top of page

รอยทางบ้านสวน เกษตรอินทรีย์ฟาร์ม

" ตอนนั้นก็เริ่มมีการปลูกกาแฟบ้างแล้ว โดยปลูกแทรกเข้าไปในสวนทุเรียน พอกาแฟอายุประมาณ 2 ปี ปรากฏว่าใบเหลืองหมดทั้งสวน เพราะผมหักดิบจากเคมีเป็นไม่ใส่อะไรเลย เพื่อนบ้านก็ล้อกันว่ากาแฟบวชเมื่อไหร่จะสึก "

ในวันที่มนุษย์กำลังย่างก้าวเข้าสู่การพัฒนาอย่างเต็มที่ ย้อนมองดูจากตรงนี้ก็เกิดคำถามขึ้นว่า “กว่าจะมาถึงตรงนี้ เราต้องสูญเสียอะไรไปบ้าง” ในวันที่มนุษย์กำลังย่างก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงก็เกิดอีกคำถามว่า “เรามีอะไรดีขึ้นบ้าง” คำถามทั้งหมดทั้งมวลนี้คงไม่ต้องควานหาคำตอบให้ยาก เพราะทุกวันนี้ ทุกคนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นดีและต่างมีคำตอบในใจ ไม่ว่ามันจะเป็นเรื่องดีหรือเรื่องร้ายก็ตาม แต่อีกคำถามที่อยากให้ทุกคนตอบคือ “ต่อจากนี้เราจะทำอะไรได้บ้าง” ในสังคมที่มักจะถูกตั้งคำถามแต่แทบไม่เคยมีใครหาคำตอบที่นำไปสู่ทางออกให้กับมัน ตอนนี้เรากำลังจะพูดถึงประเด็นที่กำลังถูกให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในปัจจุบันคือเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีเรื่องนี้คงต้องคุยกันอีกยาว


สิ่งแวดล้อมในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่ป่าไม้ ความอุดมสมบูรณ์ หรือพื้นที่สีเขียว แต่หมายรวมไปถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวของเรา ดังนั้นเมื่อพูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมมันจึงไม่ใช่เพียงเรื่องของป่าเพียงอย่างเดียว องค์ประกอบอื่น ๆ ก็เป็นส่วนสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ ฝน ทะเล หรือแม้กระทั่งอากาศที่สูดเข้าไป ปัจจุบันหลายพื้นที่ในประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะดินที่เสื่อมสภาพจากพืชเชิงเดี่ยว หรือการใช้สารเคมี สภาพอากาศที่ไม่ตรงตามฤดูกาลก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัย ที่ทำให้เกษตรกรหลายรายต้องยอมสูญเสียผลผลิตในฤดูนั้นไป ซึ่งที่กล่าวไปเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นเท่านั้น เพราะหลังจากนี้ เราจะพาทุกท่านมองปัญหาเหล่านี้ ผ่านเรื่องราวและมุมมองของพี่ก๋อง กิตติพงษ์ ปานสวี ผู้พลิกชีวิตจากมนุษย์เงินเดือนมาเป็นเกษตรกรที่พึงพอใจกับการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย เพียงเพราะคำถามสั้น ๆ ว่า “ชีวิตคืออะไร” จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของรอยทางบ้านสวน เกษตรอินทรีย์ฟาร์ม ในจังหวัดชุมพร


เป็นที่ทราบกันดีว่าจังหวัดชุมพรถูกนิยามว่าเป็นประตูสู่ภาคใต้ และทำให้นึกถึงอย่างอื่นไม่ได้ นอกเสียจากเรื่องราวของวัฒนธรรมที่มีความเป็นอัตลักษณ์ โดยเฉพาะเรื่องของอาหารการกิน ที่ต้องยกให้ว่าคนใต้ทำอาหารอร่อยคงไม่เกินจริงเท่าไหร่ นอกจากนี้ใครที่เคยแวะเวียนมาจังหวัดนี้ น่าจะคุ้นชินกับภาพสวนทุเรียน สวนปาล์ม สวนยางก็คงจะพอนึกออกว่าพืชเศรษฐกิจที่กล่าวไป มีมากพอที่จะมองเห็นได้ตลอดสองข้างถนน ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของจังหวัดนี้ก็ตาม แต่ต้องบอกไว้ก่อนว่าภาพเหล่านั้นคงไม่สามารถใช้ได้กับรอยทางบ้านสวน เกษตรอินทรีย์ฟาร์มอย่างแน่นอนเพราะที่นี่คือหนึ่งในสัญลักษณ์ของเกษตรออร์แกนิคของจังหวัดชุมพร ที่มีแนวทางการทำเกษตรต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง


เราได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมสวนของพี่ก๋อง ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอสวี ห่างจากตัวเมืองชุมพรประมาณ 40 กิโลเมตร ตลอดสองเส้นทางขนาบไปด้วยป่าเขียวขจี สวนพืชเศรษฐกิจ และวิวภูเขาสลับกันไป ใช้เวลาเดินทางไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงก็ได้เจอกับสถานที่เล็ก ๆ ที่สร้างขึ้นจากไม้แบบง่าย ๆ ไม่หวือหวา ในพื้นที่ 14 ไร่ ที่มีฉากหลังเป็นเขาขนาดใหญ่ คลุมโทนด้วยใบไม้สีเขียว ซึ่งเราก็ได้พบกับอีกหนึ่งบุคคลสำคัญแห่งรอยทางบ้านสวนอย่างพี่นก จิราภรณ์ มโนสกุล ผู้เคียงข้างและสนับสนุนความสำเร็จของพี่ก๋อง โดยทั้งสองเล่าเรื่องราวที่มาของสวนแห่งนี้ไว้แบบนี้


" พี่ก๋องได้รวบรวมไผ่ถิ่นชุมพรเพื่อเป็นพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์ไผ่ จนมีอาจารย์และ

นักวิชาการหลายท่านให้ความสนใจจำนวนมาก "



“เริ่มแรกที่สวนแห่งนี้เป็นเกษตรเคมี คือปลูกทุเรียนอย่างเดียว ไม่มีต้นไม้ ไม่มีป่า ปรากฏว่าหลังเริ่มปลูกทุเรียนก็เจอกับโรคไฟท็อปเทอร่าหรือโรคราสีชมพู ทำให้ทุเรียนตายไปประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของสวนทั้งหมด แม่ของผมก็เริ่มเครียด ประกอบกับตอนนั้นคุณพ่อประสบอุบัติเหตุ ก็เลยตัดสินใจลาออกมาดูแลพ่อ ในตอนนั้นเราไม่เคยทำการเกษตรมาก่อน ลองเริ่มจากการปลูกต้นไม้ เพราะฝันอยากมีบ้านไม้สัก หลังจากนั้นก็ทยอยปลูกพืชอื่น ๆ มันก็ไม่เจริญเติบโต พอเราเห็นมันไม่โต ก็ซื้อปุ๋ยเคมีมาใส่”


ถึงอย่างนั้น ผลลัพธ์ที่ได้จากการลงมือทำครั้งแรกก็ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คิด พอปลูกไปแล้วทุกสิ่งทุกอย่างกลับไม่เจริญเติบโต เพราะถึงแม้จะมีความตั้งใจมากขนาดไหน แต่หากขาดความรู้ก็ไม่ต่างจากการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ พี่ก๋องจึงนำดินไปตรวจและพบว่าค่า pH ในดินอยู่ที่ 3.8 สภาพดินมีความเป็นกรดในระดับรุนแรงมากจากการใช้ปุ๋ยเคมีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปกติแล้วค่า pH ที่เหมาะสมควรต่อการเพาะปลูกโดยทั่วไปควรมีค่า pH อยู่ระหว่าง 5.5 – 6.5 คือสถานะเป็นกลางหรือมีความเป็นกรดอ่อน ๆ หากค่า pH ต่ำเกินไป จะส่งผลต่อจุลินทรีย์ในดินที่ทำหน้าที่ย่อยสลายอินทรีย์วัตถุและปล่อยธาตุอาหารสู่ดินได้น้อยลง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พืชดูดซับธาตุอาหารได้ไม่เต็มที่ สุดท้ายต้นไม้ก็เติบโตช้า ใบเหลือง ใบแห้ง และตายในที่สุด


หลังจากนั้นพี่ก๋องจึงเริ่มศึกษาหนังสือของกรมพัฒนาที่ดินและนำความรู้ที่ได้มาปรับใช้ลองผิดลองถูกจนทุกอย่างเริ่มอยู่ตัว ไม่ว่าจะเป็นการทำน้ำหมัก โดยขอหัวเชื้อจุลินทรีย์จากหมอดินตำบล เริ่มทำปุ๋ยหมักเอง พอปลูกแปลงผักเล็ก ๆ และเริ่มได้ผลดี ทำให้เข้าใจว่าพืชพรรณต่าง ๆ จะเติบโตได้ ส่วนสำคัญอยู่ที่แร่ธาตุในดิน จึงเริ่มปรับโครงสร้างของดินก่อนด้วยวิธีต่าง ๆ ทั้งทำปุ๋ยหมัก เลี้ยงหมูหลุม ทำน้ำหมักฉีดดินเองปีละ 6 ครั้ง ซึ่งตอนนั้นพี่ก๋องเจอกับอะไรก็จะเอามาทำ เช่น หน่อกล้วย น้ำปลาหมัก น้ำหมักผลไม้วัตถุดิบบางอย่างมาจากในสวน บางอย่างมาจากเศษอาหารหรือวัตถุดิบที่เหลือใช้จากในครัวเรือน


" บอกได้เลยว่าหากใครไม่ใช่คนรักธรรมชาติจริง ๆ คงมองทุกต้นเหมือนกันหมด เพราะทุกสิ่งทุกอย่าง

อยู่ปนกันจนแทบแยกไม่ออก แม้แต่หญ้ายังสูงขึ้นมาถึงเอว "




" กาแฟในสวนทั้งหมดเป็นกาแฟสายพันธุ์โรบัสตา ซึ่งเป็นพืชที่ผสมเกสรข้ามต้น จึงไม่เหมาะ

ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด เพราะมีความเป็นไปได้ที่กาแฟอาจเกิดการกลายพันธุ์ "


กาแฟในสวนนิเวศน์

แต่หากพูดถึงเรื่องราวกาแฟของที่นี่ จะต้องย้อนกลับไปในช่วงที่ทุเรียนของสวนพี่ก๋องเริ่มตายจากโรคราสีชมพู ซึ่งพี่ก๋องเล่าว่า “ตอนนั้นก็เริ่มมีการปลูกกาแฟบ้างแล้วโดยปลูกแทรกเข้าไปในสวนทุเรียน พอกาแฟอายุประมาณ 2 ปี ปรากฏว่าใบเหลืองหมดทั้งสวน เพราะผมหักดิบจากเคมีเป็นไม่ใส่อะไรเลย เพื่อนบ้านก็ล้อกันว่ากาแฟบวชเมื่อไหร่จะสึก แต่ภายหลังมันก็เริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ ผมก็เริ่มเอาต้นพันธุ์ที่อยากปลูกมาปลูกจนทุกวันนี้กลายเป็นสวนกาแฟในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เริ่มมีสัตว์เข้ามาอยู่สุดท้ายมันก็เกิดเป็นระบบนิเวศน์ขึ้นมา”


อยากให้ลองจินตนาการเมื่อเรากางแผนที่ของสวนแห่งนี้ออกมาดู จะพบสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่างมาก เริ่มต้นจากภาพลักษณ์ภายนอกที่ไม่เหมือนสวนอื่น ๆ ในพื้นที่แม้แต่นิดเดียว ความโดดเด่นนั้นคือต้นไม้ขนาดสูงใหญ่ที่ถูกปลูกล้อมสวนเอาไว้สำหรับเป็นแนวกันชน (Wind Break) เพื่อป้องกันลมแรง กรองสารเคมีจากสวนใกล้ ๆ และแมลงที่จะเข้ามาทำลายผลผลิตในสวน แต่ภายหลังพื้นที่แนวกันชนส่วนใหญ่นำต้นไผ่ หลากหลายสายพันธุ์มาลงปลูกแทน เพราะความชื่นชอบของตัวเองก็ส่วนหนึ่ง แต่ด้วยเหตุผลคือรากของต้นไผ่ทำหน้าที่ยึดเกาะหน้าดินได้ดี ประกอบกับเป็นพืชโตไวและมีโอกาสสร้างรายจำนวนมากในอนาคต ปัจจุบันพี่ก๋องได้รวบรวมไผ่ถิ่นชุมพรเพื่อเป็น

พื้นที่อนุรักษ์พันธุ์ไผ่ จนมีอาจารย์และนักวิชาการหลายท่านให้ความสนใจจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีกล้วยหอมทองซึ่งให้ผลผลิตเร็วภายในแปดเดือน สามารถตัดขายนำมาเป็นรายได้ทุกอาทิตย์ พี่ก๋องบอกว่ายอมสูญเสียพื้นที่ปลูกกาแฟหลายไร่ เพื่อสร้างให้ระบบนิเวศน์ยังคงอยู่โดยการทำเป็นแนวกันชน


ถัดเข้ามาจากแนวกันชนที่เหมือนกับกำแพงทางธรรมชาติ เข้ามาก็จะเริ่มมองเห็นพืชพรรณมากมายอยู่เต็มสวนมากกว่าหนึ่งร้อยชนิด ตั้งแต่พืชต้นเล็ก ๆ บนพื้นไปจนถึงต้นสูงใหญ่ท่วมหัว บอกได้เลยว่าหากใครไม่ใช่คนรักธรรมชาติจริง ๆ คงมองทุกต้นเหมือนกันหมด


" ต้นกล้าเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากประเทศฝรั่งเศสที่โดดเด่นในเรื่องของรสชาติ มีคาเฟอีนสูง เมล็ดขนาดเล็ก บางสายพันธุ์เป็นพีเบอร์รี (Peaberry) เกือบทั้งต้น และให้กลิ่นที่พิเศษกว่าโรบัสตาท้องถิ่น "



เพราะทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ปนกันจนแทบแยกไม่ออก แม้แต่หญ้ายังสูงขึ้นมาถึงเอว ซึ่งพี่ก๋องจะตัดหญ้าปีละ 2 ครั้ง ไม่นำไปเผาแต่เมื่อตัดแล้วก็จะปล่อยให้ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยธรรมชาติ โดยมีสัตว์ต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่ในการย่อยสลายเศษซาก ต้นไม้ใบหญ้า เช่นไส้เดือน กิ้งกือ ปลวก มด และเชื้อรา เป็นต้น ด้วยปัจจัยเหล่านี้ ทำให้บริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก สัตว์บางชนิดก็เข้ามาอาศัยและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติมากขึ้น จนเกิดเป็นระบบนิเวศน์ เช่น มีแมงมุมที่จะคอยกินหนอนผีเสื้อที่เกาะอยู่บนลูกทุเรียน ในทางกลับกัน หากใช้ยาฆ่าแมลงอาจสามารถจัดการปัญหาแมลงได้ก็จริงแต่ก็ต้องแลกกับทุนที่ใช้ในการซื้อเข้ามา ทั้งยังเสี่ยงต่อสุขภาพทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค


ในส่วนของกาแฟก็เช่นกัน พี่ก๋องเลือกที่จะให้ธรรมชาติเป็นผู้จัดการด้วยตัวมันเอง โดยพึ่งพาความสมดุลของระบบนิเวศน์ทั้งจากพืชและสัตว์ ซึ่งต้นกาแฟจะอยู่ใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ เป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตที่น่าพึงพอใจแต่ก่อนที่จะปล่อยให้ธรรมชาติดูแลได้ ก็ต้องเริ่มสังเกตและลงมือทำเองเสียก่อน

เนื่องจากกาแฟในสวนทั้งหมดเป็นกาแฟสายพันธุ์โรบัสตา ซึ่งเป็นพืชที่ผสมเกสรข้ามต้น จึงไม่เหมาะขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด เพราะมีความเป็นไปได้ที่กาแฟอาจเกิดการกลายพันธุ์แล้วทำให้ถัดจากนั้นอีก 3 ปี ต้นกาแฟต้นนั้นจะให้ผลผลิตต่ำ ไม่คุ้มค่าเสียเวลา ทั้งยังเสียโอกาสในการเก็บเกี่ยวผลผลิต พี่นกจึงแนะนำให้พี่ก๋องใช้วิธีการขยายพันธุ์โดยการเสียบยอด ซึ่งจะให้ผลผลิตเร็วขึ้นกว่าเดิมถึงหนึ่งเท่า และยังได้ต้นพันธุ์ที่ใช้ประโยชน์ต่อได้ นอกจากต้นพันธุ์ที่ได้จากการเสียบยอดแล้ว ภายในยังมีสวนต้นกล้าเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากประเทศฝรั่งเศสที่โดดเด่นในเรื่องของรสชาติ มีคาเฟอีนสูงเมล็ดขนาดเล็ก บางสายพันธุ์เป็นพีเบอร์รี (Peaberry) เกือบทั้งต้น และให้กลิ่นที่พิเศษกว่าโรบัสตาท้องถิ่น ต้นกาแฟในสวนส่วนใหญ่สูงประมาณ 1.5 เมตร ซึ่งเกิดจากการตัดแต่งยอดควบคุมความสูงเพื่อให้ธาตุอาหารส่งไปเลี้ยงกิ่งข้างมากขึ้น และง่ายต่อการเก็บเกี่ยว ทำร่วมกับการแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง เพื่อลดการสะสมของโรคและแมลงโดยเฉพาะศัตรูอย่างมอดที่มักจะเจาะผลและกิ่งกาแฟจนเสียหาย


เมื่อเข้าสู่ฤดูเก็บผลผลิตในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ เฉลี่ยในหนึ่งปีจะสามารถเก็บผลเชอร์รีกาแฟได้ประมาณ 600 กิโลกรัม โดยพี่ก๋องจะเก็บผลเชอร์รีที่แดงเต็มต้น มาทำการแปรรูปวันต่อวัน เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อรา จากนั้นจึงนำไปล้างคัดแยกเศษกิ่งไม้ใบหญ้าและผลที่ลอยลอยน้ำทิ้งไป ส่วนเชอร์รีที่จมน้ำก็จะนำเข้าสู่กระบวนแปรรูป 3 แบบ ได้แก่ การแปรรูปแบบแห้ง (Dry Process) การแปรรูปแบบเปียก (Wash Process) และผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของสวนนี้ ใช้แปรรูปแบบกึ่งเปียกกึ่งแห้ง (Honey Process) เนื่องจากดินในรอยทางบ้านสวนมีโพแทสเซียมสูงส่งผลให้กาแฟมีความหวานและเค็มร่วมกัน ประกอบกับอยู่ในพื้นที่ที่มีความชื้นสูงอาจทำให้กาแฟแห้งช้าและเกิดกลิ่นหมักที่ไม่ดีได้ ดังนั้นการแปรรูปแบบกึ่งเปียกึ่งแห้ง จึงมีความเหมาะสมกับบริบทมากที่สุด


สรุปแล้วในหนึ่งปีจะได้กาแฟสารจากการแปรรูปทั้ง 3 รูปแบบออกมาประมาณ 80 – 120 กิโลกรัม ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่มากเลย และยังมีบางส่วนที่ต้องคัดทิ้งอีก ก็จะเหลือกาแฟสารคุณภาพจริง ๆ ไม่ถึง 60 กิโลกรัม


“กาแฟที่เราเก็บและ Process ทุกวันมันไม่ได้อร่อยทุกตัว พอเจออากาศชื้นหรือฝนตกกัน 3 - 4 วันติด มันจบเลย และในส่วนของการคั่วอีก บางทีคั่วนานเกินก็ต้องทิ้งเอาไปทำสบู่ คั่วอ่อนไปก็ไม่ได้ขายอีก นี่คือความเสี่ยงของเกษตรกรที่จะต้องรับมือให้ได้”


กาแฟที่ถูกคัดออกก็ไม่ได้ถูกทิ้งไปเฉย ๆ เพราะพี่ก๋องและพี่นกต่อยอดกาแฟที่ไม่ได้คุณภาพตรงนั้นนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ใช้ในประโยชน์อื่น ๆ เช่น นำไปคั่ว บด และร่อนผ่านตะแกรงให้ละเอียดเพื่อนำไปผสมเป็นสบู่ หรือนำเมล็ดกาแฟที่มีลักษณะลีบแบน เมล็ดดำ ใช้ทำเป็นปุ๋ยหรือน้ำหมักฉีดแมลงและศัตรูพืช จะเห็นได้ว่าทุกอย่างสามารถเป็นหนทางในการสร้างมูลค่าและลดต้นทุนไปในตัว จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมถึงมีผู้คนให้ความสนใจและแวะเวียนเข้ามาอยู่ตลอด วิธีการอย่างหนึ่งที่สามารถเรียกกลุ่มลูกค้าเข้ามาได้ คือการเปลี่ยนบ้านให้เป็นตลาด พี่นกใช้คำว่า “ขุดบ่อล่อปลา” เป็นวิธีการให้นักท่องเที่ยวหรือผู้บริโภคเข้ามาหาด้วยตัวเอง โดยจะต้องสร้างความน่าสนใจและมาตรฐานที่ดีพอ เพราะเวลาส่วนหนึ่งถูกใช้ไปกับการดูแลสวน ซึ่งจำเป็นต้องมีความใส่ใจอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ประกอบกับรายได้ของการเป็นเกษตรไม่ได้มากมายพอที่จะสามารถทำการตลาดเชิงรุกได้ตลอด อย่างการออกงานอีเวนต์ หรือเดินทางนำสินค้าไปขายในงานต่าง ๆ ทุกอย่างต่างมีราคาที่ต้องจ่ายบางอย่างจึงไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน ดังนั้นเกษตรกรแต่ละคนจึงจำเป็นที่จะต้องหาทางเลือกอื่น ๆ เพื่อทำให้อยู่รอด


มูลค่ากาแฟออกแบบได้

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่ากระบวนการทั้งหมดที่เรากล่าวถึง ตั้งแต่การปรับโครงสร้างดิน ปลูกกาแฟ เก็บผลผลิต และแปรรูป พี่ก๋องจะมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดทุกขั้นตอน แม้แต่กาแฟที่ขายก็จะต้องชิมเองก่อน หากไม่อร่อยก็เลือกที่จะไม่ขาย รวมไปถึงการหาตลาดสำหรับขายผลิตภัณฑ์จากในสวนด้วย ไม่ว่าจะเป็นกาแฟ กล้วย ทุเรียน ต้นไผ่

และอื่น ๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วนด้วยตนเอง เพราะผลิตภัณฑ์ที่ดีพอ จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และต่อยอดไปสู่การสร้างมูลค่าได้ ด้วยความพิถีพิถันในกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทำให้กาแฟของรอยทางบ้านสวนเป็นกาแฟออร์แกนิกเพียงไม่กี่แห่งในจังหวัดชุมพร ประกอบกับจำนวนสารกาแฟไม่ได้มากมายเหมือนสวนอื่น ๆ นี่อาจเป็นข้อได้เปรียบที่กาแฟจากรอยทางบ้านสวนมีเรื่องราวอันเกี่ยวข้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อม จึงสามารถดึงดูดให้ผู้คนจากทั่วประเทศให้เดินทางมายังสถานที่แห่งนี้ ซึ่งกาแฟสารประมาณ 60 กิโลกรัมถูกแบ่งไปสร้างรายได้อยู่ 3 ส่วน ด้วยกัน หนึ่งคือส่งขายกาแฟสารที่ยังไม่ได้คั่ว สองคือขายเมล็ดกาแฟคั่วอาทิตย์ละ 1 – 5 ชุด และส่วนสุดท้ายคือเก็บไว้สำหรับลูกค้าที่มาใช้บริการที่ร้าน ซึ่งไม่ได้มีราคาติดไว้ชัดเจน แต่ให้หยอดเงินในกล่องกำลังใจ ตามที่ลูกค้าพึงพอใจแทน


“กาแฟแต่ละแก้วของผมมันมีคุณค่า มันอาจจะไม่ได้เป็นกาแฟที่มี Cupping score ที่สูง แต่ผมคิดว่ากาแฟของผมมันทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น กาแฟของผมมันทำให้ภาวะโลกร้อนลดลง กาแฟของผมมันทำให้อากาศในชุมชนสะอาดขึ้น”


เรารับรู้ได้ถึงความตั้งใจของทั้งสองท่านที่อยากจะมอบสิ่งดี ๆ ให้กับผู้คนและโลกใบนี้ด้วยความเต็มใจ บางอย่างไม่จำเป็นต้องดีที่สุด แต่มันกลับสร้างประโยชน์อย่างมากให้โลกใบนี้ ความสุขที่สร้างได้จากการให้ของพี่ก๋องและพี่นก จึงมีคุณค่ามากพอที่จะถูกส่งต่อออกเป็นเรื่องราวแรงบันดาลใจให้ผู้คนได้รับรู้ต่อไป



" นี่อาจเป็นข้อได้เปรียบที่กาแฟจากรอยทางบ้านสวนมีเรื่องราวอันเกี่ยวข้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อม

จึงสามารถดึงดูดให้ผู้คนจากทั่วประเทศให้เดินทางมายังสถานที่แห่งนี้ "


 

Coffee Traveler

เป็นนิตยสารรายสองเดือน ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ

และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ

- - -

สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ : IN BOX Facebook Coffee Traveler

Youtube : Coffee Traveler






121 views0 comments

Comments


bottom of page