top of page

ไขข้อสงสัยให้กระจ่าง กับการจัดการประกวดกาแฟรายการ Best of Thailand และ COE Thailand


เป็นเรื่องฮือฮาหนาหูของวงการกาแฟพิเศษไทย หลังมีประกาศการประกวด Cup of Excellence Thailand Pilot Program ในชื่อ “Best of Thailand” เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีกำหนดการณ์แข่งขันระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2565 – 12 ตุลาคม 2565 อย่างไรก็ตาม งานประกวด Best of Thailand ถูกตั้งข้อสงสัยในหลายแง่มุมต่อแนวทางและความโปร่งใสของการจัดงาน เราจึงมัดรวมคำถามและข้อสงสัยในประเด็นดังกล่าวจากผู้เกี่ยวข้องทั้งในและนอกวงการกาแฟ ไม่ว่านักวิชาการ ผู้ประกอบการ เกษตรกร และผู้เฝ้ามองติดตาม ให้ผู้จัดได้ตอบคำถามเพื่อสร้างความกระจ่างของงานประกวดครั้งนี้



Q : คิดว่าทำไมถึงเกิดคำถามและข้อสงสัยมากมายต่อการประกวด COE Thailand และ Best of Thailand

A : เป็นเรื่องปกติของสังคมไทยที่จะเกิดการตั้งคำถามแบบนี้ ซึ่งเป็นเรื่องดีที่เราจะรับมาและดูเพื่อให้มีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น บางคำถามอยู่ในกระบวนการทำงานของเราอยู่แล้ว และจะตอบได้ก็ต่อเมื่องานมันถูกจัดขึ้น ดังนั้นเราจึงตั้งใจทำงานเพื่อปิดคำถามเหล่านั้นด้วยสิ่งที่เราทำ


Q : การจัด COE ในประเทศไทยมีจุดประสงค์เพื่ออะไร

A : เบื้องต้นเป็นการให้รางวัลเกษตรกรที่ผลิตกาแฟออกได้คุณภาพดีเลิศ เพราะว่ากาแฟ Specialty จะตัดคะแนนอยู่ที่ 80 คะแนน แต่ของ COE จะตัดที่คะแนน 86 แสดงให้เห็นถึงความละเอียดอ่อนและความใส่ใจในการทำกาแฟมากกว่าปกติ


Q : COE Thailand Pilot Program มีแนวทางในการจัดการแข่งขันอย่างไร

A : เราใช้รูปแบบเดียวกับ COE ทั่วโลก ซึ่งกำหนดเกณฑ์การประเมินและบอกขั้นตอนไว้อย่างชัดเจน โดยรอบแรกเป็นการคัดเลือกเรื่องกายภาพของเมล็ดกาแฟที่เกษตรกรส่งเข้ามา หลังจากผ่านการคัดทางกายภาพ จะคัดเลือกโดยการชิม 2 รอบ ซึ่งรอบแรกตัดสินโดยกรรมการภายในประเทศ คัดเลือกให้เหลือกาแฟประมาณ 30 ตัวเพื่อตัดสินในรอบ International ต่อไป


Q : ทำไมใช้ชื่อการประกวด Pilot Program ครั้งนี้ว่า “Best of Thailand”

A : ต้องบอกว่าชื่องานผู้จัดไม่ได้เป็นคนเลือกเอง เพราะตอนพูดคุยกับ COE ครั้งแรก ได้ข้อสรุปว่าไม่ให้ใช้คำว่า “Pilot Program” เพียงอย่างเดียวเพราะมันน่าเบื่อ เราจึงร่วมกันคิดชื่อและส่งไปให้เลือกเยอะมาก แต่สุดท้าย COE ส่งชื่อ Best of Thailand กลับมาให้เรา รวมถึงโลโก้ของการประกวดครั้งนี้ด้วย


Q : ในช่วงระยะเวลา 6 เดือน มีระบบขั้นตอนการเตรียมงานอย่างไร

A : ในช่วง 6 เดือนของการเตรียมงานยังไม่เกิดการเซ็นสัญญา เราจึงทำในส่วนที่เราสามารถทำได้ก่อน เนื่องจาก COE มีมาตรการในการตรวจสอบทุกอย่างชัดเจนว่าเราทำได้แค่ไหน เท่าไหร่แล้ว เช่น คั่วที่ไหน เก็บสารอย่างไร รวมถึงตรวจสอบความพร้อมของบุคลากร ซึ่งเป็นหลักการที่ COE ทำเหมือนกันทุกประเทศ


Q : ใครคือผู้จัดงานหลักของ COE Thailand Pilot Program

A : ผู้จัดที่เซ็นสัญญามีอยู่ 2 องค์กร ซึ่งปกติ COE จะไม่เซ็นสัญญากับหลายกลุ่ม อาจจะมีแค่ 1-2 กลุ่มเท่านั้น เนื่องจากการจัด Pilot Program ทาง COE จะประเมินหลายอย่างเกี่ยวกับความพร้อม แต่จุดประสงค์ของเรามองไปถึงปีหน้ามากกว่าว่าจะทำ COE แบบ Full Program ได้อย่างไร พอถึงเวลานั้น In-Country Partner หรือสปอนเซอร์อาจมีมากกว่านี้ก็ได้ เพราะกระบวนการจัดงานไม่ได้จบแค่งานนี้แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น


Q : COE Thailand Pilot Program จำเป็นต้องมีส่วนร่วมจากภาครัฐหรือไม่

A : เราเชื่อว่าทาง COE มองถึงความพร้อมมากกว่า ส่วนเจตนารมณ์ของ COE ไม่ได้ปิดกั้นว่าการมีส่วนร่วมจะต้องมีองค์กรเอกชนหรือหน่วยงานภาครัฐ เพราะทาง COE เปิดกว้างในเรื่องนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ปีนี้เป็นจุดเริ่มต้น ซึ่งเรามี Potential อยู่ในลิสต์ตั้งแต่เริ่มต้นพูดคุยกับ COE แล้ว ซึ่งอาจมีการเปิดเผยในการแถลงข่าวครั้งต่อไป


Q : การจัดประกวด COE Thailand ปีหน้าจะมีความร่วมมือกับเอกชนและภาครัฐอื่น ๆ หรือไม่

A : ต้องบอกว่าการเป็น In-Country Partner ไม่สามารถตัดสินใจเองได้ จะต้องมีการคุยกับ COE ก่อน ถึงแม้ว่าเราจะมีรายชื่อผู้สนับสนุนที่เป็นหน่วยงานของรัฐอยู่ในมือก็ตาม ทาง COE ก็ต้องตรวจสอบว่าการเข้ามาในบทบาทนั้นเหมาะสมหรือไม่ มีความคิดเห็นอย่างไร ทั้งหมด In-Country Partner อาจจะไม่ใช่คนตอบ แต่เราเห็นด้วยว่าควรมีองค์กรรัฐมาร่วมด้วย


Q : การประกวด Pilot Program ในเดือนตุลาคมนี้ หากไม่มีองค์กรเอกชนอื่นหรือหน่วยงานภาครัฐเข้าร่วมจะเกิดความชอบธรรมได้อย่างไร

A : การจัดงานของ COE ทั่วโลกไม่มีความจำเป็นที่หน่วยงานเอกชนจะต้องอยู่คู่กับหน่วยงานภาครัฐฯ เสมอไป และ COE ไม่ได้มี Requirement ในเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ได้ปิดกั้น หากพูดถึงความโปร่งใส่จึงเป็นเรื่องของกระบวนการและมาตรฐานของ COE เรื่องผลการประกวดทั้งหมดทาง COE เป็นผู้รวบรวม ส่วนผู้ที่เป็น In-Country Partner มีหน้าที่เตรียมความพร้อมและสนับสนุนงาน


Q : อะไรเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าการจัด COE Thailand ในปีหน้าจะมีความโปร่งใสมากที่สุด

A : ความโปร่งใสอาจจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับ In-Country Partner โดยตรง แต่เป็นมาตรฐานของ COE ที่ใช้เหมือนกันทั่วโลกนำมายืนยันความโปร่งใสของการประกวดนี้ ถ้าเราทำงานกับองค์กรที่ไม่สามารถให้ความเชื่อถือได้ เราก็ไม่กล้าเข้าไปเป็น In-Country Partner เช่นกัน จึงคิดว่าสิ่งที่ COE ทำมันโปร่งใสในฐานะ COE อยู่แล้วที่โลกให้ความเชื่อมั่นในองค์กรและกระบวนการต่าง ๆ


Q : SCATH และกรมวิชาการเกษตร มีท่าทีต่อการจัดประกวด COE Thailand อย่างไร

A : แต่ละการประกวดต่างเป็นงานที่ดีทั้งหมด และแยกออกจากกันอย่างชัดเจน เราบอกไม่ได้ว่าจะมีแนวทางอย่างไรต่อไป แต่เชื่อว่าทุกงานมีจุดประสงค์ที่ดีต่อเกษตรกรทั้งหมด เพราะสุดท้ายเป็นเรื่องภายในของแต่ละองค์กรที่จะจัดงานขึ้นมา ดังนั้นแต่ละงานประกวดจึงมีแครักเตอร์ของตัวเอง ซึ่งในอนาคตไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร และเราไม่ปิดกั้นถ้าจะมีความร่วมมือเกิดขึ้น


Q : การประกวด Best of Thailand มีทีมงานจากที่ใดบ้าง

A : เรามีการเตรียมทีมงานที่พร้อมสำหรับตรวจสอบตามมาตรการของ COE ซึ่งต้องผ่านการฝึกมาก่อน ส่วนทีมงานหลังบ้านมีหลายส่วนทั้งทีมงานในส่วนการรับสาร ตรวจสอบสาร และอื่น ๆ บางส่วนเป็นคนนอกที่เป็นกลางและมีความเป็นมืออาชีพ และมีส่วนหนึ่งที่เป็นอาสาสมัคร เพราะจำนวนคนที่ใช้ในการสนับสนุนงานมีค่อนข้างเยอะ เราไม่สามารถทำเองได้ทั้งหมด


Q : การขอ license ต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนหนึ่ง ซึ่งสิ่งที่ได้กลับมาจะคุ้มค่ากับสิ่งที่เสียไปหรือไม่

A : หากพูดในฐานะ AROMA ต้องบอกว่าเราลงทุนไปเพื่อพัฒนาเกษตรกร ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่เราสามารถทำได้ เมื่อเกษตรกรไทยปลูกกาแฟได้ดีขึ้น ผู้บริโภคก็จะได้ดื่มกาแฟที่ดีขึ้น ในขณะเดียวกันมูลค่ากาแฟไทยก็ดีขึ้นและอุตสาหกรรมก็โตขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นทุกคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ต่างได้ประโยชน์เหมือนกันหมดเป็น Value Chain ไม่ใช่แค่คนใดคนหนึ่ง ในส่วนนี้เป็นสิ่งที่ AROMA มองเห็น


Q : บอกได้หรือไม่ว่าค่าลิขสิทธิ์เท่าไหร่

A : สัญญาระบุไว้ชัดเจนว่าเป็น Confidencial ซึ่งไม่สามารถบอกได้ แต่ก็เป็นจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นจำนวนที่ทางผู้จัดพร้อมจ่ายเพื่อสนับสนุนให้กับเกษตรกร


Q : ทำไมถึงแจ้งงานประกวด Best of Thailand ล่าช้า

A : เนื่องจากเรายังอยู่ในขั้นตอนของการเตรียมงาน และความเข้มข้นของการทำงานเกิดขึ้นใน 2 เดือนหลัง เพราะการตรวจสอบรายละเอียดของ In-Country Partner ใช้เวลานาน การเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการจึงเกิดขึ้นในเดือนสุดท้าย ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เราสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นทางการ และมีเวลาแจ้งข่าวงานประกวดต่อสาธารณะค่อนข้างสั้นไปด้วย


Q : คิดว่าเกษตรกรมีความพร้อมในการส่งประกวดกาแฟรายการ Best of Thailand หรือไม่

A : ยอมรับว่าตอนนี้เป็นปลายฤดู จึงมีการปรับกฎเล็กน้อยจากเดิมที่ให้ส่งกาแฟกะลาเปลี่ยนมาเป็นกาแฟสารแทน ซึ่งเรามีการเช็คเกษตรกรบางส่วน ถ้าหากเกษตรกรยังพอมีเมล็ดกาแฟเหลืออยู่และพร้อมจะส่ง เราก็คิดว่าสามารถจัดการแข่งขันได้ เพราะในตอนแรกผู้จัดก็มีความกังวลเช่นเดียวกัน จึงต้องมีการเช็คก่อนที่จะรับปากกับ COE ว่าสามารถจัดการประกวดได้


Q : ผลตอบรับของเกตรกรต่อการประกวด Best of Thailand เป็นอย่างไร

A : ในตอนนี้มีเกษตรกรทยอยเข้ามาร่วมมากขึ้นเรื่อย ๆ เราเชื่อว่าเกษตรกรมีใจที่พร้อมอยากจะส่งเข้ามา แต่จำนวนเมล็ดกาแฟอาจมีจำกัดอยู่บ้าง ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่รับกาแฟจำนวนมาก ซึ่งเกณฑ์ของ COE จะต้องส่งกาแฟกะลา 500 กิโลกรัม แต่การประกวดครั้งนี้ขอเป็นกาแฟสารประมาณ 60 กิโลกรัมเท่านั้นเอง


Q : คิดว่ากาแฟของเกษตรกรไทยมีจำนวนมากพอที่จะสามารถประมูลตามมาตรฐานของ COE ได้ไหม

A : จากที่ได้สอบถามเกษตรกรแล้วคิดว่าน่าจะพร้อม ถึงแม้ว่าในตอนนี้จะยังได้ไม่ถึง 500 กิโลกรัม ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะในบางประเทศที่ไม่ถึงก็มีเช่นกัน ดังนั้นในตอนนี้เราจะเอาทำที่เราทำได้ และหลังจบงานต้องมีการพูดคุยกับ COE เพื่อปรับเปลี่ยนข้อกำหนดบางอย่างร่วมกันให้เหมาะกับบริบทของประเทศไทย


Q : มีการเตรียมกาแฟของเกษตรกรเพื่อส่งประกวดจริงหรือไม่

A : เราไม่เคยบอกเกษตรกรหรือพูดแบบนั้น เพียงแต่ไปสอบถามว่ายังพอมีกาแฟเหลือสำหรับการส่งประกวดกาแฟในครั้งนี้หรือไม่เท่านั้น เพราะส่วนตัวรู้จักกับเกษตรกรน้อยมาก หากถามว่ารู้จักกับเกษตรกรเป็นการส่วนตัวจนสามารถโน้มน้าวเกษตรกรคนนั้นให้มาเข้าร่วมได้ขนาดนั้น เราไม่เคยทำ


Q : COE มีแนวทางในการสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกรอย่างไร นอกเหนือจากการจัดประกวด

A : หลังจากประกวดเสร็จจะมีการจัดประมูล ซึ่งเป็นกระบวนการต่อไปของ COE พวกเราในฐานะ In-Country Partner มุ่งมั่นที่จะจัดงาน COE ในปีหน้าให้สำเร็จเพื่อให้มูลค่ากาแฟไทยไปสู่ระดับโลกจริง ๆ โดยการสร้าง Scoring เราเชื่อว่าวันนี้องค์กรและผู้ประกอบมากมายจะเห็นคุณค่าของการจัดงานนี้เพื่อเกษตรกร ซึ่งเรามองว่าจุดเริ่มต้นของโปรเจคต่าง ๆ ที่ทำให้อุตสาหกรรมกาแฟโตได้ขึ้นอยู่กับกลุ่มคนเหล่านี้ ไม่ใช่แค่พวกเรา แต่เป็นทุกคนที่มาร่วมมือกัน


----------------------------------------

Coffee Traveler


เป็นนิตยสารรายสองเดือน ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ


และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ


----------------------------------------


สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX Facebook : Coffee Traveler


Instagram : coffeetraveler_magazine


Youtube : Coffee Traveler


Blockdit : I am Coffee Traveler / coffeetravelermag



165 views0 comments
bottom of page