์ในเมล็ดกาแฟได้อย่างสมบูรณ์อีกด้วย รวมถึงพบว่าช่วยยืดอายุการเก็บรักษาได้ตั้งแต่ 3 เดือน - 1 ปีเลยทีเดียว ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้จำเป็นต้องนำเมล็ดกาแฟคั่วใส่ถุงสุญญากาศเสียก่อน


นอกจากนี้ผลของการวิจัยยังบอกอีกว่า “เพื่อการรักษาความสดและคุณภาพของกาแฟไว้ให้ได้มากที่สุด จำเป็นต้องหาเวลาที่เหมาะสมในการแช่แข็ง ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะเวลาพักที่เหมาะสมของกาแฟชนิดนั้น และอาจแตกต่างกันไป เนื่องจากหลังการคั่วแล้วกาแฟจะมีจุดที่เรียกว่าจุดสูงสุดของรสชาติ ซึ่งมาในระยะเวลาที่ต่างกันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างตั้งแต่ลักษณะการคั่วจนถึงความหนาแน่นของเมล็ด ยกตัวอย่างเช่น ระดับคั่วอ่อนที่อาจได้รสชาติดีที่สุดหลังจากคั่วไปแล้ว 2 - 3 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น ดังนั้นจึงควรพิจารณาว่าจะนำกาแฟแบบใดไปแช่แข็งที่จุดใด” บอกได้เลยว่าหากนำเมล็ดกาแฟคั่วไปเข้าช่องฟรีซแบบสุ่มสี่สุ่มห้าจากรักษาจะกลายเป็นทำลายคุณภาพของเมล็ดกาแฟแทนอย่างแน่นอน


อย่างไรก็ตามการนำกาแฟเข้าและออกจากการแช่แข็งซ้ำ ๆ อาจทำให้เกิดการควบแน่นซึ่งจะส่งผลต่อรสชาติของกาแฟโดยตรง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการคั่วกาแฟ Scott Rao แนะนำให้แบ่งกาแฟออกมาเป็นส่วนเล็ก ๆ หรือใส่เพียงหนึ่งหน่วยบริโภคลงในถุงที่ปิดสนิทหรือถุงสุญญากาศก่อนนำไปแช่แข็งแทนการใส่ในปริมาณมาก เพื่อป้องกันไม่ให้เมล็ดกาแฟสัมผัสกับก๊าซออกซิเจน จากการวิจัยตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่า เป็นการต่อยอดจากไอเดียหรือแนวคิดของคนหนึ่งทำให้เกิดการพัฒนาหรือ Know-how ในรูปแบบใหม่ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเพิ่มศักยภาพในเรื่องคุณภาพของกาแฟ นอกจากนี้ถึงแม้ระยะเวลาจะผ่านไปแล้วนับสิบปีแต่ในวงการของวิทยาศาสตร์ที่เป็นเพื่อนซี้ของวงการกาแฟก็ยังคงทำหน้าที่หาคำตอบในแต่ละโจทย์ที่เป็นทั้งโจทย์ใหม่และต่อยอดจากโจทย์เดิมกันอยู่ตลอด เช่นเดียวกันกับในไม่กี่ปีที่ผ่านมาที่การต่อยอดจากโจทย์เดิมทำให้วงการกาแฟสั่นสะเทือนขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และยังคงได้รับความสนใจมาจนถึงปัจจุบัน “การแช่แข็งกาแฟสาร (Freezing green coffee)” ซึ่งถูกพูดถึงโดยนักเคมีเชิงทฤษฎี Dr. Christopher H. Hendon ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็น Specialty Coffee's Resident Scientist รวมถึงในปัจจุบันยังนั่งในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์วิชาเคมีที่ University of Oregon อีกด้วย โดยพูดถึงเกี่ยวกับไครโอเจนิกส์ (Cryogenics: สาขาฟิสิกส์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตที่อุณหภูมิต่ำมากและปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ณ อุณหภูมิเหล่านี้) ซึ่งการวิจัยจะครอบคลุมข้อเท็จจริงและการประยุกต์ใช้ในการทำให้เมล็ดกาแฟสารและกาแฟคั่วเย็นลง ผลการวิจัยจึงถูกยอมรับในวงกว้างว่าเป็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้



" ทุก ๆ 10 ºC ที่ทำให้เย็นลง กระบวนการส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นภายในเมล็ดกาแฟจะเกิดขึ้นในอัตราครึ่งหนึ่ง หรือเรียกได้ว่า อุณหภูมิที่เย็นสามารถทำให้ปฏิกิริยาเคมีหรือกระบวนการต่าง ๆ ภายในเมล็ดดำเนินไปอย่างช้า ๆ "


ในขั้นต้นความสนใจของดร.เฮนดอนอยู่ที่การศึกษาอิทธิพลของเฟืองบดที่ร้อนขึ้น ซึ่งมีข้อสังเกตอย่างร้านกาแฟที่มีลูกค้าต่อวันค่อนข้างเยอะ เครื่องบดจึงทำงานตลอดเวลาและมีอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นจากการใช้งาน ทำให้กาแฟมีรสชาติที่แตกต่างออกไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยมาจากการวิจัยที่เป็นกรรมสิทธิ์ของเครื่องชงกาแฟแบรนด์ Nuova Simonelli ซึ่งพูดถึงเรื่องของการที่อุณหภูมิเฟืองบดสูงขึ้น ส่งผลให้แรงของการบดลดลง จึงเกิดเป็นข้อสงสัยของดร.เฮนดอนที่นำมาสู่การวิจัยเกี่ยวกับอิทธิพลของอุณหภูมิที่มีผลต่อกาแฟ โดยดร.เฮนดอนสันนิษฐานว่าเมล็ดกาแฟที่เย็นก็จะได้เฟืองบดในอุณหภูมิที่เย็นด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นความจริงที่พบว่าการทำให้กาแฟเย็นลงไม่เพียงแต่ส่งผลให้จำนวนอนุภาคของกาแฟก่อตัวขึ้นอย่างสม่ำเสมอ แต่ยังมีขนาดที่ค่อนข้างเท่ากันอีกด้วย ดังนั้นในงานวิจัยของดร.เฮนดอน จึงมีการพูดถึงทั้งการแช่แข็งกาแฟสารและเมล็ดกาแฟคั่ว แต่ในบทความนี้ขออนุญาตหยิบยกวิธีการแช่แข็งกาแฟสารในอุณหภูมิต่ำกว่า 0 ºC มาเล่าสู่กันฟัง เนื่องจากเป็นวิธีการเก็บกาแฟที่ยังคงเป็นแนวคิดใหม่พอสมควร และมีการศึกษาเพิ่มเติมเมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะนำมาพูดถึงในบทความนี้ด้วยเช่นกัน

ดร.เฮนดอนกล่าวว่า “ทุก ๆ 10 ºC ที่ทำให้เย็นลง กระบวนการส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นภายในเมล็ดกาแฟจะเกิดขึ้นในอัตราครึ่งหนึ่ง หรือเรียกได้ว่า อุณหภูมิที่เย็นสามารถทำให้ปฏิกิริยาเคมีหรือกระบวนการต่าง ๆ ภายในเมล็ดดำเนินไปอย่างช้า ๆ” ซึ่งหมายความว่า การที่อุณหภูมิต่ำเช่นนี้สามารถช่วยรักษาความสดของเมล็ดเอาไว้ได้ และดร.เฮนดอนมองว่าเป็นวิธีการที่ก้าวหน้าของเทคนิคการเกษตรวิธีหนึ่งเลยทีเดียว เพราะนอกจากจะเก็บรักษาความสดของกาแฟสารได้แล้ว ยังช่วยให้สามารถรักษาคุณภาพในเรื่องของรสชาติให้ได้ตื่นเต้นตลอดทั้งปี รวมถึงทำให้การ Blends ง่ายขึ้นอีกด้วย เนื่องจากโปรไฟล์ของรสชาติไม่ถูกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ผลของการวิจัยล่าสุดที่ได้กล่าวไปข้างต้นจากทีมนักวิจัยที่ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัย Dedan Kimathi ประเทศเคนยา พบว่าเมื่อเปรียบเทียบ Cup quality ของกาแฟสารแช่แข็งและกาแฟสารที่ถูกเก็บไว้ในอุณหภูมิปกติ เมล็ดกาแฟแช่แข็งกลับมีคะแนนสูงกว่าอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งคณะผู้วิจัยทั้ง 5 ท่านเห็นพ้องต้องกันว่ากาแฟมีกลิ่น รสชาติ และลักษณะเฉพาะตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ถือเป็นผลลัพธ์ใหม่ที่ตอบโจทย์ในเรื่องของการเพิ่มคุณภาพด้านรสชาติได้อีกเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว



" พบว่าเมื่อเปรียบเทียบ Cup quality ของกาแฟสารแช่แข็งและกาแฟสารที่ถูกเก็บไว้ในอุณหภูมิปกติ เมล็ดกาแฟแช่แข็งกลับมีคะแนนสูงกว่าอย่างไม่น่าเชื่อ "


โดยการดำเนินการวิจัยเริ่มจากนำเมล็ดกาแฟตัวอย่างไปสี เมื่อทำการสีเรียบร้อยแล้วจะนำไปแช่แข็งทันที ซึ่งทีมวิจัยจะนำกาแฟสารใส่ถุงสุญญากาศ และนำไปเก็บที่ห้องควบคุมอุณหภูมิหรือตู้แช่แข็งที่อุณหภูมิ ต่ำกว่า 0 ºC อีกทั้งทางทีมวิจัยยังเน้นย้ำว่าในการแช่แข็งกาแฟสารจำเป็นต้องปิดปากถุงให้สนิท รวมถึงช่องแช่ต้องปราศจากกลิ่นและสิ่งปนเปื้อนเพื่อป้องกันการดูดซับกลิ่น หลังจากนั้นกาแฟสารแช่แข็งจะอยู่ภายใต้การสังเกตเป็นเวลา 75 วัน โดยมีการติดตามการเปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงตรวจสอบความชื้นภายในอีกด้วย


หนึ่งในทีมผู้วิจัยกล่าวว่า “ข้อสังเกตที่สำคัญคือเมล็ดกาแฟจะสูญเสียความชื้นไปบางส่วนในช่วง 3 สัปดาห์แรก หลังจากนั้นจะคงที่หรือลดลงเพียง 0.5% ตลอดระยะเวาลาที่เหลือของการวิจัย” ซึ่งข้อสังเกตนี้จึงกลายเป็นที่มาของคำถามในเรื่องของอุณหภูมิเย็นสามารถรักษาความสดของกาแฟสารได้อย่างไร ทางทีมวิจัยได้ให้คำตอบไว้แล้วว่าเนื่องจากความชื้นภายในเมล็ดกาแฟเกิดการควบแน่น และไม่สามารถหลุดออกจากเมล็ดได้ จึงส่งผลให้ปฏิกิริยาเคมีหรือกระบวนการต่าง ๆ ภายในช้าลงกว่าครึ่งหนึ่งจากปกติตามที่ดร.เฮนดอนกล่าวไว้ในตอนต้น หรือเรียกได้ว่าความเย็นเป็นตัวสตาฟความสดไว้ภายในเมล็ดกาแฟ


หลังจากครบ 75 วันแล้ว ทางทีมวิจัยจะนำออกจาก Freezer roomและนำไปคั่วทันทีในระดับ Medium roast เป็นระดับที่ทีมวิจัยมองว่าเหมาะสำหรับการทำ Cupping ซึ่งตั้งแต่ขั้นตอนของการบดในวิจัยใช้คำว่า “The rich aromatic fragrance of the frozen coffee” ตามภาษาบ้านเราคงต้องใช้คำว่าหอมหมื่นลี้จึงจะเหมาะสมกับประโยคดังกล่าว ในส่วนของรสชาติพบว่ากาแฟสารแช่แข็งเมื่อนำมาชงแล้วได้ความ Bright acidity และ Sweet ชัดเจนขึ้นกว่าเมล็ดกาแฟสารที่อยู่ในอุณหภูมิปกติ นอกจากนี้ หนึ่งในทีมประเมินด้านการชิม Nancy Warui ซึ่งเป็น Q grader ยังบอกอีกว่า “รสชาติของกาแฟเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของ Mouthfeel และ Full body รวมถึง Aftertaste ที่ยากจะลืมเลือน โดยรวมแล้วกาแฟแก้วนี้มีรสชาติที่บาลานซ์ค่อนข้างดีเลยทีเดียว”


" ทีมนักวิจัยยังคงเน้นย้ำถึงการจัดเก็บ การควบคุมระดับความชื้น และอุณหภูมิให้เหมาะสมสำหรับเมล็ดกาแฟชนิดนั้น ๆ "

ดังนั้นผลลัพธ์ของ Cup quality ที่สูงขึ้นจึงย้อนกลับมาสู่จุดเริ่มต้นของการทำวิจัยที่ใช้วิธีการแช่แข็งกาแฟสารเพื่อรักษาความสดและปรับสมดุลเรื่องความชื้น ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า การรักษาความสดและความชื้นอย่างเหมาะสม ส่งผลต่อรสชาติของกาแฟอย่างมาก แต่ด้วยปัจจัยอื่นภายนอก ไม่ว่าจะเป็น อุณภูมิหรืออากาศที่ไม่ถ่ายเทขณะเก็บ ความชื้น และกลิ่นรอบข้าง ทำให้กาแฟสารเสื่อมคุณภาพได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงหลังจากการสีแล้วระยะเวลาของความสดที่ลดลงทุกวันทำให้สูญเสียรสชาติบางอย่างไปอย่างน่าเสียดายเช่นกัน ทำให้วิธีการแก้โจทย์ของปัญหาเหล่านี้ถูกต่อยอดมาจากในอดีตแบบต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์เดียวกันคือ การรักษาหรือเพิ่มคุณภาพของกาแฟให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้น


สุดท้ายนี้ทั้งดร.เฮนดอนและทีมนักวิจัยยังคงเน้นย้ำถึงการจัดเก็บ การควบคุมระดับความชื้น และอุณหภูมิให้เหมาะสมสำหรับเมล็ดกาแฟชนิดนั้น ๆ รวมถึงหากนำกาแฟสารออกจากช่องแช่แข็งแล้วทิ้งไว้ 3 – 4 สัปดาห์ก่อนคั่ว จะทำให้เซลล์ตายและเมล็ดกาแฟเริ่มเกิดการย่อยสลาย ซึ่งมีผลต่อรสชาติในทางที่ค่อนข้างติดลบอีกด้วย นอกจากนี้ดร.เฮนดอนยังให้ความคิดเห็นสำหรับตลาดของวิธีการรูปแบบพิเศษว่า “กระบวนการต่าง ๆ ที่ทำเพื่อเพิ่มคุณภาพให้กับกาแฟจะนำสิ่งที่เรียกว่าการเพิ่มมูลค่าเข้ามาด้วยเสมอ ดังนั้นการเพิ่มกาแฟให้มีคุณค่าไปพร้อมกับเพิ่มคุณภาพและความสม่ำเสมอในเรื่องของรสชาติ จึงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคเต็มใจจะยอมจ่ายอยู่แล้ว แต่สุดท้ายผู้ผลิตต้องคำนึงถึงขั้นตอนการทำงานและต้นทุนให้เหมาะสมกับตนเองด้วย”


อย่างไรก็ตามในวิธีการแช่แข็งกาแฟสารยังคงมีข้อจำกัดในเรื่องของลักษณะทางเคมีในเมล็ดกาแฟ ซึ่งยังไม่สามารถทราบได้อย่างแน่ชัดว่า การแช่แข็งกาแฟนั้นเกิดขึ้นก่อนเวลาอันควรหรือไม่ เนื่องด้วยกาแฟบางชนิดมีรสชาติที่ดีเมื่อพักไว้สักระยะ แต่การแช่แข็งทันทีหลังจากสีสำหรับกาแฟบางชนิดอาจเป็นการทำให้กาแฟทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมอีกในหลายปัจจัย ถือเป็นสิ่งที่ดีต่อวงการกาแฟอย่างแน่นอน และไม่ใช่สิ่งที่ผิดพลาดเมื่อนักวิจัยหรือใครก็ตามได้ทำการศึกษาเรื่องหนึ่งแล้วพบว่าจำเป็นที่จะต้องศึกษาเพิ่มเติม เพราะเป็นธรรมดาสำหรับเรื่องการเข้าใจสิ่งหนึ่งและหาคำตอบไม่ได้กับอีกสิ่งหนึ่งพร้อมกัน ดังนั้นโลกของกาแฟจึงเป็นโลกของการเรียรู้อย่างไม่สิ้นสุดและพัฒนาได้อย่างไม่รู้จบในเวลาเดียวกัน



" เป็นธรรมดาสำหรับเรื่องการเข้าใจสิ่งหนึ่งและหาคำตอบไม่ได้กับอีกสิ่งหนึ่งพร้อมกัน ดังนั้นโลกของกาแฟจึงเป็นโลกของการเรียรู้อย่างไม่สิ้นสุดและพัฒนาได้อย่างไม่รู้จบในเวลาเดียวกัน "

 

แหล่งอ่างอิง : https://www.thelittleblackcoffeecup.com/


Coffee Traveler เป็นนิตยสารรายสองเดือน ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ - - - สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX Facebook Coffee Traveler Instagram : coffeetraveler_magazine Youtube : Coffee Traveler Blockdit : I am Coffee Traveler / coffeetravelermag




155 views0 comments
bottom of page