“วิวัฒนาการของเราจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ก็ทำแต่ชา อย่างรุ่นเราเข้ามาช่วยก็ขยายออกไปเป็นชาสมุนไพร ชาดอกไม้ แตกกลุ่มสินค้าออกไปมากขึ้น เราจึงแข็งแรงมากในเรื่องของ Production แข็งแรงในเรื่องของการคิดรสชาติใหม่ๆ แล้วก็พยายามที่จะใช้ธรรมชาติให้มากที่สุด เพราะเราคิดถึงระยะยาวของการดื่มที่จะไม่เบื่อกับมัน” เป็นแนวคิดที่สร้างความสำเร็จมามากกว่า 40 ปี ของคุณเหมียว จารุวรรณ์ ณติณณ์วิรุฬห์ ผู้สานต่อธุรกิจไร่สุวิรุฬห์ ชาไทย รุ่นที่ 2
เรามุ่งหน้าไปบนถนนหมายเลข 1046 เข้าสู่ตำบลป่าก่อดำ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย ไปที่ไร่ชาสุวิรุฬห์ ไร่ชาที่ปลูกชาบนพื้นที่ราบได้เป็นแห่งแรกของประเทศไทย เรามองเห็นแปลงชาสีเขียวขนานเรียงรายกันเป็นทิวแถว และมีอาคารขนาดใหญ่ที่อยู่ทางขวามือซึ่งก็คือโรงงานผลิตชาที่ผลิตชารสชาติดีออกสู่ตลาด
“ในขณะที่เราเริ่มปลูกชาบนพื้นที่ 5 ไร่ เจ้าของที่ดินใกล้ๆ ก็เริ่มเห็นว่าเราปลูกได้ เขาก็ทยอยขายที่ให้จนค่อยๆ ได้ที่จากคนรอบข้างจาก 5 ไร่ สะสมมาเรื่อยๆ เราก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นมา ป๊า (คุณกำจร มานิตวิรุฬห์) เคยเป็นคนงานในไร่ชามาก่อน จนกระทั่งมีไร่ชาเป็นของตัวเอง ด้วยความขยัน สู้ และใช้เวลาให้มากกว่าคนอื่น เราเป็นมุสลิม ก็ตื่นมาละหมาดช่วงตี 4 พอละหมาดเรียบร้อยก็เริ่มทำงานเลย แล้วเลิกดึกกว่าชาวบ้าน
เมื่อก่อนเราอยู่บนดอยวาวี ในการส่งชาต้องส่งจากบนดอยลงมา เริ่มคั่วชาด้วยกระทะ เสร็จแล้วบรรจุลงกระสอบส่งไปเชียงใหม่ จากเชียงใหม่ก็ส่งเข้ากรุงเทพ การไปเชียงใหม่ตอนนั้นไม่มีถนน ป๊าต้องเอาชาใส่หลังม้าไปแล้วลงเรือต่อที่บ้านท่าตอน จึงเอาขึ้นรถเพื่อขนต่อไปเชียงใหม่ คนทั่วไปทำวันละรอบก็เยอะแล้ว แต่ป๊าทำวันละสามรอบ ทำไปจนกระทั่งลูกๆ เริ่มโต เลยต้องย้ายเข้ามาในตัวเมือง เพราะอยากให้การศึกษาที่ดีแก่ลูกๆ”
จุดเริ่มต้นของการปลูกชาบนพื้นที่ราบ พื้นที่ที่ใครๆ ก็มองว่าเป็นไปไม่ได้ และเป็นเรื่องใหม่สำหรับศาสตร์การปลูกชา จุดประกายการปลูกชาในที่แห่งนี้ เริ่มมาตั้งแต่สมัยคุณกำจร มานิตวิรุฬห์ ผู้เป็นพ่อ ปลูกชาอยู่ที่ดอยฮาง แล้วมีลูกค้าจากไต้หวันมาดูไร่ชา แต่ด้วยเส้นทางการสัญจรที่ไม่เอื้ออำนวย เลยไม่สามารถพาลูกค้าไปได้ จึงเป็นประกายความคิดให้ปลูกชาแบบเกษตรอินทรีย์บนที่ราบในอำเภอแม่ลาวตรงนี้
ท่ามกลางเสียงที่ไม่เห็นด้วย และความไม่แน่นอน ก็ไม่ได้ทำให้คุณพ่อของคุณเหมียว
ละทิ้งความพยายาม ทั้งศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม และไปดูงานทั้งที่ประเทศไต้หวัน
และเวียดนาม แล้วจึงลงมือทำ จาก 5 ไร่ สู่ 1,400 ไร่ กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้
ศึกษาเรื่องชา และเป็นศูนย์รับซื้อชาขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงราย
ผลผลิตรวมทั้งหมด 1,400 ไร่ นั้น ล้วนมาจากแหล่งปลูกชาที่ได้รับการตรวจสอบคุณภาพให้เป็นมาตฐานเดียวกันทั้งหมด คุณเหมียวบอกว่า “เราจะคอนโทรลความเป็นออร์แกนิคจากทุกแหล่งปลูก แหล่งหลักๆ แหล่งแรกคือที่นี่ 260 ไร่ ถ้ารวมทั้งหมดก็จะ 1,400 ไร่ ที่ดอยฮางเป็นพื้นที่ต้นน้ำของน้ำตกห้วยแก้ว หนองเก้าห้อง บัวสลี ป่าซาง และไร่ชาแห่งนี้ ทั้งหมดนี้เป็นพื้นที่ของสุวิรุฬห์ ชาไทยที่ต้องผ่านตัวโรงงานหลักที่นี่ ทั้งหมดจะเอามาผลิตที่นี่”
ไร่ชาสุวิรุฬห์มีสายพันธุ์ชาอยู่ในพื้นที่กว่า 5 สายพันธุ์ ที่ยังไม่รวมถึงชาสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ทดลองปลูก เป็นไร่ชาสวนผสมที่ยึดวิถีเกษตรอินทรีย์ “สายพันธุ์ที่นี่เรามีชาอู่หลง ชาอัสสัม อู่หลงต้น12 อู่หลง17 สี่ฤดู ทิพย์กวนอิม ชาประมาณ 5 สายพันธุ์ แต่ยังไม่รวมกับชาใหม่ๆ ที่ทดลองปลูกบ้าง ส่วนที่เหลือก็จะเป็นข้าว ข้าวหอมมะลิ ข้าวญี่ปุ่น แล้วก็จะมีตะไคร้ ขิง มินต์ กระเจี๊ยบ มะระ มะลิ มะตูม ใบเตย อัญชัน เก๊กฮวย ดอกหมื่นลี้ เจียวกู่หลาน ไม่ว่าอะไรก็ตามที่สามารถทำเป็นชาได้ เราก็อยากขยายขอบข่ายของคำว่าชา ไม่ใช่แค่ชาเขียว ชาอู่หลง ชาดำ แต่รวมไปถึงชาสมุนไพร ชาดอกไม้ เป็นชาที่ผสมผสาน และให้ความสุขกับผู้บริโภคทุกกลุ่มได้เราจึงไม่ใช่แค่ไร่ชา แต่เราปลูกทุกอย่างด้วยตัวเราเอง”
คุณเหมียวบอกว่าการปลูกชาในไร่ยังสามารถส่งเสริมการปลูกชาให้แก่เกษตรกรทั้งในจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ได้ เพราะเกษตรกรเหล่านั้นนำผลผลิตมาจัดส่งให้แก่โรงผลิตของสุวิรุฬห์ ไม่เพียงแค่ส่งเสริมการปลูกชา แต่คุณเหมียวบอกอีกว่า “เกษตรกรที่ทำไร่ชาอยู่ ได้ปลูกสมุนไพรส่งเราบ้าง ทำให้งานทั้งปีของเขาเต็ม ชาไม่ค่อยมีผลผลิตในหน้าหนาวหนัก เกษตรกรก็เลยลองทำอย่างอื่นเพิ่มเติม เลยเริ่มปลูกสมุนไพรเพื่อให้มีรายได้มั่งคงขึ้น”
ในระบบการผลิต มีทั้งการส่งออกสู่ระบบอุตสาหกรรม และทำ ODM (Original Design Manufacturer) ที่ผลิตให้กับแบรนด์ต่างๆ “ODM ต้องมีคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจน “Natural And Organic” เราเริ่มทำแบรนด์ให้ Lemon Farm ก่อน พอทำก็มีแบรนด์อื่นๆ เข้ามาเรื่อยๆ ถ้าเราจะทำก็ต้องเป็นอะไรที่แตกต่างเพื่อความเป็นจรรยาบรรณในการผลิตให้กับ ODM ของเรา ตอนนี้ที่เป็น ODM ทั้งหมด เช่น Lemon Farm,เถ้าแก่น้อย, แจสเบอร์รี และจิมทอมป์สัน เป็นต้น และมีในต่างประเทศด้วย มีอเมริกาเป็นประเทศหลัก ออสเตรีย อังกฤษ และญี่ปุ่น พอเราคิดว่าเครื่องจักรต้องทำงานเท่านั้นแหละ มันก็กลายเป็นว่าเราทำได้ทุกอย่าง”
การปลูกชาในไร่ยังสามารถส่งเสริมการปลูกชาให้แก่เกษตรกรทั้งในจังหวัดเชียงราย
และเชียงใหม่ได้ เพราะเกษตรกรเหล่านั้นนำผลผลิตมาจัดส่งให้แก่โรงผลิตของสุวิรุฬห์
ความมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาไร่ชาจากรุ่นบุกเบิกสู่รุ่นที่สอง ประจักษ์ให้เห็นผ่านตราสัญลักษณ์อันมากมายบนบรรจุภัณฑ์ ทั้งตราที่รับรอง Organic Thailand, EU organic, USDA Organic, GI - Geographical Indications, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, OTOP และฮาลาล ที่เป็นการนำร่องให้อุตสาหกรรมชากว้างขึ้น และยังเป็นการขยายฐานกลุ่มบริโภคให้ตลาดชาโตขึ้น นอกจากตราสัญลักษณ์เหล่านี้แล้ว คุณเหมียวได้โชว์ซองบรรจุชาที่คุณเหมียวบอกว่าเป็นความใส่ใจเล็กๆ ให้แก่ผู้บริโภคและธรรมชาติ โดยซองบรรจุชาเป็นกระดาษไม่ฟอกสีอย่างเป็นธรรมชาติ และมีซองบรรจุชาที่ผลิตจากซังข้าวโพดนำเข้ามาจาก MOROCCO ที่สลายได้เองในดินภายใน 3 ปี นี่คือสิ่งเล็กๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐานของคุณภาพและความปลอดภัยที่สุวิรุฬห์ ชาไทย ให้ความใส่ใจทั้งผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม
ขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
“เรียกได้ว่าเราเป็นรายแรกๆ ของประเทศไทยที่ทำชาอินทรีย์ จนกลายเป็นการปลูกฝังแนวคิดเกษตรอินทรีย์ ว่าเกษตรอินทรีย์ ถ้าจะทำมันสามารถทำได้ เราเชื่อว่าชาอัสสัมที่อยู่ในป่ามันยังโตเองได้เลย แล้วทำไมชาอู่หลงที่เราปลูกมันต้องพึ่งเคมี เราพยายามปลูกด้วยการเอาวิถีธรรมชาติเข้ามาช่วย”
เราเชื่อว่าชาอัสสัมที่อยู่ในป่ามันยังโตเองได้เลย แล้วทำไมชาอู่หลงที่เราปลูก
มันต้องพึ่งเคมี เราพยายามปลูกด้วยการเอาวิถีธรรมชาติเข้ามาช่วย
ในกระบวนการผลิตที่ให้ความสำคัญกับทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเก็บใบชาแบบ 1 ยอด 2 ใบ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการเก็บใบชา และจะเก็บทุก 45 วัน และต้องเก็บในช่วงเวลา 8 – 10 โมงเช้า หรือแล้วแต่ฤดูกาล เพราะใบชาต้องไม่มีน้ำค้างอยู่บริเวณปากใบ หลังจากเก็บเกี่ยวต้องตัดต้นชาให้มีความสูงเท่าๆ กัน แล้วเริ่มสเปรย์ปุ๋ยเพื่อเป็นอาหารบำรุงใบ คุณเหมียวบอกว่าเป็นการเติบโตแบบประชาธิปไตย ใครกินมากก็สูงมาก จากนั้นจึงนำใบชาไปตากแผ่ไว้เพื่อสังเกตว่ามีสิ่งอื่นเจือปนมาหรือไม่ โดยแบ่งชาออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่ ชาเขียว ชาอู่หลง และชาดำ ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นด้วยระบบการผลิตที่ได้รับมาตรฐานระบบการผลิตและความปลอดภัยของผู้บริโภค GMP (Good Manufacturing Practice), HACCP (Hazard Analysis Critical Control Point) และ GHP (Good Hygiene Practice) นอกจากนี้ สุวิรุฬห์ ชาไทย ยังผลิตปุ๋ยใช้เอง ซึ่งเป็นปุ๋ยหมักจากมูลสัตว์ผสมแกลบ และผลิตปุ๋ยให้ทางใบ เพื่อเป็นโปรตีนเสริมให้กับต้นชา รวมไปถึงกระบวนการในห้องแล็บ เพื่อ QC หรือตรวจสอบคุณภาพของใบชาและปุ๋ย จึงบอกได้ว่าเป็นกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานทั้งคุณภาพและความปลอดภัย และยังสามารถคงความเป็นเกษตรอินทรีย์ไว้ในทุกกระบวนการผลิตอีกด้วย
คุณเหมียวเล่าว่า การเก็บใบชาเพื่อส่งต่อไปสู่ระบบการผลิตในขั้นตอนต่อไปนั้น จะไม่มีการผสมสารเคมีใดๆ ลงไป เพราะคุณภาพและความปลอดภัยต้องมาเป็นอันดับแรก ต้องเป็นมิตรกับทั้งผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ซึ่งคุณพ่อของคุณเหมียวมักจะพูดอยู่เสมอว่า “ชาผมดื่มเอง ครอบครัวลูกเมียผมก็ดื่ม ลูกค้าวันหนึ่งก็คือเพื่อน แล้วผมจะหยิบยื่นสิ่งไม่ดีที่เป็นสารเคมีให้เขาได้เหรอ” คำพูดนี้จึงกลายมาเป็นคติประจำใจของคนที่นี่ ที่ทำให้ทุกวันนี้ยังคงความเป็นไร่ชาเกษตรอินทรีย์
“ชาผมดื่มเอง ครอบครัวลูกเมียผมก็ดื่ม ลูกค้าวันหนึ่งก็คือเพื่อน
แล้วผมจะหยิบยื่นสิ่งไม่ดีที่เป็นสารเคมีให้เขาได้เหรอ”
ในไร่ชาสุวิรุฬห์ ที่อำเภอแม่ลาว นอกจากจะมีต้นชาสีเขียวๆ ที่ปลูกเรียงกันอย่างเป็นระเบียบแล้ว ยังมีต้นไม้ชนิดอื่นๆ รายล้อมอย่างสวยงามเต็มตลอดทั้งไร่ ซึ่งนับว่าเป็นความหลากหลายทางชีวภาพที่สมบูรณ์ คุณเหมียวบอกว่า นอกจากชาแล้ว ยังมีสวนสมุนไพรที่ปลูกเพิ่มเข้ามา และจะปลูกหมุนเวียนกันไปตามฤดูกาล เพื่อให้หน้าดินได้รับแร่ธาตุที่แตกต่างกัน มีช่วงพักดิน ปลูกถั่วบราซิล ปลูกปอเทือง เพื่อบำรุงหน้าดิน เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมในการปลูกพืชในรอบถัดไป แบ่งโซนปลูกดอกไม้และสมุนไพร มีใบเตย มะลิ อัญชัน เจียวกู่หลาน และกล้วย เลี้ยงวัวเพื่อใช้ขี้วัวไปทำเป็นปุ๋ย มีฟาร์มไก่ไข่ออร์แกนิค ซึ่งความหลากหลายเหล่านี้ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์
“เพราะว่าเรามีโลกอยู่เพียงใบเดียว เราไม่สามารถย้ายไปอยู่ดวงจันทร์ได้
ดังนั้นโลกใบหนึ่ง แค่เราพยายามเติมสิ่งที่มันสะอาดให้โลกไปก็เท่านั้น
เพราะถ้าเราคิดว่ามันทำได้ มันก็ทำได้ สะอาดที่สุดเท่าที่ทำได้ก็พอ”
ความพยายามจากรุ่นบุกเบิกที่ส่งต่อสู่คนรุ่นที่สองของสุวิรุฬห์ ชาไทย ได้กลายมาเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงวิถีเกษตรอินทรีย์ที่ประสบความสำเร็จ จนเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่ส่งเสริมแนวคิดและแรงบันดาลใจที่ดีไปสู่ผู้คนภายนอก และวันนี้สุวิรุฬห์ ชาไทยแสดงให้เห็นแล้วว่าธุรกิจสามารถเติบโตไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อมที่สามารถเอื้อประโยชน์ต่อกันได้ อย่างที่คุณเหมียวบอกกับเราว่า “หากเราดูแลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พวกเขาก็จะกลับมาดูแลต้นชาของเราอีกที”
Coffee Traveler
เป็นนิตยสารรายสองเดือน ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ
และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ
- - -
สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX Facebook Coffee Traveler
Instagram : coffeetraveler_magazine
Youtube : Coffee Traveler
Blockdit : I am Coffee Traveler / coffeetravelermag
Comments